มน & นิ ลูกรัก
มีคนพูดหรือเขียนไว้มากมายแล้วว่า การอ่านมีประโยชน์อย่างไร พ่อจะขอเสริมด้วยตัวอย่างสักนิดหน่อย
-
ผู้นำเกาหลีใต้ คิมแดจุง เคยถูกจองจำช่วงหนึ่ง แต่ช่วงเวลานั้นเองกลับกลายเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตของเขา
“ระหว่างถูกจองจำ สิ่งที่คิมแดจุงได้ประโยชน์ที่สุดก็คือ การอ่านหนังสือ การถูกจองจำกลับเปิดโอกาสให้ผมเปิดหูเปิดตาความคิดความอ่านมากมาย”
ที่มา : สันติ ตั้งรพีพากร “อะเมซิ่ง คิมแดจุง”, สำนักพิมพ์มติชน, กรุงเทพ, 2543, หน้า 145
เรื่องนี้ทำให้พ่อคิดถึง สอ เสถบุตร ผู้เขียนพจนานุกรมไทย-อังกฤษ/อังกฤษ-ไทย ในขณะที่อยุ่เรือนจำที่เกาะตะรุเตา...เอาไว้จะเล่าให้ฟังทีหลัง
-
คุณ ส. พลายน้อย ยอดนักเขียนคนสำคัญของไทย ได้เล่าไว้ในหนังสือ 'ชีวิตที่คิดไม่ถึง' ว่า เมื่อออกจากราชการแล้ว มีผูจัดทำนิตยสารสองสามฉบับไปขอสัมภาษณ์ที่บ้าน ด้วยความสนใจอยากรู้ว่าเป็นคนแก่ปูนไหน จึงเขียนหนังสือได้มากมาย และเมื่อได้รู้ว่าจบการศึกษาไม่สูงนัก เพียงแค่มัธยม 6 (ในสมัยก่อน) ก็สงสัยว่าได้ความรู้มาจากไหน ซึ่งคุณ ส. พลายน้อย ได้ตอบไปว่า "ได้มาจากหนังสือ"
ยังมีอีกจุดหนึ่งที่น่าคิดก็คือ คุณ ส. พลายน้อย เขียนไว้ว่า "มีคนเคยถามผมว่าออกจากราชการแล้วเหงาไหม ผมก็ตอบเขาว่า ตลอดชีวิตที่ผ่านมาไม่เคยเหงา ผมมีเพื่อนเป็นหมื่นๆ ในบ้าน อยากจะคุยกับใครก็หยิบเอาออกมาอ่าน อยากรู้ประวัติของใครก็อ่านหนังสือประเภทชีวประวัติ อยากรู้เรื่องของพระสงฆ์ก็อ่านพระไตรปิฎก อยากรู้อดีตก็อ่านพงศาวดาร ฉะนั้นคำว่าเหงาจึงไม่มีในความรู้สึก"
(พ่อก็มีเพื่อนอยู่ในบ้านเยอะเหมือนกัน แต่คงแค่หลักพัน)
-
พ่อเองได้ “รู้จัก” ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎกเป็นครั้งแรกจากการอ่านหนังสือ พุทธธรรมกับชีวิตในสังคมเทคโนโลยี ในระหว่างอยู่บ้านเพราะป่วย (เป็นไวรัสตับอักเสบเอ)
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ ใน เขียนไว้..ให้ลูกอ่าน
บันทึกที่เขียนถึงลูกๆ เป็นบันทึกที่ผู้เขียนๆด้วยความรัก ดิฉันจึงชอบอ่าน เพราะขณะที่อ่าน ดิฉันก็ได้รู้สึกถึงความรักความห่วงใยของพ่อแม่ที่มีต่อลูกน้อย
ดิฉันชอบเรื่องต่างๆที่อาจารย์เลือกมาเขียน เพราะเป็นประเด็นที่กระทบชีวิตคนอย่างสำคัญ ถึงแม้จะดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็ส่งผลต่อชีวิตได้ในสักวันหนึ่ง อ่านแล้วจึงอยากแสดงความเห็นต่อด้วยทุกที เพราะเป็นเรื่องที่ชอบทั้งนั้น
ดิฉันกำลังเสาะหาบทความและข้อเขียนดีๆที่เขียนเกี่ยวกับ "การอ่าน" อยู่ค่ะ และค่อยๆหาสะสมไป กำลังหาที่มีหลายๆมุมมอง จะได้ให้เด็กๆ(ปริญญาตรี) หัดอ่านหัดวิเคราะห์ แต่สิ่งที่ยากกว่าการหาบทความ คือการโน้มน้าวใจให้เด็กๆยอมอ่าน และอยากอ่าน
เด็กๆอีกหลายคน คงไม่เคยมีใครอ่านหนังสือให้ฟังก่อนนอน ดิฉันจะเล่าเรื่องที่อาจารย์อ่านหนังสือให้ลูกฟัง เพื่อว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาในวันหน้า :)
และด้วยว่าดิฉันสอนการเขียนในสายนิเทศศาสตร์ ดิฉันก็จะพยายามให้เด็กๆอ่านงานเขียนของท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฏก โดยเฉพาะเรื่องใกล้ตัวพวกเขา เช่น วินัย...เรื่องใหญ่กว่าที่คิด, การศึกษาเพื่อสร้างบัณฑิตหรือการศึกษาเพื่อสร้างผลผลิต, ฯลฯ ด้วยความหวังว่าเขาจะได้เห็นอะไรบางอย่าง แบบที่ดิฉันสอนไม่ได้
รู้สึกว่าโชคดีเหลือเกินที่เกิดมาทันทั้งสองท่านนี้ คือท่านพุทธทาส และท่านพระธรรมปิฏก เพราะ "การอ่าน"หนังสือของท่านทำให้ค่อยๆเข้าใจพุทธศาสนามากขึ้น แล้วก็เห็นเป้าหมายปลายทางของการเป็นครูมากขึ้น หลังจากที่หลงงงๆอยู่ในทุ่งกว้างของอาจารย์อยู่พักใหญ่
ท่านพระธรรมปิฏกนำเสนอเนื้อหาพุทธศาสนาแบบที่ไม่ต้องปรากฏตัวตนของท่านอยู่เลย ดิฉันทึ่งจริงๆ ไม่ต้องมี in my opinion เลย มีแต่หลักธรรมล้วนๆที่สามารถยืดขยายหรือสรุปกระชับได้เข้ากับเรื่องนั้นๆ
ดิฉันบอกเด็กๆว่าพุทธธรรม เป็นหนังสือที่ชาวพุทธหรือผู้สนใจจำเป็นต้องหาไว้ประจำบ้าน เพราะมีข้อมูลสำหรับตอบคำถามที่สงสัยได้ นึกสงสัยจะได้เปิดอ่าน
ส่วนคุณพ่อดิฉันสงสัยหลายครั้งว่าเวลาเดินทางไปพักที่โรงแรม ในห้องมักมีไบเบิ้ลเล่มเล็กๆวางไว้ ทำไมไม่มีหนังสือธรรมะวางอยู่บ้าง
อ้าว...ดิฉันเลยเขียนยาวกว่าเรื่องที่อาจารย์เล่าเสียแล้วค่ะ ....!....