บันทึกครั้งที่ ๑๙ คดีละเมิดสิทธิบัตรเทคโนโลยี


สูตรการคำนวณค่าเสียหายรวม 1,500 ล้านดอลลาร์ของคณะลูกขุน ซึ่งใช้วิธีการนำเอาจำนวนก๊อบปี้โปรแกรมวินโดว์สจำหน่ายได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2003 มาคูณกับราคาคอมพิวเตอร์ระดับไฮเอนด์ของบริษัท เดลล์และเกตเวย์

เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมอ่านข่าวที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง จึงขอนำเสนอก่อนครับ เป็นตัวอย่าวคดีละเมิดสิทธิบัตรเทคโนโลยี

หัวข้อข่าวคือ  “ไมโครซอฟท์” พ่ายคดีละเมิดสิทธิบัตรศาลสั่งจ่าย $1,500 ล.    จากเวปไซด์ผู้จัดการออนไลน์  วันที่ 23ก.พ.50

เนื้อหาข่าวมีดังนี้

เอเอฟพี - ไมโครซอฟท์แพ้คดีละเมิดสิทธิบัตรอัลคาเทล-ลูเซนต์ คณะลูกขุนศาลสหรัฐฯ สั่งจ่ายค่าเสียหายก้อนโตรวม 1,500 ล้านดอลลาร์
        ทอม เบิร์ต หัวหน้าทีมทนายของบริษัท ไมโครซอฟท์ ยักษ์ใหญ่ด้านซอฟต์แวร์แดนอินทรี แถลงแสดงความผิดหวังกับคำตัดสินดังกล่าว พร้อมเผยว่า ไมโครซอฟท์จะพยายามหาทางขอผ่อนผันโทษต่อศาล หรือหากจำเป็นจะยื่นอุทธรณ์สู้คดีต่อไป
        ทั้งนี้ ก่อนที่บริษัท ลูเซนต์ จะควบรวมกิจการเข้ากับอัลคาเทลนั้น ได้ยื่นฟ้องต่อศาลสหรัฐฯก่อนแล้วในปี 2003 โดยกล่าวหาว่า บริษัท ไมโครซอฟท์ และหุ้นส่วนทางธุรกิจอื่นๆ คือ บริษัท เดลล์และเกตเวย์ มีการใช้โปรแกรมวินโดว์ส ซึ่งละเมิดสิทธิบัตรเทคโนโลยีของลูเซนต์
        การพิจารณาคดีของคณะลูกขุนศาลแขวงเมืองซานดิเอโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันพฤหัสฯที่ผ่านมา (22) มุ่งเป้าการพิจารณาไปที่เทคโนโลยีไฟล์เสียงเอ็มพี3 ในโปรแกรมวินโดว์ส มีเดีย เพลเยอร์
        อัลคาเทล-ลูเซนต์ ชี้แจงต่อศาลว่า การที่ทางไมโครซอฟท์นำเทคโนโลยีดังกล่าวซึ่งใช้ในการแปลงไฟล์เสียงดิจิตอลในโปรแกรมมีเดีย เพลเยอร์ไปใช้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิบัตรของอัลคาเทล-ลูเซนต์
        ด้าน ไมโครซอฟท์ ยืนกรานว่า ทางบริษัทได้จ่ายค่าลิขสิทธิ์สำหรับเทคโนโลยีดังกล่าวแล้ว และยืนยันว่า ไมโครซอฟท์มิได้มีการละเมิดสิทธิบัตรแต่อย่างใด
        ยักษ์ใหญ่ด้านซอฟต์แวร์จากสหรัฐฯรายนี้ ชี้แจงว่า ตนได้จ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ให้แก่บริษัท เฟราน์โฮเออร์-เกเซลล์ชาฟท์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำหน้าที่ออกใบอนุญาตในกรุงมิวนิกแล้ว รวมเป็นมูลค่า 16 ล้านดอลลาร์ ในการนำเทคโนโลยีเอ็มพี3 ที่กำลังเป็นคดีพิพาทกันมาใช้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
        “เราขอยืนยันว่า ไมโครซอฟต์มิได้มีการละเมิดสิทธิบัตรในรูปแบบใดๆ และเราก็ได้จ่ายค่าลิขสิทธิ์สำหรับเทคโนโลยีทุกอย่างที่นำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ของเราแล้วตามความเหมาะสม” ไมโครซอฟท์ กล่าว
        อย่างไรก็ตาม คดีนี้เป็นข้อขัดแย้งเพียงส่วนหนึ่งเกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างไมโครซอฟท์ และอัลคาเทล-ลูเซนต์ เท่านั้น
        แรกเริ่มเดิมที เมื่อการฟ้องร้องเริ่มต้นขึ้น ประเด็นขัดแย้งเรื่องการละเมิดสิทธิบัตรระหว่างสองบริษัทมีจำนวนทั้งสิ้น 15 รายการ ทว่า ในภายหลังศาลยกฟ้องไป 2 รายการ ส่วนข้อพิพาทที่เหลือถูกจัดแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม โดยแต่ละเรื่องจะมีคณะลูกขุนของศาลเมืองซานดิเอโกแยกกันพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป 
        ตามข้อมูลของไมโครซอฟท์ ข้อขัดแย้งการละเมิดสิทธิบัตรที่เหลือ ซึ่งยังรอการไต่สวนพิจารณาคดีต่อไปนั้น เป็นสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีวิดีโอดิจิตอล, การเข้ารหัสเสียง, ยูสเซอร์อินเทอร์เฟซ และวิดีโอเกมของเครื่องเอ็กซ์บ็อกซ์รวม 360 รายการ โดยคำตัดสินในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ถือเป็นบทสรุปของการพิจารณาคดีแรก
        นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังคัดค้านสูตรการคำนวณค่าเสียหายรวม 1,500 ล้านดอลลาร์ของคณะลูกขุนด้วย ซึ่งใช้วิธีการนำเอาจำนวนก๊อบปี้โปรแกรมวินโดว์สจำหน่ายได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2003 มาคูณกับราคาคอมพิวเตอร์ระดับไฮเอนด์ของบริษัท เดลล์และเกตเวย์       
        การพิจารณาคดีครั้งต่อไปซึ่งเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการเข้ารหัสเสียง มีกำหนดเริ่มต้นขึ้นในซานดิเอโกประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน

 

ผมขออนุญาตสรุปสั้นๆ ว่า คดีนี้เป็นข้อพิพาทการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างเอกชนกับเอกชน จึงฟ้องร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญา ณ ศาลแขวงที่ผู้ฟ้องหรือจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่  โดยมีการใช้คณะลูกขุนเพื่อให้เกิดความเป็นกลาง ซึ่งคดียังไม่ถึงสิ้นสุดเพราะยังสามารถขอผ่อนผันโทษต่อศาล หรือหากจำเป็นจะยื่นอุทธรณ์สู้คดีก็ได้   สำหรับวิธีการคำนวณค่าเสียหายอาจมีวิธีการที่แตกต่างกันไปตามแต่กรณี ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย

ทั้งหมดที่กล่าวเป็นหลักการสากลที่ใช้กันทั่วไป ในประเทศไทยของเราก็ใช้หลักการเดียวกันครับ

คำสำคัญ (Tags): #test
หมายเลขบันทึก: 81464เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2007 23:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 13:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เพิ่มเติมข่าวการละเมิดลิขสิทธิ์เทคโนโลยี

จาก http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9500000024673

ศาลตัดสินแคนนอนอ่วมคดีละเมิดไลเซนต์SED

2มี.ค.50

ผลพวงของการที่บริษัทแคนนอนถูกฟ้องร้องโดยบริษัทไอทีนาม Nano-Proprietary ว่ากระทำการละเมิดลิขสิทธิ์เทคโนโลยีของทางบริษัท อาจส่งผลกระทบถึงผลประกอบการโดยรวมของแคนนอนแล้ว ล่าสุดบริษัท Nano-Proprietary อาจทำเงินจากการฟ้องร้องครั้งนี้ได้มากถึงเจ็ดหลัก (หน่วยเป็นเงินเหรียญสหรัฐ) เลยทีเดียว
       
       โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา ศาลในสหรัฐอเมริกาได้มีคำสั่งให้แคนนอนหยุดการแชร์เทคโนโลยีด้านจอแสดงผลกับทางโตชิบา เนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของบริษัท Nano-Proprietary เนื่องจากแคนนอนอ้างว่ากิจการร่วมค้าระหว่างแคนนอนและโตชิบาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทแคนนอน บริษัทจึงมีสิทธิที่จะแชร์เทคโนโลยีดังกล่าวได้ และนำมาซึ่งการฟ้องร้องดังกล่าวจากบริษัท Nano-Proprietary พร้อมกันนี้ ทาง Nano-Proprietary ยังอ้างกับศาลด้วยว่ามีความเป็นไปได้ที่แคนนอนจะเปิดเผยเทคโนโลยีดังกล่าวให้บริษัทร่วมค้าอย่างโตชิบาทราบไปแล้วก็เป็นได้
       
       ผลคำตัดสินดังกล่าวค่อนข้างจะสร้างปัญหาให้กับแคนนอนอย่างมาก อีกทั้งยังสร้างบาดแผลด้านภาพพจน์ให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งนี้ด้วย เนื่องจากแคนนอนเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงโด่งดัง อีกทั้งยังมีผลประกอบการที่ดีมาก และยังถือครองลิขสิทธิ์ต่าง ๆ มากเป็นอันดับสามของบริษัทที่เปิดทำการในสหรัฐอเมริกาด้วย
       
       นายปีเตอร์ ก็อดวิน นักกฎหมายจากเฮอร์เบิร์ท สมิธกล่าวว่า "เป็นเรื่องที่ผิดปกติมากที่บริษัทแคนนอนเลือกเดินทางผิด และนำมาซึ่งการสูญเสียในวันนี้ ในฐานะผู้ติดตามสถานการณ์ บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างแคนนอนน่าจะหาวิธีการจัดการกับปัญหาดังกล่าวมาตั้งนานแล้ว ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดความสูญเสียเหมือนเช่นในวันนี้ ทีมกฎหมายควรจะให้คำแนะนำว่าสถานการณ์ขององค์กรกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงแก่ผู้บริหาร"
       
       คำตัดสินดังกล่าวยังส่งผลให้แคนนอนต้องยุติแผนในการพัฒนาจอแสดงผลดังกล่าวในเชิงพาณิชย์ รวมถึงแผนที่จะทำตลาดในช่วงไตรมาสที่ 4 ในปีนี้ก็ต้องจำกัดอยู่เฉพาะในญี่ปุ่น และยังเป็นการผลิตในจำนวนไม่มากนักด้วย
       

       ปัญหาดังกล่าวทำให้คู่พันธมิตรของแคนนอนอย่างโตชิบาต้องหยุดชะงักไปด้วย เนื่องจากแคนนอนและโตชิบาได้ประกาศร่วมทุนพัฒนาจอด้วยกันตั้งแต่ปี 2004 และคาดว่าจะเริ่มผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ก่อนที่มหกรรมโอลิมปิกจะจัดขึ้นที่ประเทศจีนในปี 2008 ซึ่งเชื่อว่าในช่วงนั้น จะสามารถทำยอดขายได้อีกมาก
       
       รายงานข่าวจากรอยเตอร์ได้แหล่งข่าวรายหนึ่งที่ระบุว่าทางบริษัท Nano-Proprietary ได้เคยเสนอทางออกให้ โดยจะแบ่งขายไลเซนต์ดังกล่าวให้กับโตชิบาด้วย แต่มีความพยายามจากแคนนอนที่จะสะกัดกั้นไม่ให้โตชิบาได้เจรจากับทาง Nano-Proprietary โดยตรง
       

       โฆษกของแคนนอน โตชิบา และ Nano-Proprietary ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นใด ๆ เกี่ยวกับคดีที่เกิดขึ้น
       
       เริ่มแรกของคดีเริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2005 เมื่อบริษัท Nano-Proprietary ได้ฟ้องร้องแคนนอนเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ของบริษัทไปใช้ในกิจการร่วมค้าที่จัดตั้งขึ้นโดยแคนนอนและโตชิบา โดยทางแคนนอนได้อ้างว่ากิจการร่วมค้าระหว่างแคนนอนและโตชิบาเป็นส่วนหนึ่งของแคนนอน แต่หลังจากนั้นหนึ่งเดือน ศาลได้ประกาศว่ากิจการร่วมค้ากับโตชิบาไม่ใช่ส่วนหนึ่งของแคนนอนแต่อย่างใด
       
       การเจรจาขอซื้อไลเซนต์ระหว่างแคนนอนและ Nano-Proprietary ในอนาคตอาจอยู่ในรูปของการจ่ายตามที่มีการใช้งานจริง (Pay-as-you-use) ซึ่งจะทำเงินให้กับ Nano-Proprietary มากขึ้นตามไปด้วย จากผลของคำตัดสินดังกล่าวทำให้หุ้นของ Nano-Proprietary เพิ่มขึ้น 17 เปอร์เซ็นต์
       
       สินทรัพย์ทางปัญญาของบริษัท Nano-Proprietary ที่กำลังมีปัญหากับแคนนอนในขณะนี้ก็คือ ส่วนของผิวหน้าของจอเอสอีดี (SED หรือ Surface-conduction Electron-emitter Displays) สำหรับใช้ผลิตทีวีแบบ SED ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้ภาพที่สว่างคมชัดมากกว่า และใช้พลังงานน้อยกว่าจอพลาสมาหรือจอแอลซีดีในปัจจุบัน
       
       อย่างไรก็ดี ทาง Nano-Proprietary ได้เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาขายไลเซนต์ดังกล่าวให้กับผู้ผลิตยักษ์ใหญ่บางราย นอกเหนือจากที่ขายแคนนอนด้วย ซึ่งสื่อบางฉบับได้ออกมาเปิดเผยว่าบริษัทดังกล่าวคือซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์นั่นเอง
       
       โฆษกของซัมซุงออกมาปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยบอกแต่เพียงว่า ซัมซุงสนใจจะลงทุนในตลาดจอ SED ก็ต่อเมื่อบริษัทพบว่ามีสัญญาณที่ดี หรือมีโอกาสที่จะเป็นไปได้เท่านั้น
       
       วิลเลียม สปินา โฆษกของ Nano-Proprietary กล่าวว่า บริษัทจะเจรจากับทุกคนที่สนใจซื้อไลเซนต์ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นแคนนอน โตชิบา ซัมซุง หรือบริษัทใด ๆ ที่สนใจในเทคโนโลยี SED"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท