BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

สภาวลักษณะ (Property) และ จรสมบัติ (Accident)


สภาวลักษณะ และ จรสมบัติ

คำนิเทศ (Predicables)  ที่มีนัยสำคัญสูงมี ๓ อย่างคือ สกุล (Genus) และ ชนิด (Species) และ ความผิดแผกเฉพาะ (Specific Difference) ผู้เขียนได้ขยายความไปแล้ว ต่อไปจะขยายความคำนิเทศนัยธรรมดาซึ่งได้แก่ สภาวลักษณะและจรสมบัติ...

สภาวลักษณะ คือ ลักษณะพิเศษเฉพาะอย่างของแต่ละสิ่ง ซึ่งถ้าไม่มีลักษณะพิเศษนี้แล้ว ทำให้สิ่งนั้นไม่สามารถเป็นสิ่งนั้นได้ เช่น

ความเค็ม เป็นสภาวลักษณะของ เกลือ (นั่นคือ ถ้าไม่เค็มก็มิใช่เกลือ)

ความหวาน เป็นสภาวลักษณะของ น้ำตาล (นั่นคือ ถ้าไม่หวานก็มิใช่น้ำตาล)

เกลือและน้าตาล มิใช่สิ่งเดียวกัน เพราะมีความผิดแผกเฉพาะทำให้ไม่สามารถเป็นอย่างเดียวกันได้ สิ่งที่ทำให้เกลือและน้ำตาลแตกต่างกันก็คือสภาวลักษณะนี้เอง

....

จรสมบัติ คือ คุณสมบัติของบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งแม้จะขาดหายไปก็มิทำให้สิ่งนั้นสูญเสียความเป็นสิ่งนั้นไปได้ เช่น

สีขาว เป็นก้อน ความสะอาด.. สามารถเป็นจรสมบัติของเกลือหรือน้ำตาลได้...แต่

เกลือหรือน้ำตาล บางอย่างอาจมีสีกระดำกระด่าง คือมีสีค่อนข้างดำ มิใช่สีขาว...

เกลือหรือน้ำตาล บางคราวอาจเป็นผง หรือละลายอยู่ในน้ำ มิใช่เป็นก้อนเสมอไป... 

เกลือหรือน้ำตาล บางครั้งก็อาจสกปรก มิได้สะอาดเสมอไป...

......

อนึ่ง ตามตัวอย่างที่ยกมา กล่าวคือ การกำหนดความเค็มว่าเป็นสภาวลักษณะของเกลือ และความหวานว่าเป็นสภาวลักษณะของน้ำตาล ทำนองนี้ เป็นสิ่งที่สังเกตได้ง่าย..

แต่บางสิ่งบางอย่างอาจกำหนดสภาวลักษณะได้ยาก เช่น... สภาวลักษณะของมนุษย์คืออะไร ?

ความสามารถพูดได้ และ ความมีเหตุผล... เหล่านี้ ..น่าจะเป็นสภาวลักษณะของมนุษย์

มนุษย์ทุกคนเป็นผู้สามารถพูดได้ (แม้บางคนที่พิการมาแต่กำเนิด อาจพูดไม่ได้ แต่ความสามารถพูดได้ก็ยังคงเป็นสภาวลักษณะของมนุษย์)

มนุษย์ทุกคนเป็นสัตว์ที่มีเหตุผล (แม้ว่าบางคนใช้เหตุผลเข้าข้างตัวเอง หรือไม่เคารพเหตุผล แต่ความมีเหตุผลก็ยังคงเป็นสภาวลักษณะของมนุษย์)

ส่วน ผิวขาว ผิวเหลือง ผิวดำ จัดเป็นจรสมบัติของมนุษย์ เพราะแม้ว่ามนุษย์จะมีผิวขาวหรือไม่ก็ตาม ก็ยังไม่สูญเสียความเป็นมนุษย์

....

หมายเหตุ....

สภาวลักษณะ และจรสมบัติ ใช้กำหนดความผิดแผกเฉพาะ ซึ่งทำให้บรรดาสกุลและชนิดมีความแตกต่างกันออกไป และจัดเป็นสิ่งสำคัญในการให้ความหมาย....

ในทางตรรกศาสตร์ การกำหนดสภาวลักษณะ ยังไม่แน่นอนชัดเจน เพียงแต่กำหนดขึ้นมาเพื่อเป็นประโยชน์ในการให้ความหมายของสกุลและชนิดเท่านั้น

 

หมายเลขบันทึก: 88827เขียนเมื่อ 6 เมษายน 2007 05:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 15:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท