Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

การสำรวจสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริง "โดยทั่วไป" ภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐฯ : พบอะไร ?


โดยทั่วไป เราจะพบว่า รัฐมักยอมรับให้สิทธิอาศัยแก่คนไร้รัฐในช่วงแรกที่พบตัวบุคคลเหล่านั้น และยอมรับให้สัญชาติเมื่อเกิดการผสมกลมกลืนระหว่างบุคคลนั้นและสังคมไทย แต่เราก็พบว่า คนหลายคนที่ยังไร้รัฐหรือไร้สัญชาติอยู่อีก เพราะไม่ทราบถึงวิธีการแก้ปัญหาที่พวกเขาประสบอยู่ หรือแม้ในหลายกรณีที่รัฐไทยยอมรับแล้วที่จะให้สัญชาติไทยแก่เขา แต่เขาก็ยังไร้สัญชาติ เพราะข่าวการมีนโยบายให้สัญชาตินั้นยังไม่รู้ไปถึงตัวเขา ข้อค้นพบข้อนี้จึงทำให้เราต้องพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหาขึ้นมาในการวิจัยครั้งนี้ด้วย

        หลังจากการสำรวจสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงในช่วงเวลาที่เราทำงานภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาเด็กไร้รัฐฯ เราได้ ค้นพบ ความเป็นจริงเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน และครอบครัวที่ประสบความไร้รัฐความไร้สัญชาติในภาพที่ลึกมากขึ้นและกว้างมากขึ้น บางภาพเป็นภาพเก่าที่เราเห็นได้ชัดมากขึ้น[1] บางภาพเป็นภาพใหม่ที่เราไม่เคยเห็น แต่เราก็ยังเห็นไม่ชัดเจนนัก

          ในที่นี้ เราจึงควรจะสรุป ข้อค้นพบทั่วไป เสียก่อนที่เราจะกล่าวต่อไปถึงรายละเอียดของแต่ละข้อค้นพบ

           ในประการแรก เราพบว่า ข้อเท็จจริงอันเป็นสาเหตุของปัญหา ก็ยังไม่มีอะไรที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่สังคมไทยเคยรับรู้ เรายังสรุปเหมือนเดิมว่า สาเหตุแห่งความไร้รัฐความไร้สัญชาติปรากฏตัวใน ๔ สาเหตุ กล่าวคือ (๑) การอาศัยอยู่ในเขตชายแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน (๒) การหนีภัยความตายมาจากประเทศเพื่อนบ้าน (๓) การอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลจากอำนาจรัฐ โดยเฉพาะบนพื้นที่สูง หรือในท้องทะเล และ (๔) ความไม่รู้ในรากเหง้าของตนหรือไม่อาจพิสูจน์ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐยอมรับรากเหง้าของตน เพื่อที่จะเสนอภาพของปัญหาในแต่ละประเภทให้ชัดเจนมากขึ้น เราจึงจะนำแต่ละเรื่องย่อยมาศึกษาลึกลงไปในขั้นตอนต่อไป[2] 

           ประการที่สอง เราพบว่า สังคมไทยยังแยกแยะความแตกต่างของปัญหาความไร้รัฐของบุคคลออกจากปัญหาความไร้สัญชาติไม่ได้ ทั้งที่ทั้งสองปัญหามีความแตกต่างกัน ดังได้กล่าวอธิบายไว้ตั้งแต่แรก เมื่อปัญหาทั้งสองแตกต่างกัน กระบวนการแก้ไขปัญหาจึงแตกต่างกัน หากบุคคลไร้ (ความคุ้มครองจาก) รัฐ การแก้ไขปัญหาที่ตรงประเด็น ก็ย่อมจะต้องให้ความคุ้มครองของรัฐ ซึ่งโดยการเริ่มต้นให้ความคุ้มครองของรัฐแก่บุคคล ก็ยังไม่จำต้องให้สัญชาติ แต่ควรจะต้องให้สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และอาจตามมาด้วยสิทธิที่จะได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งทำได้โดยการยอมรับให้มีสถานะทางทะเบียนราษฎร เพื่อที่จะสามารถมีเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล และเมื่อคนไร้รัฐได้รับการรับรองในทะเบียนราษฎรของรัฐใดรัฐหนึ่ง พวกเขาก็จะไม่ไร้รัฐอีกต่อไป พวกเขาก็จะไร้เพียงสัญชาติเท่านั้น พวกเขาจะมีสถานะเป็นราษฎรในประเทศที่ยอมรับพวกเขาในทะเบียนราษฎร แม้ไม่มีสัญชาติ พวกเขาก็มีรัฐหนึ่งยอมรับให้ความคุ้มครองในสถานะของรัฐเจ้าของภูมิลำเนา ขอให้ตระหนักว่า ความสับสนในปัญหาที่เป็นอยู่จึงอาจทำให้การแก้ไขปัญหาผิดพลาด สังคมไทยไม่เข้าใจคำว่า ไร้รัฐ และคิดว่า ทุกกรณีเป็นเรื่องของ ไร้สัญชาติ เมื่อจะต้องแก้ไขปัญหา จึงไม่อาจแก้ไขได้อย่างถูกจุด ดังนั้น ในการเสนอให้แก้ไขปัญหาคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในประเทศไทย จึงควรต้องมีแยกออกแนวคิดในการจัดการปัญหาออกเป็น ๒ ส่วน กล่าวคือ (๑) การจัดการปัญหาความไร้รัฐ และ (๒) การจัดการปัญหาความไร้สัญชาติสังคมไทย

      ประสิทธิภาพในการจัดการปัญหานั้นขึ้นอยู่กับความรู้ในสาเหตุของปัญหา การค้นพบในข้อนี้จึงทำให้เราจำต้อง พัฒนาองค์ความรู้เพื่อกำหนดสถานะบุคคลตามกฎหมาย ขึ้นมาเพื่อทำให้การแยกแยะปัญหาและกำหนดวิธีการแก้ปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น[3]

         ในประการที่สาม เราพบว่า มีความเป็นไปได้ที่จะแก้ปัญหาความไร้รัฐและความไร้สัญชาติในสังคมไทย แต่ไม่มีแนวคิดและวิธีการเดียวสำหรับการแก้ไขปัญหา ดังที่เราศึกษาแล้วว่า ปัญหาความไร้รัฐความไร้สัญชาติมีความหลากหลายอย่างมากในทั้งสาเหตุและปรากฏการณ์ แนวคิดและวิธีการแก้ไขปัญหาจึงมีความหลากหลายอีกเช่นกัน ขอให้สังเกตว่า มีความเป็นไปได้มากที่จะร้องขอให้รัฐให้เพียงความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานแก่คนไร้รัฐ แต่มีความเป็นไปได้น้อยที่จะร้องขอให้รัฐให้สัญชาติแก่คนไร้รัฐ แต่ก็จะมีความเป็นไปได้ที่จะร้องขอให้รัฐยอมรับให้สัญชาติแก่คนไร้สัญชาติที่มีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐมานาน โดยทั่วไป เราจะพบว่า รัฐมักยอมรับให้สิทธิอาศัยแก่คนไร้รัฐในช่วงแรกที่พบตัวบุคคลเหล่านั้น และยอมรับให้สัญชาติเมื่อเกิดการผสมกลมกลืนระหว่างบุคคลนั้นและสังคมไทย แต่เราก็พบว่า คนหลายคนที่ยังไร้รัฐหรือไร้สัญชาติอยู่อีก เพราะไม่ทราบถึงวิธีการแก้ปัญหาที่พวกเขาประสบอยู่ หรือแม้ในหลายกรณีที่รัฐไทยยอมรับแล้วที่จะให้สัญชาติไทยแก่เขา แต่เขาก็ยังไร้สัญชาติ เพราะข่าวการมีนโยบายให้สัญชาตินั้นยังไม่รู้ไปถึงตัวเขา ข้อค้นพบข้อนี้จึงทำให้เราต้องพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหาขึ้นมาในการวิจัยครั้งนี้ด้วย[4] 

              ในประการที่สี่ เราสังเกตพบว่า เมื่อองค์ความรู้เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความไร้รัฐและความไร้สัญชาติไปถึงกระบวนการเรียนรู้ของคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติที่ยังมีวัยเยาว์และมีการศึกษา พวกเขาก็จะสามารถนำองค์ความรู้นั้นไปแก้ไขปัญหาของตนได้ ในขณะที่คนไร้รัฐคนไร้สัญชาติที่มีอายุและไม่มีการศึกษานั้น มักไม่มีความสนใจที่จะเรียนรู้กฎหมายและนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาของตนเอง และไม่มีความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย หวาดกลัวที่จะไปร้องขอสิทธิตามที่ตนมี จะเห็นว่า ภายใต้การทำงานภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐฯ มสช. ซึ่งมีระยะเวลา ๑ ปี (๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๗ จนถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘) เราจึงได้พยายามที่จะเชิญชวนให้เด็กและเยาวชน ซึ่งประสบปัญหาความไร้รัฐและหรือความไร้สัญชาติเป็นจำนวนมากกว่า ๒๐๐ คนซึ่งมาจากมาหลายพื้นที่ในประเทศไทย มาเป็น กรณีศึกษา ของเรา และมาเป็น ผู้ช่วยวิจัย ให้กับเรา พวกเขาอาสาที่จะมาทำกิจกรรมเพื่อสร้างความเคลื่อนไหวทางสังคมกับเรา อันหมายถึง (๑) การเยี่ยมเชิงกัลยาณมิตรซึ่งเกิดจากเราไปเยี่ยมเหล่าคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติซึ่งเป็นเจ้าของปัญหา หรือพวกเขาที่มาเยี่ยมเราซึ่งเป็นนักวิจัยและพัฒนา (๒) การตั้งเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน และ (๓) การสร้างห้องทดลองทางสังคมเพื่อผลักดันการแก้ปัญหาที่มีอยู่จริงในตัวพวกเขาให้ได้รับการมองเห็นและแก้ไขเท่าที่จะเป็นไปได้ เป็นที่น่าสังเกตว่า คนไร้รัฐและคนไร้สัญชาติซึ่งเป็นเจ้าของปัญหาส่วนใหญ่อยากที่จะมาเป็นกรณีศึกษาให้กับเราเพื่อการทำห้องทดลองทางสังคม แต่ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะใช้เจ้าของปัญหาทั้งหมดที่เราได้พบมาทำกรณีศึกษา และก็ทำไม่ได้ด้วยแรงงานของเราที่มีไม่เพียงพอที่จะทดลองผลักดันการแก้ปัญหาให้กับทุกคนได้ เราได้เลือกกรณีศึกษาที่โดดเด่นและเป็นตัวแทนของแต่ละสถานการณ์มาศึกษาในรายละเอียดและทดลองแก้ปัญหา ซึ่งขอให้ตระหนักว่า ในบางกรณีศึกษา เราก็ประสบความสำเร็จที่จะขจัดความไร้รัฐหรือความไร้สัญชาติให้แก่บุคคลที่เป็นกรณีศึกษาได้ ก่อนที่ระยะเวลาการวิจัยภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐฯ มสช. จะสิ้นสุด เราพบว่า หลายคนได้กลายเป็น อดีตคนไร้รัฐ หรือ อดีตคนไร้สัญชาติ แต่ในบางกรณี สถานการณ์แห่งปัญหาก็ยังไม่คลี่คลายลงจนหมดความไร้รัฐหรือความไร้สัญชาติ แต่ในทุกกรณีศึกษา เราก็บรรลุที่จะทำให้พวกเขามีสุขภาวะในระดับพื้นฐาน แม้ยังไร้รัฐหรือยังไร้สัญชาติ ขอให้สังเกตว่า การจัดการปัญหาที่เราได้ทดลองกระทำต่อเด็กและเยาวชนไร้รัฐและไร้สัญชาติ จึงมากกว่าการสอนให้รู้ถึงกฎหมายและนโยบายที่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาของตน แต่ยังต้องสอนให้มีทัศนคติที่ถูกต้องในการจัดการสถานการณ์ที่ตนเป็นอยู่ คำถามที่เรายังติดค้างในระหว่างการสรุปข้อค้นพบการวิจัยครั้งนี้ ก็คือ เราควรจะทำอย่างไรที่จะปรับทัศนคติให้แก่คนไร้รัฐคนไร้สัญชาติที่มีอายุมากและมีทัศนคติที่จำนนต่อปัญหาหรือแสวงหาการแก้ไขปัญหาในทางที่ผิด เช่น ไปซื้อบัตรประชาชนของคนอื่นมาใช้ หรือใช้บัตรประชาชนปลอม แทนที่จะพยายามร้องขอให้ได้มาซึ่งสัญชาติหรือสิทธิอาศัยที่ถูกต้องตามกฎหมาย ข้อค้นพบในเรื่องนี้จึงทำให้เราตระหนักในความจำเป็นที่จะเสนอองค์ความรู้ในลักษณะ สูตรความสำเร็จ ในการจัดการปัญหาให้แก่คนไร้รัฐคนไร้สัญชาติ[5] 

             ในประการที่ห้า เราคงต้องยืนยันว่า เราพบคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติจำนวนไม่น้อยในหลายพื้นที่ศึกษาที่แก้ไขปัญหาของตน โดยการไปซื้อบัตรประชาชนของคนอื่นมาใช้ หรือใช้บัตรประชาชนปลอม และในหลายกรณีที่ถูกจับได้และถูกเพิกถอนสิทธิในสถานะบุคคล แม้ผู้กระทำผิดจะถูกลงโทษ แต่ผู้ได้รับผลกระทบนั้นอาจไม่มีเพียงมารดาผู้ซื้อบัตรประชาชนของผู้อื่นมาใช้เท่านั้น แต่ยังอาจส่งผลไปยังบุตรที่เกิดในระหว่างที่มารดาสวมตัวบุคคลของบุคคลอื่น ปัญหาที่เกิดขึ้นแก่มารดาจึงส่งผลมาสู่บุตรอีกด้วย เราตระหนักในความจำเป็นที่จะต้องสร้าง แนวคิดและวิธีการที่จะจัดการปัญหาความผิดกฎหมายอาญา เริ่มมีแนวคิดเรื่องการนิรโทษกรรมสำหรับการสวมตัวบุคคลหรือการปลอมแปลงเอกสารให้แก่คนไร้รัฐคนไร้สัญชาติ ในงานวิจัยครั้งนี้ เรายังไม่อาจมีองค์ความรู้ที่ชัดเจนในเรื่องนี้ที่จะนำเสนอ เราทำได้เพียงนำเสนอ รูปแบบ ของปรากฏการณ์แห่งปัญหาเท่านั้น

            ในประการที่หก เราพบว่า ปัญหาความไร้รัฐความไร้สัญชาติที่บุคคลประสบนั้น เป็นปัญหาที่แก้ไขได้ แต่ความคั่งค้างของปัญหาจำนวนไม่น้อยนั้นเกิดจากความไม่ยอมรับรู้ในกฎหมายและนโยบายที่มีอยู่และเอื้อต่อการแก้ปัญหาความไร้รัฐความไร้สัญชาติให้แก่บุคคล ความไม่ยอมรับรู้นั้นไม่หมายถึงเพียง ความไม่รู้ แต่ยังหมายรวมถึง ความไม่อยากรับรู้ ปัญหาที่เราเผชิญจึงเป็นปัญหาที่เกิดจากทัศนคติของเจ้าหน้าที่ของภาครัฐที่มีลักษณะติดลบต่อคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติ  ขอให้ตระหนักว่า ข้อค้นพบเรื่องนี้มิใช่เรื่องใหม่สำหรับคนที่ทำงาน มีความพยายามอย่างมากจากทุกภาคส่วนที่จะแก้ไขปัญหานี้ เราเองก็ได้ศึกษาปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ดังที่เราจะศึกษาในรายละเอียดในบทต่อไป[6] 

            โดยสรุปข้อค้นพบทั่วไป การทำงานภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐฯ มสช. ก็คือ อาการไร้รัฐหรือไร้สัญชาติของมนุษย์ในสังคมไทยในวันนี้ เป็นปัญหาที่นักวิชาการทราบถึงสาเหตุของปัญหา และสามารถที่จะแก้ไขได้ แต่องค์ความรู้ในการแก้ไขนั้นไม่เป็นที่แพร่หลายในคนที่ประสบปัญหา หรือองค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหานั้นไม่เป็นที่ยอมรับในภาคราชการที่มีหน้าที่แก้ไขปัญหา

---------------------------------------------------------

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

วันจันทร์ที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐


[1] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, การตรวจสอบและการประเมินสถานการณ์ด้านคนไร้รัฐในประเทศไทย, งานเพื่อคณะอนุกรรมการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนประจำปี พ.ศ.๒๕๔๖ ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, รายงานเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗, ๒๐ หน้า http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=17&d_id=17http://www.archanwell.org/office/download.php?id=54&file=44.pdf&fol=1 (ฉบับ pdf)พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, ความเป็นคนไร้รัฐและคนไร้สัญชาติในประเทศไทย : คืออะไร ? และควรจัดการอย่างไร ?, บทความเพื่อหนังสือที่ระลึกวันรพี ๒๕๔๗ ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์, เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๗ http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=278&d_id=277
[2] โปรดดูในบทที่ ๔ การเขียนรายงานเกี่ยวกับการสำรวจและวิเคราะห์องค์ความรู้ในการจัดการปัญหาความไร้รัฐและความไร้สัญชาติของเด็ก เยาวชน และครอบครัวในสังคมไทย
[3]  โปรดศึกษาต่อไปในบทที่ ๓ การสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ในการจัดการปัญหาความไร้รัฐและความไร้สัญชาติของเด็ก เยาวชน และครอบครัวในสังคมไทย
[4] โปรดศึกษาต่อไปในบทที่ ๖ การถ่ายทอดองค์ความรู้ในการจัดการปัญหาความไร้รัฐและความไร้สัญชาติของเด็ก เยาวชน และครอบครัวในสังคมไทย
[5]  โปรดดู บทที่ ๕ การเขียนรายงานเกี่ยวกับการเสนอองค์ความรู้ในการจัดการปัญหาความไร้รัฐและความไร้สัญชาติของเด็ก เยาวชน และครอบครัวในสังคมไทย
[6] โปรดดู บทที่ ๓ การสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ในการจัดการปัญหาความไร้รัฐและความไร้สัญชาติของเด็ก เยาวชน และครอบครัวในสังคมไทย
หมายเลขบันทึก: 82022เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2007 16:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท