คำเชิงข้อเท็จจริง vs คำเชิงทฤษฎี


ผมครุ่นคิดถึงเรื่องเกี่ยวกับทฤษฎีอยู่เสมอครับ  บางทีก็เรื่อยเปื่อย  บางทีก็ได้ความดี  ถ้าเป็นความคิดที่น่าสนใจ  ผมก็จะบันทึกไว้ครับ  เพื่อกันลืม  และเพื่อว่าคนรุ่นหลังมาอ่านพบเข้า ก็จะได้คิดต่อ  หรือวิพากษ์วิจารณ์    ดีกว่าที่คิดอะไรได้แล้วปล่อยให้มันหายไปอย่างไร้ประโยชน์  จริงไหมครับ  ดังเช่นเรื่องนี้เป็นต้น  ลองอ่านดูนะครับ

แมวตัวนี้  ---------------------------------------------- ข้อเท็จจริง(Fact)

แมวตัวนี้,  แมวตัวนั้น, แมวตัวโน้น, ----- "แมว" (มโนทัศน์/concept)

ไก่ตัวนี้, ไก่ตัวนั้น, ไก่ตัวโน้น, ------------ "ไก่" (มโนทัศน์)

"แมว, ไก่," ----------------------------------- "สัตว์ (มโนทัศน์-ซับซ้อนขึ้น)

"แมว, ไก่, หิน," ------------------------ "วัตถุ"(มโนทัศน์ - ซับซ้อนยิ่งขี้น)

"แมวตัวนี้, ไก่ตัวนั้น, หินก้อนโน้น, ...... "  เป็นคำเชิงข้อเท็จจริง

"แมว, ไก่,สัตว์, วัตถุ, ..... "  เป็นมโนทัศน์  และมีฐานะเป็น "คำเชิงทฤษฎี"  เพราะว่ามัน"ไม่ได้ชี้" ถึงข้อเท็จจริง 

และยิ่งกว่านั้น คำ "สัตว์" ยัง "ซับซ้อน" ยิ่งกว่า"มโนทัศน์" แมว, ไก่  

และ "มโนทัศน์ วัตถุ" ก็ยิ่ง "ซับซ้อน"มากยิ่งกว่า "มโนทัศน์สัตว์"

คำที่เป็น"ชื่อ"  ของมโนทัศน์  หรือเราจะเรียกให้ฟังง่ายขึ้นว่า "คำมโนทัศน์"  นั้น  เป็น "คำเชิงทฤษฎี"  ถ้าจะคุยกับพวกต่างชาติ เราจะใช้คำ "Theoretical words  / Theoretical terms" ก็ได้ครับ  แต่ระวังอย่าไปพูดกับคนธรรมดาเข้าก็แล้วกัน  เพราะเขาจะฟังไม่รู้เรื่อง  เหมือนกับเราไปใช้คำว่า "โมเลกุล"กับคนตัดยาง ฉันใดก็ฉันนั้น

ที่เรียกว่าเป็นคำเชิงทฤษฎีก็เพราะว่า  "มันชี้ถึงสิ่งที่เราสังเกตุโดยตรงไม่ได้"  เช่น  แมว  ชี้ถึงสิ่งที่เราสังเกตไม่ได้  แต่ "แมวตัวนี้" ชี้ถึงสิ่งที่สังเกตได้

คำที่ชี้ถึงสิ่งที่สังเกตไม่ได้จะมีอำนาจในการ "อธิบาย" สูงกว่าคำว่า "แมวตัวนี้" ซึ่งเป็นคำที่ชี้ถึงสิ่งที่สังเกตได้

ในทำนองเดียวกัน คำ"สัตว์"  ก็มี "อำนาจในการอธิบาย" กว้างกว่าคำว่า "แมว" 

และคำว่า "วัตถุ" ก็มีอำนาจอธิบายสูกว่าคำว่า "สัตว์"

ถ้าเราพูดว่า "แมวของผมน่ารัก"  ก็แสดงว่าเรา "พูด"  ด้วยคำประเภท "ข้อเท็จจริง" 

แต่ถ้าเราพูดว่า "แมวเป็นสัตว์บก"  ก็แสดงว่า "เราพูด" ด้วยคำประเภท "คำเชิงทฤษฎี"

เราพูดด้วยคำประเภท "ข้อเท็จจริง และ/หรือ คำเชิงทฤษฎี" กันทุกวันนะครับ

ผมจึงว่า  "คนเกือบทุกคนสามารถสร้างทฤษฎีได้" ไงละครับ

ทฤษฎ๊จึงมิใช่พระเจ้า  หรือของเฉพาะนักวิชาการอีกต่อไปแล้วครับ!!

คำสำคัญ (Tags): #test
หมายเลขบันทึก: 81508เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2007 08:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อาจารย์ ดร.ไสว

อ่านบันทึกของอาจารย์ก็นึกไปถึงเรื่อง คำนิเทศ หรือ predicables ในวิชาตรรกศาสตร์ที่สอนอยู่ ลองไปค้นดูคำอธิบายในเน็ต เค้าก็อธิบายไว้ว่า

Predicables, the five classes of terms which can be predicated of a subject, viz.—genus, containing species; species, contained in a genus; differentia, distinguishing one species from another; property, quality possessed by every member of a species; and accident, attribute belonging to certain individuals of a species and not others. จาก http://www.fromoldbooks.org/Wood-NuttallEncyclopaedia/p/predicables.html

อีกอย่างก็นึกไปถึงตรรกศาสตร์ของจีนในประเด็นว่า ม้าขาวมิใช่ม้า ลองไปค้นมาดูก็เจอนิดหน่อยคือ

This short dialogue is difficult to translate as the construction used in Classical Chinese - "A 非 B 也" is ambiguous and can be translated either as "A is not a member of the class B" or as "A is not identical to B".

Worse, the opening is ambiguous; it begins "Can it be that a white horse is not a horse?". This leaves it unclear whether the dialogue is attempting to prove that a white horse is not a horse or whether it is instead questioning if such a statement is possible. จาก http://en.wikipedia.org/wiki/White_Horse_Dialogue

ก็เล่าให้อาจารย์ฟังนะครับว่า เมื่ออ่านแล้วความคิดโยงไปถึงอะไรบ้าง....

เจริญพร

 

ดร.ไสว เลี่ยมแก้ว

นมัสการพระคุณเจ้า

ยอดเยี่ยมมากครับ  และขอบคุณที่ท่านได้กรุณาคัดลอกบางส่วนมาให้อ่านกันครับ  และผมขอ"คิดตีความ"ว่า  (๑) ท่านเป็นผู้ "รอบรู้" หรือ "รู้กว้าง" และ "ลึกซึ้ง"ในเรื่องของทางปรัชญา ครับ  (๒) สมองของท่านมีความฉับไวในการ "โยงสัมพันธ์" คือฉับไวในการมองเห็น "ลักษณะร่วม" ระหว่างบทความเหล่านี้กับ"บันทึก"ของผม ครับ  และท่านได้จุดประกายให้ผมคิดต่อเล็กน้อย ดังนี้ครับ

(๑) "ม้าสีขาว ไม่ใช่ม้า"  ถ้า"ม้าสีขาว" หมายถึง"ม้าตัวนั้น"  เหมือนกับ "วัวของผม" แล้วละก้อ มันก็เป็น"ข้อเท็จจริง"  เพราะมัน"มีตัวตน" อยู่ในโลกจริง  แต่ "ม้า" เป็น "มโนทัศน์" มันเป็น "ความคิด" หามีตัวตนในโลกจริงไม่  ถ้าวิเคราะห์อย่างนี้   ข้อความนั้นก็ "Posible"  และไม่ "Meaningless" จริงไหมครับ

(๒) Logic เป็นเรื่องของกฎที่ใช้พิสูจน์"ข้อความ" หรือ"ตัวหนังสือ" ว่า "True / False" โดยมองที่ "Valid / Invalid" เป็นสำคัญ "ไม่ได้มีหน้าที่ทดสอบว่าจริงหรือเท็จตามโลกจริงหรือไม่"

(๓) ถ้าว่าตาม"วัตถุนิยม"  เมื่อ "สิ่ง"จากโลกจริงภายนอก"กะโหลกศีรษะ"ของเราผ่านเรตินาหลังลูกตาไปถึง เซเรบรัลคอร์เทกซ์ แล้ว  ก็เป็นกระบวนการของ "ห้องมืด"  คือสมองโดยรวม  ถ้าว่าตาม "จิตนิยม" แบบสุดโด่ง  ก็เอาเฉพาะ "เหตุการณ์ทางจิต" ภายในห้องมืดนั้นเหมือนกัน  จึงเห็นว่า  ไม่ว่าพวกไหน "ม้าตัวจริงในโลกภายนอกกะโหลก" กับ "ม้าในห้องมืด" นั้น  ไม่ Identical กันอย่างแน่นอน

(๔) ผมอยากจะคิด "นอกกรอบ"ตรับ  มันอิสระดี  บางทีผมประดิษฐ์คำของผมเองขึ้นมาใช้เองด้วยซ้ำไป จึงฟังดูแปลกๆหูไปบ้างครับ

ดร.ไสว เลี่ยมแก้ว

อาจารย์ ดร.ไสว

ตามที่อาจารย์ชมว่า รอบรู้ รู้กว้าง หรือลึกซื้ง นั้น ...ค่อนข้างจะเขินครับ (........).... อาตมาเพียงพอรู้เท่านั้น เพราะปรัชญากว้างและลึกยิ่งนัก หาผู้รอบรู้ทุกเรื่องจริงๆ ยากส์...  มิใช่ถล่มตัวนะครับ เป็นอย่างนั้นจริงๆ ...

อีกนิดครับ ตามที่ประสบมา นักวิชาการปรัชญาที่เก่งๆ มักจะรู้ผิวเผินในเรื่องทั่วๆ ไป และอาจรู้หรือสนใจประเด็นปัญหาบางอย่างเท่านั้น ...ส่วนที่จัดว่าไม่เก่งก็อาจผิวเผินทุกเรื่อง ไม่ค่อยรู้ปประเด็นปัญหานั้นๆ... ยังมีบางท่านที่จำมากๆ ซึ่งคนอื่นๆ ที่ได้ฟังก็อาจว่าเก่งจัง แต่แวดวงเดียวกันเค้าก็อาจไม่ยกย่อง เพราะเป็นเพียงความรู้ความจำทำนองประวัติศาสตร์ทางปรัชญาเท่านั้น ซึ่งกลุ่มหลังนี้เรียกกันว่า ความรู้แบบถังเก็บของ (มีมากในเมืองไทย)  

เมื่ออ่านบันทึกอาจารย์ ถ้าความคิดโยงไปถึงเรื่องไหนก็มักจะบอกกล่าวอาจารย์เสมอ เพื่ออาจต่อยอดจากอาจารย์ได้...ครั้งนี้ ก็เช่นเดียวกัน ครับ...

จากข้อ ๒ คิดถึงทฤษฎีแบบของเพลโต ซึ่งบอกว่าสิ่งเฉพาะเลียนแบบมาจากสิ่งสากล....แต่ศิษย์ของเค้าคือ อริสโตเติลก็แย้งว่า สิ่งสากลอยู่ในสิ่งเฉพาะแล้ว มิได้มีอยู่ต่างหากตามทฤษฎีแบบ ซึ่งประเด็นนี้เค้าก็เถียงกันมาตั้งสองพันกว่าปีแล้ว ตอนนี้ก็ยังไม่จบครับ ...

ที่ได้ไปค้นจากเน็ตมา เพราะคิดว่าอาจารย์คงจะอ่านรู้เรื่อง มิใช่อวดรู้อะไรนะครับ... อีกอย่าง ถ้าอาตมาอธิบายเสนอความเห็นไปเอง อาจกลายไปเป็นสอนหนังสือสังฆราช หรือออกไปคนละเรื่องก็ได้ครับ (.......)

เจริญพร

ดร.ไสว เลี่ยมแก้ว

ผมคิดว่า  การที่ท่านพลาโต้คิดเรื่องของ "แบบ" ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า "เหตุผล" นี้เองที่ทำให้ท่าน "เชื่อ" ว่า  "ความจริงแท้" มีอยู "๒" อย่างคือ  "วัตถุ" กับ "อวัตถุ"  และอวัตถุที่ว่านั้นคือ "แบบ"นี้นี่เอง และ แบบนี้ "มีอยู่จริง" เหมือนการมีอยู่จริงของ"วัตถุ"ทั้งหลาย ซึ่งทำให้นักเขียนตำราในยุคต่อมาขนานนามท่านเป็น "ทวินิยม" (Dualist)  ซึ่งได้รับการโต้แย้งจากศิษย์ของท่านด้วย"เครื่องมือ"คิดเชิงเหตุผลเช่นกัน  ดังที่พระคุณเจ้าว่าข้างบนนี้ครับ

แต่นับจากที่ท่าน Bruner และคนอื่นๆ ที่ได้ศึกษาด้วย"วิธีวิจัย"  ซึ่งเรียกกันว่าเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ได้พบว่า "คนได้มโนทัศน์" มาด้วย "กระบวนการเรียนรู้"  คือ "มโนทัศน์"  นั้น "ไม่ได้มีอยู่ก่อนแล้ว" ซึ่งคนมา "ค้นพบ"เอา "ภายหลัง" เหมือนกับการมีอยู่แล้วของ"แบบ"  และ "มโนทัศน์" ที่ว่านี้ก็คือ "สิ่งเดียวกัน" กับสิ่งที่เรียกว่า "แบบ" ของพลาโต

นักปรัชญาจึงพากันเพลาๆมือเกี่ยวการถกเถียงถึงเรื่องนี้ และถึงบัดนี้ได้เลือนไปๆจนหายไปแล้วครับ

อย่างไรก็ตาม  บรูเนอร์ และคณะ ก็ไม่ได้ตั้งใจที่จะทดสอบทฤษฎีแบบของพลาโตหรอก  เพียงแต่ว่า "มโนทัศน์(concepts)"   ที่ใช้กันในภาษาของคนในปัจจุบันนี้นั้น  ในสมัยพลาโตเรียกว่า "แบบ(Form)" ครับ

ผมอยากให้ท่านบันทึกเรื่องของตรรกวิทยาไปเรื่อยๆ ครับ  เพราะอ่านเรื่องที่คนอื่นเขียนไม่เหมือนกับที่อ่านของท่านครับ

ดร.ไสว เลี่ยมแก้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท