ธปท. โต้ต้องดูดซับสภาพคล่อง “สมหมาย” แจงไม่ได้ตำหนิใช้เงิน 1 ล้านล้าน


ธปท. โต้ต้องดูดซับสภาพคล่อง “สมหมาย” แจงไม่ได้ตำหนิใช้เงิน 1 ล้านล้าน
            นายสมหมาย ภาษี รมช.คลัง เปิดเผยถึงกรณีที่ให้สัมภาษณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)        ได้ใช้ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศประมาณ 1 ล้านล้านบาท ในการแทรกแซงค่าเงินบาทว่าเป็นความจริง  แต่ไม่ใช่การหารือในคณะกรรมการทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา แต่เป็นการหารือเรื่องการยุบทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยน การแต่งตั้งผู้ตรวจสอบ และหารือเรื่องภาวะเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย ภาวะค่าเงินบาทรวมถึงมาตรการสำรองเงินทุนนำเข้า 30%  ทุกคนในที่ประชุมทราบกันดีว่า ค่าเงินบาทแข็งขึ้น เพราะส่งออกขยายตัว โดยในเดือน ม.ค. การส่งออกขยายตัวถึง 17-18% ขณะที่นำเข้าขยายตัว 4% ทำให้เกินดุลการค้าและดุลชำระเงินก็ยังเกินดุล จึงส่งผลทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ทำให้การทำงานของ ธปท. ในการดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนทำด้วยความยากลำบาก และต้องเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทเพื่อลดความผันผวนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นการดูแลอย่างพิเศษ วงเงินรวมแล้ว 1 ล้านล้านบาท จึงต้องการให้ผู้ส่งออกเข้าใจ      ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งสิ่งที่ตนพูดไม่ใช่ต้องการตำหนิ ธปท.  เพราะ ธปท.ดูแลเรื่องนี้อย่างดีอยู่แล้ว แต่ต้องการให้ผู้ส่งออกเข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้น            ทั้งนี้ การประเมินว่า ธปท.ใช้เงิน 1 ล้านล้านบาทในการแทรกแซงค่าเงินบาทนั้น พิจารณาจากทุนสำรอง   ที่เพิ่มขึ้นจาก 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 70,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยชี้ว่าความรู้สึกว่าเศรษฐกิจย่ำแย่นั้น ความจริงปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจเพียง 30% ที่เหลืออีก 70% มาจากปัจจัยอื่น ๆ แต่ไม่ขอบอกว่าเป็นเรื่องอะไร เพราะทุกคนก็ทราบดีอยู่แล้ว            ขณะที่นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ยอมรับว่าวงเงินจำนวนเงินดังกล่าวใกล้เคียงกับตัวเลขจริง แต่เงินทั้งหมดที่ใช้ไปนั้น ธปท.ไม่ได้ใช้เงินดังกล่าว เพื่อจากการแทรก แซงค่าเงินบาทเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากที่ ธปท. ต้องเข้าไปดูดซับสภาพคล่อง ในช่วงที่หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาลมีการเบิกจ่ายงบประมาณออกมาสู่ระบบการเงินมากเกินไปด้วย เพราะ ธปท. จำเป็นต้องดูแลไม่ให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดมีการบิดเบือนจากเป้าหมายของ ธปท.  จำนวนเงิน 1 ล้านล้านบาท ที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากแทรกแซงค่าเงินบาทเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการดูดซับสภาพคล่องจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานของภาครัฐ ซึ่งมีการปล่อยเงินออกมาสู่ระบบจำนวนมาก โดยในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมามีการเบิกจ่ายประมาณ 916,000 ล้านบาท            นางสุชาดากล่าวต่อว่า นอกจากในประเทศ สภาพคล่องที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเกิดจากภาคต่างประเทศด้วย คือ ผู้ส่งออกมีการนำรายได้ในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ เข้ามาแลกเป็นเงินบาทออกมาสู่ระบบมาก และนักลงทุนต่างชาติมีการนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นด้วย โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนเฉพาะในส่วนของตลาดหุ้นเป็นจำนวนเงินสุทธิ 27,000 ล้านบาท ซึ่ง  สิ่งเหล่านี้อาจทำให้สภาพคล่องในระบบเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน              ด้านนางผ่องเพ็ญ เรืองวีระยุทธ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดเงิน และการบริหารทุนสำรอง ธปท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ธปท.อยู่ระหว่างพิจารณาความเหมาะสมว่า จะยืดเวลาอนุญาตการถือครองเงินดอลลาร์ของผู้ส่งออกให้นานขึ้นกว่า 15 วันหรือไม่ เพื่อลดแรงกดดันของค่าเงินบาท เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ผู้ส่งออกได้เทขาย      เงินดอลลาร์ออกมาจำนวนมาก เนื่องจากเกรงว่า หลังการเลิกมาตรการ 30% ค่าเงินบาทในประเทศจะแข็งไปเท่ากับตลาดต่างประเทศที่ขณะนี้บาทอยู่ที่ ประมาณ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ             นายเกียรติพงศ์ น้อยใจบุญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเอกรัฐวิศวกรรม จำกัด เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า กระทรวงการคลังและ ธปท.สามารถมีความคิดเห็นที่ต่างกันได้ แต่ไม่ควรจะออกมาให้ข่าวโต้กันไปมา ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นจากภาคเอกชนและประชาชนมากยิ่งขึ้น สำหรับภาวะค่าเงินบาทเชื่อว่าเอกชนต้องการความมีเสถียรภาพไม่ใช่ต้องอ่อนค่าและการแข็งค่าอย่างเดียว แต่รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องชี้แจงว่าเกิดจากสาเหตุใดให้ชัดเจน ว่าเกิดจากสาเหตุใด และหากแข็งค่าแล้วก็ควรจะบอกทิศทางว่าจะนานเพียงใด และจะใช้มาตรการใดแก้ไข เพื่อทำความเข้าใจให้ชัดเจน

ไทยรัฐ  23  มีนาคม  2550

คำสำคัญ (Tags): #ภาวะเศรษฐกิจ
หมายเลขบันทึก: 85917เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2007 13:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท