คุณภาพการศึกษา มุมมองภาคอุตสาหกรรมอาชีวะไทย


คุณภาพการศึกษา

คุณภาพการศึกษา มุมมองภาคอุตสาหกรรมอาชีวะไทย
ฐานทัพ  อินทอง / เรื่อง   
                ในงานประชุมวิชาการ “กึ่งทศวรรษการประเมินคุณภาพภายนอก” หัวข้อเรื่อง มองสะท้อนคุณภาพอาชีวศึกษา เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2548 ที่ผ่านมา นำโดย นายวิสุทธิ์  จิราธิยุต รองประธานกลุ่มเหล็ก และรองประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ ในมุมมองของภาคเอกชน ต่อคุณภาพทางการศึกษาของนักศึกษาอาชีวะไทย ที่มีผลต่อการปฏิบัติงานในภาคอุตสาหกรรม ที่ในปัจจุบันคุณภาพแรงงานของเด็กอาชีวะต่ำกว่าความต้องการของสถานประกอบการ ในเรื่องนี้ทางกระผม ได้เข้าร่วมในการประชุมและเก็บรายละเอียดที่เป็นประโยชน์มานำเสนอ ให้ได้ตระหนักถึงความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของนักศึกษาอาชีวะของไทย ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
                การสำรวจที่ผ่านมาเราจะพบว่า ในเรื่องทักษะต่าง ๆ เด็กคิดไม่เป็น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว การคิดเป็นเรื่องที่มีปัญหามาก รัฐบาลก็ให้ความสำคัญตรงนี้ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี ต่าง ๆ เรื่องของคอมพิวเตอร์ ทักษะทางภาษา ซึ่งในอนาคตก็คงจะดีขึ้น แต่ที่ไม่น่าเชื่อก็คือ เรื่องของสิ่งที่ผู้ประกอบการคาดหวัง และสิ่งที่พนักงานทำได้ ยังห่างไกลกันมากจะเห็นว่าในเรื่องของความรู้ ทักษะ ยังขาดความรู้และทักษะในเรื่องอุตสาหกรรมมากทีเดียว
กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีบทบาทมากที่สุดสำหรับความต้องการกำลังคนระดับอาชีวะศึกษา
นายวิสุทธิ์  กล่าวว่า... “ในเรื่องของอุตสาหกรรมรถยนต์ พวกชิ้นส่วนยานยนต์ต่าง ๆ ค่อนข้างที่จะมีความต้องการมาก เพราะฉะนั้นสถาบันอาชีวะศึกษา อุดมศึกษา ทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี หรือด้านอุตสาหกรรมจะต้องมีคน หรือบุคลากรที่จะป้อนเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์อีกมหาศาล หลายบริษัทชั้นนำใหญ่ ๆ ของโลกก็ทยอยกันเข้ามาเปิดบริษัทกันที่ประเทศไทย เปิดแม้กระทั่งเป็นโรงเรียนก็มีเปิดแล้ว อย่าง บริษัทโตโยต้า เขาก็มีการเปิดโรงเรียนของเขาแล้ว บริษัท ฮอนด้า ก็ได้มีการร่วมมือกับทางด้านอาชีวศึกษาเปิดโรงเรียนที่จังหวัดอยุธยาไปแล้ว…
...นอกจากนั้น ในเรื่องของชิ้นส่วนยานยนต์ ทางสถาบันยานยนต์เองก็เข้ามาช่วยผลักดันในเรื่องของการ TENNING การฝึกอบรมต่าง ๆ มีเรื่องของมิติในการพัฒนาคุณภาพของคนอย่างมาก สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงอุตสาหกรรมหนึ่ง ในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ  ถ้าปัจจุบันเราสามารถมีการขยายตัวทางด้านการส่งออกมากอีกอย่างคือ ทางด้านการไฟฟ้าอิเลคทรอนิค การที่เราได้เปิด FTA กับประเทศอินเดีย สิ่งที่เราทราบก็คือว่า ทางบริษัท sony ได้ปิดโรงงานที่อินเดีย หันมาขยายโรงงานที่ประเทศไทยทั้ง ๆ ที่ค่าจ้างแรงงานของคนอินเดียถูกกว่าคนไทย แต่ในเรื่องของคุณภาพฝีมือแล้วประเทศไทยดีกว่า...
 ...เพราะฉะนั้นกระบวนการทั้งหลาย ที่เราร่วมมือกันในการผลักดัน พยายามช่วยกันทั้งอาชีวศึกษา อุดมศึกษา สร้างกำลังคนที่มีคุณภาพเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เวลาที่ต่างชาติจะมาลงทุนเขาจะดู และถามถึงเรื่องนี้เป็นอันดับแรกว่าคุณมีคนของคุณพอไหม คนในที่นี้หมายถึง เรื่องคุณภาพ ว่าคุณมีคนที่มีคุณภาพพอไหม ซึ่งตอนนี้เราต้องบอกว่า เรายังไม่ถึงจุดนั้นเสียเท่าไหร่ เมื่อเราไปเทียบกับระดับโลกแล้วเป็นอย่างไร บริษัทโตโยต้าในประเทศไทยประกอบรถได้ในเวลา 1 นาทีได้ 1 คัน ในวันนี้เป็นอันดับไม่เกินที่ 3 ของโลก แบบนี้ถึงจะสู้ได้ในตลาดโลก...                ...และอีกหลาย ๆ ยี่ห้อก็ผลิตได้ไม่ต่างกันมาก เพราะฉะนั้นในเรื่องของการศึกษาของเราต้องเรียนว่าจะต้องเรียนรู้ และพัฒนาอีกมากเพื่อที่ก้าวไปสู่ตลาดโลก ประเทศของเราเปิดเต็มที่ ถ้าไม่เก่งจริงเราก็ไม่สามารถสู้ได้ ทางด้านสภาพัฒฯ เองได้มองว่า การที่จะสร้างความสามารถทางด้านการแข่งขันนั้น จำเป็นจะต้องการปรับปรุงมีการพัฒนาคุณภาพในหลาย ๆ มิติ ทั้งในเรื่องของสายการผลิต และลูกชนห้องโซ่อุปทาน ในเรื่องของสาธารณูปโภค เรื่องการขนส่งต่าง ๆ ซึ่งในทุกวันนี้ทางสถาบันอาชีวศึกษาในระยะต่อ ๆ ไปจำเป็นต้องให้มีความสำคัญมากขึ้นในเรื่องของโลจิสติกส์...
                ...ในเรื่องของวัตถุดิบในด้านต่าง ๆ เรื่องของวิทยาศาสตร์ เรื่องของการพัฒนาคน เรื่องของการปรับปรุงในข้อกฎหมายต่างๆ  ซึ่งเป็นนโยบายของประเทศไปแล้วในเรื่องนี้ วันนี้เรามี 13 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศที่ทางรัฐบาล และเอกชนได้คุยกันแล้ว เป็นอุตสาหกรรมที่เป็นอนาคตและเราควรที่จะทุ่มเทให้กับอุตสาหกรรมเหล่านี้ ที่จะทำงานที่จะผลิตในอีก 5 ปีข้างหน้า กว่า 9 แสนคน และใน 9 แสนคนนี้ จะต้องเป็นบุคลากรยุคใหม่ที่มีคุณภาพในการทำงาน พร้อมที่จะทำงานทันที...
ต้องการคนที่มีศักยภาพมากขึ้นในอนาคต          
                นายวิสุทธิ์  กล่าวว่า... “...สำหรับคนก็จะมีความยุ่งยากมากขึ้น ในด้านงานเทคนิคที่สูงขึ้นกว่าเดิม ยกตัวอย่างของอุตสาหกรรมยานยนต์ ก็จะมีระบบที่เป็นโลจิสติกส์ ที่เป็นออโตเมชั่นต่าง ๆ มากขึ้น ในธุรกิจบริการก็เช่นกันไม่ว่าจะเป็นในระบบของธนาคาร ระบบค้าปลีก จะเห็นว่า มีระบบคอมพิวเตอร์ ระบบออโตเมติดต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมาก ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ  ภาคโลจิสติกส์ส่วนใหญ่ ผู้ประกอบการยังมองว่า ไม่ได้ต้องการพนักงานในระดับอุดมศึกษาเท่าใดนักจะเป็นในระดับอาชีวะศึกษาหรือในระดับที่ต่ำกว่านี้ที่เป็นความต้องการของผู้ประกอบการ...
                ...ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ภาคเอกชนได้มีการสำรวจมาแล้วถึงเรื่องนี้ ถ้าเรามองว่ากำลังคน และความต้องการของกำลังคนที่ใหญ่ขึ้นนั้น จะไปอยู่ในจุดไหน ซึ่งจะเห็นว่าในกลุ่มของอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเลคทรอนิค สิ่งทอ และอุตสาหกรรมอาหารจะเป็น 3 กลุ่มใหญ่ที่สุด สำหรับความต้องการในเรื่องของกำลังคน ในทุกวันนี้เราจะเห็นว่ากลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์จะมีอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างรวดเร็ว และมีในกลุ่มของเฟอร์นิเจอร์ที่โตขึ้นมากเหมือนกันในหลายปีข้างหน้า แต่ไม่ได้หมายความว่าภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ จะถดถอยลงถ้าเราดูในภาพรวมของการเติบโตแล้วอีก 5 ปีข้างหน้า...
                ...เพราะฉะนั้นในมิติของอนาคต เราคงจะต้องการทรัพยากรจากทางอาชีวศึกษาที่มีความสามารถ วันนี้เราได้มีข้อมูลวิจัยของ World Bank ที่บอกว่าปริมาณของผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ตัวเลขอยู่ในระดับพอ ๆ กัน และในเรื่องของคุณภาพและการแก้ปัญหาคุณภาพของกำลังคนอยู่ในเกณฑ์ที่เรียกว่า สาหัส หรือค่อนข้างสาหัส 30 % โดยประมาณของผู้ประกอบการจากการสำรวจ พบว่าผู้ประกอบการไม่มีความพอใจด้านของคุณภาพของนักศึกษา หรือแรงงานที่มีอยู่ในบริษัท และอีกหลาย ๆ อุตสาหกรรมที่มีเรื่องของการขาดแคลนแรงงาน...
                ... ผมได้มีโอกาสคุยกับผู้ประกอบการหลาย ๆ ท่านพบว่า วันนี้คนไทยสามารถส่งออกได้มากกว่านี้ถ้ามีคนงาน วันนี้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่มหลาย ๆ บริษัท ย้ายโรงงานจากกรุงเทพฯ ไปอยู่จังหวัดชัยภูมิ ไม่น้อยกว่า 5-6 โรงงาน เพราะว่าแรงงานแรงงานในพื้นที่นี่ไม่มี และอีกหลาย ๆ โรงงานที่ผลิตสินค้าราคาถูกสู้ประเทศจีนไม่ได้ สู้ประเทศเวียดนามไม่ได้ แต่ในอีกหลาย ๆ โรงงานบอกว่า ยังขาดในเรื่องของแรงงานที่จะเข้ามาในจุดนี้ ขาดคนที่จะเข้ามาในภาคอุตสาหกรรม ในอุตสาหกรรมยานยนต์ก็เหมือนกันมีการเปิดอบรมฟรีให้เข้าอบรมกัน ในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์มีการให้เบี้ยเลี้ยงสำหรับผู้มาเรียนด้วยซ้ำไป”...
ปัญหาทักษะในตัวเด็ก
                นายวิสุทธิ์  กล่าวว่า... “ สิ่งนี้ก็เป็นเรื่องของค่านิยมต่าง ๆ ในเรื่อง “การสำรวจที่ผ่านมาเราจะพบว่า ในเรื่องทักษะต่าง ๆ เด็กคิดไม่เป็น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว การคิดเป็นเรื่องที่มีปัญหามาก รัฐบาลก็ให้ความสำคัญตรงนี้ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี ต่าง ๆ เรื่องของคอมพิวเตอร์ ทักษะทางภาษา ซึ่งในอนาคตก็คงจะดีขึ้น แต่ที่ไม่น่าเชื่อก็คือ เรื่องของสิ่งที่ผู้ประกอบการคาดหวัง และสิ่งที่พนักงานทำได้ ยังห่างไกลกันมากจะเห็นว่าในเรื่องของความรู้ ทักษะ ยังขาดความรู้และทักษะในเรื่องอุตสาหกรรมมากทีเดียว” ถ้าเรามองในมุมมองของเอกชนแล้วเราจะเห็นว่า ยุคนี้เป็นยุคที่การศึกษาและเอกชนได้เข้ามามีส่วนเข้ามาใกล้ชิดกันมาก ความร่วมมือต่าง ๆ ดีขึ้น  อาชีวะเองได้มีบทบาทเข้าไปช่วยสังคม ช่วยชุมชนมากขึ้น และอาชีวะก็มีสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่  ๆ มากขึ้นกว่าแต่เดิม”...
จุดเน้นความร่วมมือของทางรัฐบาล และบูรณาการ
                นายวิสุทธิ์  กล่าวว่า... “ท่านรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ นายจาตุรนต์  ฉายแสง ได้เน้นในเรื่องของการให้ความสำคัญของวิทยาลัย โรงเรียนอาชีวะเอกชนและภาครัฐ ซึ่งในสมัยก่อนเราจะเห็นว่าจะแยกกันอยู่ ต่างฝ่ายต่างอยู่ วันนี้เราคงจะต้องมานั่งทำแผนร่วมกันในส่วนของผู้ใช้ นักศึกษา และในเรื่องของผู้ผลิต นักศึกษาโดยไม่แยกว่าผู้ผลิตนั้นจะเป็นเอกชน หรือราชการต่อไป ผู้ใช้ก็เหมือนกันก็มีทั้งภาครัฐราชการ รัฐวิสาหกิจเอกชนเราคงจะต้องมาจับนั่งด้วยกันว่าจะแบ่งงานกันทำอย่างไร ในอุตสาหกรรมเองก็มีคนที่สามารถจะเป็นครูได้ อาจจะทำงานเก่งแต่สอนไม่ได้ ทางฝ่ายอาจารย์อาจจะเข้ามาช่วย...
                ...ยุทธศาสตร์ ที่เป็นสิ่งสำคัญในการที่ทำให้ประเทศจะเจริญก้าวหน้าต่อไปได้ จะต้องมีการพัฒนาคุณภาพจะต้องมีการเพิ่มขีดความสามารถ และสร้างสรรค์นวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อความยั่งยืนมันถึงจะเกิดได้ เพราะฉะนั้นความร่วมมือต่างๆ  มันต้องเกิดจากการประสานความร่วมมือทั้ง 2 ฝ่าย รัฐบาลเองไม่ได้ออกไปเป็นคนค้าขายแข่งกับใครทั่วโลก เอกชนเท่านั้นที่เป็นคนออกไปแข่ง เพราะฉะนั้นถ้าเอกชนเดินหน้า รัฐบาลไม่สนับสนุนก็สู้กับเขาไม่ได้ เพราะหลาย ๆ ประเทศรัฐบาลเขาสนับสนุนมากมาย กลับมามองตามสิ่งที่เราได้มองว่า ในเรื่องของคุณภาพอยู่ของผู้ที่ใช้ผู้บริโภคพอใจหรือไม่ ถ้าเรามองว่าเราอยากจะได้ลูกศิษย์ อยากได้พนักงานที่มีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง...                 ...อยากที่จะเน้นว่า “เบื้องต้นก็ต้องเป็นคนที่มีร่างกายที่แข็งแรง มีทักษะความรู้ที่ดีส่วนที่ภาคอุตสาหกรรมเน้นที่สุดสำหรับคนที่จะมาทำงานคือ คนที่มีระเบียบวินัย นักศึกษาหรือเด็กของเราในปัจจุบันนี้เกือบจะลืมคำนี้ไปแล้ว เพราะฉะนั้นการมีระเบียบวินัยรักษาตนได้ ถ้าทำ 3 ข้อหลักนี้ได้ดีแล้ว คุณสมบัติข้ออื่น ๆ ก็คงจะไม่ยาก” เพราะเป็นการที่จะเปิดใจรับความรู้ในเมื่อมาเรียนในสถานศึกษาก็ควรที่จะใฝ่หาความรู้ เรียนรู้ จากนั้นก็คงจะขึ้นอยู่กับกระบวนการเรียนการสอนของท่านอาจารย์ หลักสูตรวัสดุอุปกรณ์การเรียน ความพร้อม สถานศึกษามีให้กับเด็กหรือไม่ ถ้าไม่มี สามารถจะไปยืมไปใช้ทรัพยากรของเครือข่ายจากวิทยาลัยเอกชน หรือสถานประกอบการมาได้หรือไม่...
                ...การเรียนรู้จะเกิดถ้าใจของเด็กยอมรับ เขาเปิด เขาพร้อมที่จะเรียน อยากจะรู้ เราต้องทำให้เขารู้ว่าเขาจะสามารถนำไปใช้อะไรได้บ้าง แล้วเด็กจะมีความก้าวหน้าในชีวิตต่อไป ตรงนี้เราต้องทำให้เขาเปิดและพร้อมที่จะเรียนรู้ได้ ที่เหลือจะตามมาเอง พอเรียนรู้แล้วมันก็จะเกิดการสื่อสารได้ ถ้าจำเป็นก็ไปใช้เรื่องของไอทีได้ ซึ่งบางคนไม่เคยใช้ บางคนหัดอ่านเองเขียนเองซึ่งไม่ต้องรอให้ครูสอน”...
               
ใช้ระบบทวิภาคี
                นายวิสุทธิ์  กล่าวว่า... “เรื่องของทวิภาคี เป็นสิ่งที่เหมาะที่สุดที่จะทำให้เด็กได้พัฒนา แต่ต้องเรียนว่า เอกชนเองหลาย ๆ แห่งก็ไม่พร้อมที่จะรับผิดชอบต่อชีวิตของเด็กที่มาทำงานในสถานประกอบการ ในระดับของเด็กที่มีอายุอยู่ประมาณ 16 – 17 ปี เพราะหลาย ๆ อย่างมีอันตราย เราทำได้แต่ยังมีในเรื่องของข้อจำกัดอยู่ และเป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้เด็กมีวินัย เด็กจะต้องทำงาน ออกงานตามเวลาเหมือนพนักงานทั่วไป เขาได้มีโอกาสเรียนรู้โลกของการทำงานเร็วกว่าเพื่อน ๆ ที่เรียนเฉพาะอยู่แต่ในสถานศึกษา ความสามารถในการปฏิบัติงาน และที่สำคัญเด็กจะรู้ว่าเขาจะต้องไปเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมถึงจะมาทำงานตรงนี้ต่อได้”...
ในเรื่องของการประเมินคุณภาพการศึกษา
                นายวิสุทธิ์  กล่าวว่า... “ถ้าเรามองถึงเรื่องของการประกันคุณภาพตอนนี้มีในเรื่องของคุณภาพการศึกษา คุณภาพคนที่มีการเขียนแยกกันไว้ แต่จริง ๆ แล้วมันซ้อนกันอยู่ แต่ถ้าอาจารย์จะนำไปประเมิน ก็คงจะต้องดูเรื่องของปัจจัยเหล่านี้เป็นปกติอยู่แล้ว แต่สิ่งที่อยากจะนำเสนอกับอาจารย์คือ กรอบของรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ซึ่งทางสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งประเทศไทยใช้ในการให้รางวัลกับบริษัทธุรกิจอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นระบบการประเมิลคุณภาพที่ดี ในเรื่องของการดำเนินงานมีระบบเป็นอย่างไร มิติที่อยากจะเรียนท่านว่ามันเป็นส่วนที่ขับเคลื่อนขบวนการคุณภาพ ความคาดหวังของธุรกิจต่อสถานศึกษาต่าง ๆ ฝันว่าเด็กที่จบออกมาแล้วจะเป็นอย่างไร แต่ในด้านของสถานศึกษาอาจจะยังมีผลอื่น ๆ อีกมากมายอย่าง ผลงานวิจัย ผลงานสิ่งประดิษฐ์ ผลงานที่จะทำประโยชน์ให้กับชุมชน ผลงานทางด้านศิลปะวัฒนธรรมอื่น ๆ ยังมีอีกมาก สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจที่ท่านอาจารย์ที่เป็นผู้ประเมิน หรือเป็นผู้บริหารสถานศึกษา สามารถที่จะหยิบประเด็นเหล่านี้ไปศึกษาแล้วดูว่าในองค์กรของเรา เราจะพัฒนาอย่างไร ผมเห็นด้วยกับการประเมินที่เป็นเกณฑ์นั้นมีประโยชน์อย่างยิ่ง มิติที่จะได้คุยและหารือกันเพื่อที่จะพัฒนาขึ้นไปนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุด...
                ...กระบวนการในสถานศึกษาคืออะไร สถานศึกษาคือการพัฒนาบุคลากรตั้งแต่ผู้บริหาร ครูอาจารย์ ครูฝึกที่อาจจะอยู่ในสถานประกอบการ ตลอดจนตัวของเด็กนักเรียนเอง การจัดการในมิติของสถานศึกษาคือ เรื่องของการจัดการหลักสูตรการเรียนการสอน ทำได้เหมาะกับท้องถิ่น เหมาะกับความต้องการของบุคลากรในท้องที่หรือไม่ หลักสูตรของเรายังแข็งไปมีความยืดหยุ่นที่จะรองรับ ทั้งการเปลี่ยนแปลงของโลกและการเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่น เพราะฉะนั้นกระบวนการตรงจุดนี้ทั้งหมดคือ ระบบ ซึ่งจะต้องมีการเก็บข้อมูล ตัวอย่างข้อมูลศิษย์เก่าที่จบการศึกษาไปแล้ว มีความก้าวหน้าอย่างไร เก่งแค่ไหน สามารถที่จะเชิญกลับมาเป็นอาจารย์ เป็นวิทยากรได้หรือไม่ ลูกศิษย์สามารถกลับมาสอนครูได้หรือไม่ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการสะสมความรู้ขึ้นในสถาบัน...
                ...ถ้าอาจารย์มีระบบ Knowlage Management ระบบการจัดการความรู้ที่ดี สถานศึกษาเป็นแหล่งที่รวบรวมและเรียบเรียงความรู้อยู่แล้ว รวมทั้งมีโอกาสที่จะสร้างความรู้ใหม่ได้ กระบวนการเหล่านี้เกิดได้ถ้าเรามีใจ มีโอกาสมีทรัพยากรที่เอื้อต่อการหาความรู้ ในระบบของรัฐบาลเองก็คาดว่า คงจะมีปัญหาเรื่องของทรัพยากรอยู่มาก
มีกระบวนการเรียนการสอนในเรื่องของการพัฒนาครูอาจารย์ ในเรื่องของรายละเอียด Student Center ซึ่งเหมือนกับนโยบายใน พ.ร.บ.การศึกษา มีเรื่องของตัวหลักสูตร มีเรื่องของครูอาจารย์ พนักงาน ครูฝึก มีเรื่องของเครื่องมือ อาคารเรียน มีเรื่องของการเงิน และจะเห็นว่าจะมีกระบวนการในเรื่องของศิษย์เก่าอยู่ ในเรื่องของกลยุทธ์นั้น จะต้องมีนักศึกษาที่มีคุณภาพเพียงแต่จะทำอย่างไร จะมีอะไรเป็นเครื่องชี้วัด ซึ่งมีรายละเอียดมาก แต่ยังไม่แน่ใจว่ารายละเอียดในการประเมิลของเราหรือของเขาจะละเอียดกว่า แต่ทั้งหมดก็เป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาได้ เราเริ่มทำไปแล้วเราสามารถปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงได้ ทุกอย่างไม่ตายตัวสามารถที่จะพัฒนาได้ตลอด เพียงแต่เราต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันเท่านั้น... นายวิสุทธิ์  จิราธิยุต กล่าวทิ้งท้าย...

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 7762เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2005 16:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2012 01:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ความคิดเห็นของท่านเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการอาชีวศึกษา

จึงขอนำข้อคิดเห็นนี้เชื่อมโยงในเว็บ

การอาชีวศึกษาไทย

http://www.thaive.com

ขอได้รับการคารวะ

ปรัชญนันท์  นิลสุข

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท