ปัญหางูกินหางของ การพัฒนากรอบวิสัยทัศน์กับชุดความรู้ในการจัดการความรู้


การจัดการความรู้เพื่อการพัฒนาชีวิตจึงน่าจะต้องเริ่มที่การพัฒนากระบวนทัศน์ มากกว่าการเริ่มที่ชุดความรู้

ในระยะนี้ผมได้มีโอกาสสัมผัสระบบการจัดการความรู้ที่หลากหลายและแตกต่างกันอย่างมาก ที่ทุกคนดูเหมือนจะใช้ความพยายามมากที่จะจัดการความรู้เพื่อพัฒนาอาชีพ การทำงาน และชีวิตของตนเองตามกำลังความคิด และความสามารถเฉพาะตัว ซึ่งทำให้มีระบบชีวิตและอุปสรรคที่หลากหลายและแตกต่างกันอย่างมากมาย

  

ในความแตกต่างนั้นก็ยังมีคนที่พอใจกับผลที่เกิดขึ้น โดยไม่มีความสัมพันธ์กับระดับความสำเร็จเชิงเปรียบเทียบในวิถีชีวิตจริง กล่าวคือ บางคนก็พอใจในระดับพออยู่รอดได้ไปวันๆ แต่บางคนก็วางแผนที่จะทำงานให้ได้ผลสำเร็จในระยะยาวๆ

  

แสดงว่าเป้าหมายในชีวิตแต่ละคนนั้น มีเกณฑ์ในการประเมินและพอใจที่แตกต่างกันมากจริงๆ

  

เมื่อผมมาพิจารณาสาเหตุ ก็น่าจะอยู่ที่กรอบวิสัยทัศน์กับชุดในความหมายของชีวิตที่ดี และชุดความรู้ที่ใช้ในการจัดการความรู้ในการพัฒนาชีวิตของแต่ละคน

  

ดังนั้น การจัดการความรู้เพื่อการพัฒนาชีวิตจึงน่าจะต้องเริ่มที่การพัฒนากระบวนทัศน์ มากกว่าการเริ่มที่ชุดความรู้

  

แต่ในทางกลับกันการพัฒนากระบวนทัศน์ก็จำเป็นต้องใช้ชุดความรู้บางประเด็นที่จะทำให้เกิดความเข้าใจระดับหนึ่งที่ดีพอที่จะนำไปปรับปรุงระบบคิดในการพัฒนากระบวนทัศน์ได้ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการเริ่มต้นที่ค่อนข้างยากสำหรับคนหลายๆคน ที่มีความคิดติดกรอบเดิมๆ  ระบบคิดที่แคบ มีชุดความรู้ไม่มากนัก และที่สำคัญก็คือไม่คิดที่จะเปลี่ยนระบบคิด หรือไม่ทราบว่ามีระบบคิดแบบอื่นๆ แต่กลับมองว่าความสำเร็จของคนอื่นๆนั้นมาจาก โชค หรือ ดวง ที่ดีกว่า ไม่ใช่อยู่ที่ ความคิด และ ความพยายาม และ ความสามารถ ของแต่ละคน

  

พอเผชิญปัญหา กลับต่อว่า โชคชะตา แทนที่จะพยายามเข้าใจว่า ผล ดังกล่าวนั้นเกิดจากการกระทำที่ พลาด ของตัวเอง หรือการใช้ชุดความรู้ที่ไม่ถูกต้อง

  

สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ผมพอจะมองเห็นด้วยสถานการณ์ และข้อมูลที่เผชิญอยู่ในช่วง ๒-๓ วันที่ผ่านมา การเริ่มต้นจัดการความรู้ที่เหมาะสมกับชีวิตตนเองน่าจะเป็นทางออก แต่ก็ยังมองไม่ออกว่าจะเริ่มพัฒนาตรงจุดใดก่อน เพราะดูเหมือนจะพันกันไปหมดแทบทุกเรื่อง

  

บางคนก็บอกว่าต้องมี สติ แต่การมีสติก็ต้องพยายามและใช้ความรู้เหมือนกันนะครับ

  

เห็นไหมครับ แค่นี้ก็เป็นปัญหางูกินหางแล้วครับ

หมายเลขบันทึก: 88761เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2007 17:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • " การจัดการความรู้เพื่อการพัฒนาชีวิตจึงน่าจะต้องเริ่มที่การพัฒนากระบวนทัศน์ มากกว่าการเริ่มที่ชุดความรู้ "  แม้ไม่ได้ติดสินว่าผิดถูก แต่ผมสนับสนุนข้อนี้ครับ  (ในกรณีที่การพัฒนาเกิดจากข้างใน)
  • เพราะแม้ว่าจะวนกลับไปที่ชุดความรู้  แต่เมื่อกระบวนทัศน์ไม่เปลี่ยน มีชุดความรู้อยู่มากมายก็น่าจะไม่เลือกหยิบขึ้นมาใช้อยู่ดีนะครับ
  • ขอบพระคุณมากครับ

อาจารย์ดร.แสวง พูดถึงเรื่องสติ ทำให้ผมนึกถึงหลายๆ เรื่องครับ

เรื่องแรกคือที่ฝรั่งเขาเรียกว่า take for granted คือทึกทักเอาว่าสิ่งที่อยู่รอบตัวเรานั้นมีอยู่ตลอดไป จนสิ่งเหล่านั้นหายไปนั่นแหละถึงจะรู้ว่ามันไม่ได้เป็นของเรา ไม่ได้เป็นสิ่งที่จะมีให้เราได้ตลอด เอาง่ายๆ เลยครับ อยู่เมืองไทย ก็มีข้าวปลาอาหารทานตลอด 24 ชม.พอมาอยู่ต่างประเทศถึงรู้ว่าเออ บ้านเขาเมืองเขาไม่ได้เหมือนเรา ต้องมีการวางแผน ต้องทำอาหารเอง ก็ทำให้นึกถึงฝีมือคุณแม่ที่บ้าน (เมื่อก่อนไม่เคยนึก)

ทีนี้มาถึงเรื่องการจัดการวิสัยทัศน์ ผมเข้าใจว่าหมายถึงความเข้าใจตัวเอง เหมือนอย่างที่คุณสิงห์ป่าสักบอกว่า เป็นการพัฒนาจากภายใน ผมค่อนข้างเห็นด้วยนะครับ สมัยเรียนมหาวิทยาลัยผมเถียงกับเพื่อนเรื่องความเข้าใจในชีวิต หมายถึงว่าบุคคลจะเข้าใจตัวเองได้ หรือจะตัดสินใจอะไรในชีวิตได้นั้นมาจากภายใน ผมไม่แน่ใจว่าถูกต้องหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่เราก็รับความคิดจากภายนอก (ดูผมจะขัดแย้งในตัวเองอยู่พอควร) แต่นั่นหมายถึง เรารับรู้ข้อมูลต่างๆ จากภายนอก แล้วเรานำมาสังเคราะห์ ทำความเข้าใจ แยกส่วน หาความหมายของมันให้ตรงกับจริตของเรา 

ตรงนี้คือกระบวนการภายในหลังจากรับภายนอกมาครับ ผมเข้าใจว่าตรงกับองค์ความรู้ที่ฝรั่งเรียกว่า social constructvism คือกลุ่มคนร่วมกันหาความหมายของสิ่งต่างๆ แล้วร่วมกันรับความหมายนั้นๆ ไว้ 

ผมเลยขอสรุปตรงนี้ว่า ที่อาจารย์ดร.แสวงกล่าวว่า เป็นปัญหางูกินหาง เพราะทุกอย่างมันเกี่ยวพันกันไปหมด ถามว่าจุดเริ่มจุดจบอยู่ตรงไหน ผมว่ามันไม่ีมีครับ เพราะความหมายนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ถ้าเริ่มได้จบได้แสดงว่าไม่มีคนใช้แล้ว คือต้องเข้าใจว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดอยู่ตลอดเวลา ไปฝืนมันก็มีแต่จะร้อนใจ (เช่นภาษาที่ว่าวิบัตินั้น ผมว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงไปตามสังคมและผู้ใช้มากกว่า) สรุปว่า มันหาไม่เจอครับ จุดเริ่มจุดจบ ต้องทำความเข้าใจไปเรื่อยๆ มองแบบนี้ น่าจะมีกำลังใจในการเริ่มมองเข้าไปภายใน อาจารย์ว่าไหมครับ?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท