พหุลักษณ์ (Plurality) กับการพัฒนาระดับครัวเรือน กลุ่ม และชุมชน


ทำให้ทุกคนพัฒนาไปพร้อมๆกัน และอาจสนับสนุนกันทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ทำให้พึ่งพาอาศัยกันได้มากขึ้น
 

ครั้งแรกที่ผมได้ยินคำนี้ เป็นการสื่อความหมายในทำนองการพัฒนาระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และระดับพื้นที่ ที่ฟังแล้วก็ผมก็มองว่าเป็นธรรมดา ที่ต้องพัฒนาอย่างหลากหลาย จึงจะทำให้ภูมิภาค มีความเข้มแข็ง

  

แต่การพัฒนาอย่างหลากหลายในระดับพื้นที่ใหญ่ๆ ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เกิดความเข้มแข็งระดับ ชุมชน ครัวเรือน และระดับบุคคล

  

ถ้าไม่เน้นการพัฒนาความหลากหลายในระดับฐานราก ความเข้มแข็งก็ไม่น่าจะเพียงพอให้เกิดความมั่นคงของมนุษย์ได้

  

 ดังนั้นเราจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการพัฒนาความเข้มแข็งรายบุคคล และรายครอบครัว ซึ่งเป็นฐานสำคัญของความเข้มแข็งระดับชุมชน

  

แต่ที่ผ่านมา ผมยังไม่เคยได้ยินใครพูดถึงแนวนโยบายการพัฒนา ที่เน้นการสนับสนุนความหลากหลายในระดับกิจกรรม และระดับบุคคล ที่ในความเป็นจริงแล้วต้องมีการพัฒนาแบบหลากหลายในทุกระดับ จึงจะสามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของทุกคน และทุกครัวเรือน ทั้งในรูปแบการพัฒนาเพื่อพึ่งตนเอง และพัฒนาความเชื่อมโยงที่จะทำให้พึ่งพากันและกันได้

  

และ ส่วนใหญ่ของโครงการพัฒนามักเน้นการพัฒนาแบบเน้นกิจกรรมใด กิจกรรมหนึ่งเป็นประเด็นหลัก และมองข้ามประเด็นอื่นๆ อย่างน้อยก็ชั่วคราว

  

แนวคิดแบบนี้เป็นการสร้างจุดร่วมของการทำงานระดับกิจกรรม

และมักจะมองข้าม ความหลากหลายที่อยู่ภายในตัวบุคคล และ อาจทำให้เกิดความอ่อนแอแอบแฝง หรืออำพรางอยู่ จนอาจเป็นผลให้การพัฒนาไม่ประสพความสำเร็จเท่าที่ควร  แต่ ผมก็เห็นด้วยที่การพัฒนาต้องมีจุดร่วมในการทำงานและการแลกเปลี่ยน และจุดที่ทำให้สมาชิกมาแลกเปลี่ยนกันได้ดีที่สุดก็คือ การจัดการความรู้ และอาจนำผลผลิตมาแลกกันได้ง่ายกว่าเดิมเพราะต่างมีผลผลิตที่แตกต่างกัน เป็นที่ต้องการของอีกฝ่ายหนึ่งค่อนข้างมาก 

ตัวอย่างคร่าวๆของการทำงานวิจัยและพัฒนาแบบพหุลักษณ์ นั้น ก็มีตัวอย่างเช่น

 

·        การทำงานหลายกิจกรรมในกลุ่มเดียวกัน ตามความสมัครใจ แต่ต้องสอดคล้องกัน แบบครบวงจรในกลุ่มเดียวกัน หรือเชื่อมโยงกับกลุ่มอื่นในระดับเครือข่าย

 

·        การทำงานที่หลากหลาย ในแต่ละคน ที่เชื่อมโยงทั้งภายในและระหว่างครัวเรือน

 

·        การทำงานหลายระดับในครัวเรือน ที่เกี่ยวเนื่องกับคนหลายคน เชื่อมโยงกันในครัวเรือนเดียวกัน

 

·        การทำงานแบบคู่ขนานแต่เกื้อกูลกันระหว่างสมาชิกกลุ่ม

 

·        การทำงานที่ปรับเปลี่ยนไปตามการเลื่อนไหลของสถานการณ์ของครอบครัวและชุมชน

 

·        การทำงานที่ตอบสนองหลายวัตถุประสงค์ของทั้งระดับปัจเจก ครัวเรือน และชุมชน

 ·        และอีกหลายรูปแบบ ที่ยากจะแจกแจงได้หมด ณ ที่นี้  

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ยังเป็นแนวคิดริเริ่ม ที่จะทำให้ทุกคนพัฒนาไปพร้อมๆกัน และอาจสนับสนุนกันทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ทำให้พึ่งพาอาศัยกันได้มากขึ้น เหมือนกับสังคมที่เคยมีมาในอดีต ที่ความหลากหลายทำให้เกิดการพึ่งพา และความเข้มแข็งของชุมชนที่ดีกว่าเดิม

  ลองช่วยกันคิดต่อดูนะครับ ว่าแนวคิดนี้จะพัฒนาและขยายผลต่อไปได้อย่างไรบ้าง ทั้งกระบวนการวิจัย พัฒนา และการจัดการความรู้แบบธรรมชาติ เพื่อชีวิตของทุกคน เพื่อความเข้มแข็งของชุมชน และประเทศชาติ ต่อไปครับ
หมายเลขบันทึก: 79306เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2007 16:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2012 13:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อาจารย์ดร. แสวงครับ

ขอขอบพระคุณอาจารย์ด้วยความเคารพสุดใจครับ ที่นำความคิดเรื่อง พหุลักษณ์มามองอย่างทะลุปรุโปร่ง

มองชนิดที่ว่านักวิชาการณ์ผิวขาว ตาน้ำข้าวงง

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์อย่างมากเลยครับ และผมแอบตอบตัวเองอยู่ในใจว่า คงต้องเริ่มที่บ้าน เหมือนอย่างที่อาจารย์เคยเล่าประสบกาณ์การแนะแนวการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ  ให้พวกเราฟังกัน 

 ถ้าเราเริ่มจากการพัฒนาเด็กเล็ก เยาวชนได้ ก็จะเป็นการดีครับอาจารย์ เพราะสื่อต่างๆ ในสมัยนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปมากมาย รุ่นผู้ใหญ่จะตามเด็กทันก็ยาก เด็กเองจะบริโภคสื่อก็ต้องมีผู้คอยให้คำแนะนำ มันเป็นปัญหาวนเป็นงูกินหางอยู่แบบนี้

ด้านงานวิจัยของเรา ผมซึ่งมีความรู้เพียงน้อยนิด ก็เห็นเหมือนที่เราๆ ท่านๆ รู้กันอยู่ คือเอาความรู้มาปรับใช้กับบริบทบ้านเราให้ได้ ศึกษาทั้งแนวลึกและกว้างไปพร้อมๆ กัน ซึ่งการจะศึกษาแบบนี้ ต้องทำเป็นทีม ทำทีละคน แล้วมาแข่งกันเหมือนที่เราสอนเด็กให้แข่งกันเรียน มันคงจะไม่ไปไหนละครับ

มีข้อมูลก็เอามาบอกกัน มาเล่าสู่กันฟังแล้วคิดต่อยอดไปเรื่อยๆ เหมือนอย่างที่เราเขียนและอ่านกันอยู่ในนี้ ผมก็เชื่อว่าเรามาถูกทางแล้วครับ

ขอบพระคุณอาจารย์มากครับ  

ขอบคุณครับอาจารย์วสะ ที่เป็นกำลังใจให้ผมรู้ว่าอย่างน้อยก็มีเห็นด้วยกับแนวคิดในการทำงานเพื่อพัฒนาตัวเองให้เป็นประโยชน์กับสังคม

ก็จะพยายามค่อยปล่อยมาครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท