BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

สมัย


สมัย

คำนี้ ใครๆ ก็เข้าใจ ตามภาษาไทย และหลายๆ คนก็อาจไม่รู้ว่ามาจากบาลี.. สมัย ตามความหมายไทยๆ ก็คือ ช่วงหนึ่งของเวลา มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า ยุค ซึ่งบางครั้งก็ใช้แทนกันได้ (ยุค ก็เป็นคำบาลี)...

แต่ เมื่อมาเรียนบาลี สมัย เป็นคำที่มีความหมายหลากหลาย ยากต่อการแปลทุกครั้งเมื่อเจอคำนี้ ซึ่งทำให้ผู้เขียนสงสัยและต้องค้นคว้าอีกครั้ง...

ตาม คัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา สมัย มี ๙ ความหมาย คือ

  • ความถึงพร้อมแห่งเหตุ
  • หมู่คณะ
  • สาเหตุ
  • ขณะ หรือโอกาส
  • การแทงตลอด หรือการบรรลุ
  • กาลเวลา
  • การละ หรือการสละ
  • การได้รับ
  • ลัทธิ ความเชื่อ หรือความคิดเห็น

ดังนั้น เมื่อเจอคำว่า สมัย ถ้าแปลไม่ถูกต้อง บางครั้งก็อาจสอบตกเอาได้ง่ายๆ (การสอบบาลีระดับสูง แปลผิดศัพท์เดียว ถ้าเนื้อหาประเด็นนั้น ผิดธรรมะ ก็ปรับตก)

เมื่อแยกตามศัพท์ สมัย มาจาก สํ เป็นอุปสรรคบทหน้า และผสมกับ อิ รากศัพท์ (สํ + อิ) ..แปลง นิคหิต เป็น ม.ม้า (สํ - สม) ..แล้วก็แปลง อิ รากศัพท์ เป็น อยะ (อิ - อย)...สำเร็จรูป เป็น สมัย (สม+อยะ = สมยะ)...

หมายเหตุ ...

ศัพท์เดียวแต่มีหลายความหมายทำนองนี้ ในภาษาไทยก็มีมากมาย เพียงแต่ถ้าแบบไทยๆ เราจะรู้เลย เช่น

คน หมายถึง สัตว์มนุษย์ การผสม การทำให้ปนเปกันไป...

หมา หมายถึง สัตว์สี่เท้าชนิดหนึ่ง พฤติกรรมของคนที่พึงรังเกียจ หรือภาชนะสำหรับตักน้ำ (นี้เป็นคำถิ่นปักษ์ใต้)

คำสำคัญ (Tags): #สมัย
หมายเลขบันทึก: 76468เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2007 22:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
นมัสการครับหลวงพี่

สมัยมี ๙ ความหมายเชียวหรือครับ

"สมัยนิยม" หากแยกตามบาลีแล้ว ความหมายจะเกี่ยวข้องกับกาลเวลาหรือเ้ปล่าครับ

นายบอน

สมัยนิยม แม้จะเป็นศัพท์มาจากบาลี (สมัย+นิยม) แต่มีความหมายตามไทยแท้ น่าจะไม่เกี่ยวกับกับความหมายเดิมตามภาษาบาลี...

สมัยนิยม ก็คือ ช่วงเวลาเป็นที่ชื่นชอบ หรือชมชอบ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือบุคลใดบุคลหนึ่ง ของสังคม ประมาณนี้..

คำนี้น่าจะเป็นคำที่เราสร้างขึ้นมาเพื่อใช้แทนคำว่า popular หรือ favour ต่อบางสิ่งบางอย่าง ตามสำนวนภาษาปะกิตมากกว่า...

คำต่างๆ ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ หรือใช้คำเดิมแต่ความหมายใหม่ๆ งอกเงยขึ้นมาจากความหมายเดิม ซึ่งตามวิชาการบาลีเรียกว่า รุฬหิศัพท์ เทียบคำไทยก็เช่น

มือถือ ....คำนี้ ผสมขึ้นจากไทยแท้

สมัยนิยม... คำนี้ ก็ผสมขึ้นมา แต่มิใช่คำไทยแท้

โทรโข่ง... คำนี้ ผสมบาลีหรือปะกิตกับไทย (ดู โทรทัศน์ เคยอธิบายไว้)

 

เจริญพร 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท