KM ในค่ายเด็กอัจฉริยะ


ทำวิจัยอย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จ

โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (JSTP) ได้จัดค่ายวิทยาศาสตร์ขึ้นที่ ภูเรือ จ.เลย ระหว่างวันที่ 5-8 พค 50 มีเยาวชนเข้าร่วม 47 คน

เยาวชนที่ร่วมโครงการเป็นผู้ที่มีความสามารถพิเศษ นอกจากนี้ยังมีพื้นฐานจิตใจดี และที่สำคัญคือเปิดใจกว้างสำหรับความรู้ใหม่ และไม่หยุดยั้งในการพัฒนาตนเอง เพื่อที่เขาเหล่านั้นจะได้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

เยาวชนในค่ายมาจากหลากหลายชั้นเรียน และหลากสถาบัน นอกเหนือจากการเรียนในชั้นเรียนปรกติ เยาวชนในโครงการต้องหาโอกาสทำงานวิจัยกับนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยง เพื่อให้เยาวชนทำงานวิจัยเป็น ตระหนักถึงความสำคัญของการวิจัย คุ้นเคยกับบรรยากาศการวิจัย รู้จักนักวิจัยมืออาชีพ และมีทัศนคติที่ดีต่อการวิจัย

เนื่องจากเยาวชนแต่ละคนมีประสบการณ์การวิจัยที่แตกต่างกัน ทีมงานจึงได้ทำกิจกรรมการจัดการความรู้ โดยได้แบ่งเยาวชนเป็น 4 กลุ่มๆ ละประมาณ 12 คน โดยให้แต่ละคนในแต่ละกลุ่มเล่าประสบการณ์ชีวิตในเชิงบวกในหัวข้อ "การทำงานวิจัยที่มีความสุขและประสบความสำเร็จ"

น่าประหลาดใจมากที่เด็กๆ เหล่านี้มีจิตวิญญาณของการแบ่งปันสูงมาก ทุกคนเล่าเรื่องราวของตัวเองอย่างสร้างสรรและมีทัศนคติที่เป็นบวก โดยหวังว่าประสบการณ์ของตนเองจะเป็นประโยชน์กับรุ่นน้อง เพื่อนๆ พี่ๆ ในขณะเล่าเรื่อง ความรู้สึกจริงจังและจริงใจได้แสดงออกมาทางสีหน้าและท่าทางของผู้เล่า ทำให้การเล่าเรื่องเปี่ยมไปด้วยพลัง และผู้ฟังก็ตั้งใจฟังอย่างชื่นชมและเปิดใจรับเต็มที่

รักพงษ์เล่าว่า เมื่อเป็นเด็ก สังคมได้บ่มเพาะให้เขาไล่ตามความสำเร็จของคนอื่น เขาต้องเก่งที่สุด ต้องเป็นที่หนึ่ง อยู่มาวันนึง รักพงษ์รู้สึกเหนื่อย จึงคิดขึ้นมาได้ว่าถึงเวลาที่ต้องเลิกไล่ตามคนอื่นเสียที เขาจึงหันมาเปิดใจเรียนรู้อย่างจริงจังด้วยความกระหายอยากรู้ มากกว่าที่จะเรียนเพื่อผลการเรียน เมื่อถึงคราวที่ต้องทำงานวิจัย รักพงษ์ก็ใช้หลักการเดียวกัน จึงทำให้เขาทำวิจัยได้อย่างดีและมีความสุข

ติ๊ดตี่เล่าว่า สิ่งที่ทำให้เธอประสบความสำเร็จคือการค้นหาตัวเองจนพบ เธอพบว่าเมื่อตอนเด็ก เธอทำวิจัยเรื่องไม้เท้าคนตาบอด แต่พบว่านั่นยังไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของเธอ ปัจจุบันเธอทำวิจัยเรื่องโรคมาลาเรียอย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จ

