บายศรีสู่ขวัญ ในพิธีทำขวัญนาค


เป็นความเชื่อและศรัทธาที่มีมานานนับ 100 ปี

 

 

บายศรีสู่ขวัญ

ในพิธีทำขวัญนาค 

โดย ชำเลือง มณีวงษ์   

 

          ย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ.2513 ผมเข้ารับราชการในตำแหน่งครูชั้นจัตวา ที่โรงเรียนบ้านหนองสานแตร อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ด้วยการที่ผมเป็นคนชอบร้องเพลง คุณตา (ผมเรียกท่านว่า พ่อคุณ)ชื่อ วัน มีชนะ อายุท่านประมาณ 80 ปี ได้เรียกให้ผมไปพบ และมอบมรดกโบราณ พิธีทำขวัญนาคให้กับหลานๆ จำนวน 9 คน เราตั้งพานกำนน ฝึกหัดทำขวัญนาคกับคุณตาพร้อมกัน ฝึกกันทุกวันในเวลาเย็นตั้งแต่ 5 โมงเย็นเศษไปจนดึกบางวันถึงเที่ยงคืน ผมฝึกหัดร้องทำนองธรรมวัตรและร้องส่งเพลงไทยเดิมประมาณ 1 เดือน ก็ไปออกงานทำขวัญนาคกับคุณตา และมีลูกชายของป้าเยื่อ ชื่อบุญพา มีชนะ เราไปกัน 2 คนพร้อมด้วยคุณตา ในวันนั้นได้รับค่าตอบแทนคนละ 10 บาท 

         พ่อคุณถ่ายทอดความรู้แบบคำต่อคำ สอนให้ร้อง ให้พูด ฝึกหัดให้ประกอบพิธีทำตามแบบของพ่อคุณ ตั้งแต่เริ่มพิธี ตั้งพานกำนน ทำน้ำมนต์ ไหว้ครู เริ่มพิธีทำขวัญนาค สอนนาค เชิญขวัญ จนถึงพิธีเวียนเทียน เปิดบายศรี เสร็จสิ้นพิธีการทำขวัญนาค    

        

          ต่อมาไม่นานพ่อคุณก็จากพวกเราไป ผมและบุญพา มีชนะ นำเอาความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น พิธีทำขวัญนาค ออกไปรับใช้สังคมทุกสถานที่ ที่มีผู้มาติดต่อหลายต่อหลายจังหวัด ทุกภาคของประเทศไทยที่ได้มีโอกาสไปประกอบพิธีทำขวัญนาค ซึ่งอาจมากว่า 30 จังหวัด ที่ได้มีโอกาสไปเยือนมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบันนี้  

           พิธีทำขวัญนาค เป็นการแนะนำผู้ที่จะอุปสมบท ให้ได้ล่วงรู้ถึงคุณค่าของความเป็นคน คำว่าลูกผู้ชาย การทดแทนบุญคุณของบิดา มารดา ผู้ที่ให้กำเนิด และที่สำคัญคือได้สืบทอดพระศาสนา ได้ศึกษาพระธรรมวินัย อีกสิ่งหนึ่งที่แอบแฝงมากับการจัดงานหรือพิธีก็คือ ประชาชนในท้องถิ่นได้มารวมตัวกัน เพื่อแสดงพลังแห่งศรัทธาที่มีต่อพุทธศาสนา ในยุคเมื่อ 35-50 ปีก่อน งานอุปสมบท หรืองานบวชพระแต่ละองค์ มีการจัดเตรียม และทำงานกัน 2-3 วัน มีญาติสนิทมิตรสหายมาร่วมงานนับร้อย หรือมากกว่า บางบ้านมีญาติมาเป็นพันคน ช่วยกันเตรียมงาน ปรุงอาหาร จัดสถานที่ การที่ผู้คนได้มารวมกันมาก ๆ ทำให้เกิดความสามัคคี เกิดพลังในการร่วมมือร่วมใจ และสิ่งที่ตามมาคือ น้ำใจ การบริจาค การให้ปัน และเกิดสิ่งยึดเหนี่ยวที่เป็นศาสนสถานมากมาย 

          มาถึงวันนี้ ปี พ.ศ. 2550 ผมยังมีงานที่จะต้องออกไปประกอบพิธีทำขวัญนาค ด้วยการร้องแหล่ด้นสด ๆ อย่างเฉียบพลัน แม้ว่าจำนวนงานจะลดลงไปจากเดิมบ้างแต่ก็ยังมีผู้คนที่ยึดมั่นในการที่จะให้มีผู้รู้ในคัมภีร์ทางศาสนะมาเป็น ผู้แนะนำสั่งสอนบุตรชายของเขา เมื่อถึงวันที่จะบรรพชา อุปสมบท 

          การที่ผมได้ออกไปรับใช้สังคมด้วยการประกอบพิธีทำขวัญนาค เป็นเวลา 38 ปี ทำให้ผมได้พบได้เห็น ได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของภาคต่าง ๆ จังหวัดต่าง ๆ ท้องถิ่นต่าง ๆ อย่างมากมาย เป็นบทเรียนที่ผมได้เรียนรู้ มิอาจหาได้โดยการศึกษาในตำรา หรือเรียนรู้ในห้องเรียน

         แต่ทั้งหมดนี้ เป็นประสบการณ์ตรงที่ได้รับ เป็นกำไรชีวิตที่มิมีวันลืม ผมได้นำเอาความรู้มาถ่ายทอดให้กับศิษย์ทุกรุ่น ได้รับรู้ว่าประเทศไทยมีขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมที่สวยงาม สมควรอย่างยิ่งที่พวกเราคนไทย จะต้องร่วมกันรักษาเอาไว้ ตราบนานเท่านาน

 

 

(ชำเลือง มณีวงษ์ / เล่าเรื่อง)

 

 

 

 

 

 

 

 

บายศรีสู่ขวัญ

ในพิธีทำขวัญนาค 

โดย ชำเลือง มณีวงษ์    

หมายเลขบันทึก: 95106เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2007 00:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท