ระยะนี้ดิฉันต้องทำหน้าที่ตรวจเครื่องมือวิจัยของนิสิต/นักศึกษา สาขาพยาบาลศาสตร์ ในระดับปริญญาโท ปริญญาเอก ที่สนใจทำวิจัยในผู้ป่วยเบาหวาน อยู่เนืองๆ การวิจัยประเภทที่มี intervention โดยเฉพาะที่เป็นโปรแกรมการให้ความรู้ โปรแกรมการส่งเสริมการดูแลตนเอง ฯลฯ ก็มักจะมีการสร้างคู่มือสำหรับผู้ป่วย ขึ้นมา
ใครทำวิจัยก็สร้างของตัวเองขึ้นมา เรียกได้ว่ามีหลาย versions แต่เนื้อหาก็คล้ายๆ กัน
นอกจากนี้ยังพบว่ามีหนังสือความรู้เกี่ยวกับโรคต่างๆ รวมทั้งความรู้ว่าผู้ป่วยควรจะดูแลตนเองอย่างไรบ้าง วางขายในท้องตลาด หลากหลาย
ข้อสังเกตของดิฉันก็คือเนื้อหาความรู้สำหรับผู้ป่วยที่มีการจัดทำขึ้นนั้น เป็นความรู้ที่ผู้ป่วยต้องการและเป็นความรู้ที่เขาต้องใช้ในชีวิตประจำวันจริงหรือไม่ หรือเป็นเนื้อหาความรู้ที่เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพคิดว่าผู้ป่วยควรรู้
ดิฉันสะกิดใจเรื่องนี้ตั้งแต่เข้าร่วมการประชุมวิชาการของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๘ เมื่อมีการนำเสนอรูปแบบการป้องกันและดูแลโรคหัวใจและหลอดเลือดที่หน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ วิทยากรท่านหนึ่งเล่าว่าทดลองนำคู่มือการดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งสร้างขึ้น ไปให้ผู้ป่วยในชุมชนอ่านดูว่าเข้าใจไหม ใช้เวลาเป็นสัปดาห์ ผู้ป่วยก็ยังอ่านไม่จบสักเล่ม
ที่เป็นเช่นนี้ อาจมีหลายสาเหตุ ตั้งแต่การจัดทำไม่น่าสนใจ เนื้อหาเป็นเรื่องไกลตัว ไม่ตรงกับปัญหาของเขา เอาไปใช้ในการปฏิบัติจริงไม่ได้ ไม่มีตัวอย่างเชิงประจักษ์.......
บางครั้งคู่มือหรือหนังสือที่เราตั้งใจจัดทำสำหรับผู้ป่วย แต่คนที่ซื้อไปใช้กลับเป็นเจ้าหน้าที่ เราต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่เจ้าหน้าที่ต้องรู้กับที่ผู้ป่วยต้องรู้ มีส่วนที่แตกต่างกัน เพราะเป้าหมายไม่เหมือนกัน
ทำอย่างไรจึงจะทำให้คู่มือสำหรับผู้ป่วย เป็นคู่มือที่มีประโยชน์มากขึ้น นำไปใช้ได้ ตรงตามความต้องการของผู้ป่วย
จัดทำแต่ละครั้ง ลงทุนลงแรงกันมากมาย ทำอย่างไรให้คุ้มค่าจริงๆ
วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๔๘