น้องบ๊งเล่าว่า การเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยต้องเรียนค่อนข้างหนัก เมื่อร่วมโครงการ JSTP ต้องทำงานวิจัยไปด้วย บ๊งจึงใช้การบริหารจัดการเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผลการเรียนออกมาดี และงานวิจัยก็ประสบผลสำเร็จ

จากเรื่องเล่าทรงพลังทั้งหมด เด็กๆ ได้สะกัดเอาปัจจัยแห่งความสำเร็จออกมาเป็น mind map โดยกลุ่มนึงเสนอว่า ปัจจัยแห่งการทำวิจัยที่มีความสุขและประสบความสำเร็จ ได้แก่

1. รักในสิ่งที่ทำ ทำในสิ่งที่รัก 2. มีความอยากรู้ 3. ขยัน 4. การจดบันทึก 5. รู้จักตกตะกอนความคิด 6. ศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนลงมือทำ 7. ทำงานอย่างต่อเนื่อง 8. มีฮีโร่ในดวงใจ 9. การจัดการเวลา 10. ทำโดยไม่หวังผลตอบแทน 11. เปิดหูเปิดตา 12. หาตัวเองให้เจอ 13. ทำให้คนอื่นเห็นความสำคัญของงาน

วันนั้น (7 พค 50) ที่ภูเรือ ฝนตกเป็นละออง แต่ทุกคนกลับรู้สึกชุ่มชื่นกับความรู้และกำลังใจที่เพื่อนๆ แบ่งปันให้แก่กันและกัน

หมายเลขบันทึก: 95032เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2007 16:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 22:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

อ.เขียนได้เห็นภาพดีครับ นึกถึงบรรยากาศเก่าๆในค่ายเลย

ขอบคุณอาจารย์มากครับที่มาสรุปรวบยอดให้ได้อ่านกัน ข้อคิดที่ทุกๆคนนำมาแบ่งปันกันในค่ายล้วนแล้วแต่กลั่นออกมาจากใจ และประสบการณ์ที่ตนเองได้รับจากการได้ทำงานวิจัยในโครงการ JSTP หรือไม่ก็ได้มาจากประสบการณ์ในการเรียนในแต่ละสถาบัน ซึ่งและละคนก็มีความเห็นที่น่าสนใจแตกต่างกัน การได้นำมาแลกเปลี่ยนกันนั้นทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ที่ได้รับเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะสามารถนำมาปรับใช้กับตนเองได้แล้ว ยังจะเป็นกำลังใจ และไฟที่จะกระตุ้นให้สู้กับงานของตัวเองได้อีกด้วย

ได้ข่าวว่าจะมีการนำมารวบรวมเป็นเล่มด้วยนะครับ :)

และกิจกรรมอื่นๆภายในค่ายก็น่าประทับใจไม่แพ้กันนะครับ 

 

 

เป็นการสรุปที่ดีมากเลยค่ะ ต้องขอบคุณอาจารย์มากเลยนะคะ ที่ให้สีสันกับค่ายเรา เป็นอย่างมาก  จากการได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องแนวคิดนี้ ทำให้ได้คิดและนำแนวทางนี้ไปต่อยอดความคิดได้เป็นอย่างดี เหมาะเป็นอย่างยิ่งที่จะเผยแพร่... ค่ะ

อ่านแล้วคิดถึงบรรยากาศค่ายจิงๆค่ะ  ขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะที่ทำให้ค่ายมีสีสันอย่างอบอุ่นๆ

หลังจากงานครูวิทย์ฯในดวงใจเพิ่งจะผ่านไปไม่นาน ไม่น่าเชื่อว่าดร.จะนำการจัดการความรู้ไปใช้ได้จริงอย่างเห็นผลและ

รวดเร็วขนาดนี้ ชื่นชมค่ะ โอกาสหน้าสคส.ขอติดตามไปจับาภาพการจัดการความรู้

ในค่ายเยาวชนด้วยน่ะค่ะ 

กิจกรรมอื่นๆ ก็น่าประทับใจนะครับ ถ้าอาจารย์เอามาเล่าในนี้คงจะเป็นประโยชน์กับคนที่ไม่มีโอกาสเข้าร่วมโครงการมากเลยครับ

กว่าจะประสบความสำเร็จในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์                ผมเริ่มต้นทำโครงงานวิทยาศาสตร์จากข้อสงสัยที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญระหว่างการเดินทาง ผมสังเกตเห็นความแตกต่างของรูปร่างพื้นที่หน้าตัดของพาหนะที่เคลื่อนที่บนท้องถนน รถบรรทุก รถทัวร์ มีพื้นที่หน้าตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยม แต่รถน้ำมัน มีถังน้ำมันเป็นทรงกระบอก ซึ่งมีพื้นที่หน้าตัดเป็นรูปวงกลม ผมสงสัยว่าหากแต่ละรูปมีพื้นที่เท่ากัน การเคลื่อนที่ของรถแต่ละคันผ่านอากาศจะทำให้เกิดแรงต้านการเคลื่อนที่จากอากาศแตกต่างกันอย่างไร ข้อสงสัยที่นำไปสู่โครงงานวิทยาศาสตร์มักเกิดจากปัญหาที่พบเห็นอยู่ในชีวิตประจำวัน

            ตอนเริ่มต้นทำโครงงาน ผมยังเด็ก กำลังชอบเล่นรถTAMIYA เลยลองคิดดูว่า จะทำยังไงถึงจะดึงเอาจุดเด่นของของเล่นที่เราเล่นอยู่มาโยงเข้ากับโครงงานวิทยาศาสตร์ให้ได้ เพราะการที่เราได้ทำงาน กับสิ่งที่เรารัก จะทำให้เราทำงานอย่างมีความสุข และสนุกกับงานที่ทำ ผมดัดแปลงรถTAMIYA ให้เป็นอุปกรณ์หลักในการทดลอง โดยใช้จุดเด่นของTAMIYA คือ เป็นอุปกรณ์ที่มีแรงเสียดทานระหว่างการเคลื่อนที่น้อยมาก ผมดัดแปลงTAMIYA ให้ยึดติดกับแผ่นอะคริลิค และเคลื่อนที่ผ่านของไหลได้ พยายามใช้สอยอุปกรณ์ที่ใกล้ตัว หาง่าย โดยดัดแปลงให้เหมาะสมกับการทดลอง เช่น การนำแท่งเหล็กฉากที่สามารถหาได้โดยง่าย มาใช้แทนรางรถ TAMIYA ที่มีราคาแพง 

                พยายาม ทุ่มเท แรงกาย แรงใจ ให้กับงาน ทำการทดลองให้รถTAMIYA วิ่งผ่านของไหลกว่าหลายร้อยเที่ยว เพื่อคำนวณหาผลการทดลองให้แม่นยำที่สุด แต่ไม่ว่าจะเหน็ดเหนื่อยกับงานแค่ไหน ก็ไม่ท้อถอย เพราะ มีความสุขกับงานที่เรารัก 

            คิดทบทวนอยู่ตลอดเวลา ว่ารูปแบบการทดลองที่ได้ทำไปแล้ว ยังมีข้อบกพร่องในส่วนใดบ้าง พยายาม

 ปรับแก้รูปแบบการทดลอง และทำการทดลองใหม่ เพื่อให้เกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด

                ปรึกษานักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ เพราะนอกจากนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยงจะชี้แนะแนวทางการทำโครงงาน ให้กลับไปคิดทบทวนเกี่ยวกับโครงงานของตนแล้ว คำสอนของนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยง ยังสอดแทรกระเบียบการวิจัย เพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะอันเหมาะสมของนักวิจัยที่ดีให้กับเราอีกด้วย  รณพีร์ ชัยเชาวรัตน์ (ปั่น) JSTP7
วิจัยอย่างไรให้เป็นสุข                        การวิจัยคือกระบวณการในการสืบเสาะแสวงหาเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้และนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ เช่น ใช้ในการตอบคำถาม อธิบายปรากฎการณ์ต่างๆ  หรือนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการหาความรู้อื่นๆต่อไป หรืออาจจะพูดได้ว่าการวิจัยเป็นการค้นหาคำตอบและวิธีการที่นำผู้วิจัยไปสู่คำตอบของคำถามที่ผู้วิจัยอยากรู้ โดยมีจุดประสงค์หลักคือ สิ่งที่ได้จากการวิจัยจะสร้างประโยชน์แก่มวลมนุษย์ ข้าพเจ้า นายขจรศักดิ์ เจียดกำจร เป็นอีกผู้หนึ่งที่เคยทำวิจัยในระดับมัธยมศึกษา เช่นกัน ข้าพเจ้าทำวิจัยเรื่อง ความต่างศักย์ของเซลล์สุริยะต่อแสงสี จากหลอดฟลูออเรสเซนต์และไดโอดเปล่งแสง การทำวิจัยครั้งนั้นทำให้ข้าพเจ้าได้ประสบการณ์ต่างๆมากมาย                       สิ่งแรกที่ทำให้ข้าพเจ้าทำวิจัย คือ ความชอบ ความกระหายใคร่รู้ ในคำตอบของปัญหา ในการทำวิจัยนั้น ข้าพเจ้าจะยึดแนวทางตามหลักอริยสัจ คือ อาศัยความมีเหตุและผล  ค้นหาต้นตอของผลต่างๆจากเหตุ ค่อยๆ เดินไปทีละลำดับ แต่มีการกำหนดจุดมุ่งหมายที่แท้จริงไว้อย่างแน่นอน ทางที่เดินผ่านจะนำไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้  ระหว่างการวิจัยข้าพเจ้ามักจะแบ่งการทำงานออกเป็นส่วนย่อยๆ เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหาความผิดพลาดและติดตามแก้ไขได้ถูกจุด แต่ความรอบคอบคือสิ่งสำคัญเช่นกัน    ก่อนเข้าสู่ลำดับต่อไป ข้าพเจ้าจะต้องตรวจสอบ ความถูกต้องของลำดับก่อนหน้า และ ดูว่า หนทางยังนำไปสู่เป้าหมายหรือคำตอบของคำถามที่เข้าเจ้ากำหนดไว้ตั้งแต่ตอนเริ่มแรกหรือไม่  หากถูกต้อง ข้าพเจ้าจึงทำต่อไป  โดยอาศัยหลักอิทธิบาท อันประกอบด้วย ฉันทะ คือชอบในงานวิจัยที่ตัวเองทำ  วิริยะ คือความขยันหมั่นเพียรในการทำวิจัย จิตตะ คือ ความเอาใจใส่ สนใจดูแลงานวิจัยที่ตนเองกระทำอยู่ให้ดีที่สุด และวิมังสา  คือการตรวจสอบความถูกต้องว่าความถูกต้องเพียงใด  เพื่อใช้ในการแก้ไขปรับปรุงต่อไป เป็นต้น                        นอกเหนือจากหลักอิทธิบาทแล้ว การทำวิจัยจะต้องอาศัยคุณสมบัติอื่นๆอีกเช่น ความอดทน ข้าพเจ้าต้องมีความอดทน  มานะ พยายาม  เพื่อที่จะนำพาตนเองไปสู่การค้นพบคำตอบของงานวิจัย  โดยอยู่บนพื้นฐานของความซื่อสัตย์ คือ ซื่อสัตย์ต่อข้อมูลที่ได้มา ใส่ผลของการตรวจวัดตามความจริงเป็นต้น                       เมื่อข้าพเจ้าได้ทำวิจัยตามแนวทางข้างต้นแล้ว ข้าพเจ้าได้ประสบกับความสุขในการวิจัยมากมาย เช่น ความสุขที่เป็นพื้นฐานเริ่มแรกของการวิจัย คือ ความสุขที่ได้คำตอบ มาสนองความอยากรู้ของตนเอง  ความสุขระหว่างการทำวิจัยเช่น ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆที่ตนเองยังไม่เคยรู้ ความสุขจากการจดบันทึกข้อมูล เป็นต้น ข้าพเจ้าแบ่งความสุขที่ได้จากการวิจัยได้ 3 ประเภท   คือ          1. ความสุขทางกาย   คือ   มีสุขภาพที่ดี คำนึงถึงศักยภาพของตนเอง   ทำวิจัยในด้านที่ไม่เป็นผลเสียต่อตนเอง  หากผู้วิจัยมีสุขภาพพร้อมแล้ว  ย่อมนำมาซึ่งงานวิจัยที่มีคุณภาพ   ไม่มีความเครียด  ข้าพเจ้าจึงเลือกงานวิจัยในด้านที่ข้าพเจ้าชอบ เป็นการได้ทำในสิ่งที่อยากทำ จึงทำงานวิจัยได้อย่างมีความสุข              2. ความสุขทางใจ   คือ   มีความภูมิใจ ในการได้เป็นส่วนหนึ่งของทีม ที่กำลังทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์และประเทศชาติ อีกทั้ง ความคิดของเรายังถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาด้านต่างๆต่อไป       3. ความสุขทางจิต   คือ  ได้ฝึกการคิดในด้านบวก  ฝึกทักษะทางด้านการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ นอกจากนี้ยังได้ ฝึกการเข้าสังคม อยู่ร่วมและปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่น อีกด้วย                        หลังจากทำวิจัยสำเร็จลุล่วงแล้ว ข้าพเจ้ายังได้รับความสุขอีก เมื่อมีผู้อื่นนำงานวิจัยของ้าพเจ้าไปใช้ต่อแล้วก่อให้เกิดประโยชน์ ความสุขใจที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น และเห็นผู้อื่นหายจากความทุกข์เละทรมาน เช่น การวิจัยยารักษาโรค เป็นต้นและความสุขเมื่อได้รับการจารึกชื่อไว้ สู่คนรุ่นต่อไป คนรุ่นลูกรุ่นหลานยกย่อง และยึดเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต เป็นต้น                           สุดท้าย ในการทำวิจัยหรือการทำงานใดๆก็ตาม เราควรจะตระหนักอยู่เสมอว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นจะสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อผู้อื่น อยู่บนพื้นฐานของการคิดดี คิดชอบ คิดถูกต้องตามวิชาการและศีลธรรม โดยยึดถือประโยชน์และการนำไปใช้ในทางถูกต้องและสร้างสรรค์เป็นสำคัญ   ตอบคำถามที่ว่าทุกวันนี้เราทำทุกสิ่งลงไปเพื่ออะไร ..............แต่สำหรับข้าพเจ้าแล้ว จะขอตอบว่าทำไปเพื่อความสุขเพราะฉะนั้นจึงเลือกทำในสิ่งทำแล้วมีความสุข ข้าพเจ้าจึงเลือกทำวิจัย ..............ผู้ที่ทำวิจัยแล้ว งานวิจัยทำให้ผู้อื่นมีความสุข ผู้วิจัยก็ย่อมมีความสุข.......... ผู้เขียน นายขจรศักดิ์  เจียดกำจร (RF.)นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษานักเรียนในโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน(JSTP) รุ่นที่ 8สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทดโนโลยีแหง่ชาติ(สวทช.)
  • ตามมาดูก่อน
  • เราจะนำเพื่อนๆมาทักทายครับผม
  • รับรองว่าต้องเขียนแน่
  • ลองเอา power point มาให้อ่านก็ได้ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท