“ความรู้” กับ “ปลา”


“ความรู้” ดั่งปลาอยู่ในน้ำ ผู้เรียนเหมือนผู้เลี้ยงปลา หรือชาวประมงที่จะพยายามจับปลา
 

เมื่อสองสามวันที่ผ่านมาผมเน้นกิจกรรมการให้คำปรึกษานักศึกษามหาชีวาลัย ด้านการทำวิจัยที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้ (KM research) ผมได้พบอุปมาอุปไมยที่สะท้อนถึงปัญหาการฝึกทักษะของนักศึกษาว่าทำไมงานจึงไม่ค่อยก้าวหน้า

   โดยมาสรุปว่า ความรู้ ดั่งปลาอยู่ในน้ำ ผู้เรียนเหมือนผู้เลี้ยงปลา หรือชาวประมงที่จะพยายามจับปลา   

ที่ต้องรู้ว่า

 

·        ปลาชอบ อยู่ที่ไหน หรือจะล่อมาให้มาอยู่ในที่ที่เราจับได้ง่ายได้อย่างไร

 

·        ปลาอะไร ต้องใช้ เครื่องมืออะไร จับ จึงจะง่ายที่สุด

 ·        เครื่องมือแต่ละอย่าง แต่ละขนาดมี วิธีการใช้ แตกต่างกัน ตั้งแต่ สุ่ม สวิง แห อวน ฉมวก ตาข่าย ลอบ ยอ เบ็ด ไซ ฯลฯ ที่จะทำให้ได้ปลาต่างกัน ทั้งชนิด และขนาดอีกด้วย

·        เหยื่อล่อปลา แต่ละชนิดต้องต่างกัน ทั้ง องค์ประกอบและวิธีใช้และเครื่องมือประกอบที่ใช้

·        ปลาธรรมชาติ (KM ธรรมชาติ) กับปลาเลี้ยงในบ่อ  (KM ในกลุ่มที่ทำงานด้วยกัน)  มีวิธีการจับ และใช้เครื่องมือต่างกัน

·        ในบ่อปลาก็มักมีปลาธรรมชาติ ในธรรมชาติก็อาจมีปลาเลี้ยงหลุดออกมา (การปะปนกันของภูมิปัญญาและวิชาการสมัยใหม่)

·        น้ำลึก น้ำตื้น กลุ่มใหญ่ กลุ่มเล็ก  ฝูงปลา ปลาอยู่เดี่ยวๆ ต้องใช้เครื่องมือต่างกัน เครื่องมือชนิดเดียวไม่พอ

·        ปลาบางชนิดอยู่ริมฝั่ง พุ่มไม้ บางชนิดอยู่น้ำลึก ในวังปลา หรือตามแนวปะการัง หรือทะเลลึก

·        น้ำใส (Explicit)มองเห็นปลาได้ง่าย หรือ ขุ่น (Tacit) มองเห็นปลาได้ยาก ต้องอาศัยความสามารถพิเศษอื่นๆ ในการสังเกตและค้นหาปลา

·        สายตา จินตนาการ และความสามารถในการหาปลา ก็จำเป็นต้องพัฒนา อาจต้องใช้กล้อง ใส่แว่น ใช้ไฟส่องช่วยหา

·        เวลาที่ไปหาปลาก็สำคัญ ทั้งชนิดปลาและเครื่องมือที่ใช้

·        หาปลาแต่ละชนิดมาแล้วจะนำมาเก็บ ดูแล รักษา แปรรูป นำไปใช้ต่างกัน จึงจะเป็นประโยชน์สูงสุด กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  

ดังนั้นการทำ KM research จึงต้องพัฒนาทักษะในการทำงานเหมือนการพัฒนาตนให้พร้อมและสามารถที่จะเป็นทั้ง

  • ผู้เลี้ยงปลา
  • ชาวประมง
  • แม่ค้า และ
  • ผู้ดูแลตลาดปลาสด ปลาแห้ง ปลาป่น ปลากระป๋อง จึงจะทำงานได้ดีครับ 

แต่ประเด็นหลักในการทำงานนั้น ก็แล้วแต่จะเลือกครับ 

ลองคิดตามดูแล้วจะเข้าใจ และพัฒนาทักษะได้อย่างเหมาะสมครับ
หมายเลขบันทึก: 83178เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2007 10:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)
อุปมาอุปไมย ได้เห็นภาพเลยครับอาจารย์
ขอบคุณครับ ก็พยายามหาวิธีคุยให้เข้าใจง่ายนะครับ

พวกหนึ่งจะคิดไปอีกทาง สำเร็จรูป เข่น

ปลากระป๋อง ปาท่องโก๋

ตอน อ.สุจินต์ สิมารักษ์ เป็นประธานโครงการฯ ที่พวกผมทำงานอยู่ อาจารย์ก็ได้สอนการจัดการความรู้โดยใช้เปรียบเทียบกับปลาเหมือนกันครับ คล้ายกับอาจาร์เลย

  • ในหนองน้ำจะมีปลาอยู่มากมาย เปรียบเสมือนความรู้ที่มีอยู่มากมาย
  • ในการจะจับปลาจำเป็นต้องมีเครื่องมือ นั่นก็คือเครื่องมือในการแสวงหาความรู้
  • เมื่อจับปลามาได้แล้ว ก็นำมาปรุงเป็นอาหารที่กินได้ เหมือนกับได้ความรู้มาแล้ว ก็นำมาจัดการให้เป็นความรู้ที่เป็นประโยชน์
  • เมื่อทำเป็นอาหารแล้ว ไม่วาจะต้ม ย่าง ทอด ฯลฯ ก็นำไปแบ่งคนอื่นกินด้วย เหมือนกับการถ่ายทอดความรู้ หรือ เผยแพร่
  • เมื่อทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ความรู้ก็จะซึมเข้าสู่เพื่อนร่วมงาน คนข้างเคียง คนรู้จัก เป็นวงจรไปเรื่อย ๆ

 

อาจารย์ ดร.แสวง...

เยี่ยมจริงๆ ครับ....ขอร่วมวงนิดหน่อย

บางคนเลี้ยงปลาเพื่อความสวยงาม มองดูปลาที่เจริญเติบโตขึ้นมาอย่างมีความสุข ยามว่างก็คุยกับปลา บางครั้งก็ดุด่า หยอกล้อ ลงโทษ ให้รางวัล หรือเอามาแกง และให้แมวกิน....กลุ่มนี้ ถือว่า ความรู้คือทาษ

บางคนรับจ้างเลี้ยงปลา หรือรับจ้างจับปลา เค้าไม่ค่อยสนใจว่าปลามีคุณค่าอย่างไรบ้าง หวังเพียงค่าจ้างที่ได้จากการรับจ้างเท่านั้น... สำหรับกลุ่มนี้ ความรู้คือสิ่งสูงส่งเกินไปสำหรับชนชั้นพวกเค้า

บ้างก็จับปลามาเพื่อบริโภค บ้างก็จับมาเพื่อขาย หรือบางกลุ่มก็อาจขายบ้างบริโภคบ้าง... นัยนี้ อาจจำแนกได้ว่า บางพวกถือว่าความรู้เพื่อชีวิตโดยตรง บางพวกถือว่าความรู้เพื่อชีวิตโดยอ้อม บางก็ถือว่าความรู้เพื่อชีวิตทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

หลวงตาเทข้าวก้นบาตรให้ปลาที่คลองติดกับวัด หลวงตาสังเกตว่า ปลาบางตัวก็คุ้นเคยค่อยๆ โตขึ้นมา บางตัวก็เพิ่งมาใหม่ บางตัวก็หายไป ....หลวงตาอาจพิจารณาว่า ความรู้มิใช่สิ่งเที่ยงแท้แน่นอน เป็นอนิจจังดังคำสอนของพระบรมครู

ในฐานะตังเกเก่า ชาวตังเกแบ่งปลาเป็น สามชนิด คือปลาหน้าน้ำ ปลากลางน้ำ ปลาผิวดิน ... ซึ่งปลาเหล่านี้ จะมีเครื่องมือตามชนิดของมัน เช่น อวนดำใช้จับปลาหน้าน้ำ อวนลอยใช้จับปลากลางหน้า และอวนลากใช้จับปลาผิวดิน...นั่นคือ การแสวงหาความรู้แต่ละระดับ มีวิธีการแตกต่างกัน

ส่วนปลาฉลามจัดเป็นเจ้าทะเล จะอาศัยอยู่ทั้งสามระดับ ...และในฐานะผู้เขียนเรียนปรัชญา จึงยืนยันว่า ปลาฉลามนี้เอง คือวิชาปรัชญา....

เจริญพร 

ตามมาอ่าน...

ได้มุมมองที่เห็นภาพชัดดีครับ...

ปลาหลากชนิดก็เหมือนความรู้ต่าง ๆ ที่มีมากมาย...

ขอบคุณครับ...

กราบเรียน พันธมิตร และนมัสการพระคุณเจ้า

เรื่องการเลี้ยงปลา จับปลา ดูแลปลา และใช้ประโยชน์จากปลาในด้านต่างๆ นั้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของแต่ละคน แต่การจะอยู่ร่วมกับปลาหรือนำปลามาใช้ประโยชน์นั้น จะต้องมีการจัดการที่เหมาะสมและยั่งยืน จะต้องเข้าใจว่าปลาอยู่ที่ไหน ด้วยสายตาอันแหลมคม ในเชิงความคิดและกระบวนการ การนำความรู้ด้านต่างๆ เข้ามาผสมผสานกัน

ผมนำเสนอในประเด็นนี้ เพื่อให้นักศึกษาได้เริ่มคิดว่าตัวเองยังขาดคุณสมบัติข้อใด ที่จะนำความรู้ที่เปรียบเสมือนปลาอยู่ในน้ำ มาจัดการหรือใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของตนเองอย่างถูกต้องและสมบูรณ์แบบ แม้จะเป็นปลากระป๋อง ก็ยังต้องรู้วิธีเปิดกระป๋องนะครับ ไม่งั้นก็จะเป็นหมาเห็นปลากระป๋อง ครับ  นั่งมองสายตาละห้อย ไม่มีทางได้กินปลาเลยครับ...

  • รายงานตัว : มาอ่านความรู้เรื่องปลาขอรับ
คุณ นมินทร์ (นม.) แล้วเห็น "ปลา" กี่ตัวแล้วครับ

เอ๊ะ...มีปาเข้าไปสี่สิบแล้วยังไม่มี... ป่าวค๊า..  555

  • ขอยกตัวอย่างเรื่องปลาพอหอมปากหอมคอครับ เพื่อประกอบรสชาติจากองค์ความรู้ของท่าน อ.แสวง ครับ 
  • พูดถึงปลา เรามีวิธีการหาปลาได้ทุกเวลา หากรู้ว่านิสัยของปลาแต่ละชนิดเป็นอย่างไร
  • ยกตัวอย่างเช่น
  • ตอนเช้าๆ ปลานอนน้ำข้นในทุ่งนา (ปลารอเหยือที่ตกลงไปในหลุมน้ำข้น) ใช้สุ่ม ครอบได้เลย หรือฉมวกโดยใช้เท่าสอดเข้าไปใต้โคลนพอเห็นหัวปับก็เสร็จข้าพเจ้า หากพลาดวิ่งลงน้ำลึก ปลาจะกระโดดเหนือน้ำ วิ่งตามด้วยสุ่ม
  • ตอนส่ายๆ ตกเบ็ด ยั่วเบ็ด ปลาจะเริ่มหิว ใช้เขียดกับคันเบ็ดยาวๆ เรียกว่าเบ็ดยั่ว ลงในนา ฟังเสียงปลากัดกัน มันจะได้พวกปลาตัวใหญ่ๆ เช่นปลาช่อน
  • ช่วงกลางวันทำได้หลายวิธี
  • ช่วงตกเย็น ใช้คันเบ็ด (ใต้เรียกกว่าเบ็ดธง) ไปปักไว้ข้างคันนา แล้วเดินสำรวจอย่างเดียว
  • กลางคืนไปซักหน่อย เดินลงบุกในนาเข้าหรือตามข้างๆ คันนา แล้วแต่สภาพแวดล้อมว่าจะใช้ สุ่มหรือ ฉมวก ตามสะดวก หากแบบนี้ได้จนสว่าง
  • อันนี้ไม่รวมการวิดปลา สูบน้ำ วิดด้วยเครื่องมืออื่น
  • รู้นิสัยปลาก็ได้ปลาตามนิสัย
  • เขียนแล้วได้อรรถรสชีวิตบ้านนอกจริงๆครับ

คุณเม้งนี่ท่าจะเป็นคนที่ปลาไม่อยากคบครับ

แหมความรู้เรื่องการจับปลานี่มันจริงๆ

ผมจับปลาหากินเองมาตั้งแต่เด็กยังความรู้ไม่เท่าคุณเม้งเลย

สงสัยเป็นเพราะผมไม่ค่อยไปถามใคร เลยพัฒนาความรู้ได้ช้า

วันนี้ก็ยังเป็นเช่นเดิม ผมเรียนแบบไม่ค่อยถามใคร ก็เลยผิดบ้าง ถูกบ้าง ลุ่มๆดอนๆ อย่างนี้แหละครับ

ดีนะครับที่มีพันธมิตรมาช่วยแต่งแต้ม ไม้งั้นสงสัยจะเสียชาติเกิดจริงๆ 

ตอนนี้ ผมก็เลยกลับมาทำนา ปลูกผัก และจับปลากินเอง

จะขอลองเอาความรู้คุณเม้งไปลองใช้นะครับ

  • อิๆๆ ขอบคุณครับ ปลาไม่ค่อยคบครับ ตอนเด็กๆ จะพยายามเว้นวันพระครับ เพราะว่าวันพระจะทำบาปขึ้นมากๆ ครับ
  • กลางคืนนี้ต้องระวังครับ เคยเดินไปใช้ตะเกียงอะเซติลีน (ตะเกียงฉอด ภาษาใต้ครับ) เจองูปล้องทอง นอนพาดอยู่เต็มคันนา สลับลายเหลืองดำ ต้องดำตะเกียงแล้ววิ่งอย่างเดียวครับ เพราะงูชนิดนี้เค้าว่ากันว่ามันจะวิ่งไล่ตามแสงไฟครับ อิๆ
  • ปลาดุก ใช้เบ็ดกับไส้เดือนครับ  ลูกเขียดส่วนใหญ่จะปลาช่อนครับ ไข่มดแดงนี่ปลาหมอครับ
  • หากแดดร้อนๆ ปลาจะเข้าไปอยู่ในรู ในโพรงครับ หากใจกล้าไม่กลัวงูก็ล้วงเข้าไปได้เลยครับ เผลอๆ ได้ปลาเพียบ โชคร้ายหน่อย อาจจะดึงมือออกมาไม่ทันครับ เจองูน้ำเข้าเต็มๆครับ
  • ผมเองเล่าสนุกๆ ครับ เพียงแต่ทำบาปมาเยอะแล้วครับ สงสารปลาเหมือนกันครับ
  • ออ แถมอีกเทคนิคหนึ่งครับ หากใช้วิธีการสูบน้ำ มันกจะได้ปลาตัวเล็กๆ ในแอ่งลึกครับ ตัวใหญ่ ต้องขึ้นไปหาตามใต้หญ้าบริเวณขอบริมน้ำตามหลุมนะครับ เมื่อก่อนผมวิดปลา ปล่อยให้คนอื่นจับให้เพลินกันไปก่อน แล้วผมกับน้าค่อยจับกันทีหลังครับ ตัวใหญ่ก็มักได้ทีหลัก เพราะคนไม่รู้ว่าจะหาตัวใหญ่จากไหน
  • แถมอีกหนึ่งบทความ ทำบาปครับ ย้อนความยามยังเด็ก ประสบการณ์จากท้องนา (ตอนจับกบ)
  • หากใครเลี้ยงหอยโข่ง ไม่รู้จะจับยังไง ใช้ก้านมะละกอ หรือต้นมะละกอ ไปแช่ไว้ในบ่อที่เลี้ยงครับ จะจับหอยโข่งได้ง่ายๆ ครับ ลองทำดูครับ หากยังไม่เคยทำครับ
  • ผมเนี่ยคนบาปครับ ในยามเด็ก ตามประสาเด็กบ้านนอก แต่ว่าไม่เอาเนื้อของเค้ามาทิ้งขว้างนะครับ ที่ไปพรากชีวิตเค้ามา ตอนนี้เลยต้องอยู่ห่างพ่อแม่แทน ฐานะทำบาปมาเยอะครับ
  • ไว้ว่างๆ ค่อยเขียนคนบาปยามเด็กซักตอนครับ ไม่ใช่แค่ปลานะครับที่ไม่คบผม สัตว์น้ำจืดที่กินได้เกือบทุกชนิดที่จะไม่คบผมครับ รวมไปถึงนกด้วยครับ
  • พอแค่นี้ก่อนครับ ก่อนภาพลักษณ์จะไม่เหลือครับ

แล้วสาวเยอรมันต้องใช้เครื่องมือะไร ตอนไหน จึงจะจับได้ง่ายที่สุดครับ

จับแล้วเอามาทำอะไร ต้ม หรือปิ้งดีกว่ากันครับ

สงสัยจัง

  • อันนี้เรียกว่าพลาดครับ ตายน้ำตื้นครับ เรื่องสาวๆ ไม่ถนัดครับ สงสัยต้องเปลี่ยนประเด็นครับ ฮ่าๆ
  • ภาษา วัยรุ่นคงต้องตอบว่า จับด้วยหัวใจ
  • ส่วนภาษาวัยอย่างผม สงสัยต้องจับด้วยความจริงใจครับ
  • พอหอมปากหอมคอครับ
  • ขอบคุณมากๆนะครับ ด้วยประสบการณ์และการลงพื้นที่จริง และคนสู้ชีวิต ผมยกนิ้วให้ อ.แสวงครับผม คงได้มีโอกาสเรียนรู้จากตัวจริงเสียงจริงบ้างครับ
  • ขอบคุณมากๆ นะครับ ที่ให้โอกาสคนอย่างผมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ
  • อย่าลืมรักษาสุขภาพด้วยครับ ทำงานหนัก ยังจะต้องอยู่ต่อสู้กับอุปสรรคอีกมากมายครับ

มาขอเป็นลูกศิษย์ด้วยคนครับ

สวัสดีครับขอแจมด้วยคน

อ่านงานเขียนพระคุณเจ้าแล้วไม่เห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่โดยเฉพาะประเด้นรับจ้างจับปลาจะอนุมานว่า ความรู้สูงส่งเกินไปสำหรับชนชั้นเขา ไม่ใช่ครับ

การรับจ้างจับปลาก็ต้องอาศัยการจัดการความรู้นะครับ เช่นไต้ก๋งเรือเป็นต้น และความรู้ที่เขาสะสมบางอย่างถ่ายทอดไม่ได้ด้วย อาทิตำแหน่งของซอกหินแบบไหน?จึงมีกั้ง แบบไหนมีกุ้งเป้นต้น

การับจ้างจับปลาเป็นสัมมาอาชีพแม้นจะผิดศีลแต่อยู่ที่เจตนา คือประทังชีพในฐานะสัมาอาชีวะไม่ใช่จับเพือ่ความเพลิดเพลิน เป็นลหุโทษ พวกเขามีโอกาสฝึกตนไม่ต่างจากบัณฑิต ไม่ต่างจากชาวนา ไม่ต่างจากนายช่างที่ดัดคันศร

กลับมาถึงเจ้าของโพรไฟล์ (profile ) ลืมอะไรไป2-3ประเด็นหรือเปล่าครับ? อาจารย์ ทั้งหมดที่อาจารย์เข้าถึงการจัดการความรู้ จะเป็นความรู้ที่ถูกทำให้ปรากฎแล้ว มีผู้ค้นพบและเจียรนัยแล้ว เป็นปลาแล้ว (ปริมณฑลจะอยู่เพียงที่repository? )

 

ยังไม่พูดถึงเรื่องนวตกรรมและการประยุกต์  หรือวิธีเพาะพันธ์ปลา ขยายพันธ์ โคลนนิ่ง ตัดต่อพันธุกรรม(ถ้าจะทำ ) ตลอดจนประเด็นสำคัญที่สุดครับ คือ

ทำไมต้องจับปลา? ทำไมต้องขายปลา?และทำไมต้องรับจ้างจับปลา?(why theory ไม่ใช่เพียงhow and where theory )

                   ตกลงเรื่องปลา  ๆ  ที่ไม่ค่อยจะปลานี้ผมอ่านแล้วก็งงครับ  ผมคนหนึ่งที่ชอบกินปลาแต่ไม่ค่อยรู้เรื่องปลาดีนัก  แต่เมื่อได้อ่านแล้วก็คิดว่ารู้เรื่องปลาดีมากขึ้น  บ้านผมอยู่อีสาน  เดือนเก้าเดือนสิบในนาเวลาแดดร้อน  ๆ  ปลาจะเข้าไปหลบในร่มคนก็จะฉวยโอกาสฟัน(ด้วยมีด)ปลา  หลาย  ๆ  วิธีที่ปลาอาจเอาชีวิตไม่รอด  ครับแต่ปลาที่ ท่านอาจารย์  ดร.แสวง  และ  อาจารย์เม้ง  สมพร  ได้แสดงมาถือว่ามีความรู้เรื่องปลาที่ไม่ค่อยจะปลาในระดับสูงเลยครับ  และผมก็ขอขอบคุณที่ได้รับความรู้เป็นวิทยาทานครับ

ขอบคุณครับ ผมเน้นไปเรื่องความรู้ แต่ก้แตกประเด็นไปไกลเลยครับ แต่ก็เป็นหลักคิดได้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท