ลักษณะการเมืองแห่งความสัตย์จริงของสตีเฟน คาร์เตอร์


การเมืองที่สัตย์จริงนั้นคือ การที่ประชาชนต้องพยายามตอบสนองต่อนักการเมืองที่สื่อสารเกี่ยวกับผลประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่านักการเมืองที่พยายามหยิบยื่นคำสัญญาว่าจะทำสิ่งต่าง ๆ ให้กับเรา

สตีเฟน คาร์เตอร์ ได้นำเสนอแนวคิด 8 ประการ ในการค้นหาแก่นแท้ของประชาธิปไตย ซึ่งจะต้องเริ่มจากประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมที่ต้องมีความเข้าใจและตระหนักในการดำเนินชีวิตแบบผู้สัตย์จริง ไว้ดังนี้

1. ประเทศชาติดำรงอยู่เพื่อประชาชนในประเทศ ซึ่งเป็นอุดมการณ์สูงสุดที่เราต้องยึดไว้ เราต้องสร้างการเมืองแห่งความสัตย์จริง การให้ความสำคัญกับปัจเจกบุคคล ประชาชนควรมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่

2. รู้ว่าเรื่องใดสำคัญอันดับแรก และเรื่องใดสำคัญรอง ๆ ลงมา การเมืองที่สัตย์จริงนั้น เป็นการเมืองที่จัดลำดับความสำคัญรู้ว่า ณ เวลานั้นเรื่องใดสำคัญที่สุด เรื่องใดสำคัญรอง ๆ ลงมาและเลือกที่จะทำเรื่องที่สำคัญกว่าก่อนไม่ใช่เลือกที่จะทำเรื่องที่จะทำให้ได้เสียงมากกว่าก่อน

3. ธำรงไว้ซึ่งความคงเส้นคงวา การเมืองที่สัตย์จริงนั้นเป็นการเมืองที่ยึดมั่นในหลักการและดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ สอดคล้องกับหลักการที่ยึดถือ สามารถประยุกต์หลักการสู่ภาคปฏิบัติในการบริหารประเทศได้อย่างสอดคล้อง ไม่เบี่ยงหลักการ โดยเฉพาะผู้นำต้องมีหลักการ และยึดมั่นในหลักการนั้น ไม่ปลิ้นปล้อน เปลี่ยนแปลง ตลบตะแลงไปตามสถานการณ์

4. ทุกคนต้องมีส่วนร่วม ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกภาคส่วนต้องสามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้ ไม่ถูกปิดกั้น มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ความเชื่อและแนวทางปฏิบัติที่แตกต่าง

5. ความถูกผิดไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญ เราจะต้องพูดเกี่ยวกับความถูกความผิดไม่จำเป็นต้องอ้างบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ เสียงส่วนใหญ่อาจจะทำให้ชนะแต่เสียงส่วนใหญ่มิใช่ว่าจะถูกต้องเสมอไป เราต้องยึดมั่นในความถูกต้องตามหลักการและเหตุผล ไม่อ้างเพียงความถูกต้องตามกฎหมาย

6. การเมืองต้องยกระดับคุณค่าความเป็นคนของเรา การเมืองที่สัตย์จริงนั้นคือ การที่ประชาชนต้องพยายามตอบสนองต่อนักการเมืองที่สื่อสารเกี่ยวกับผลประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่านักการเมืองที่พยายามหยิบยื่นคำสัญญาว่าจะทำสิ่งต่าง ๆ ให้กับเรา ปัจจุบันนักการเมืองพยายามหยิบยื่นข้อเสนอต่าง ๆ ที่จูงใจเรา ให้ในสิ่งที่เราต้องการ ซึ่งมักจะหยิบยื่นข้อเสนอบนความเห็นแก่ตัว เช่น การลดภาษีเงินได้ โดยไม่ได้ดูว่าจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของประเทศอย่างไร

7. รับฟังความคิดเห็นของกันและกัน การเมืองที่สัตย์จริงต้องอยู่บนหลักการของการรับฟังกันและกัน เพื่อวินิจฉัยว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิดอย่างมีเหตุมีผล มิใช่เชื่อไปตามเสียงส่วนใหญ่ หรือมีอคติกับอีกฝ่ายหนึ่งเป็นทุนเดิม

8. ยอมรับในชัยชนะและความพ่ายแพ้ การเมืองในระบอบประชาธิปไตยสุดท้ายขึ้นอยู่กับเสียงโหวตของประชาชน ย่อมต้องมีผู้ชนะและผู้แพ้ การเมืองที่สัตย์จริงจะยอมรับว่า ในบางครั้งฝ่ายตรงข้ามก็เป็นผู้ชนะ และยอมรับในความพ่ายแพ้ตามกติกา โดยกล้าหาญที่จะแสดงความยินดี มิใช่พูดเหน็บแนม หรือกล่าวหาว่าเขากระทำผิดโดยสร้างหลักฐานเท็จ

การทำให้การเมืองเป็นการเมืองที่สัตย์จริงนั้นประชาชนต้องเป็นผู้ที่ริเริ่มปรารถนาจะดำรงอยู่ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ทั้งในอุดมการณ์และภาคปฏิบัติ การทำให้เกิดขึ้นจริง ประชาชนจะต้องไม่เกียจคร้านหรือเอาแต่โทษกันไปมา แต่ต้องออกมาเรียกร้องและร่วมกันสร้างให้เกิดสิ่งที่เขาต้องการเห็นร่วมกัน

หมายเลขบันทึก: 80841เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2007 09:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 14:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท