TU LIBS
นาง ศรีจันทร์ จันทร์ชีวะ

สามวันที่ประสานมิตร


ประสานมิตร

เชื่อหรือไม่ว่าสามวันนี้เป็นสามวันที่ได้รับความรู้มาก ๆ จนรู้สึกเสียดายที่ไม่ได้ชวนใครไปด้วยเพราะเกรงใจผู้จัดว่ากำหนดให้ไปได้เพียงคนเดียว ไปถึงแล้วจึงพบว่ามีหลายแห่งที่มาสองคน ไม่เป็นไรนี่คืออีกบทเรียนที่จะต้องจดจำว่าคราวหน้าถ้าอยากได้ต้องลองขอดู

สองวันแรกของการประชุมเชิงปฎิบัติการเป็นการบรรยายโดย Scottie (Dr.Lynn Scott Cochrane) ผู้อำนวยการห้องสมุดมหาวิทยาลัยเดนิสัน โอไฮโอ เรื่องที่พูดคือ "แนวโน้มการบริหารงานห้องสมุดดิจิทัลและบริการ" สองวันหลังเป็นการแบ่งกลุ่มทำงานตามหัวข้อและนำเสนอผลงาน

บทสรุปของสองวันแรกที่ประทับใจมาก ๆ โดยรวมคือ Scottie ตั้งใจมาก ๆ กับการเล่าประสบการณ์ที่พบมาให้ฟัง เธอพยายามพูดช้า ๆ ชัด ๆ เพราะไม่แน่ใจว่าผู้ฟังจะตามทันหรือเปล่า วันแรกมีอาจารย์สมพรจาก มสธ. มาช่วยสรุปให้

Scottie เล่าว่าห้องสมุดของเธอมีคนทำงาน 25 คน เปิดบริการอาทิตย์ละ 110 ชั่วโมง วันจันทร์ - ศุกร์เปิดตั้งแต่แปดโมงครึ่งจนถึงตีสอง มหาวิทยาลัยของเธอเปิดสอนเฉพาะปริญญาตรี สาขาศิลปศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยขนาดเล็ก มีเครือข่ายภายในโอไฮโอด้วยกันเองอีกห้าแห่ง ตอนนี้เธอกำลังปรับโครงสร้างรวมงานเทคนิคกับ Kenyon College ที่อยู่ใกล้ ๆ เพื่อทำให้คล่องตัวมากขึ้น

ในเนื้อหาที่ประทับใจและต้องเล่าให้ฟังคือ Scottie แนะนำว่าในยุคใหม่ การให้บริการห้องสมุดจะต้องพยายามทำให้ใช้ง่าย (easier for the user) บรรณารักษ์จะต้องมีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ให้ผู้ใช้ห้องสมุดเพื่อการสืบค้นข้อมูลที่ตรงตามความต้องการ ได้ข้อมูลที่มีสาระ เชื่อถือได้ Scottie เล่าให้ฟังอีกด้วยว่าในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา กฎหมายลิขสิทธิ์ของอเมริการได้ปรับปรุงใหม่ให้เอกสารทุกชิ้นของรัฐบาลซึ่งผลิตด้วยเงินภาษีจะต้องเรียกใช้บนเว็บได้ฟรี

นอกจากนี้ Scottie ยังบอกด้วยว่าบรรณารักษ์จะต้องรุกเข้าไปหาอาจารย์ผู้สอนเพื่อเสนอให้ทำรายละเอียดของวิชาที่สอนที่มีการสืบค้นและให้ห้องสมุดช่วยแนะนำการสืบค้นให้นักศึกษา

อีกเรื่องที่น่าสนใจ Scottie บอกว่าการบอกรับฐานข้อมูลที่ใช้ในห้องสมุดของเธอเป็นการโหลดข้อมูลทั้งหมดมาเก็บไว้ ไม่ได้เป็นการเข้าใช้จากผู้จำหน่าย วิธีนี้ทำให้การเก็บวารสารเก่าออกจากชั้นทำได้ง่ายขึ้นเพราะข้อมูลดิจิทัลอยู่แทนที่ในเนื้อที่จัดเก็บน้อยกว่าและเรียกใช้ง่ายกว่า Scottie เสนอให้ สกอ. เป็นผู้ต่อรองเรื่องนี้กับผู้แทนจำหน่าย

Scottie แนะนำว่าให้ไปผูกมิตรกับห้องสมุดโรงเรียนใกล้ ๆ มหาวิทยาลัยเพื่อแนะนำการใช้ห้องสมุด เพื่อหาพันธมิตร หาลูกค้าให้มหาวิทยาลัย เพื่อประชาสัมพันธ์ (เรื่องนี้ตรงกับที่ตุ๊ก : สุกัญญา คุยเรื่องห้องสมุดสู่ชุมชนพอดี)

Scottie แนะนำว่า ALA ทำโปสเตอร์คำว่า READ ปิดประกาศกระตุ้นให้คนสนใจการอ่านโดยถ่ายภาพคนสำคัญ ๆ , ดารา , อาจารย์, นักศึกษามาทำโปสเตอร์ ทำให้คนสนใจจะเป็นภาพในโปสเตอร์กันมาก ทำให้คนสนใจห้องสมุด สนใจโปสเตอร์ของห้องสมุดมากขึ้น เป็นข้อเสนอแนะที่จะทำเนื่องในโอกาสที่คุณชวนจะให้เกียรติแวะมาเยี่ยมห้องสมุดของเราในวันศุกร์ที่ 16 นี้ จะขอเชิญคุณชวนถ่ายภาพเพื่อทำโปสเตอร์เลย พร้อม ๆ กับจะเชิญคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี (ถ้าท่านมาร่วมงาน) กับท่านอธิการบดีด้วยในคราวเดียวกันนี้

Scottie ทำ web blog ของตัวเองเล่าถึงเรื่องที่มาเมืองไทยทุกวันในเว็บ http://scottiethailand.blogspot.com เธอบอกว่าเธอเพิ่งเคยทำครั้งแรกเพื่อบอกกล่าวให้คนทางบ้านทราบว่าเธอทำอะไรบ้างในแต่ละวัน ลองเปิดดูจะเห็นรูปเยอะมาก

Scottie บอกอีกด้วยว่าในห้องสมุดของเธอตอนนี้เธออนุญาตให้นำอาหารว่างและเครื่องดื่มเข้าไปทานได้ เธออธิบายว่าเวลาผู้ใช้ยืมหนังสือกลับไปบ้าน เขาก็เอาไปนั่งอ่านพร้อม ๆ กับกินอะไรต่ออะไรไปด้วย เราก็พยายามทำให้เขาสบาย ๆ อ่านได้กินได้แต่ต้องทิ้งในที่ให้ทิ้งเท่านั้น เรื่องนี้คงทำเมืองไทยลำบากเพราะหนูกับแมลงสาบบ้านเราเยอะกว่า

Scottie ย้ำด้วยว่า อย่ากลัวความล้มเหลวจนไม่กล้าคิดทำอะไรใหม่ ๆ ต้องพยายามพัฒนา ก้าวไปข้างหน้าให้ทันกับโลก เพื่อเปลี่ยนภาพพจน์บรรณารักษ์ให้ได้

สองวันหลังเป็นการทำกลุ่มและสรุปงานของกลุ่ม Scottie บอกว่าเธอได้ความรู้มากเหมือนกันกับการทำงานร่วมกับกลุ่ม

โดยรวมเป็นความสำเร็จของท่านผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มศว.ที่กระตุ้นให้บรรณารักษ์ทุกคนที่ไปเข้าร่วมประชุมพูดและฟังภาษาอังกฤษ ทุกคนต้องพยายามแสดงความคิดเห็น พยายาม present ให้ได้เพื่อพัฒนาความสามารถ

เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ ได้บอก Scottie เป็นการส่วนตัวว่าได้เรียนรู้ ได้ข้อมูลที่หาจากหนังสืออ่านไม่ได้ นอกจากนี้ได้ฝากถามด้วยว่าที่นั่นมีคอร์สสอนภาษาอังกฤษระยะสั้นบ้างหรือเปล่า จะได้ให้คนที่สนใจจะขอทุนไปเรียนเพราะที่แน่ ๆ คือเธอรู้จักคนไทย คนที่ไปจะได้รู้ว่าอย่างน้อย ๆ คนหนึ่งคนที่นั่นเป็นคนที่มีน้ำใจ เธอได้รับน้ำใจจากคนไทยไปเยอะแยะ เธอคงดูแลคนที่ไปอยู่กับเธอดีเหมือนกัน

คิดว่าน่าจะมีข่าวดีมาเล่าสู่กันฟังต่อไป

หมายเลขบันทึก: 77190เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2007 16:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
เห็นด้วยครับที่ว่าบรรณารักษ์จะต้องรุกเข้าไปหาอาจารย์ผู้สอนเพื่อเสนอให้ทำรายละเอียดของวิชาที่สอนที่มีการสืบค้นและให้ห้องสมุดช่วยแนะนำการสืบค้นให้นักศึกษา เพราะผมเชื่อว่าอาจารย์หลายท่านอาจจะไม่ทราบว่าวิชาที่ตนเองสอนนั้นมีเอกสาร fulltext ก็ได้
อยากให้ทุกคนเข้ามาร่วมกันคุยเรื่องความรู้ต่างๆ ทำไมมาคุยกันน้อยจัง
  • มาทักทายครับผม
  • ศิษย์เก่า มศว ประสานมิตรครับ
  • ขอให้มีความสุขับการทำงานครับผม

ศิษย์เก่า ประสานมิตรเหมือนกัน อิอิ

  • ประกาศๆๆ
  • เจ้าของบันทึกหายไปนานมากๆๆ
  • ศรีจันทร์
    นามสกุล: จันทร์ชีวะ
  • อิอิๆๆ

 

สวัสดีค่ะ ศิษย์เก่าประสานมิตรเหมือนกันค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท