บันทึกครั้งที่ ๒๐ กฎหมายที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับโครงสร้างของวงจรธุรกิจWLAN ส่วนที่ ๑


เนื้อหาต่อจากบันทึกครั้งที่ ๑๘   ผมขอขยายความในส่วนกฎหมายที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับโครงสร้างของวงจรธุรกิจ WLAN โดยกล่าวสรุปในแต่ละตัวกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เริ่มจาก

1.พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.. ๒๕๔๒ บัญญัติเกี่ยวกับการป้องกันการกระทำอันเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในการประกอบธุรกิจอย่างเป็นระบบอันจะเป็นการส่งเสริมให้การประกอบธุรกิจเป็นไปอย่างเสรีและป้องกันมิให้เกิดการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการประกอบธุรกิจ

จะเห็นว่า พรบ.ฉบับนี้ ให้ความครอบคลุมทั้งในเรื่องป้องกัน มีกระบวนการลงโทษ และในขณะเดียวกันมีการส่งเสริมด้วย จะไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจWLAN ในนิติสัมพันธ์ที่มีการซื้อ-ขายระหว่างกัน

2.พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศ และวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙    จัดตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะ  มีวิธีพิจารณาคดีเป็นพิเศษเพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว และเที่ยงธรรมยิ่งขึ้น โดยผู้พิพากษาซึ่งมีความรู้และความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ    มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งที่เป็นคดีที่ราคาทรัพย์สิน หรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินสองแสนบาท หรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา  และมีอำนาจพิจารณาคดีอาญาดังต่อไปนี้
๑.  คดีอาญาเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตร
๒. คดีอาญาเกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๗๑ ถึงมาตรา ๒๗๕
๓. คดีแพ่งเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และคดีพิพาทตามสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ
๔. คดีแพ่งอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๗๑ ถึงมาตรา ๒๗๕
๕. คดีแพ่งเกี่ยวกับการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้า หรือตราสารการเงินระหว่างประเทศ หรือการให้บริการระหว่างประเทศ การขนส่งระหว่างประเทศ การประกันภัยและนิติกรรมอื่นที่เกี่ยวเนื่อง
๖. คดีแพ่งเกี่ยวกับเลตเตอร์ออฟเครดิตที่ออกเกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมตาม ข้อ ๕ การส่งเงินเข้ามาในราชอาณาจักรหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ทรัสต์รีซีท รวมทั้งการประกันเกี่ยวกับกิจการดังกล่าว
๗. คดีแพ่งเกี่ยวกับการกักเรือ
๘. คดีแพ่งเกี่ยวกับการทุ่มตลาด และการอุดหนุนสินค้า หรือการให้บริการจากต่างประเทศ
๙. คดีแพ่งหรือคดีอาญาที่เกี่ยวกับข้อพิพาทในการออกแบบวงจรรวมการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ชื่อทางการค้า ชื่อทางภูมิศาสตร์ที่แสดงถึงแหล่งกำเนิดของสินค้า ความลับทางการค้าและการคุ้มครองพันธุ์พืช
๑๐. คดีแพ่งหรือคดีอาญาที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
๑๑.  คดีแพ่งเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการเพื่อระงับข้อพิพาทตามข้อ ๓ ถึง ๑๐

และใน พรบ. ฉบับนี้ยังได้บัญญัติวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการอุทธรณ์

จะเห็นว่า พรบ.ฉบับนี้ ใช้สำหรับไกล่เกลี่ยคดีความทางแพ่ง หรือการพิจารณาดำเนินคดีอาญาในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเท่านั้น และเกี่ยวข้องกับธุรกิจWLAN ในนิติสัมพันธ์ที่มีการซื้อ-ขายระหว่างกัน

 3.พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔  บังคับใช้กับธุรกรรมในทางแพ่งและพาณิชย์ที่ดำเนินการโดยใช้ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เว้นแต่ธุรกรรมที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดมิให้นำพระราชบัญญัตินี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนมาใช้บังคับ รวมถึงให้ใช้บังคับแก่การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐด้วย

เหตุผลเพราะ  การทำธุรกรรมในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการในการติดต่อสื่อสารที่อาศัยการพัฒนาการเทคโนโลยีทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีความสะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แต่เนื่องจากการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวมีความแตกต่างจากวิธีการทำธุรกรรมซึ่งมีกฎหมายรองรับอยู่ในปัจจุบันเป็นอย่างมาก อันส่งผลให้ต้องมีการรองรับสถานะทางกฎหมายของข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ให้เสมอกับการทำเป็นหนังสือ หรือหลักฐานเป็นหนังสือ การรับรองวิธีการส่งและรับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ การใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนการรับฟังพยานหลักฐานที่เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นการส่งเสริมการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้น่าเชื่อถือ และมีผลในทางกฎหมายเช่นเดียวกับการทำธุรกรรมโดยวิธีการทั่วไปที่เคยปฏิบัติอยู่เดิม

จะเห็นว่า พรบ.ฉบับนี้ วางกรอบการดูแลจัดการโดยให้มีคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ทำหน้าที่วางนโยบายกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อส่งเสริมการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ติดตามดูแลการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับ ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งมีหน้าที่ในการส่งเสริมการพัฒนาการทางเทคโนโลยีเพื่อติดตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาศักยภาพตลอดเวลาให้มีมาตรฐานน่าเชื่อถือ ตลอดจนเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่เกี่ยวข้อง อันจะเป็นการส่งเสริมการใช้ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ด้วยการมีกฎหมายรองรับในลักษณะที่เป็นเอกรูป และสอดคล้องกับมาตรฐานที่นานาประเทศยอมรับ  สรุปคือ ครอบคลุมทั้งด้านป้องกัน การลงโทษ และการส่งเสริม  และจะไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจWLAN ในนิติสัมพันธ์ที่มีการซื้อ-ขายระหว่างกันในรูปอิเล็กทรอนิกส์

4.พระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. ๒๕๔๖
ใช้กำหนดกลไกการประสานงานสวัสดิการสังคม เพื่อให้มีความคล่องตัวและต่อเนื่องในการแก้ปัญหาสังคมด้านต่างๆ เช่น ปัญหาสุขภาพอนามัย ปัญหาการตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรม เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยให้มีคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติเป็นองค์กรที่รับผิดชอบกำหนดมาตรฐานการจัดสวัสดิการสังคม และให้มีกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมเพื่อเป็นทุนใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการสังคม

ซึ่งเป็นไปตามมาตรา ๘๐[๒] ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่กำหนดให้รัฐต้องคุ้มครองและพัฒนาเด็กและเยาวชน ส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงและชาย เสริมสร้างและพัฒนาความเป็นปึกแผ่นของครอบครัว และความเข้มแข็งของชุมชน รวมทั้งรัฐต้องสงเคราะห์คนชรา ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพและผู้ด้อยโอกาสให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้  ดังนั้น จึงสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม เพื่อเป็นกฎหมายแม่บทในการจัดสวัสดิการสังคมทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรอื่น ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคม  ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการเสริมสร้างความมั่นคงทางสังคมให้เป็นไปอย่างทั่วถึง เหมาะสม และเป็นธรรม

จะเห็นว่า พรบ.ฉบับนี้เป็นด้านการส่งเสริมสนับสนุนการจัดสวัสดิการสังคม และจะไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจWLAN ในนิติสัมพันธ์ที่องค์กรหรือหน่วยงานต้องการส่งเสริมและสนับสนุนการขยายการใช้ WLAN   ซึ่งนอกจากพรบ. ฉบับนี้แล้วยังมีกฎหมายอื่นที่ลักษณะให้การส่งเสริมและสนับสนุนเช่นเดียวกัน เช่น พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.๒๕๔๔ ซึ่งบัญญัติส่งเสริมให้มีการสร้างเสริมสุขภาพกายและใจให้แข็งแรงอยู่ในภาวะสมดุล และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอันตรายจากการบริโภค สุราและยาสูบหรือสารอื่นที่ทำลายสุขภาพ หรือจากพฤติกรรมการดำรงชีวิตที่ไม่ถูกต้อง โดยมีสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำหน้าที่สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้วัตถุประสงค์ คือ

1. ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพทั้งกาย จิตใจ สังคม แก่ประชาชนทุกวัยตามนโยบายสุขภาพแห่งชาติ
2. สร้างความตระหนักแก่ทั้งสังคมในพฤติกรรมเสี่ยงจากสิ่งทำลายสุขภาพ
3. สนับสนุนการรณรงค์ลดการบริโภค เหล้า บุหรี่ และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ทำลายสุขภาพ
4. สนับสนุนการวิจัยและสร้างความรู้เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ
5. พัฒนาความสามารถของชุมชนและองค์กรต่างๆ ในการสร้างเสริมสุขภาพ
6. สนับสนุนการรณรงค์การสร้างเสริมสุขภาพผ่านกิจกรรมต่าง ๆ

5.พระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖  เพื่อให้สถานศึกษาของเอกชนที่จัดการศึกษาระดับปริญญาดำเนินกิจการได้โดยอิสระ สามารถพัฒนาระบบบริหารและการจัดการที่เป็นของตนเอง มีความคล่องตัว มีเสรีภาพทางวิชาการและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภาสถานศึกษา และได้กำหนดให้มีคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อทำหน้าที่พิจารณาเสนอนโยบาย แผนพัฒนาและมาตรฐานการอุดมศึกษาของรัฐและเอกชนรวมทั้งเพื่อเป็นการสนับสนุนสถาบันอุดมศึกษาเอกชนให้ธำรงรักษามาตรฐานการศึกษาให้เหมาะสมยิ่งขึ้น มีความมั่นคงและเอื้ออำนวยต่อการขยายกิจการในการจัดการอุดมศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จะเห็นว่า พรบ.ฉบับนี้เป็นด้านการส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพโดยสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม และจะไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจWLAN ในนิติสัมพันธ์ที่องค์กรเองเป็นทั้งผู้ส่งเสริมกิจการของสถาบันและเป็นทั้งผู้ใช้เทคโนโลยีด้วย ซึ่งกฎหมายจะควบคุมการดำเนินงานให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสม

6.พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๓  เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๔๐ ได้บัญญัติให้คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ รัฐมีหน้าที่ต้องจัดสรรทรัพยากรดังกล่าวเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อให้เป็นประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ และสาธารณประโยชน์อื่นๆ รวมทั้งการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม และให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระมีหน้าที่ดำเนินการดังกล่าวให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายฉบับนี้ด้วย ซึ่ง
- คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) มีอำนาจหน้าที่ที่น่าสนใจ เช่น  [๖]พิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์  [๗] กำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับบริการที่มีคุณภาพ
- คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) มีอำนาจหน้าที่ที่น่าสนใจ เช่น [๙] พิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม [๑๐] จัดทำแผนเลขหมายโทรคมนาคมและอนุญาตให้ผู้ประกอบการใช้เลขหมายโทรคมนาคม [๑๑] กำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองสิทธิในความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพของบุคคลในการสื่อสารกันโดยทางโทรคมนาคม [๑๒] กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันกิจการโทรคมนาคม [๑๓] ส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ อุตสาหกรรมโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

จะเห็นว่า พรบ.ฉบับนี้ได้ให้อำนาจแก่ กทช. และ กสช. ในการปกป้องผลประโยชน์สิทธิของประชาชนผู้ใช้บริการ และยังต้องให้การส่งเสริมสนับสนุนการให้เกิดการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม รวมถึงสนับสนุนจัดการวิจัยและพัฒนาด้วย และรวมถึงจัดสรรทรัพยากรดังกล่าวเพื่อประโยชน์สาธารณะทุกระดับทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ และสาธารณประโยชน์อื่นๆ     สำหรับการเกี่ยวข้องกับธุรกิจWLAN ในทางนิติสัมพันธ์นั้น คือจะต้องเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ป้องกันและส่งเสริม เกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ อุตสาหกรรมโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้วย

หมายเหตุ   หากข้อความที่ทำขึ้นผิดพลาดหรือไม่ถูกต้องประการใด โปรดช่วยแนะนำให้ด้วยครับ ขอบพระคุณมากครับ

มีต่อ ในบันทึกครั้งที่ ๒๑ ครับ

หมายเลขบันทึก: 82926เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2007 23:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 เมษายน 2012 15:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท