การแจ้งการวินิจฉัยแก่ผู้ป่วย: ขั้นที่ 5 แสดงความสนใจความรู้สึกของผู้ป่วย


“คุณต้องกล้าเผชิญมัน คุณเป็นมะเร็งจริงๆ” ไม่ควรพูดแบบนี้

ต่อไปนี้เป็นปฏิกิริยาและความรู้สึกของผู้ป่วยที่อาจเกิดขึ้นได้หลังจากที่ได้รับรู้การวินิจฉัยของตน และท่าทีที่แพทย์ควรตอบสนองต่อความรู้สึกของผู้ป่วย


5.1 ร้องไห้ เมื่อผู้ป่วยร้องให้ แพทย์ควรจะอยู่ใกล้ๆ ไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกถูกทอดทิ้ง  แสดงท่าทีเข้าใจและเห็นใจผู้ป่วย ไม่ควรปลอบว่า  “อย่าเสียใจ” ถ้าปล่อยให้เขาได้ระบายความรู้สึกเศร้าสลดออกมาให้ฟังจนหมด ผู้ป่วยจะยอมรับสถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้ได้ดีขึ้น  หรือบางคนอาจไม่ต้องการพูดอะไรเลยก็ได้ ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกในทางบวกต่อแพทย์มากหากเห็นว่าแพทย์พร้อมให้เวลากับผู้ป่วยในยามที่เขามีความทุกข์ใจ

 5.2  ปฏิเสธหรือไม่ยอมรับ การไม่เชื่อเรื่องที่บอกเป็นปฏิกิริยาที่พบได้บ่อยมาก  ผู้ป่วยอาจจะพูดว่า  “ไม่จริง” “เป็นไปไม่ได้” แพทย์อาจตอบสนองว่า “คงเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับว่าคุณมีโรคร้ายทั้งๆ ที่คุณยังดูแข็งแรงดี”   คำพูดที่ไม่ควรใช้ ได้แก่ “คุณต้องกล้าเผชิญมัน  คุณเป็นมะเร็งจริงๆ”  
การปฏิเสธความจริงเป็นกระบวนการทางจิตใจอย่างหนึ่ง  ซึ่งจะช่วยปกป้องความรู้สึกของผู้ป่วยไม่ให้สะเทือนใจมากในชั่วระยะเวลาหนึ่ง การพยายามฝืนให้ผู้ป่วยยอมรับความจริง หรือโต้แย้งกับผู้ป่วยนั้นไม่มีประโยชน์

 5.3  ตกใจ หรือช็อก   ผู้ป่วยอาจมีท่าทีสับสน คิดหรือพูดอะไรไม่ถูก  หรือบางรายอาจจะนิ่งเงียบไป แพทย์อาจนั่งเงียบๆ เป็นเพื่อนผู้ป่วย รอให้ผู้ป่วยเริ่มพูดขึ้นมาเอง หรือตอบสนองโดยใช้คำพูด “ตอนนี้คุณกำลังคิดอะไรอยู่” หรือ “มันอาจจะหนักไปสำหรับคุณที่ได้ทราบเกี่ยวกับโรคนี้”

 5.4 กลัวหรือวิตกกังวล  ผู้ป่วยจะมีสีหน้าวิตกกังวล  หรือมีคำถามต่างๆ มากมายแพทย์อาจตอบสนองเพื่อให้ผู้ป่วยรู้ว่าแพทย์รับรู้และสนใจความรู้สึกของเขา  โดยใช้คำพูดว่า “คุณรู้สึกกังวลเกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้าง” หรือ “เรื่องนี้คงทำให้คุณไม่สบายใจ คุณเคยคิดมาก่อนหรือไม่ว่าเรื่องนี้อาจจะเกิดขึ้นกับคุณ”
ผู้ป่วยแต่ละคนจะวิตกกังวลไม่เหมือนกัน  บางคนกลัวตาย  บางคนกลัวเจ็บ กลัวช่วยตัวเองหรือควบคุมตัวเองไม่ได้  กลัวผลข้างเคียงจากการรักษา  กลัวสูญเสียภาพลักษณ์ กลัวถูกทอดทิ้ง  บางคนกังวลเรื่องเศรษฐกิจ หรือเป็นห่วงคนในครอบครัว  แพทย์ควรจะสอบถามผู้ป่วย เพื่อใช้ข้อมูลเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ในการหาทางแก้ไขและให้ข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยเพื่อสร้างความมั่นใจและลดความวิตกกังวลลงได้

 5.5 โกรธ ตำหนิแพทย์ ญาติเจ้าหน้าที่อื่น หรือแม้กระทั่งตัวเอง  เป็นความรู้สึกหนึ่งที่ยากสำหรับแพทย์ที่จะต้องเผชิญและจัดการ  ผู้ป่วยอาจเริ่มตำหนิคนที่เป้าหมายของความโกรธนั้น  อาจตำหนิแพทย์ว่ารักษาไม่ดี  ตำหนิพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่อื่นๆ เรื่องให้บริการไม่ดี  ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุของการฟ้องคดีต่อแพทย์หรือเจ้าหน้าที่  หรือบางคนอาจตำหนิตัวเองว่าไม่ดูแลตัวเองให้ดี  จึงเป็นโรคร้ายดังกล่าว 
 ถ้าแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความโกรธนี้ ก็มักจะโกรธตอบผู้ป่วย  ผลก็คือผู้ป่วยจะยิ่งโกรธมากขึ้นไม่มีทางลด  ทำให้บางครั้งแพทย์อาจงดเยี่ยมผู้ป่วย  แวะมาเยี่ยมโดยใช้เวลาน้อย  หรืออาจจะเกิดการโต้เถียงกันโดยไม่จำเป็น 
แพทย์ควรยอมรับความรู้สึกโกรธของผู้ป่วย รับฟัง พยายามเข้าใจความรู้สึกของเขา อย่ารีบปฏิเสธหรือแก้ตัวว่าไม่ใช่ความผิดหรือความรับผิดชอบของตน  ควรยอมรับ เข้าใจและให้เกียรติแก่เขา สละเวลาให้บ้างเล็กน้อย ไม่นานผู้ป่วยจะค่อยๆ ลดระดับความโกรธลง เริ่มรู้สึกว่าอย่างไรแพทย์ก็ยังสนใจ ดูแลเอาใจใส่ตน เมื่อถึงตอนนั้นการชี้แจงต่างๆ ก็จะง่ายขึ้น

 5.6 ซึมเศร้า  แสดงออกมาได้หลายรูปแบบ ผู้ป่วยอาจรู้สึกเบื่อหน่าย  ท้อแท้กับชีวิต  ร่วมกับหงุดหงิดง่าย  เบื่ออาหาร  นอนไม่หลับ  ไม่อยากทำหรือคิดอะไร  อ่อนเพลีย  ไม่อยากอยู่  เป็นต้น
 อาการซึมเศร้านี้เป็นความรู้สึกปกติที่เกิดขึ้นได้หลังได้ฟังการ ถ้าได้รับกำลังใจและการประคับประคองจิตใจจากญาติ แพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ต่างๆ  ที่เหมาะสม อาการก็จะค่อยๆ ดีขึ้น  แต่หากอาการมีมากอาจพิจารณาให้ยาแก้ซึมเศร้าเป็นรายๆ ไป

 5.7 โล่งอก  ความรู้สึกแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน  โดยเฉพาะในกรณีที่โรคของผู้ป่วยนั้นเป็นโรคที่ยากต่อการวินิจฉัย  หรืออาจจะเป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการไม่สบายอยู่ในตัวผู้ป่วย แต่ไม่มีใครเชื่อ  ต่อเมื่อแพทย์บอกว่าตนเป็นโรคอะไรได้แน่นอน  แม้ว่าจะเป็นโรคร้ายแรงถึงชีวิตก็อาจจะรู้สึกโล่งอก และสามารถเผชิญต่อสู้กับโรคนั้นในช่วงเวลาที่เหลือได้ต่อไป 
 เมื่อแพทย์เห็นท่าทีโล่งอกของผู้ป่วย ควรจะต้องถามย้ำให้แน่ใจว่า  ผู้ป่วยเข้าใจการวินิจฉัย  การดำเนินโรค  และสิ่งที่แพทย์บอกแก่ผู้ป่วย  เพราะผู้ป่วยอาจจะไม่เข้าใจโรคอย่างถ่องแท้ก็ได้

หมายเลขบันทึก: 87693เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2007 10:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 23:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

 

ขอบคุณมากค่ะอาจารย์

หลายครั้งที่หลังจากแพทย์แจ้งข่าวร้ายต่อผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วย ณ ตรงนั้นบางครั้งปฏิกิริยาตอบสนองต่อข่าวร้ายของผู้ป่วยอาจจะแค่เบาๆค่ะ คือ อาจจะอึ้ง อาจจะซึมนิ่งไป หรืออาจจะร้องไห้ (บ้าง)

แต่เป็นเรื่องจริงที่ว่า ต่อให้แพทย์ยืนเป็นเพื่อนผู้ป่วยหรือญาติตรงนั้นสักพักเพื่อเป็นกำลังใจ แต่เวลาของแพทย์ไม่ได้มีมากนัก ซึ่งสักพักแพทย์ก็ต้องไป

แต่ว่าคนที่ต้องอยู่กับผู้ป่วย อยู่กับครอบครัวนั้นๆ ก็คือพยาบาลค่ะ

หลายครั้งที่ต่อหน้าแพทย์ พวกเขาดูยอมรับหรือดูสงบ แต่พอแพทย์จากไปแล้ว พยาบาลจะถูกถามจากญาติหรือจากคนไข้เอง  คำถามที่เจอบ่อยได้แก่

"เคยเจอผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ไหม เขารักษากันหายไหม"

 "มีโอกาสไหมที่ผลวินิจฉัยมันจะผิดพลาด"

"ผ่าตัดแล้วจะหายขาดไหม ?"

ซึ่งเป็นคำตอบที่ทำให้คนถูกถามรู้สึกอึดอัดมากเลยค่ะ บางครั้งก็หเมือนกับถูกต้อน เพื่อให้เราตอบในสิ่งที่เขาต้องการ เข้าใจดีว่า..เพราะญาติหรือผู้ป่วยยังอยู่ในระยะปฏิเสธ  ดังนั้นการที่จะตอบคำถาม หรือจะพูดอะไรออกไป จึงจะต้องระมัดระวัง

จึงอยากจะขอคำแนะนำจากอาจารย์น่ะค่ะว่า พยาบาลควรจะพูด หรือตอบคำถามต่อผู้ป่วยและญาติอย่างไร  เพราะในแง่ของโรค หรือการรักษานั้น พยาบาลย่อมไม่มีสิทธิ์ที่จะไปพูดอะไร เราจะให้หมอเป็นคนพูด  แต่ก็อยากจะรู้ว่า พยาบาลจะสามารถพูด หรือบอกอะไรกับผู้ป่วยและญาติได้บ้าง

และมีเทคนิคในการเลี่ยงที่จะตอบ คำถามที่เราไม่สามารถตอบได้ (หมายถึงไม่มีสิทธิ์ที่จะตอบ)  อย่างไรดีค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

คุณจูนครับ ใช่เลยครับที่คนไข้หรือญาติมักไม่กล้าถามหมอ โดยเฉพาะหมอที่ยุ่งๆ ไม่ค่อยมีเวลา เพราะเขาเกรงใจครับ เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่จะเป็นพยาบาลที่จะเป็นคนให้รายละเอียดเรื่องนี้ต่อ

มีเทคนิคในการเลี่ยงที่จะตอบ คำถามที่เราไม่สามารถตอบได้ (หมายถึงไม่มีสิทธิ์ที่จะตอบ)  อย่างไรดีค่ะ

ส่วนใหญ่ที่ผมใช้คือก็จะถามกลับว่า คุณคิดเห็นว่ายังไงบ้าง หรือที่หมอบอกคุณคิดหรือเข้าใจว่ายังไงบ้าง  จากการตอบของเขาจะทำให้เราพอมองออกว่าควรจะพูดยังไงจึงจะออกมากลางๆ

ถ้าดูเขายังไม่พร้อมที่จะรับเราก็จะพูดถึงกรณีของเคสอื่นไป เช่น  "ผ่าตัดแล้วจะหายขาดไหม ?"  "เท่าที่อิฉันเคยดูคนไข้รายอื่น ส่วนใหญ่หลังผ่าตัดต้องทำเคมีบำบัดต่อ เพราะมันลามไปต่อมน้ำเหลืองแล้ว ... "  "ของคุณก็ดูอาจจะเป็นอย่างนั้นนะคะ  ครั้งหน้าลองถามคุณหมอดีไหมคะ" 

หลักการคือ สร้างความหวังได้ แต่อย่าให้ข้อมูลผิด  เปิดช่องให้เขามีความหวังบ้าง ว่าเออ เขาอาจไม่เหมือนคนอื่นทีเดียวนะ

คุณอุบลครับ ยินดีครับ หวังว่าคงได้ประโยชน์บ้างนะครับ

 

ขอบคุณค่ะอาจารย์

แล้วคำถามที่ว่า

"เคยเจอคนไข้โรคนี้ หรืออาการถึงขั้นนี้แล้วรักษาได้หายขาดมั้ยคะ "

(เผอิญโรคที่ถามนั้น ที่พยาบาลเจอ ไม่เคยมีใครที่หาย มีแต่..คนที่ยอมรับ และมีกำลังใจดี ก็จะเผชิญกับโรคอย่างเข้มแข็ง)

จะตอบอย่างไรดีคะ

จะเลี่ยงไม่ตอบก็ไม่ได้ เพราะว่าคนไข้เขาย่อมรู้ว่าเราย่อมเจอคนไข้โรคเหล่านี้เยอะอยู่แล้ว  ถ้าไปบอกว่าเราไม่ค่อยจะเจอ เขาก็คงยิ่งรู้สึกแย่ ว่าตัวเองคงเป็นโรคที่หายาก ไม่ก็อาจจะคิดว่าพยาบาลเจอโรคแบบเขาน้อย ก็แสดงว่าไม่รู้ ต่อไปก็อาจจะขาดความั่นใจในตัวพยาบาล  ถ้าจะโบ้ยไปให้แพทย์ตอบ เขาก็อาจจะยิ่งคิดไปใหญ่ว่า คำตอบมันคงจะแย่แน่ๆ พยาบาลถึงไม่กล้าตอบ

จะว่าไม่มีสิทธิ์ที่จะตอบก็ไม่ได้ เพราะว่าเขาไม่ได้ถามถึงแผนการรักษาอะไร แค่ถามถึงประสบการณ์ของพยาบาล ที่เคยดูแลผู้ป่วย เคยเห็นผู้ป่วยคนอื่นต่างๆหาก

ตอบยากจริงๆนะคะอาจารย์  -_-'

"เคยเจอคนไข้โรคนี้ หรืออาการถึงขั้นนี้แล้วรักษาได้หายขาดมั้ยคะ "

สูตรเดิม

"เท่าที่อิฉันเคยดูคนไข้รายอื่น ส่วนใหญ่จะไม่หายขาดกันนะคะ"  (ไม่ได้บอกว่าทุกราย) + ให้กำลังใจ "แต่ก็พบนะคะว่าคนไข้ที่กำลังใจดีมารักษาสม่ำเสมอตอนนี้เขาก็ยังดูดีเลยนะคะ"

"ดูคุณยังไม่สบายใจนะคะ  ไม่ทราบตอนนี้คิดอะไรอยู่เหรอคะ"

"ดูคุณไม่ค่อยแน่ใจว่าจริงๆ จะเป็นอย่างที่หมอบอกหรือเปลานะคะ  ยังไงก็ควรมารักษาให้สม่ำเสมอนะคะ อาการจะได้ดีขึ้นกว่านี้ ส่วนจะหายขาดหรือเปล่าเราค่อยมาดูกันอีกทีดีไหม"

  • ขอบคุณมากครับ
  • มาติดตามอ่านของอาจารย์ครับ

 

ที่ k-jira เคบตอบคนไข้ไป  ก็จะบอกว่า

" ในโลกนี้มีโรคอีกมากมาย ที่ใช่ว่ารักษาแล้วมันจะหายขาดเลย   ดังนั้นปัญหาจึงไม่ใช่ว่าจะทำอย่างไรถึงจะรักษาโรคนั้นให้หายขาด  แต่อยู่ที่ว่า เราจะทำอย่างไรให้มีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข ในขณะที่เราเป็นโรคนี้ต่างหาก

เพราะต่อให้เราจะเจ็บป่วยด้วยโรคนี้ แต่เราก็ยังสามารถมีกิจกรรม และทำชีวิตของเราให้อยู่อย่างปกติสุขได้ เท่าทีพยาบาลเจอคนไข้มามากมาย พยาบาลสามารถบอกคุณได้ว่า  ได้เจอคนไข้หลายคนเลย ที่หลังจากผ่าตัดเสร็จ ก็กลับไปทำงานได้ บางคนมารับยาเคมีบำบัด ก็ดูสดชื่นแข็งแรง ดูแทบไม่ออกว่าเป็นคนป่วย

ซึ่งสิ่งสำคัญคือ ต้องเริ่มจากการมีจิตใจที่เข้มแข็ง รู้จักการดูแลตนเอง.. ดูแลทั้งร่างกาย และจิตใจอย่างถูกต้อง ปฏิบัติตามคำแนะนำขงแพทย์และพยาบาล..."

ก็จะให้คำแนะนำไปประมาณนี้ เวลาพูดถึงตรงนี้ ญาติมักจะช่วยเสริมค่ะ ว่า

" ใช่.. แม่ต้องสู้นะ ต้องเข้มแข็ง เห็นมั้ย พยาบาลบอกแล้วว่าจิตใจนั้นสำคัญมากๆ "

 

ซึ่ง.. ก็ไม่แน่ใจนะคะว่า จะโชคดีเจอะเคสแบบนี้ได้ทุกเคสรึเปล่า  และไม่แน่ใจว่า เป็นคำแนะนำที่ถูกหรือเปล่า หรือว่าอาจารย์มีคำแนะนำอื่น นอกเหนือจากนี้คะ ?

ขอบคุณค่ะ..

 

 

 

โอ้...แสดงว่าอาจารย์ออนไลน์อยู่ ^__^

พิมพ์เสร็จ รีเฟรส มาเจอคำตอบ

แม้ว่าจะไม่เหมือนกัน แต่ก็คล้ายๆใกล้เคียงกัน

แสดงว่าที่ตอบไปนั้นทำถูกแล้ว ^___^

ขอบคุณค่ะ

ครับ ออนไลน์ทำงานถึงตีหนึ่งกว่าทุกคืนครับ แต่นานๆ จะมีเวลาเขียนหรือเข้าอ่านบ้างนิดๆ หน่อยๆ

คุณจูนทำได้แจ๋วแล้วครับ คนไข้เองเขาจะต้องใช้เวลาอยู่พอสมควรครับ ในการค่อยๆ รับรู้ข้อมูลนี้อย่างที่มันเป็นจริงๆ แรกๆ เขาจะฟังมันห่างจากตัวเองยังไงก็ไม่รู้ แต่พอสักพัก เขาเริ่มแย่ลง มาหาหมอบ่อยขึ้น เห็นคนไข้คนอื่นมากขึ้น ก็จะเริ่มรู้ว่ามันเป็นยังไงจริงๆ  ช่วงนี้จึงอาจเป็นช่วงที่เราต้องมาให้กำลังใจกันอีกทีหนึ่ง จริงๆ ก็ให้เป็นพักๆ นะครับ  การที่หมอหรือพยาบาลชมคนไข้ให้กำลังใจคนไข้เนี่ยมันให้พลังมากเลยนะสำหรับเขา

k-jira (มาแบบไม่ได้ login)

ขอบคุณค่ะ  ^__^

อากาศร้อน เอาผลไม้เย็นๆมาให้ค่ะ ^_^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท