ผมเคยคิดว่าจะหาความรู้ว่านักเศรษฐศาสตร์เขามองเรื่องความสุขยังไง เพราะมีคนเตือนว่า ตอนนี้นักเศรษฐศาสตร์หันมาพูดเรื่องความสุขกันใหญ่แล้วต้องระวังให้ดี ดูจะเป็นคำพูดแกมประชดประชันซะล่ะมากกว่า เลยลองศึกษาดูแล้วเขียนบทความไปลง คอลัมน์ของผมในโพสต์ทูเดย์ เห็นว่าเกี่ยวกับงานสร้างความอยู่เญ้นเป็นสุข เลยเอามาแลกเปลี่ยนกับชาว gotoknow น่าจะเกิดประโยชน์เพิ่มพูนจากที่ไปลงแต่ นสพ เฉยๆ
หลายคนเชื่อว่า การมีเงินมากไม่ใช่หนทางไปสู่ความสุข ตรงกันข้าม ถ้ามัวแต่สนใจหาเงิน ชีวิตน่าจะหาความสุขได้ยาก
แต่นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า เงินเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำความสุขมาให้ และการทำให้โลกดีขึ้น ไม่มีวิธีอื่นดีกว่าการทำให้เศรษฐกิจขยายตัว มีการผลิต และการค้าขาย เงินทองสะพัด และเพราะมนุษย์รู้จักจัดระบบให้มีการผลิต และการค้าขาย คุณภาพชีวิตของเราจึงดีขึ้นเรื่อยๆ
บทความจากนิตยสาร ดิอีโคโนมิสต์อ้างว่า นักเศรษฐศาสตร์ในยุคเริ่มต้นของวิชาเศรษฐศาสตร์มีความตั้งใจว่าจะพัฒนาศาสตร์ของตนเองเพื่อหาคำอธิบาย และวิธีการที่จะทำให้คนมีความสุข ไม่ใช่มุ่งแต่เรื่องเงินทอง หรือการผลิตของนอกกาย ถึงขนาดฝันว่าจะมีเครื่องวัดความสุขสบาย (hedonimeter) เหมือนที่มี เทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิร่างกาย
คงด้วยความยากลำบากที่จะศึกษา เรื่องความสุขจากมิติภายใน เพราะเกี่ยวกับเรื่องความรู้สึกและจิตใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ลึกลับและลึกล้ำเหลือกำหนดอย่างที่สุนทรภู่เคยว่าไว้ ในที่สุดเศรษฐศาสตร์จึงหันมาเน้นเรื่องการสร้างความสุขโดยอาศัยของนอกกาย
ซึ่งถ้าดูจากการใช้คำว่า hedonic ซึ่งมีความหมายถึงสุขสบาย แทนจะพูดถึง happy ที่หมายถึงสุขทางใจ ก็อาจจะพอบอกได้ว่าแม้นักเศรษฐศาสตร์ยุคต้นๆจะพูดถึงความสุข แต่ก็ยังมองความสุขว่าเป็นเรื่องเดียวกับ ความสบาย
จนเมื่อเวลาผ่านไป ประสบการณ์มากขึ้นก็เริ่มมองเห็นว่า ถ้าเป้าหมายของการพัฒนาคือการมีความสุข การเน้นเฉพาะเรื่องการผลิต และการค้าขาย การเพิ่มชนิดของสินค้า และบริการที่มุ่งสร้างความสะดวกสบายน่าจะไม่เพียงพอ
แถมในช่วงหลังๆมีการมองไปว่า ธุรกิจขายความสุข(ทางใจ) น่าจะเป็นธุรกิจที่มีอนาคตสดใส เพราะผู้คนในสังคมเครียดกันมากขึ้น และเครื่องอุปโภคบริโภคที่มุ่งเพิ่มความสะดวกสบายทางกายก็เริ่มถึงทางตัน มนุษย์กำลังมองหาสินค้า หรือบริการที่จะเพิ่มความสุขทางใจ และเพิ่มพูนความรู้ และปัญญามากกว่า ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ บ้านเราเองที่ธุรกิจบันเทิงอย่างโรงภาพยนตร์ไม่ถูกกระทบมากในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง (อาจเพราะอุปสงค์เพิ่มขึ้น จากความเครียด หรือราคายังไม่สูงมากก็เป็นได้)
หรือแนวโน้มทั่วโลกตอนนี้ที่ผู้คนหันมาสนใจ เรื่องการนั่งสมาธิ และการท่องเที่ยวมากขึ้นก็สะท้อนว่าการสนองความต้องการทางประสาทสัมผัส น่าจะมาแรงเมื่อเทียบกับการผลิตสินค้าที่ตอบสนองต่อความสบายทางกาย
แน่นอนว่านักเศรษฐศาสตร์ไม่ได้หันมาสนใจเรื่องความสุขเพราะเห็นโอกาสใหม่ของธุรกิจสร้างความสุข แต่เพราะต้องการจะหาคำอธิบาย และเสนอแนะแนวทางที่สังคมจะเกิดความสุขนอกเหนือจากการเพิ่มการผลิต และเงินทอง เพราะโดยศาสตร์ของตัวมันเอง มักถูกมองว่าส่งเสริมความโลภ และการเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งในที่สุดก็ไม่มีใครมีความสุขแท้จริง
นักเศรษฐศาสตร์ก็พยายามบอกว่าไม่เกี่ยว สิ่งที่เศรษฐศาสตร์พยายามทำคือหาทฤษฏีอธิบายของที่มันมีอยู่แล้ว ถ้าความโลภเป็นของคู่โลก ไม่ว่านักเศรษฐศาสตร์จะหาคำอธิบายได้ดีมากน้อยเพียงไรก็ไม่น่าจะทำให้ความโลภ ความเห็นแก่ตัวเพิ่มมากขึ้นแต่อย่างไร ฝ่ายที่เชื่อว่าความรู้ ไม่มีวันปลอดจากอิทธิพลของสังคม ก็จะพยายามบอกว่า ทฤษฏีต่างๆที่มีมาในโลก ล้วนมีผลในการสร้างค่านิยมของผู้คนในสังคม
อย่างเช่นวิชาเศรษฐศาสตร์ที่มักพูดว่า มนุษย์มีธรรมชาติที่จะหาประโยชน์สูงสุดให้กับตัวเอง ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เลยทำให้ผู้คนทั่วไปสรุปว่าการทำสิ่งใดๆเพื่อประโยชน์ส่วนตัวไม่ใช่เรื่องที่ผิด
ทั้งที่ความจริงแล้วมนุษย์เรายังมีอีกด้าน คือการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ไม่ได้มุ่งแค่การหาประโยชน์ใส่ตัวเป็นหลัก แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง
ผู้คนในสังคมก็เลยไม่ได้พัฒนาความสามารถในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ความรู้ที่นักเศรษฐศาสตร์ค้นพบแบบครึ่งๆกลางๆ ก็เลยนำมาซึ่งความทุกข์ แทนที่จะเป็นความสุข เพราะการแสวงหาประโยชน์สูงสุดให้กับตัวเอง ทำให้เกิดการแข่งขันทำลายล้าง ซึ่งกันและกัน จนในที่สุดชีวิตผู้คนมีแต่ความเครียด เหมือนหนูถีบจักรที่ไม่รู้จะหยุดได้ยังไง ทั้งที่อยากจะหยุดเต็มที
แต่เราๆท่านๆคงรู้ดีว่า ความสุขของเราจะมีมากน้อยเพียงไร ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยสารพัด ไม่ได้ขึ้นกับอิทธิพลของศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐศาสตร์ หรือสาธารณสุขศาสตร์ แต่เพียงอย่างเดียว
ไม่งั้นคนที่ไม่รู้จักวิชาเศรษฐศาสตร์น่าจะมีความสุขที่สุด หรือไม่ถ้าโลกเราเลิกใช้ทฤษฏีทางเศรษฐศาสตร์อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เราน่าจะมีความสุขกันมากขึ้น
แต่ความจริงก็คือว่า คนเราทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของระบบใหญ่ที่ครอบเราอยู่ และระบบสำคัญที่มีอิทธิพลต่อชีวิตผู้คนทุกวันนี้ ก็คือระบบเศรษฐกิจ เพราะมันกำหนดวิธีการที่ผู้คนจะมีปฏิสัมพันธ์กันในเรื่องทำมาหากิน โดยระบบเศรษฐกิจหลักที่โลกกำลังพัฒนาไปก็คือระบบทุนนิยมเสรี ซึ่งมีพื้นฐานมาจากทฤษฏีเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมและเน้นการปล่อยให้ปัจเจกตัดสินใจเองว่าจะมีความสัมพันธ์กับคนอื่นอย่างไร
ช่วงเวลาร้อยกว่าปีที่ผ่านมา เศรษฐศาสตร์พัฒนาก้าวหน้าไปมาก มีผู้เสนอวิธีคิด วิธีอธิบายพฤติกรรมมนุษย์ และการอยู่ร่วมกันในสังคม อีกมากมายหลายแบบ
ที่หลายคนอาจจะคุ้นเคยก็อย่างทฤษฏีที่นาย จอห์น แนช เสนอเกี่ยวกับการร่วมมือกัน ซึ่งก็ไม่ใช่แนวคิดใหม่ เพราะมีคนพูดถึงมาก่อนแล้วภายใต้ชื่อเรียกว่าทฤษฏีเกมส์ ซึ่งพยายามบอกว่ามนุษย์มีแนวโน้มที่จะร่วมมือกัน และยอมลดประโยชน์ส่วนตัว ถ้ามันจะทำให้ประโยชน์ของกลุ่มมีมากขึ้น
พูดง่ายๆว่ามนุษย์รู้จักที่จะลดความเห็นแก่ตัว โดยมองประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ซึ่งว่าไปแล้วก็น่าจะเป็นพื้นฐานสำคัญของความสุขที่จีรังยั่งยืนขึ้น เพราะชัดเจนว่าไม่มีใครจะสามารถมีความสุขได้ โดยที่ผู้คนรอบข้างในสังคม มีความทุกข์ยากลำบากเป็นส่วนใหญ่
แม้ว่าในความเป็นจริง ในบางสังคม คนบางคนอาจจะร่ำรวยมหาศาลในขณะที่มีคนจนอยู่มากมาย แต่สังคมก็ยังอยู่ได้ อย่างสงบพอสมควร ไม่เหมือนกับอีกสังคมที่มีช่องว่างน้อยกว่า แต่เกิดการแย่งชิงทรัพยากรกันมากกว่า เพราะพื้นฐานแต่ละสังคมไม่เหมือนกัน
แต่ทุกสังคมก็ต้องมองหาสมดุลย์ของตัวเอง ว่าจะสร้างระบบที่จะดูแลคนส่วนใหญ่อย่างไร ไม่ใช่ดูแลแต่คนส่วนน้อยที่มีฐานะดี ธุรกิจใหญ่โต เพราะเขาเป็นคนทำรายได้ สร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ
ถ้าเราๆท่านๆ รู้สึกว่าการทำให้ตัวเองมีความสุขที่แท้จริงมันก็ยากอยู่ ไม่รู้ว่าจะทำตัว หรือปรับพฤติกรรมตรงไหนดี คงจะเห็นด้วยว่าการทำให้สังคมโดยรวมมีความสุข มันยากยิ่งกว่า
แต่ที่แน่ๆอย่าปล่อยให้เป็นเรื่องของนักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ หรือแม้แต่นักการเมือง หรือรัฐบาลที่จะมากำหนดว่าเราควรจะมีระบบแบบไหนจึงจะทำให้สังคมโดยรวมมีความสุขสูงสุด
เพราะเขาอาจจะมีความรู้ หรือความเชื่อที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง หรือแม้กระทั่งตกยุค
เพราะมัวแต่ไปเน้นเรื่องสร้างตัวเลขทางเศรษฐกิจในขณะที่
แม้แต่เจ้าของทฤษฏีเองเขากำลังมองหาวิธีคิด และทางออกใหม่ๆ เพราะเริ่มเห็นความจริงแล้วว่า สังคมจำนวนไม่น้อย รวมทั้งสังคมไทย ได้ก้าวมาถึงจุดที่ การเพิ่มเงินไม่ใช่การเพิ่มความสุขอีกต่อไปแล้ว