ชีวิตที่พอเพียง : 230. เรียนรู้จากสุขภาวะของแม่


        แม่ของผม นางง้อ พานิช อายุ ๘๗ ปี หกล้มกระดูกต้นขาหักเมื่อวันที่ ๗ ก.พ. ๕๐   พี่น้องปรึกษากันทางโทรศัพท์ โดยน้องคนเล็กรุดจากสุราษฎร์ธานีไปดูแม่ที่ชุมพร แล้วลงมติกันว่าต้องพาแม่มารับการผ่าตัดที่กรุงเทพ

        ผมโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือจาก ศ. นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ท่านบอกว่าให้รีบพาแม่มา    จัดห้องให้เรียบร้อยแล้ว    และจะจัดหมอที่เก่ง ชำนาญการผ่าตัดกระดูกต้นขาที่สุดในศิริราช เป็นผู้ผ่าตัด

        แม่มาถึงศิริราชเวลาปีะมาณ ๑๘ น. และเข้าห้องที่ตึก ๘๔ ปี ชั้น ๗ ฝั่งตะวันตกเรียบร้อยแล้วเมื่อผมไปถึง    รศ. นพ. บรรจง มไหสวริยะ มาตรวจอาการ  สั่งการตรวจอื่นๆ และเตรียมผ่าตัดทันทีในเช้ามืดวันรุ่งขึ้น

       วันที่ ๘ ก.พ. เวลา ๑๐.๓๐ ผมไปที่ศิริราช ระหว่างเดินไปตึก ๘๔ ปี รศ. นพ. ประมุข มุทิรางกูร ศัลยแพทย์หลอดเลือด ทักทายว่า "อาจารย์เป็นอะไร   ได้ข่าวว่าเขาจองห้อง ไอซียู ไว้ให้อาจารย์"   ผมต้องแก้ข่าวว่าเขาจองให้แม่ ไม่ใช่ให้ผม    ไปที่ห้องพักของแม่ พบน้องชาย "ผู้แพ้รัก" กำลังจะออกไปที่ห้องผ่าตัด    เราจึงออกไปด้วยกัน    ผมบอกให้น้องชายไปถามข่าวที่เคาน์เตอร์ ได้ความว่าผ่าตัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว กำลังอยู่ในห้องพักฟื้น    ผมรออีกสักครู่ ไม่พบคนรู้จัก จึงเสี่ยงดวงเดินไปที่เคาน์เตอร์  แนะนำตัวเองกับพยาบาล และถามว่าขอเข้าไปเยี่ยมแม่สักครู่ได้ไหม     เธอตอบด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า "ขอหนูไปดูก่อนนะคะ" แล้วเดินเข้าไปข้างใน    สักครู่ก็เดินกลับมาบอกว่า "เชิญค่ะ อาจารย์" พร้อมทั้งพาไปสวมเสื้อคลุมและเปลี่ยนรองเท้า

      แม่รู้ตัวดีแล้ว หน้าตาแช่มชื่น บอกว่าระหว่างผ่าตัดหลับสบาย   ตอนนั้นรู้สึกเจ็บนิดๆ    ผมบอกแม่ว่าวันนี้เขาอาจให้อยู่ที่ห้อง ไอซียู หนึ่งคืนเพื่อระมัดระวัง เพราะเป็นคนไข้อายุมากและเป็นเบาหวานด้วย    ผมบอกว่าเย็นนี้ผมต้องไปขอนแก่นและค้างหนึ่งคืน กลับพรุ่งนี้ แล้วเช้าวันเสาร์จะมาเยี่ยม ก่อนจะขับรถไปประชุมที่กาญจนบุรีในวันเสาร์-อาทิตย์     แม่บอกว่าให้หาเวลาพักผ่อนบ้าง อย่าทำงานมากนัก    แม่จะพูดคำนี้ทุกครั้งที่พบผมมาเป็นเวลากว่า ๔๐ ปี    แม่รู้ดีว่าลูกคนนี้บ้างาน 

      หลังจากนั้นผมไปเยี่ยมแม่อีก ๒ ครั้งเท่านั้น    แม่บอกว่าเข้าโรงพยาบาลครั้งนี้ไม่เหงาเหมือนอยู่บ้าน    เพราะหลานๆ มานอนเฝ้าครั้งละหลายคน   ลูกและลูกสะใภ้ก็ผลัดเวียนกันมาเยี่ยม    ผมสังเกตว่าหน้าตาของแม่แจ่มใสตลอดเวลา    แต่ก็บอกว่ายังเจ็บและตึงที่ขาข้างที่หัก

      หลังผ่าตัด ๒ วันเขาก็ให้หัดเดินโดยใช้ walker   และให้เดินออกกำลังกล้ามเนื้อขา    หมอชมว่าแม่ทำได้ดี    แม่บอกว่าตอนนอนก็หมั่นเคลื่อนไหวและออกกำลัง     หลังจากนั้นเขาให้ไปทำกายภาพบำบัด     แม่เล่าว่าไปนอนเตียงกายภาพบำบัดติดกับเตียงของอาจารย์แพทย์ผู้ชายที่เป็นอาจารย์ของผม อายุน้อยกว่าแม่นิดหน่อย และกระดูกหักแบบเดียวกับแม่     หมอผู้รักษาได้แนะนำให้รู้จักกัน    และอาจารย์ของผมบอกแม่ว่า ที่มหาวิทยาลัยมหิดลนี้ผมมีตำแหน่งเป็น "ท่านนายกสภามหาวิทยาลัย"      แม่บอกว่าชื่อยาว จำไม่ค่อยถูก     แต่ก็ปลื้มใจที่ลูกเป็นที่นับถือ

      แม่ชมไม่ขาดปากว่าได้รับการดูแลดีวิเศษ   พยาบาลเอาใจใส่ และยิ้มแย้มแจ่มใส    หมอก็หมั่นมาเยี่ยมดูแลและอธิบายการผ่าตัดและการดูแลตนเองหลังผ่าตัด    ผมบอกแม่ว่าโรงพยาบาลของรัฐเดี๋ยวนี้บริการด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ และศิริราชเด่นเป็นพิเศษ    แม่บอกว่า "ได้บารมีของอ๊อดด้วย"

      การผ่าตัดที่แม่ได้รับเป็นการเอาแผ่นโลหะดามกระดูกรูปตัว Y ขาเดียว ใส่เข้าไปในกระดูก และตรึงหมุดเข้ากับกระดูกส่วนที่อยู่แนวดิ่ง    ภรรยาซึ่งเป็นหมอดมยาสลบและคุ้นกับการผ่าตัดนี้บอกว่า แม้แผลที่ผิวหนังจะเล็กแค่นิ้วกว่าๆ แต่มีการเลาะกล้ามเนื้อและตอกโลหะเข้าไปในกระดูก    มีความชอกช้ำของส่วนต่างๆ ไม่น้อย    นี่คือสาเหตุของความรู้สึกตึงและเจ็บเวลาเคลื่อนไหว   

      ผมมีความรู้สึกว่า   แม้ยามเจ็บป่วยถึงขนาดต้องผ่าตัด แม่ก็ยังมีสุขภาวะ    และสุขภาวะทางสังคมยิ่งดีกว่าตอนไม่ป่วย (แต่มีโรค) ด้วยซ้ำไป

       วันที่ ๔ มี.ค. โทรศัพท์ไปคุยกับแม่    อธิบายให้เข้าใจว่ากระดูก เอ็น และกล้ามเนื้อชอกช้ำมาก จากการที่กระดูกหัก    และจากการผ่าตัดยัดเหล็กเข้าไปดาม    แม่จึงต้องหมั่นเดินออกกำลัง      ถือว่าการหมั่นเดินเป็นการรักษาเนื้อหนังเอ็นและกล้ามเนื้อให้เข้าที่     ซึ่งแม่ก็เข้าใจดี     แม่บอกว่าความเจ็บปวดครั้งนี้มากกว่าทุกคราว

                        

                               แม่กับครอบครัวลูกคนโต

                        

                                    ฝึกเดินออกกำลัง

                        

                               กับลูกสะใภ้และหลาน

                       

                                  ลูกสะใภ้และหลาน

                       

                               ครึกครื้นด้วยลูกหลาน

วิจารณ์ พานิช
๒๔ ก.พ. ๕๐ 
บนเครื่องบินไปหาดใหญ่ 
เพิ่มเติม ๔ มี.ค. ๕๐

หมายเลขบันทึก: 82202เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2007 12:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2014 21:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ตามมาอ่านด้วยความชื่นชมคุณแม่และครอบครัวที่อบอุ่น ตลอดจนคุณหมอผู้ดูแลทุกท่านค่ะ...

คุณหมอบรรจง ท่านเป็นคนดีจริงๆค่ะและเป็นแพทย์ที่น่าเคารพนับถือเป็นอย่างมาก ขอให้คุณพระคุ้มครองคุณหมอและท่านเจ้าของเรื่องเล่าดีดีแบบนี้และครอบครัวค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท