Thailand and Youtube เป็นหัวข้อสัมมนาในชั้นวันนี้


วันนี้ผมเดินเข้าห้องสัมมนาวิชา Social Technology & Culture ก็เห็นเอกสารสองแผ่นวางอยู่บนโต๊ะ เป็นข่าวจาก asianmedia.ucla.edu   ครับ หัวข้อ THAILAND: YouTube disappears from Thailand Internet

ก็สรุปว่าวันนี้ผมเป็นคนเริ่มสัมมนาหัวข้ออย่างไม่เป็นทางการ ผมก็เล่าถึงต้นเหตุที่เกิดจากชายชาวสวิสฯ ถูกจับ และถูกตัดสินไปเมื่อไม่กี่วันก่อน รวมถึงเหตุการณ์ที่รัฐบาลไทยปิด YouTube หนแรกเนื่องจากมีวิดีโอของอดีตนายกเผยแพร่ (เมื่อวันเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมาผมค้นข่าวมาพอสมควร เพราะผมนำไปเขียนรายงานอีกวิชาหนึ่งเกี่ยวกับการวิเคราะห์สื่อ) แล้วก็เล่าถึงระบบความเชื่อ วัฒนธรรมของประเทศไทย ระบบกษัตริย์ และเหตุการณ์การเมืองช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งหลายคนในชั้นก็ทราบอยู่แล้ว

ทุกคนในชั้นซึ่งเป็นอเมริกันเสียส่วนใหญ่ให้ความสนใจและถกเถียงกัน ทั้งยกกรณีคล้ายคลึงกันมาเป็นข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจีน ของตุรกี ที่มีการปิดกั้น YouTube เหมือนกัน ไม่มีข้อสรุปจากชั้นสัมมนาครับ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นแบบนี้ เข้าเรียนพร้อมคำถามที่ท่านอาจารย์ให้ เลิกเรียนพร้อมกับคำถามที่มากกว่าเดิมทุกทีไป

แต่ที่น่าสนใจมีอยู่สองประเด็นครับ

ประเด็นที่หนึ่ง คือหลังจากที่ผมบอกกับเพื่อนในชั้นว่า กรณีนี้ทาง ICT ได้ขอร้องไปทาง YouTube แล้ว เขาไม่ยอมนำวิดีโอลง โดยอ้างว่าไม่ขัดนโยบาย ทาง ICT ก็เลยต้องปิด YouTube ไปเสีย อาจารย์ก็เลยเปิด YouTube แล้วลองตรวจสอบนโยบายกันดู ผมขอลงนโยบายไว้ด้านล่างนี้นะครับ

Terms of Use (http://www.youtube.com/t/terms) …
C. In connection with User Submissions, you further agree that you will not: (i) submit material that is copyrighted, protected by trade secret or otherwise subject to third party proprietary rights, including privacy and publicity rights, unless you are the owner of such rights or have permission from their rightful owner to post the material and to grant YouTube all of the license rights granted herein; (ii) publish falsehoods or misrepresentations that could damage YouTube or any third party; (iii) submit material that is unlawful, obscene, defamatory, libelous, threatening, pornographic, harassing, hateful, racially or ethnically offensive, or encourages conduct that would be considered a criminal offense, give rise to civil liability, violate any law, or is otherwise inappropriate; (iv) post advertisements or solicitations of business: (v) impersonate another person.

ทุกคนในชั้นเห็นตรงกันว่าประเด็นนี้ตรงกับข้อ C.iii เพราะในวิดีโอ (จากที่อ่านในรายงานข่าว ไม่ได้มีการเปิดวิดีโอให้ดูในชั้นเรียน) มีข้อความไม่เหมาะสม และผิดกฎหมายอาญาไทย ถ้าทาง YouTube ไม่ยอมนำวิดีโอนี้ลง เพราะบอกว่าไม่ขัดกับนโยบาย ก็ไม่ใช่เหตุผลที่ดีพอ มองยังไง ผมก็ไม่เห็นว่าเรื่องนี้เป็น censorship นะครับ ผมมองว่าเป็นประเด็นทางวัฒนธรรมและเทคโนโลยีล้วนๆ เพราะคำว่า Free Speech นี่แหละครับที่เป็นปัญหา เราไปอยู่บ้านไหนเมืองไหน ก็ต้องทราบกฎหมายเขา (ทางสถานทูตสวิส เองยังเข้าใจผลการตัดสินของเรา) แต่ในเมื่อเหตุเกิดในอินเตอร์เน็ต ก็บอกไม่ได้ว่าอยู่ในพื้นที่ของใคร

ผมไม่เห็นด้วยนักที่จะเอากฎหมายของสหรัฐฯ หรือเอานโยบายของ YouTube เป็นหลัก แต่ควรจะเอากฎหมาย วัฒนธรรม ระบบความเชื่อ ของแต่ละสังคมเข้ามาช่วยในการทำความเข้าใจ ผมถึงยืนยันว่ายังไงเราก็ต้องปิดกั้นไปจนกว่า YouTube จะเอาลง ไม่ใช่เปิดไว้ให้คนไทยเขาไปดูสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม กรณีนี้ทำให้ผมนึกถึงหนังเรื่อง เรื่อง Little Buddha และ Anna and The King ที่บ้านเราไม่ได้ดู สองเรื่องนี้ ถึงแม้จะไม่ตรงกับความเห็นของรัฐบาลและถูกห้ามฉายในบ้านเรา แต่ก็ถือว่าเป็นงานที่ฝรั่งตั้งใจทำเพื่อให้เป็นงานศิลปะ ซึ่งอาจเป็นการตีความที่ต่างกัน หรือเป็นความเห็นของบุคคลที่เล่าเรื่องนั้นๆ แต่วิดีโอคลิปนี้จงใจทำร้าย ทำลายกันเท่านั้นเองครับ

ประเด็นที่สองนั้นเกี่ยวโยงกับเรื่องหนังสองเรื่องที่ผมอ้างถึงข้างต้นครับ ผมสงสัยว่าถ้ามีการเปิดให้ดูวิดีโอคลิปนี้แล้วจะมีใครดู คนที่ดูจะถูกคนไทยสาปแช่งไหม ถึงแม้จะมีวิดีโอคลิปแบบเดียวกับเพิ่มขึ้นจากเมื่อวันแรก ผมคนหนึ่งล่ะที่ไม่ได้เข้าไปดูอีกเลย เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ผมนำมาพูดต่อกับเพื่อนนอกชั้นเรียน โดยเพื่อนเปรียบเทียบว่าถ้ามีคนทำหนังเกี่ยวกับศาสดาในศาสนาที่เขาเคารพในมุมมองที่ต่างออกไป และรุนแรง ท้าทาย เขาจะดูเพื่อที่จะได้รู้ว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร แล้วความเชื่อที่เขามีอยู่จะเปลี่ยนแปลงไหม แต่ถ้าเขาเล่าเรื่องนี้ให้คุณพ่อเขาฟัง คุณพ่อเขาคงไม่ไปดู

แม้กรณีวิดีโอคลิปใน YouTube นี้จะไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับเรื่องที่เพื่อนผมเล่าให้ฟังได้ เพราะไม่ได้เป็นการตีความใหม่ หรือมุมมองที่แตกต่าง แต่เป็นการโจมตี ลบหลู่ดูแคลนโดยตรง ซึ่งผลที่ตามมาคือความโกรธเกลียดของผู้ได้เห็น (อย่างที่เขาต้องการจะให้เป็น) ผมลองดูในพันทิพย์ และใน gotoknow ก็มีความคิดเห็นทั้งในทางสร้างสรรค์ เช่นให้ช่วยกัน Post วิดีโอของในหลวง ช่วยกัน Flag วิดีโอคลิปต้นตอนี้ แต่ก็มีหลายเสียงที่สาปส่ง และด่าทอรุนแรง

ผมนำประเด็นมาแลกเปลี่ยนให้เห็นถึงความเห็นของคนทั่วไปในอเมริกา ซึ่งเข้าใจดีว่าจอร์ช บุช ไม่ใช่บุคคลที่จะนำมาเปรียบเทียบกับในหลวง ทุกคนก็เข้าใจ และรับรู้ถึงความต่างทางความเชื่อ และวัฒนธรรมดีครับ 

คำสำคัญ (Tags): #youtube#สัมมนา
หมายเลขบันทึก: 89397เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2007 08:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 16:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สังเกตไหมครับว่าความเป็นนิรนามในอินเตอร์เน็ต มักนำแต่เรื่องร้ายๆ มา ได้อ่านบทความของคุณ Danah Boyd นี้แล้ว ยิ่งทำให้ผมเชื่อมั่น (เหมือนที่คุณ Danah เชื่อ) ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ไม่เกี่ยวกับ Censorship แต่เป็นเรื่องของความรับผิดชอบทางสังคม และศีลธรรม

คุณแว้บ คะ   ดิฉันประทับใจประโยค ที่ว่า
"เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ไม่เกี่ยวกับ Censorship แต่เป็นเรื่องของความรับผิดชอบทางสังคม และศีลธรรม"

  ดิฉันเคยตั้งหน้าตั้งตาอภิปราย(แปลว่าเถียงกันหน้าดำหน้าแดง)กับคุณพ่อเรื่องนึงค่ะ  คือเรื่องหลักคิด

ประเด็นย่อยๆที่นำมาอภิปรายกันอย่างเอาจริงเอาจังที่โต๊ะกินข้าว (ทั้งนี้หลังจากรับประทานข้าวเสร็จแล้ว) คือเรื่องความเชื่อ สิทธิในการเลือกที่จะเชื่อ  และผลของการลงมือปฏิบัติจริง ตามความเชื่อนั้น
(บนพื้นฐานตรรกะที่ว่า เราเชื่ออย่างไร  เราก็จะมีหลักคิดเช่นนั้น   หลักคิดจะนำไปสู่วิธีคิด  และวิธีคิดจะนำไปสู่วิธีทำ เช่นนั้นด้วย)

เช่น  เมื่อเขาเป็นโจร  เขาก็ต้องปล้น เพราะ การปล้นคืออาชีพของโจร  ถ้าไม่ให้ปล้น...แล้วโจรจะเอาอะไรกิน

คำถามคือ  "เมื่อเขาเป็นโจร เขาก็ต้องปล้น" ตรรกะนี้ถูกต้องหรือไม่  ถูกต้องโดยหลักอะไร ไม่ถูกต้องโดยหลักอะไร  ไล่ขึ้นไปถึง ความเป็นมนุษย์ ว่า "ควร" ใช้หลักอะไร แล้วก็เถียงกันต่อเรื่องความเป็นมนุษย์ที่ดี ฯลฯ

หรือ เช่น เรือลำหนึ่งบรรทุกโจรเกือบเต็มลำแล้ว เพื่อหนีภัยจากเกาะที่กำลังจะถล่ม  จะให้คนลงเรือได้อีกเพียงสามคนเท่านั้น   ทันใดนั้น...มีคนวิ่งหน้าตั้งมาขอลงเรืออีกหกคน  เป็นโจรสามคน และเป็นพระอีกสามรูป .....

คำถามคือคนข้างบนนั่นจะเลือกรับใครลงเรือ?.... 

ในวงอภิปรายที่โต๊ะกินข้าว สนุกมากนะคะ เพราะดิฉันกับพ่อไม่มีใครยอมใคร แต่ก็ไม่โกรธกัน (แค่ไม่ยอมกันเฉยๆ)  จากนั้นดิฉันก็ไปสอนเด็ก  คือไปหาเรื่องให้เด็กๆเถียง เอ๊ยอภิปรายกันเรื่อง(คล้ายๆอย่างนี้)ต่อ 

  • คิดว่าเด็กๆปริญญาตรีจำเป็นต้องฝึกคิดเรื่องลักษณะนี้อย่างยิ่ง เพราะสักวันเขาต้องออกไปสร้างวิธีคิดวิธีทำของเขาเอง 
  • และสักวัน  ผลนั้นจะกลับคืนสนองสู่สังคม  โดยที่ครูผู้ร่วมในเส้นทางการผลิตได้แต่มองผลตาปริบๆ  เพราะเขาพ้นอกเราไปเสียแล้ว
  • ดิฉันคิดตามประสาครูบ้านนอกว่า ครูต้องสอนและฝึกเด็ก เรื่อง ผิดชอบชั่วดี นะคะ
  • ไม่ได้แปลว่าครูจะเป็นฝ่ายถูกเสมอ แต่แปลว่า(คือดิฉันคิดว่า)ครูต้องฝึกทั้งตัวเอง และฝึกนักเรียน ให้คิดเรื่อง ผิดชอบชั่วดี  ไม่ว่าจะทำสิ่งใดก็ตามค่ะ :)

ปล.  ขอให้คุณแว้บเรียนอย่างมีความสุขนะคะ (ดิฉันชอบ "บันทึกความคิดของคุณแว้บ" มาก) 

ขอบพระคุณอาจารย์สุขุมาลมากครับ

พอดีตอนนี้ผมกำลังเรียน media literacy อยู่ แล้วค้นเจอบล็อกของอาจารย์ (บล็อกเดียวเลยก็ว่าได้ ในฐานข้อมูล gotokonw) อุ่นใจที่ยังมีเพื่อนครับ ได้ข้อคิด และเรื่องราวดีๆ จากบล็อกของอาจารย์เช่นกันครับ (อยากจะนำไปใช้บ้าง ก็คงต้องรออีกหลายปี)

พอดีผมสอนอยู่มหาวิทยาลัยนานาชาติ เคยมีกรณีคล้ายๆ กัน คือเปิดเว็บกระดานสนทนาให้เด็กเข้ามาเขียนบ่น เขียนติ (หวังว่าจะให้เด็กได้เรียนรู้การวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์) กลายเป็นห้องสนทนาที่ร้อนแรง แต่ที่ผมจำขึ้นใจคือมีนักเรียนต่างชาติมาวิจารณ์คนไทย (โดยรวมๆ) ไ้ว้ได้น่าสนใจมากครับ เขาบอกว่่าคนไทยไม่ชอบเผชิญหน้า เลี่ยงได้เป็นเลี่ยง กลัวการเสียหน้า ไม่เผชิญหน้าคือไม่พูดกันตรงๆ ผมนึกไปถึงเวลาประชุม จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ในห้องก็ไม่ค่อยจะพูดกัน แต่พอจบประชุมล่ะประเด็นมาไม่หยุด คือไปคุยกันนอกรอบ แต่ใ้นห้องล่ะเงียบซะงั้น นี่ทำให้ผมสงสัยต่อไปว่า หรือนี่คือสาเหตุให้คนไทย(โดยรวมๆ) ไม่มีทักษะการพูดในที่สาธารณะ ทักษะในการเจรจา ใ้ช้เหตุผล วิเคราะห์ในทางบวก ผมห่วงมาถึงตัวผมเอง ว่าไม่สามารถจะสอนให้เด็กคิดได้ เพราะผมเองก็ยังคิดไม่ค่อยจะได้ เลยต้องฝึก (หัว) ตัวเองเหมือนอาจารย์สุขุมาลเช่นกันครับ 

ยินดีที่ได้รู้จักอาจารย์เช่นกันครับ :) 

เข้ามาบอกอีกทีให้ตรงกับใจตัวเองค่ะ อาจารย์วสะ  :)

ดิฉันชอบ บันทึกความคิดของคุณแว้บ  มาก ทุกบันทึก เลยค่ะ

อาจารย์เลือกประเด็นที่เป็นคำถามอยู่ในใจดิฉัน  มาสื่อสารด้วยมุมมองของอาจารย์ แบบที่ดิฉันอยากพูด  แต่พูดไม่ได้ครบถ้วนกระบวนความเช่นนั้น  

( ดิฉันคิดว่าเรามักชอบคำพูดหรือข้อเขียนของคนที่พูดหรือเขียนได้ตรงกับใจเรา หรือที่สำนวนรุ่นกลางเก่ากลางใหม่ใช้ว่า โดนใจ  คำใหม่เกือบล่าสุดใช้ว่า คลิก :)  )

ดิฉันดีใจมากด้วยที่ได้พบอาจารย์ใน GotoKnow  อยากคุยกับอาจารย์ตั้งหลายเรื่องนะคะ  สงสัยต้องไปเขียนในบันทึก  เพราะดิฉันตั้งใจเขียนอย่างย้าวยาว..วว ทุกที...    

และอยากให้อาจารย์สื่อสารอย่างสบายใจ โปรดอย่าได้กังวลกับการตอบกลับ   ขอให้อาจารย์สะดวกใจนะคะ  ไม่ว่าจะเป็นเมื่อใดก็ตาม  ดิฉันก็เต็มใจที่จะสื่อสารอยู่เสมอค่ะ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท