ภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สากล?


การได้รู้จักกระบวนการการจัดการความรู้และเทคนิค ช่วยให้หาทางออกได้อย่างสวยงามไม่อึดอัดใจ เมื่อนึกถึงประโยชน์ของการไม่ตัดสินว่าอะไรถูกหรือผิด

สองวันที่ผ่านมาไปเกี่ยวข้องกับงานของสถาบันอยุธยาศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เพราะดร.ประพนธ์ ดาราแห่งสคส.ไปแนะนำ คุณศรคม เงินศรี แห่งสถาบันเพิ่มผลผลิตซึ่งรับเชิญจากสถาบันอยุธยาศึกษาเป็นวิทยากรหลักในการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การเสริมศักยภาพผู้ประกอบการภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สากล" ให้มาชวนผู้เขียนไปร่วมงานด้วยเพราะผู้เขียนรู้เรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นดี

รู้สึกเป็นเกียรติที่ดร.ประพนธ์มีความเชื่อถือ ต้องขอบคุณอาจารย์ค่ะ

พอคุณศรคมโทรมาชวนก็รับโดยยังไม่ทราบชื่อหัวข้อชัดซักเท่าไร พอใกล้วันได้รับเอกสารและรายละเอียดเพิ่มเติม ทำให้ต้องวางแผนการพูดที่จะทำอย่างไรไม่ให้ตัวเองแสดงความไม่เห็นด้วยกับวิธีการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบที่ใช้ๆกันอยู่เป็นส่วนมากในโครงการOTOP และยิ่งจะเร่งไปให้ถึงสากลอีกต่างหาก เพราะเป็นคนละแนวความคิดกับของตนเองเลยค่ะ

การได้รู้จักกระบวนการการจัดการความรู้และเทคนิค ช่วยให้หาทางออกได้อย่างสวยงามไม่อึดอัดใจ เมื่อนึกถึงประโยชน์ของการไม่ตัดสินว่าอะไรถูกหรือผิด

ที่จริงตัวเองต้องบรรยายวันที่สองแค่หนึ่งชั่วโมง แต่วันแรกก็ไปฟังว่าเขาพูดอะไรไปในทิศทางใด แล้วที่เราจะพูดในเรื่องของประสบการณ์ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น(เขาวางหัวข้อไว้ว่า "ถ่ายทอดประสบการณ์การจัดการความรู้กับภูมิปัญญาท้องถิ่น")เราจะเชื่อมโยงอย่างไรไม่ให้ชาวบ้านงงว่าวิทยากรสองคนเนี่ยมาด้วยกันหรือเปล่า ผู้เข้ารับการอบรมเป็นผู้ประกอบการโอทอปในอยุธยา หลากประเภทผลิตภัณฑ์ หลากวัยอีกด้วย วันแรกมีคนทยอยๆมานับได้ราว 40 คน วันที่สองเหลืออยู่ซัก 20 คน

คุณศรคมซึ่งเป็นวิทยากรหลักมีความตั้งใจมากที่จะให้ผู้เข้าร่วมอบรมรู้จักการจัดการความรู้  พยายามให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน มีการพูดถึงการสร้างCoP คุณกิจ คุณอำนวย คุณเอื้อ คุณลิขิต มีการใช้เครื่องมือ SWOT Analysis เน้นเรื่องการพัฒนาคุณภาพ ประสิทธิภาพ ตลาด การขยายฐานลูกค้า

ตัวเองเลยตีความว่าคุณศรคมได้พูดถึงการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในมิติ"เทคนิค" มุ่งเน้นการขยายตลาดและฐานลูกค้า ขายให้ได้ผลตอบแทนสูง

ดังนั้นส่วนที่ผู้เขียนได้มาคุย มาเล่าให้ผู้เข้าร่วมการอบรมฟังจึงพูดถึงมิติ"โลกทัศน์ ความเชื่อ จิตใจ จิตวิญญาณ" มุ่งที่ความสุข ศักดิ์ศรีของผู้ผลิต และความสุข คุณค่าทางจิตใจของผู้บริโภค

ทั้งสองส่วนจึงเสริมกัน เพราะลักษณะพิเศษของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่แตกต่างกับความรู้สมัยใหม่ทั่วไปคือ มีสองมิติควบคู่กันไปเสมอ คือ มิติเทคนิค เช่นวิธีการทอผ้า ทำนา การใช้สมุนไพรเป็นยา และอีกมิติคือ มิติทางจิตวิญญาณ เช่น ความเชื่อ ประเพณีที่มีอยู่ในกระบวนการทอผ้า ที่คิดเรื่องบุญ การเตรียมตัวมีครอบครัว การเตรียมตัวตาย การทำนาก็มีความเชื่อและพิธีกรรมในทุกระยะของการทำนา การใช้ผืนดินและแหล่งน้ำ ไม่ใช่แค่การทอผ้าให้ได้มาแค่ผ้าปิดกาย ได้ข้าวมากิน มาขาย ทุนธรรมชาติถูกใช้ด้วยความเคารพ

การที่เราเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้โดยมุ่งตลาดเป็นหลัก โดยลืมใช้ประโยชน์ในส่วนจิตวิญญาณจะทำให้หาตัวเองไม่เจอเมื่อถูกพัดจนเซไปมาในกระแสทุนนิยมที่แข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ไร้เสน่ห์ของความเป็นชุมชนชนบท ประเพณีที่ลุ่มลึก และการใกล้ชิดธรรมชาติซึ่งคนเมืองใหญ่โหยหายิ่งนัก

หากผู้ประกอบการเข้าใจถึงจุดสำคัญนี้และสามารถดึง "เรื่องราว" และบริบทที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นผลิตภัณฑ์ได้นำเสนอควบคู่ไปกับสินค้าและบริการ ก็จะแก้ปัญหาความซ้ำซากและการเลียนแบบกันไปได้มาก เพราะไม่มีชุมชนใดหรือท้องถิ่นใดที่มีความเหมือนกันในทุกด้าน แต่ละที่ย่อมมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น แต่ปัญหาจริงๆก็คือการขุดหาภูมิปัญญาท้องถิ่นเอาไปใช้เมื่อมองเห็นคนอื่นทำแล้วได้เงิน ก็อยากทำบ้าง ไม่ได้มีความภูมิใจในความรู้ มองเห็นแต่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ตนจะได้ ไม่ได้นึกถึงความสุขความพอใจขั้นละเอียดของผู้บริโภค ที่มาจากความสุข ความใส่ใจของผู้ผลิตเป็นจุดเริ่ม

ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถเอื้ออำนวยให้ผู้ประกอบการที่ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมีสมดุลในการใช้ความรู้นี้ได้ครบทั้งสองมิติ

 

หมายเลขบันทึก: 89136เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2007 16:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เข้ามาเยี่ยมครับ อาจารย์

  • เห็นด้วยกับอาจารย์ครับ ที่เราเอา ภูมิปัญญาของท้องถิ่น มาใช้ผิดวัถุประสงค์ แทนที่จะนำมาใช้ เพื่อความเป็นอยู่อย่างพอเพียง พึ่งพากัน แต่กลับมุ่งเน้นเพื่อหากำไรตามแนวคิดตะวันตก น่าเสียดายครับ
  • ผมสนใจเรื่อง ทุนทางสังคม ทุนทางธรรมชาติ ทุนทางความรู้ภูมิปัญญาของท้องถิ่น  สิ่งเหล่านี้จะเข้ามาช่วย ให้คนในท้องถิ่น อยู่รอดปลอดภัย ในบ้านเกิดของเขาเองได้อย่างไร ครับ อาจารย์
สิ่งที่อาจารย์ยุวนุชนำเสนอ ทำให้เรามีมุมมองที่รอบด้านขึ้น มองเห็นประโยชน์ของมิติทางจิตวิญญาณที่ชัดเจนค่ะ 
Pขอบคุณอาจารย์ที่แวะมาเยี่ยมค่ะ
 
Pไม่ทราบอารมณ์คุณMan In Flameเลยสนทนาต่อไม่ถูก เอาเป็นว่าขอบคุณที่แวะมานะคะ
Pตามไปตอบอาจารย์ในบล็อกของอาจารย์แล้วนะคะ
อยากให้อ่านหนังสือ"ปริศนาแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่น" ที่เขียนไว้ คงจะเป็นแนวทางไปสู่คำตอบได้ค่ะ
กล่าวสั้นๆตรงนี้ว่าต้องเริ่มที่ตัวบุคคลและชุมชนที่ต้องค้นหาทุนต่างๆให้พบก่อน หารากของตัวเองให้เจอ แล้วตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนแปลงตนเอง ออกจากกระแสหลัก ใครมาบอก มาคิดแทนให้ไม่ได้ค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท