คิดอย่างไร : จากงานของอาจารย์หมอวิจารณ์


   ผมเพิ่งกลับมาจากงานศพที่จังหวัดต่างจังหวัด ระหว่างอยู่ในงานและเดินทางกลับผมมีความคิดหลายเรื่อง วันนี้ก่อนที่จะเข้า net ผมนั่งคิดว่าผมจะเรียบเรียงความคิดอย่างไรดีเพื่อใส่บันทึกที่ผมบันทึกอยู่ พอเปิดขึ้นเห็นหัวข้อ ชีวิตที่พอเพียง : 210. เรียนรู้จากนักศึกษาปริญญาเอก ของ อาจารย์หมอวิจารณ์ ก็ลืมเรื่องที่กำลังจะเรียบเรียงความคิดในทันที พร้อมกับแอบเข้าไปอ่านบันทึกนั้น ผมถามตัวผมเองว่า ทำไมผมจึงเข้าไปอ่าน แล้วผมก็พบคำตอบว่า "ผมกำลังหาคำตอบสำหรับทางออกในเรื่องดังกล่าวอยู่ ก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรลงไป" จริงอยู่ แม้หัวข้อนั้นจะเป็นหัวข้อความคิดที่ผมเห็นจากคนๆเดียว แต่ก็แปลกว่า ผมก็ยอมรับและคงไม่ใช่ผมคนเดียวที่ยอมรับในหลายๆเรื่องจากบันทึกนั้น ดังนั้น น่าจะไม่ใช่คนๆเดียวที่คิด จากบันทึกนั้น พอสรุปได้ (เท่าที่สมองผมจะเข้าใจ) ดังนี้

   ๑. แยกนักศึกษาปริญญาดุษฎีบัณฑิต ออกเป็น ๒ กลุ่มคือ ๑) สมองดี ๒) สมองไม่ดีและพื้นความรู้ไม่ดี โดยพบว่า กลุ่มสมองไม่ดีฯนั้น เรียนมาได้เพราะความอดทน มานะพยายาม สังเกตได้จาก ไม่มีทักษะในการตั้งคำถาม ชอบที่จะเรียนความรู้ของผู้รู้ วิธีการแก้ไขคือ การฝึกนิสัยขี้สงสัย นิสัยไม่เชื่อง่ายๆ นิสัยเถียง หรือตั้งคำถามต่อความรู้ที่มีอยู่แล้ว (ในทางกลับกัน ผมเข้าใจว่า เนื้อหาในบันทึกนั้นบอกให้ทราบว่าผู้มีสมองดีจะมีสิ่งที่ตรงกันข้ามกับผู้มีสมองไม่ดี)

   ๒. ข้อสงสัย มหาวิทยาลัยมุ่งแต่จะเอาเงินและเอาผลงานหรือเปล่า

   ๓. การศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตที่ควรจะเป็นคือ ผู้เรียนควร/ต้อง "เป็นนักเถียง นักไม่เชื่อ  เมื่อไม่เชื่อก็ต้องหาหลักฐานใหม่มาอธิบาย  ฝึกไปจนถึงระดับหนึ่งก็จะมีทักษะในการสร้างความรู้ใหม่ หรือการวิจัยนั่นเอง"

------------------

  จากการอ่านบันทึกนั้นให้หวนคิดถึงหลวงพ่อพุทธทาส เดิมทีผมเรียกว่า "อาจารย์พุทธทาส" แต่หลังจากไปอยู่วัดชลประทานรังสฤษฎิ์ เขาเรียกกันว่า "หลวงพ่อพุทธทาส" ผมก็เลยเรียกบ้าง เพราะเมื่อวัดความรู้สึกถึงคำว่า "หลวงพ่อ" ให้คิดถึงอะไรสักอย่างหนึ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของประชาชน ในความเป็นจริงของท่าน ผมไม่เชื่อว่าท่านต้องการให้คนศรัทธาเป็นหลัก ผมเชื่อว่า สิ่งที่ท่านต้องการคือ "ปัญญา" แต่คนก็หลับหูหลับตาเชื่อ กราบไหว้ บูชา เสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็ดี ดีกว่าไปทำสิ่งไม่ดีไม่งามต่างๆ ---- ผมต้องคิดถึงหลวงพ่อพุทธทาส ในประวัติตอนหนึ่ง ที่ท่านสอบไม่ผ่านเปรียญ ๔ ประโยค (หากจำไม่ผิด) แล้วท่านก็พบว่า มันไม่ใช่สิ่งที่ท่านคาดหวัง จึงไม่เรียนเปรียญอื่นๆ ต่อไป ออกไปเรียนรู้ด้วยตนเองและต่อสู้กับความคิดของผู้ที่รู้ดีทั้งหลายจำนวนมาก กว่าจะมาเป็นพุทธทาสที่โลกให้ความสำคัญในวันนี้ (ข้อสรุปของผมคือ ปริบทของความเป็นพุทธทาสเอื้ออำนวย) ---- ปัจจัยอะไรที่ทำให้ผู้เรียนเหล่านั้นจำต้องไปเรียนดุษฎีบัณฑิต ผมวิเคราะห์ออกมาได้อย่างนี้ (จากรอบตัว) ๑) การอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาปริญญาโท มันไม่เพียงพอกับการก้าวไปข้างหน้า เมื่อมหาวิทยาลัยแข่งขันกันที่จะอยู่ในอันดับ การบริหารการจัดการก็ต้องเร่งรัดสร้างบุคลากรให้มีเกรด ๒) นักวิชาการมันจะร่ำรวยอะไรหนักหนา ไม่ใช่นักธุรกิจแต่ก็ต้องมาอยู่ในองค์กรธุรกิจ เมื่อไม่มีทุนก็ต้องหาทุนเรียน เพราะมิฉะนั้นจะเดือดร้อนกับสถานะ ทุนสายตัวเองไม่มีก็ต้องหาทุนสายอื่นๆ เมื่อหาทุนสายอื่นและได้ไปเรียนจะด้วยปัจจัยอะไรก็ตาม ฐานความรู้ที่ตนไม่สันทัดก็ส่งผลต่อการศึกษา ๓) ทางหลบเลี่ยงเพื่อการพักผ่อน อันนี้ผมก็กำลังคิดอยู่ อันที่จริงยังไม่พร้อมกับการไปเรียน แต่สอนจนอยากจะอ๊วก เพื่อนผมจำนวนหนึ่งก็หลบไปพักผ่อน การเรียนคือการพักผ่อนแถมได้ประโยชน์ที่ดีอีกด้วย มันเห็นแก่ตัวดี แน่นอนต้องเห็นแก่ตัวเพื่อตัวของคนอื่นๆ ๔) มหาวิทยาลัยต้องก้าวไปข้างหน้า ถ้าบุคลากรที่เป็นปริญญาเอกมาก นั้นก็หมายความว่า ความมีหน้ามีตา ส่วนการได้มาซึ่งปริญญาเอกนั้นจะอย่างไร ผมคิดว่าทุกคนดูละครกันมาเยอะ เราก็ชอบดูเฉพาะภาพ เรื่องอื่นๆ จะคิดมากไปทำไม ---- น่าจะมีปัจจัยอื่นๆ อีก ซึ่งความคิดตรงนี้ของผมหายไป เพราะระหว่างบันทึก ผมต้องหันตัวไปคุยกับหัวหน้าด้วย สลับกันไปสลับกันมา ------ มีเรื่องๆหนึ่งให้น่าคิด ภิกษุรูปหนึ่งถูกเพื่อนๆกล่าวโพนทนาว่า "ภิกษุโง่ๆ" ท่านก็คิดว่าท่านโง่ แม้พี่ชายของตัวเองสอนหนังสือเท่าไรก็ไม่รู้จักจำ ไม่รู้จักวิเคราะห์ มิหนำซ้ำยังถูกว่า "โง่ จริงๆ" ถึงกับขับไล่ให้สึกออกไปเสีย ท่านเสียใจมากแต่ก็คิดว่า ตนไม่ได้บวชเพราะพี่ชาย หากแต่บวชเพราะพระพุทธเจ้า ต่อมาได้พบพระพุทธเจ้า พระองค์ให้ผ้าผืนหนึ่งแก่ท่าน พร้อมกับคำบริกรรม ด้วยผ้าผืนนั้นเองท่านจึงบรรลุเป้าหมายสูงสุดในพระศาสนาของพระพุทธเจ้า---------- มีอีกเรื่องหนึ่ง ศิษย์คนโปรดของสัญชัย (เจ้าลัทธิที่มีอิทธิพลมากคนหนึ่งในสมัยพุทธกาล) ๒ คนคือ อุปติสสะและโกลิตะ ๒ คนนี้ไปเที่ยวงานประเพณีแล้วรู้สึกเบื่อหน่ายกับวิถีชีวิตแบบนั้นๆ ไม่เห็นว่าจะมีแก่นสารอะไร วันหนึ่งพบพระอัสสชิ และได้ฟังธรรมเพียง "สิ่ง (ธรรม) ทั้งหลายเกิดจากเหตุ (มีเหตุเป็นแดนเกิด) ตถาคตตรัสถึงเหตุแห่งการเกิดนั้น และการเข้าไปดับเหตุนั้นด้วย" เท่านี้ก็ได้บรรลุธรรมชั้นปฐม (โสดาบัน) ทั้ง ๒ ไปขอลาอาจารย์ด้วยความลำบากใจยิ่ง แต่อาจารย์ก็ยากที่จะหักห้ามใจของทั้ง ๒ ได้ เนื่องจากทั้ง ๒ เหมือนกับดวงแก้วประกายแสงในลัทธิของตน พร้อมกับกล่าวตามไปว่า "คนโง่จงมาในสำนักของเรา ส่วนคนฉลาดจงไปสำนักพระพุทธเจ้า" ---------

   ผมก็ไม่รู้ว่ามันดีหรือไม่ ผมเคยเถียงอาจารย์เหมือนกัน แต่คะแนนจะสู้นักศึกษาที่อยู่เงียบๆและเชื่อฟังอาจารย์ไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าผมไม่เคยเงียบ ในบางวิชาที่ผมเป็นคนเงียบ ดูเหมือนจะตั้งใจฟัง (อันที่จริงๆไม่ได้ตั้งใจฟัง) คะแนนออกมาดีมาก นี่คือการเอาคะแนนเป็นตัวตั้ง และสิ่งที่พบจริงๆ จากการเรียนของนักศึกษาคือ ถ้าเราเถียงอาจารย์ อาจารย์ก็จะหมายตาเรา โดยเฉพาะถ้าเราบอกว่า ท่านทำไม่ถูก คิดไม่ถูก อะไรที่เป็นความไม่ถูกนั้นแหละ เราจะถูกหมายตาไว้จนตราบชั่วลูกชั่วหลาน มันไม่ใช่เรื่องง่ายนักการการที่จะได้อาจารย์ที่พร้อมจะถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผลหรือไม่

   สมมติว่าผมจบปริญญาเอก ผมไมได้เชื่ออะไรง่ายๆ สิ่งที่ผมสร้างมา สร้างมาด้วยการทดลอง ลองแล้วลองอีก ลองผิดลองถูกจนแน่ใจว่ามันเป็นจริง และเราจะเชื่อในสิ่งที่เรายึดว่าถูกต้องเท่านั้น ถ้าอย่างนั้น แม้ใครจะให้เห็นผลหรือพิสูจน์ให้เห็นอย่างไร อาจารย์ประเภทกระต่ายขาเดียวมีอยู่มาก ผมเชื่อว่า การที่นักศึกษาปริญญาเอกบางคนไม่ถกเถียงไม่ได้หมายความไม่เถียง บางคนอาจเถียงอยู่ในใจแต่อาจารย์ไม่ได้ยิน จากนั้นก็ให้เหตุผลด้วยตัวเอง

   *ระบบการศึกษาที่ผ่านมา สร้างให้เรารู้ตามหรือเปล่า วิถีชีวิตเป็นอย่างนี้ ก็ต้องเป็นอย่างนี้ ผมอยากจะเรียกว่า "การศึกษาของเจ้าขุนมูลนาย" มันก็ดีนะครับ มีตัวศรัทธาอยู่พอสมควร

   --------------------

   อาจารย์หมอสรุปตอนท้ายที่ดีครับว่า "ผมสงสัยว่ามหาวิทยาลัยบางแห่งกำลังทำบาปอยู่หรือเปล่า     ที่จัดหลักสูตรปริญญาเอกขึ้นมาแล้วไม่ได้เอาใจใส่ นศ. อย่างจริงจัง      ไม่มีแนวความคิดหรือหลักการ (concept) ในการจัดการศึกษาที่ถูกต้องแก่นักศึกษาปริญญาเอกประเภทมาเรียนด้วยทุนความขยันและพื้นความรู้เชิงประสบการณ์     แต่หย่อนด้านพื้นความรู้เชิงทฤษฎีและสมอง"

   แต่ผมก็คิดถึงอาจารย์หมอประเวศว่า "การศึกษาต้องโน้มเข้าสู่ตัวเอง" ผมก็โน้มเข้าสู่ตัวเองว่า "ถ้าไม่พร้อมที่จะไปเรียนก็อย่าไปเรียนให้เป็นภาระของชั้นเรียนและอาจารย์เหล่านั้นเอง" อาจารย์ผู้รับผิดชอบปริญญาเอกมิใช่สัพพัญญูเหมือนพระพุทธเจ้านี่ ต่างคนต่างจบมาแต่ละสาขาวิชา แล้วต้องทำมาหากินเลี้ยงดูแลครอบครัว ไม่ใช่พระพุทธเจ้าที่ออกบิณฑบาตแล้วได้อาหารมาแล้วก็พอ รอวันรุ่งขึ้นอีก สิ่งที่ผมควรจะทำคือ ต้องเตรียมตัวให้พร้อมในทุกๆ เรื่อง เงิน ความรู้ กระบวนการเรียนรู้ การบริหารการจัดการตัวเอง ฯลฯ ข้อสรุปตอนนี้คือ ถ้าไม่ได้อยู่ในระดับอุดมศึกษาและเอาความรู้เป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาดีกรีเป็นตัวตั้ง ผมคิดว่าชาวนาก็เป็น Ph.D ได้ "อย่าเพิ่งเรียน ถ้ายังไม่พร้อม" เพื่อนๆอาจจะบอกว่า"แล้วเมื่อไรจะพร้อม ไม่มีใครพร้อม ที่ไปเรียนเพราะไม่รู้ จึงไปเรียน" ก็เป็นเรื่องจริง "ไม่มีอะไรพร้อมสมบูรณ์แบบ" แม้ไม่ได้อยู่ในระบบเราก็เรียนนอกระบบอยู่แล้วนี่นา....อนิจจา

หมายเหตุ : ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

คำสำคัญ (Tags): #บันทึกความคิด
หมายเลขบันทึก: 75912เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2007 12:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ปีก่อนผมสอบเข้าปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง สอบอยู่ ๒ วัน สำหรับข้อเขียนและผ่านเข้ารอบสัมภาษณ์ และผมก็ตกสัมภาษณ์ในวันที่ ๓ หลังจากเตรียมตัวมาหลายวัน แต่ผมก็ดีใจที่เห็นอาจารย์ท่านหนึ่งที่สัมภาษณ์ผมอย่างเอาเป็นเอาตาย อาจารย์ท่านนี้แต่งตัวยังกะตัวตลกของฝรั่ง โชคดีที่ไม่ได้ไปเรียน
  • อยากเรียนต่อก็ต้องใช้เงินประมาณ ๒ แสน ถ้าลาออกจากงานโดยไม่เรียนต่อ (ลาเรียนชดเชย ๒ เท่า) แต่กลับไปเปิดร้านเล็กๆ ปลูกผักกิน พร้อมกับอาหารที่เราชอบที่ปักษ์ใต้น่าจะดีกว่าละมั้ง "รักอย่างไรก็ต้องไปจากกัน----รักการศึกษาเพียงใดก็ต้องไปจากมัน"

สวัสดีค่ะ ตามรอยมาจากบันทึกของดร.นารีรัตน์

คนที่ยังต้องทำงานอยู่ในระบบก็คงต้องดิ้นรนด้วยวิธีการต่างๆนาเพื่อให้ได้ดีกรี ดร. อย่างที่คุณเขียนแจกแจงได้ชัดเจนถึงเหตุที่บีบคั้น

เห็นด้วยมากๆเลยค่ะว่าเราเรียนรู้อยู่ทุกวันแม้ไม่ได้อยู่ในระบบ ไม่ได้อยู่ในการเรียนปริญญาเอก การใฝ่รู้ มีปัญญาพอแก่การใช้งาน ประกอบสัมมาชีพให้ชีวิตมีความสุข ดียิ่งกว่าเรียนปริญญาเอกแบบเพื่อเอาปริญญาแต่ไม่ได้เกิดปัญญาใด ชาวนานั้นมีปัญญาที่สูงยิ่งกว่าปริญญาเอกเสียอีกนะคะ แต่ระบบการศึกษาและสังคมทุกวันนี้ทำให้เราดูถูกกันเอง ไปให้คุณค่ากับมาตรฐานที่เราไม่ได้เป็นผู้คิดค้น จะมีประโยชน์ใดหากจบได้ดร.มาแล้ว แต่อยู่อย่างไร้ความสุข

ดิฉันก็เป็นผู้หนึ่งที่สนใจในการขัดเกลาตนเองด้วยธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติธรรมนั้นประเสริฐทำให้ชีวิตสงบเย็น อย่างที่ปริญญาเอกนั้นไร้ความหมายไปเลยค่ะ

ปัจจุบันดิฉันจึงพอใจที่จะเป็นเพียงนักวิชาการอิสระ อยู่บ้านต่างจังหวัด ได้อยู่กับธรรมชาติปลูกผักปลูกผลไม้กิน มีกัลยาณมิตรมาเยี่ยมเยือน 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท