คลังปรับจีดีพีโต 4.0-4.5% รับผลพวงเศรษฐกิจโลกแย่ ส่งออกชะลอ


คลังปรับจีดีพีโต 4.0-4.5%

          นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้แถลง      รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมกราคม 2550 พร้อมปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2550 ใหม่           

          ในส่วนเศรษฐกิจเดือนมกราคมนั้น ปี 2550 ยังคงขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยการบริโภคปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวต่อเนื่องสะท้อนผ่านหมวดก่อสร้างมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่อง ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกยังอยู่ในระดับแข็งแกร่ง    โดยเครื่องชี้เสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศบ่งชี้ถึงแรงกดดันของระดับราคาและหนี้สาธารณะที่ปรับตัวลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมกราคม 2550 ขยายตัว 3.0% ต่อปี ลดลงจาก 3.5% ต่อปีในเดือนก่อน ซึ่งเป็นจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ ขณะที่เสถียรภาพการคลังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยหนี้สาธารณะในเดือนธันวาคม 2549 ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 40.5% ของ GDP  ซึ่งต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ 50% ของ GDP ค่อนข้างมาก สำหรับเครื่องชี้เสถียรภาพภายนอกประเทศ พบว่าทุนสำรองระหว่างประเทศในเดือนมกราคม 2550 ยังคงอยู่ในระดับสูงถึง 67 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่ค่าเงินบาทอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อนที่เฉลี่ย 35.83 บาทต่อดอลลาร์               

             ขณะที่รายได้เกษตรกรอาจชะลอลงเล็กน้อยในเดือนมกราคม 2550 ขณะที่เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรมบ่งชี้ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2550            

             ด้านของรายจ่ายงบประมาณในช่วงเดือนมกราคม 2550 นั้น มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 97,079 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 16.9% ต่อปี ซึ่งมีสาเหตุหลักจากความล่าช้าในการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนของปีงบประมาณ 2550 ที่สามารถเริ่มเบิกจ่ายได้ในเดือนมกราคม 2550 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนต่อไป จะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะการเบิกจ่ายเป็นปกติ ซึ่งจะส่งแรงกระตุ้นทางการคลังต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมให้ขยายตัวได้ดีขึ้น            

              สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2550 กระทรวงการคลัง ประเมินว่าจะขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 4.0-4.5% ต่อปี ชะลอลงจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2549 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 5.1%   เนื่องจากแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักจากปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการมีแนวโน้มชะลอตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก  ที่ขยายตัวลดลงในปี 2550 ประกอบกับการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งการบริโภคและการลงทุนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐสามารถเร่งเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามเป้าหมาย และอัตราดอกเบี้ยปรับลดลง   เพียงพอที่จะเอื้อต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ เศรษฐกิจไทยน่าจะสามารถขยายตัวได้ในกรณีสูงที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี            

                กระทรวงการคลัง ได้แจกแจงในรายละเอียดสรุปได้ว่า   

                1. ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากในปี 2550 ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีก่อนมีแนวโน้มขยายตัวลดลงตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า มาอยู่ที่ 6.4-7.4% ต่อปี เทียบกับที่เคยขยายตัวสูงถึง 9.1% ต่อปี ในปี 2549 ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการ คาดว่า จะเร่งตัวขึ้นจากฐานต่ำที่ขยายตัวเพียง 1.7% ต่อปี ในปี 2549 มาอยู่ที่ 7.8-8.9% ต่อปี ในปี 2550 ซึ่งสอดคล้องกับการใช้จ่ายภายในประเทศในปี 2550 ที่น่าจะฟื้นตัวขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มลดลง ประกอบกับการเร่งใช้จ่ายงบประมาณปี 2550 ที่เริ่มมีผลใช้บังคับในเดือนมกราคม 2550 ที่ผ่านมา              

              การบริโภครวมที่แท้จริงในปี 2550 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 3.9-4.8% ต่อปี เพิ่มขึ้นจาก 3.2% ต่อปี ในปี 2549  ในขณะที่การลงทุนรวมที่แท้จริงในปี 2550 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.2-6.4% ต่อปี จาก 3.5% ต่อปี ในปี 2549    ทั้งนี้ หากรัฐบาลสามารถเร่งเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามเป้าหมายที่ 93% ของกรอบวงเงินงบประมาณปี 2550 และรัฐวิสาหกิจสามารถเร่งเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนได้ตามเป้าหมายที่ 85% ของกรอบงบประมาณลงทุน  ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยภายในประเทศปรับลดลงมากพอ ที่จะเอื้อต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้การบริโภครวมและการลงทุนรวมดังกล่าวมีโอกาสขยายตัวได้ในกรณีสูงมากกว่าในกรณีต่ำ ซึ่งจะส่งผลให้ความน่าจะเป็นที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในกรณีสูงที่ 4.5% ต่อปี มีมากกว่าที่จะขยายตัวได้ในกรณีต่ำที่ 4.0% ต่อปี            

               2. ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ  เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศในปี 2550 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่คาดว่าจะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 2.5-3.0% ต่อปี ในปี 2550 จาก 4.7% ต่อปี ในปี 2549 ซึ่งเป็นผลหลักมาจากต้นทุนการผลิตที่ถูกลงตามการปรับลดของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และค่าเงินบาท ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2550 คาดว่าจะปรับลดลงมาอยู่ที่ 54-58 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากเฉลี่ย 61.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในปี 2549 เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกคาดว่า จะลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก            

              ในขณะที่ค่าเงินบาทในปี 2550 คาดว่าจะอยู่ที่เฉลี่ย 35.5-36.5 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากปี 2549 ที่อยู่ที่เฉลี่ย 37.9 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากปัญหาพื้นฐานของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและการขาดดุลการคลังของสหรัฐ จะยังคงกดดันให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง และยังส่งผลให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในภูมิภาครวมทั้งไทยมากขึ้น

            เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศในปี 2550 ยังอยู่ในระดับมั่นคง โดยคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2550 ยังคงเกินดุลที่ 0.7-1.5% ของ GDP เทียบกับปี 2549 ที่เกินดุลประมาณ 1.6% ของ GDP   ทั้งนี้ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2550 จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยในกรณีที่ การใช้จ่ายภายในประเทศเร่งตัวขึ้น จะทำให้มูลค่าการนำเข้าเร่งตัวขึ้นตามซึ่งจะส่งผลให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 1.4 และ 1.7 พันล้านดอลลาร์ตามลำดับ  แต่หากการใช้จ่ายภายในประเทศฟื้นตัวช้า  จะส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าขยายตัวต่ำ ซึ่งจะส่งผลให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 3.1 และ 3.4 พันล้านดอลลาร์ตามลำดับ

                                                         กรุงเทพธุรกิจ  28  กุมภาพันธ์  2550
คำสำคัญ (Tags): #คลัง
หมายเลขบันทึก: 81096เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2007 11:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท