Planet India by Mira Kamdar


ผมเริ่มบล็อกของผมด้วยหนังสือที่ผมเพิ่งอ่านจบไปหมาดๆเมื่อคืนนี้เองครับ เรื่อง Planet India เขียนโดย Mira Kamdar ซึ่งเป็นคนอเมริกา เชื้อสายอินเดีย ตัวของ Mira เองนั้นทำงานมาหลายอย่างครับ เป็นทั้งนักหนังสือพิมพ์แล้วก็ทำงานกับ World Political Insitute ด้วย

ก่อนจะคุยกันว่าหนังสือเป็นอย่างไร ผมว่าผมพูดว่าทำไมผมถึงซื้อหนังสือเรื่องนี้มาอ่านก่อนดีกว่าครับ หนังสือเล่มนี้ผมเห็นตอนที่กำลังอ่านเรื่อง China Inc. อยู่ ด้วยความที่กำลังอ่านเรื่องเมืองจีนกับข้อความที่ฮิตติดลมอย่าง The wind is blowing east. the world is moving east. หรือถ้าจะแปลง่ายๆก็คือความเจริญมันกำลังจะมาถึงตะวันออกแล้ว มันเลยทำให้ผมอยากรู้เพิ่มขึ้นไปว่า ถ้าความเจริญมาถึงตะวันออกจริงๆแล้วมันจะเป็นยังไง เพราะอย่าลืมนะครับว่า ตอนนี้ประเทศจีนถือได้ว่าเป็นฐานการผลิต ของโรงงานแทบทุกอย่าง แต่ในขณะเดียวกันอินเดียก็ขึ้นชื่อว่าเป็นฐานของงานบริการ ด้วยค่าแรงที่ถูกแสนถูกกับคนจีนและอินเดียที่มีมากมายมหาศาล ประเทศหนึ่งเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ที่มีคนมากที่สุดแต่อีกประเทศเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีคนมากที่สุด แต่ทั้งสองประเทศนี้กลับทำให้ความเจริญของโลกเคลื่อนตัวมาที่เอเชีย

ผมว่าด้วยความที่ Mira เป็นคนอินเดีย หนังสือเล่มนี้เลยดูโปรอินเดียไปหน่อย อ่านแล้วรู้สึกเหมือนว่าอินเดียจะกำลังรุ่งเรื่องโชติช่วงชัชวาลย์ ตามประเทศที่เจริญแล้วไปติดๆ จะว่าไปก็ไม่แปลกนะครับ เพราะประเทศอินเดียนั้นเป็นประเทศที่มีคนเยอะมาก และที่สำคัญถ้าคุณเคยไป คุณจะรู้ว่าอินเดียนั้นคนที่รวยก็รวยมากมายมหาศาล มีบ้านอย่างกับพระราชวัง ใช้เงินอย่างกับน้ำ แต่กับคนจนนั้นก็ข้นแค้นแทบจะไม่มีอะไรกิน ดังนั้นความเจริญที่เพิ่มขึ้นก็คงเป็นเหมือนหลายๆประเทศที่มุ่งเน้นไปที่ความเจริญให้กับชนชั้นกลางกับชนชั้นสูงมากกว่าให้กับคนจนที่เป็นคนส่วนมากของประเทศ รวมไปถึงความเจริญที่เข้ามาเป็นความเจริญที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับกลุ่มทุน หรือเป็นสิ่งที่กลุ่มทุนสร้างขึ้น ดังนั้นไม่แปลกที่ความเจริญเหล่านี้อาจจะถูกมองแบบด้วยความสงสัยจากคนจน

หนังสือเองได้กล่าวถึงปัญหาที่สำคัญๆ และเป็นปัญหาที่ท้าทายความสามารถของรัฐบาลอินเดียทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาความจน ที่คนอินเดียเป็นจำนวนหลายล้านนั้นอยู่ใต้ poverty line ที่กำหนดโดยสหประชาชาติ ไม่รวมถึงปัญหาด้านการแบ่งชั้นวรรณะ ซึ่งยังคงปรากฏอยู่ให้เห็นในบางส่วนของอินเดีย ไม่น่าเชื่อนะครับว่า ประเทศประชาธิปไตยอย่างอินเดียนั้นกลับเป็นประเทศที่ยังแบ่งชนชั้นวรรณะอยู่ Mira เองนั้นได้พูดว่าการแบงชั้นวรรณะนั้นเป็นส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้คนจนไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ เพราะทรัพยากรส่วนมาก เช่นงบประมาณ และน้ำ จะถูกส่งไปให้กับคนชนชั้นสูงก่อน นั่นแสดงให้เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยนั้นยังมีจุดบกพร่องบางส่วน หรือเราอาจจะบอกได้ว่า ประชาธิปไตยนั้น ถือเงินเป็นเสียงข้างมากก็อาจจะไม่ผิดนัก ต่อเนื่องจากปัญหาความจน ก็คือเรื่องสุขภาพที่คนจนในอินเดียส่วนมากไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีและมีคุณภาพได้

ความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนาเองก็ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญของอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคลื่อนไหวของพวกฮินดูนิยมที่ต้องการเปลี่ยนให้อินเดียเป็นประเทศที่มีแต่คนฮินดู เพราะความคิดแบบศาสนาฮินดูที่เป็นหลักอยู่ในอินเดีย ทำให้อินเดียนั้นมีปัญหาเรื่องสิทธิสตรี และการที่วัฒนธรรมอินเดียนั้น ให้เจ้าสาวเป็นผู้สู่ขอผู้ชาย ทำให้ลูกสาวนั้นไม่ค่อยเป็นที่ต้องการเท่าไรในบางส่วนอินเดียโดยเฉพาะภาคเหนือของอินเดีย ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เกิดเรื่องที่คาดไม่ถึงหลายอย่าง เช่นอัตราส่วนของผู้ชายผู้หญิงไม่เท่ากัน โดยที่ผู้ชายมีมากกว่าผู้หญิงมาก (ปัญหาเดียวกับเมืองจีน) ทำให้เกิดพ่อค้าหัวใส เอาผู้หญิงมาขาย ให้ผู้หญิงมีสามีหลายคน รวมไปถึงการค้าผู้หญิง

ในหนังสือยังได้พูดถึงอุปสรรคบางอย่างเช่น การตั้งอยู่ในพื้นที่อันตราย รายล้อมไปด้วยประเทศที่อาจจะไม่มีเสถียรภาพหรือประเทศที่เคยมีความขัดแย้งกับอินเดียมาแต่อดีต เช่นปากีสถานที่มีปัญหากับอินเดียตั้งแต่อินเดียประกาศอิสรภาพ หรือเมืองจีนที่เคยมีการฟึดฟัดกันบ้างตามภาษายักษ์ใหญ่เพื่อนบ้าน แต่ถ้าเรามองดีๆ ประเทศอินเดียเองก็รายล้อมไปด้วยอันตรายจริงๆ ไม่ว่าพวกผู้ก่อการร้ายในอินเดียเอง ประเทศปากีสถานที่เอาแน่เอานอนไม่ค่อยได้ ศรีลังกาที่ยังเอาตัวเองไม่ค่อยจะรอดกับพวกทมิฬ พม่าที่นานาชาติไม่อยากยุ่ง จีนที่ใครๆก็ไม่กล้าหือ หรืออัฟกานิสถานที่ถือได้ว่าเคยเป็นหัวใจของพวกอัลไคด้า นั่นทำให้อินเดียได้พยายามพัฒนาอาวุธ และสานสัมพันธ์กับมหาอำนาจอย่างอเมริกา และด้วยความที่ Mira นั้นเป็นคนอเมริกันอินเดีย Mira เลยพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับอินเดียมากกว่าความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับชาติอื่น แต่ Mira เองก็ยังไม่ลืมที่จะไม่เห็นด้วยกับอเมริกาในเรื่องสงครามต่อต้านการก่อการร้ายและสงครามอิรัก (ส่วนหนึ่งนั้นตัว Mira เองไม่เห็นด้วยที่อเมริกาไปสร้างสัมพันธ์แนบแน่นกับปากีสถานมากกว่าอินเดีย)

ผมว่าหนังสือเล่มนี้ได้ทำให้เราเห็นภาพกว้างของอินเดียได้ดีมากทีเดียว ถึงแม้ว่าอาจจะดูว่ามองโลกในแง่ดีมากเกินไปซักนิด Mira มองว่าวิธีที่จะแก้ปัญหาอินเดียได้นั้นคงจะหาทางเชื่อมเทคโนโลยีปัจจุบันกับองค์ความรู้ของอินเดียสมัยโบราณ เพราะว่าอินเดียนั้นไม่สามารถที่จะใช้พลังงานได้เหมือนกับการเจริญเติบโตของประเทศฝั่งตะวันตกและอเมริกา เพราะว่าถ้าอินเดียบริโภคพลังงานหรือทรัพยากรเหมือนอเมริกาหรือยุโรป โลกเราคงดูไม่จืดแน่นอน ดังนั้นวิธีคือการหาทางให้อินเดียนั้นอยู่ได้อย่างพอเพียง เขาใช้คำว่า sustainable นะครับ หรือจะว่าไปก็คือให้อยู่ได้โดยตนเอง และวิธีก็คือนำองค์ความรู้ที่มีมาดั้งเดิมผสมผสานเข้ากับวิทยาการปัจจุบัน และถ้าอินเดียทำได้ โลกเราก็คงจะก้าวไปสู่ก้าวที่สำคัญมากในอนาคต 

ที่มา: Kamdar, M. Planet Inida, Scribner, NY, 2007. ISBN 978-0743296854

คำสำคัญ (Tags): #หนังสือ#อินเดีย
หมายเลขบันทึก: 80831เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2007 09:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2012 22:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ขอขอบคุณครับ...

  • อ่านบันทึกนี้แล้ว ทำให้เข้าใจเรื่องภัยคุกคามของอินเดียมากขึ้น โดยเฉพาะภัยอันตรายจากภายใน ซึ่งระบบวรรณะอาจจะล้มในวันใดก็ได้ + ภัยจากการอยู่ติดกับมหาอำนาจอย่างจีน + ภัยจากปัญหาความขัดแย้งทางศาสนา...

สวัสดีครับคุณหมอ

ภัยของอินเดียนั้นมีมากจริงๆครับ แต่อย่างหนึ่งที่คุณหมอไม่ได้กล่าวถึง แต่เป็นปัญหาสำคัญมากที่สุดปัญหาหนึ่งคือการขาดแคลนน้ำครับ น้ำในอินเดียนั้นดูเหมือนจะขาดมากขึ้นทุกวัน นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่ท้าทายรัฐบาลอินเดียในปัจจุบันมากครับ แล้วถ้าจัดการไม่ดีแล้วก็มีโอกาสเกิดปัญหาความไม่พอใจขึ้นมาได้ครับ

 

เมื่อไม่นานมานี้ได้อ่านบทความที่ท่าน ว.วชิรเมธีเขียนภายหลังจากที่ท่านกลับจากการเดินทางไปอินเดีย ซึ่งท่านกล่าวถึงประเทศอินเดียที่เคยเป็นแหล่งอารยธรรมเป็นที่เกิดของศาสนาสำคัญหลายอย่าง แต่กลับเสื่อมโทรมลง และกล่าวถึงสาเหตุบางอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน เช่นการมีมิจฉาทิฐิ การยึดติดหลงอภินิหารต่างๆ การเจริญรุ่งเรื่องของอาชีพหมอดูเป็นต้น ลองไปดูตามลิงค์นี้ได้ค่ะ

http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02lif01190250&day=2007/02/19&sectionid=0213

 

ขอบพระคุณคุณเอ๋มากครับสำหรับลิงค์ที่น่าสนใจครับ

  • ตามกลับมาอ่านย้อนหลัง  ชอบอ่านจังเลยค่ะ
  • ราณีเคยไปเรียนอินเดีย 2 ปี แต่ไปเที่ยวหลายครั้ง  แต่จริง ๆ ไม่อยากไปหรอกค่ะ โดนบังคับไป ชอบเมืองไทยมากกว่าค่ะ 
  • ตอนที่ไปครั้งแรกไปลงบอมเบย์ (เดี๋ยวนี้เปลี่ยนชื่อเป็นมุมไบ)  เห็นความแตกต่างชัดเจนเลยค่ะ  เพราะมีที่กว้างหลายไร่แต่เป็นที่สำหรับคนจน ๆ กางเต๊นอยู่ เห็นแล้วอดสงสารไม่ได้ ขอทานก็เยอะ  ราณี
  • ตอนอินเดียทดลองนิวเคลียร์ อเมริกาจะบอยคอร์ตอินเดีย  แต่อินเดียก็ทดลอง  อเมริกาก็เงียบไม่เห็นทำอะไรเลย ไม่รู้ว่าทำไม
  • ราณีชอบอ่านblog ของคุณ ไปอ่านหนังสือมากเลยค่ะ มีหลายทัศนะคติดี

สวัสดีครับอาจารย์ Ranee

ขอบพระคุณมากครับที่ได้กรุณาสละเวลามาอ่านครับ

ผมไม่เคยไปอินเดียเลยครับ แต่คุณแม่กับคุณพ่อนั้นเคยไปมาหลายครั้งมาก คุณแม่ไปแสวงบุญครับส่วนคุณพ่อไปทำงาน

อินเดียเป็นประเทศที่ผมอยากไปมากครับ จริงๆแล้วผมก็อยากไปทุกประเทศหล่ะครับ :D

เรื่องอินเดียทดลองนิวเคลียร์แล้วอเมริกาไม่บอยคอตนั้นผมว่าไม่แปลกครับ เพราะตอนนั้นโลกยังอยู่ในภาวะสงครามเย็นครับ การที่อินเดียอยู่ในประเทศเสรีประชาธิปไตยมีนิวเคลียร์ไปกดดันจีน ก็ย่อมดีกว่าครับ

แต่การที่สหรัฐออกมาขู่ ก็เรียกว่าทำตามหน้าที่ครับ

 

แวะมาอ่านเกร็ดข้อมูลความรู้ที่น่าสนใจ ในฐานะคนเคยอยู่อินเดียครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท