เศรษฐกิจซบ "คลัง" ห่วงรายได้รัฐ แนวโน้มภาษีนิติบุคคลเดี้ยง สั่งเกาะติดตัวเลขทุก 15 วัน


เศรษฐกิจซบ "คลัง" ห่วงรายได้รัฐ

            "ศุภรัตน์" หวั่นเก็บภาษีปีนี้หลุดเป้า เหตุภาคธุรกิจกำไรหด สถาบันการเงินแห่ตั้งสำรองตามเกณฑ์ไอเอเอส 39  ด้านอสังหาฯ-รถยนต์ ยอดขายร่วง เกาะติดข้อมูลจัดเก็บรายได้ทุก 15 วัน เผยปัญหาความเชื่อมั่นตัวการหลัก ไร้มาตรการกระตุ้น เร่งหว่านงบประมาณหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ ประทังเวลารอความชัดเจน            

             นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า แนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในปี 2550 เริ่มส่งสัญญาณชัดเจนผ่านเครื่องชี้สำคัญจากการจัดเก็บภาษีหลายตัว อาทิ ภาษีที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งประกอบด้วยอากรแสตมป์ และภาษีธุรกิจเฉพาะ และรายได้จากการโอนเงินเพื่อชำระค่าทำธุรกรรมประเภทค่าสิทธิและเงินปันผลของบริษัทต่างชาติที่ส่งกลับบริษัทแม่ลดลง รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มภายในประเทศและการนำเข้าลดลง ส่งผลให้ประมาณการรายได้ในการจัดทำงบประมาณ 2551 ปรับเพิ่มเพียงแค่ 6.7% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าระดับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ 5% บวกกับเงินเฟ้อ 3% ทำให้กระทรวงการคลังต้องติดตามตัวเลขการจัดเก็บรายได้รายตัวอย่างใกล้ชิด  "ยอมรับว่าทุกวันนี้ ผมต้องเรียกดูผลการจัดเก็บก่อนถึงสิ้นเดือน เก็บได้ 15 วันผมก็ขอดูก่อนแล้ว เพราะผมเป็นห่วง การจัดเก็บในช่วง 2-3 เดือนแล้ว ที่อากรแสตมป์และภาษีธุรกิจเฉพาะที่เกี่ยวกับอสังหาฯ ชะลอตัว ขณะที่ภาษีรถยนต์ซึ่งเคยเป็นภาษีตัวใหญ่ที่สุดของกรมสรรพสามิตก็มีอัตราชะลอตัวลงไปด้วย รวมไปถึงภาษี มูลค่าเพิ่ม ที่มาจากการจับจ่ายใช้สอยและการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบก็ลดลงไปด้วย"           

             นายศุภรัตน์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ภาษีตัวที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ ภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งถือเป็นเงินได้สำคัญของกรมสรรพากรที่จะมีการชำระในช่วงกลางปี เพราะสถาบันการเงินทั้งหลายที่เคยเป็นธุรกิจหลักนำส่งรายได้ มีภาระที่ต้องกันสำรองตามมาตรฐานบัญชีใหม่ ตามเกณฑ์ ไอเอเอส 39 ซึ่งจะมีผลให้กำไรลดลงจำนวนมาก โดยภาระดังกล่าวจะมีต่อเนื่องตั้งแต่สิ้นปี 2549-2550 ครอบคลุมปีภาษีทั้ง 2550-2551 ขณะที่ภาคธุรกิจอื่น    ก็ยังชะลอการลงทุนและการบริโภคอยู่           

             ปัญหาของเศรษฐกิจตอนนี้อยู่ที่ความเชื่อมั่น ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงไม่สามารถเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไว้รองรับได้ เพราะปัญหาความเชื่อมั่นไม่สามารถสร้างได้ด้วยมาตรการในการสร้างแรงจูงใจใด ๆ แต่ความเชื่อมั่นจะเกิดขึ้นเมื่อมีความชัดเจนด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการเมือง ซึ่งหากมีการเลือกตั้งความเชื่อมั่นด้านการลงทุนและการบริโภคก็จะกลับมา  "ตอนนี้สิ่งที่ทำได้ คือการเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้ลงไปหล่อเลี้ยงภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงเอาไว้ จนกว่าความชัดเจนต่าง ๆ จะเกิดและเอกชนเริ่มกลับมาลงทุน เพราะแม้ว่าปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจยังดีอยู่แต่ก็ต้องการการสะสมเพิ่มเติม"    

            นายศุภรัตน์กล่าวว่า สำหรับการจัดเก็บรายได้ปี 2551 นั้น กรมสรรพากรก็ยังคงเป็นกรมหลักในการจัดเก็บแต่หากพิจารณาถึงไส้ใน คือ อัตราการขยายตัวของภาษีรายตัวนั้นจะเห็นว่าภาษีเงินได้นิติบุคคล จะขยายตัวเพียง 3-4%  ขณะที่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะขยายตัวประมาณ 6% แต่ภาษีมูลค่าเพิ่มจะขยายตัว 9% จากการฟื้นตัวของการบริโภค

             ทั้งนี้ สำหรับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2551 รัฐบาลกำหนดให้ยังดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยขาดดุลจำนวน 120,000 ล้านบาท มีวงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 1,635,000 ล้านบาท และประมาณการรายได้ จำนวน 1,515,000 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นจากงบประมาณปี 2550 (1,420,000 ล้านบาท) ในอัตรา 6.7% ประกอบด้วย กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้ จำนวน 1,233,421 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.1%  กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้ จำนวน 301,716 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.4%  กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้ จำนวน 88,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.9%  และรัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้จำนวน 77,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.4% และหน่วยงานอื่น ๆ นำส่งรายได้ จำนวน 83,540 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.2%มติชน
คำสำคัญ (Tags): #เศรษฐกิจ
หมายเลขบันทึก: 80835เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2007 09:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท