ชื่นชม... แบบนี้ไม่ยาก


นักร้องเพลงลูกทุ่งท่านหนึ่งบอกแฟนเพลงให้... "รักน้อยๆ แต่รักนานๆ"... การชมทีละน้อย บ่อยๆ ดูจะดีกว่าชมทีละมาก หนักๆ

                                  

วันนี้ (25 มกราคม 2550) อาจารย์มาลินี ธนารุณตีพิมพ์บันทึกเรื่อง "บริหารการชื่นชมคนดีได้อย่างไร?"

  • ขอนำข้อคิดเห็นของผู้เขียนมาเล่าสู่กันฟังดังต่อไปนี้ครับ...
  • การชื่นชมคนดี (appreciation) มักจะพบในสังคมที่พัฒนาแล้ว หรือกำลังพัฒนา... พบน้อยในสังคมที่ไม่พัฒนา หรือไม่ขวนขวายพัฒนา
  •     การชื่นชมคนดี...

      1. ถ้าชมคนอื่นเป็นบุญกิริยาวัตถุ... หมวดทาน กล่าวคือ เป็นอนุโมทนาทาน (ทานอันเนื่องจากการแสดงความยินดีในการทำดีของผู้อื่น)
      2. ถ้าชมคนอื่น... ควรชมทั้งต่อหน้า และลับหลัง ชมต่อหน้าทำให้เกิดความแช่มชื่นใจ เปรียบเหมือนได้น้ำเย็นกลางทะเลทราย ชมลับหลังทำให้เกิดความแช่มชื่นใจยิ่งขึ้น เปรียบเหมือนได้โอเอซิส (ossis = แอ่งน้ำผุด มักจะมีพืชพันธุ์ร่มรื่น) กลางทะเลทราย
      3. ถ้าชมตัวเอง... ควรชมในใจ เนื่องจากการชมตัวเองให้คนอื่นได้ยินใกล้ต่อกิเลสสายมักมาก (โลภะ / ปรารถนาลาภ สักการะ) ดังคำกล่าวที่ว่า "ไม่มีใครยกหาง อย่ายกหางตัวเอง"
      4. การชมตัวเองเป็นบุญกิริยาวัตถุ หมวดภาวนา... ถ้าพิจารณาว่า เราให้ทานมามากแล้ว เป็นจานานุสสติ ถ้าพิจารณาว่า เรารักษาศีล (วิรัติศีล / ข้อพึงงดเว้น) และมีความประพฤติดี (จารีตศีล / ข้อควรทำ) เป็นสีลานุสสติ...

    การพิจารณาศีลมักจะเป็นอุปนิสัยปัจจัย ทำให้พระภิกษุ สามเณรเกิดความแช่มชื่น ปีติ โสมนัส จนบรรลุมรรค ผล นิพพาน...

       

    กล่าวสรุปคือ

      1. ถ้าชมคนอื่น...
        ให้ชมทั้งต่อหน้า และลับหลัง (การชมลับหลังให้สะท้อนไปจนถึงเจ้าตัวจะทำให้เกิดความแช่มชื่นยิ่งกว่า... เปรียบเหมือนให้โอเอซิสย่อมแช่มชื่นนานกว่าให้น้ำ 1 มื้อ)
      2. ถ้าชมตัวเอง...
        ชมในใจพอแล้ว อย่าชมออกนอกหน้า คนอื่นจะว่าได้ว่า มักมาก หรือยกหางตัวเอง

          พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในพระวินัยปิฎกถึงการกล่าวตักเตือนผู้อื่นว่า...

        1. เป็นผู้รู้วินัย... รู้ว่า อะไรควร(สมควร) อะไรไม่ควร(สมควร)
        2. ตั้งจิตประกอบด้วยเมตตา... ปรารถนาดีแล้วจึงกล่าว ยังไม่ปรารถนาดีไม่ควรกล่าว
        3. กล่าวคำจริง... กล่าวแต่เรื่องจริง ไม่กล่าวเรื่องเท็จ (ไม่จริง)
        4. กล่าวด้วยถ้อยคำสุภาพ... เป็นคำของชาวเมือง ไม่กล่าวคำหยาบคาย กระด้าง
        5. ขอโอกาส... หรือขออนุญาตชี้แจงก่อนกล่าว ยกเว้นพระอุปัชฌาย์ (พระที่บวชให้) หรือพระอาจารย์ (ครูบาอาจารย์)

            ผู้บริหารควรชื่นชมคนทำดีอย่างไร...

          • (1). ชมการทำดี (การกระทำ - action) ให้มากกว่าคนทำดี (บุคคล - people)...

          การชมบุคคลใดบุคคลหนึ่งมากเกินอาจทำให้ทีมงานแตกสามัคคีกันได้ เปรียบเหมือนคำกล่าวที่ว่า "ถ้าอยากให้สุนัขกัดกัน... ให้โยนชิ้นเนื้อ(เข้าไป)" ส่วนการชมการทำดีนั้นเป็นสากล เพราะความดีนั้น... ใครๆ ก็ทำได้ (ถ้าตั้งใจทำ)

          ข้อควรระวังในการชมคือ ถ้าเป็นไปได้... อย่าชมเพื่อเปรียบเทียบ เช่น ชมน้องว่า "เก่งกว่าพี่" ฯลฯ... การชมอย่างนี้อาจเป็นชนวนทำให้เกิด "น้ำขุ่น" เกิดการอิจฉาริษยา หรือการทะเลาะวิวาทในภายหลังได้

          อีกประการหนึ่ง "อย่าการชมต่อหน้าคนยาก" เช่น อย่าชมคนรวยว่า "รวย" ต่อหน้าคนจน อย่าชมคนเก่งว่า "เก่ง" ต่อหน้าคนไม่เก่ง ฯลฯ โดยเฉพาะถ้าเราทราบว่า ใครมีปมด้อยเรื่องใดแล้ว ไม่ควรชมคนอื่นที่มีปมเด่นต่อหน้า เช่น ชมคนผมดกต่อหน้าคนผมน้อย ฯลฯ การชมอย่างนี้อาจทำให้เกิดการอิจฉาริษยา หรือการทะเลาะวิวาทในภายหลังได้เช่นกัน

          • (2). ชมบุญใหม่ให้มากกว่าบุญเก่า...

          การชมบุญเก่า หรือผลของบุญในอดีต เช่น ชมคนรูปงาม ชมคนรวย ชมคนมีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ฯลฯ ไม่เป็นปัจจัยให้คนทำดีเท่ากับการชมบุญใหม่ หรือการทำดีในปัจจุบัน

          • (3). ชมต่อหน้า และลับหลัง...

          การชมต่อหน้าทำให้แช่มชื่น เปรียบเหมือนให้น้ำมื้อใหญ่กลางทะเลทราย การชมลับหลังทำให้แช่มชื่นยิ่งขึ้นไป เปรียบเหมือนให้โอเอซิส (แอ่งน้ำพร้อมพืชพันธุ์)

          • (4). ชมให้ทั่ว...

          คำชมเปรียบเหมือนฝน... ถ้าตกไม่ทั่วฟ้าย่อมไม่ยังแผ่นดินให้ชุ่มฉ่ำ ผู้บริหารควรชมให้ได้ทั้งคนที่รัก คนที่ชัง และคนปานกลาง ไม่ว่าใครก็ควรชมให้ได้... ถ้าทำดี

          • การชมคนเลวนั้น... บางทีผู้บริหารก็ต้องชมให้ได้ เพราะแม้คนเลวมากก็มักจะมีอะไร "ดี" อยู่บ้าง เช่น โจรปล้นแผ่นดินอาจจะเลี้ยงดูบุตรภรรยาดี ฯลฯ

          แม้เราจะชิงชังโจรปล้นแผ่นดินก็ควรชมเขาในส่วนดี เช่น ชมว่า เอาใจใส่ครอบครัวดี ฯลฯ แต่ไม่ควรชมส่วนเลวของเขา

          • (4). ชมทีละน้อย บ่อยๆ...

          นักร้องลูกทุ่งท่านหนึ่ง (ไม่ได้ฟังเพลงของท่าน ทว่า... ได้ยินว่า เจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งร้องเพลงนี้) บอกแฟนเพลงให้... "รักน้อยๆ แต่รักนานๆ"... การชมทีละน้อย บ่อยๆ ดูจะดีกว่าชมทีละมาก หนักๆ

          • เปรียบเหมือน "น้ำ" ที่ดีกับสุขภาพ... ดื่มทีละน้อยๆ บ่อยๆ นั้นดี

          ทว่า... การดื่มน้ำมากเกินก็อาจทำให้เกิดอันตราย ดังปรากฏในนักวิ่งมาราธอนที่ดื่มน้ำมาก ทำให้ความเข้มข้นของเกลือในเลือดต่ำ (hyponatremia) สมองบวมได้

          • น้ำฝนให้ความแช่มชื่นกับแผ่นดิน เพราะหยาดลงมาทีละน้อย พายุ... หยาดลงมามากเกิน เลยเกิดความเสียหาย
          • น้ำตาล... ชื่อว่าหวาน ทว่า... ถ้ามากไปก็เอียน

          ผู้บริหารควรหัดชมให้เหมือนน้ำฝนหยาดน้อยๆ ด้วยความหวาน "พอประมาณ"...

          • (5). ชมทุกวัน...

          ผู้บริหารเปรียบเหมือน "ไฟ"... ใกล้นักก็ร้อน ไกลหน่อยก็หนาว

          • ผู้บริหารควรฝึกเจริญเมตตา หรือการมองโลกในแง่ดี เพื่อเสริมพระคุณ ไม่ใช่พระเดช (อำนาจ)

            อำนาจนั้นดูเหมือนเบา...

          • เริ่มแรก... ทำให้อิ่มเอิบ
          • ต่อมา... ทำให้พอง
          • นานวัน... ทำให้พองขึ้น
          • นานขึ้นอีก... ทำให้พองจนเกือบลอย (ทว่า... ไม่ลอย เพราะแผ่นดินบ่นว่า "หนัก")
          • วันหนึ่ง... ความพองนั้นก็แตกออก
          • และแล้ว... อำนาจก็ไหลไป ไปทำให้คนอื่นอิ่มเอิบบ้าง

            ผู้บริหารเจริญเมตตา หรือทำพระคุณให้งอกงามได้โดยการฝึกชมเป็นประจำ...

          • ขั้นแรกชมคนอื่นให้ได้วันละครั้ง
          • ต่อไปค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนถึงชั่วโมงละครั้ง หรือยิ่งกว่านั้น

            คนระดับต่ำกว่า หรือระดับเดียวกัน... ชมกันมักจะมีอานุภาพไม่มาก ทว่า... ผู้หลักผู้ใหญ่ชมมักจะมีอานุภาพมาก ทำให้คลื่นของการทำดีแผ่ออกไปอย่างรวดเร็ว

          • ถ้าจะมีคำกล่าวว่า "คำชมของผู้บริหารทำให้เกิดการแตกความสามัคคี" ก็ควรทำใจให้ตั้งอยู่ในพรหมวิหารคือ "อุเบกขา"...

        ทำใจว่า....

          • (1). เราจักบริหาร จักปกครอง เพื่อความผาสุก และความอยู่สบายของมหาชน โดยเฉพาะคนทำดี บัดนี้... เราได้ทำกิจของเราดีแล้ว
            (2). เราจักบริหาร จักปกครอง โดยถือความดี การทำดี และคนดีเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ถือคนเลวเป็นที่ตั้ง...

            ธรรมดากบ เขียด (คนเลว มักมาก มีอิจฉาริษยาเป็นเจ้าเรือน) ถึงฤดูกาลจักร้อง เราจะทำอะไรกับกบและเขียดได้...

          • เราไม่เคยรับปากกับกบ เขียดทั้งหลายนี่... ว่า เราจักบริหาร จักปกครองเพื่อกบ เขียด
          • เรารับปากกับความดี และคนทำดีว่า เราจักบริหาร จักปกครองเพื่อความดี และคนทำดี

            เพราะฉะนั้น...

        • เราจะกล่าวคำจริง จะไม่กล่าวคำเท็จ
        • เราจะชื่นชมคนทำดี จะไม่ชื่นชมคนทำเลว
        • เราจะแสดงความชื่นชมให้คนทำดีแช่มชื่น... เหมือนฝนโปรยปราย และเหมือนน้ำผุดออกจากโอเอซิส

        ผู้เขียนขอจบด้วยคำถามที่ถามเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลในการอบรมพัฒนาบุคลากร วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๐ เหมือนกันว่า

        • "วันนี้ท่านชมใครแล้วหรือยัง…"

            แหล่งที่มา:

        • วัลลภ พรเรืองวงศ์. ข้อคิดเห็น ใน: มาลินี ธนารุณ. บริหารการชื่นชมคนทำดีได้อย่างไร? 25 มกราคม 2550. > [ โปรดคลิกที่นี่ - Click ] หรือที่นี่... http://gotoknow.org/blog/officekm/74210 
        • วัลลภ พรเรืองวงศ์. การบริหารงานให้มีประสิทธิภาพ. บรรยายให้เจ้าหน้าที่ศูนย์มะเร็งลำปางในการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากร. โรงแรมเวียงคำ เชียงราย. 22 มกราคม 2550.
        หมายเลขบันทึก: 74323เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2007 12:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


        ความเห็น (20)
        ขอบพระคุณค่ะคุณหมอ ขออนุญาตนำไปเผยแพร่แก่สมาชิกนะคะ

        ขอขอบคุณอาจารย์ DSS@msu (หนิง) และท่านผู้อ่านทุกท่าน...

        • ขอขอบคุณที่กรุณาให้เกียรติอ่าน และแวะมาเยี่ยมเยียน
        • ดีใจมากครับที่มีท่านผู้สนใจนำไปเผยแพร่

        ถ้าพวกเราช่วยกันชื่นชมคนทำดี... จะมีส่วนส่งเสริมให้คนทำดีกันอย่างกว้างขวางทีเดียว

        • ขอขอบคุณครับ...

             จะเตือนตนเองครับว่า "วันนี้ท่านชมใครแล้วหรือยัง…"

             และจะนำหลักการชมชองคุณหมอไปฝึกปฏิบัติในการชมครับที่ว่า

        • เราจะกล่าวคำจริง จะไม่กล่าวคำเท็จ
        • เราจะชื่นชมคนทำดี จะไม่ชื่นชมคนทำเลว
        • เราจะแสดงความชื่นชมให้คนทำดีแช่มชื่น... เหมือนฝนโปรยปราย และเหมือนน้ำผุดออกจากโอเอซิส

             ขอบพระคุณคุณหมอวัลลภมากครับ

        ตามมาชื่นชมอาจารย์ถึงที่อีกทีค่ะ เพราะประทับใจที่อาจารย์อธิบายขยายความได้อย่างแจ่มแจ้ง ทั้งช่วยให้เข้าใจ ทั้งช่วยให้สบายใจ...  : )  : )
        ร่วมแสดงเจตจำนงรับปากกับความดี   ครับผม

        ขอบคุณ แนวความคิดดี ๆ ของอาจารย์หมอวัลลภ มาก ๆ ค่ะ

         

        • มาชื่นชมคุณหมอและชื่นชมตัวเองที่ได้อ่านเรื่องดีๆครับผม

        ขอขอบคุณอาจารย์สิงห์ป่าสัก และท่านผู้อ่านทุกท่าน...

        • ขอขอบพระคุณที่กรุณาให้เกียรติอ่าน และแวะมาเยี่ยมเยียนครับ
        • ขออนุโมทนาในกุศลเจตนาของอาจารย์ที่จะบำเพ็ญบุญด้วยการแสดงความชื่นชม

        พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่อง "ความตระหนี่" หรือ "มัจฉริยะ"...

        • ความตระหนี่ประการหนึ่งคือ การตระหนี่คำชม หรือ "วัณณมัจฉริยะ"
        • "วัณณะ" หมายถึง รูปร่าง
        • "มัจฉริยะ" หมายถึง ความตระหนี่ (ขี้เหนียว)

        วัณณมัจฉริยะ...

        • วัณณมัจฉริยะเป็นไปในบุญเก่าก็ได้... บุญเก่าเป็นปัจจัยให้คนบางคนมีรูปงาม มีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เกิดในตระกูลสูง ฯลฯ
        • ความตระหนี่ที่จะไม่สรรเสริญบุญเก่าคนอื่น เช่น เห็นใครหล่อ หรือสวยกว่า > ทนไม่ได้ > อิจฉาริษยา หรือบ่อนทำลาย ไม่สรรเสริญบุญเก่าตามจริง
        • เช่น พบเห็นคนอื่นได้ดี ได้ 2 ขั้น ได้เป็นศาสตราจารย์ ได้เป็นอาจารย์ขั้นสูงแล้ว... ทนไม่ได้ ยินดีในความสำเร็จของคนอื่นไม่ได้ กล่าวชมเขาตามจริงไม่ได้

        วัณณมัจฉริยะ...

        • วัณณมัจฉริยะเป็นไปในบุญใหม่ หรือการทำดีในปัจจุบันก็ได้ เช่น เห็นเด็กนักเรียนทิ้งขยะเป็นที่เป็นทาง ฯลฯ น่าจะชม แต่ไม่ชม (มักจะพบในคนที่ชำนาญทางติเตียน)
        • วิธีขัดเกลาความตระหนี่แบบนี้ เช่น ถ้าเห็นใครแต่งกายดีเหมาะสมก็ชมได้ว่า วันนี้แต่งกายดี เป็นต้น
        • ชมเรื่องแต่งกายเหมาะสม (บุญใหม่ / การทำดี)ง่ายกว่าชมรูปงาม (บุญเก่า ) เพราะใครๆ ก็ทำดีได้ แม้จะมีรูปงามไม่ได้ทุกคน

        ครูบาอาจารย์...

        • ครูบาอาจารย์เป็นอาชีพที่มีโอกาสทำบุญในการแสดงความชื่นชม (appreciation) มากที่สุด
        • ถ้าครูบาอาจารย์ช่วยกันชมการทำดี ชมการกระทำให้มากกว่าบุคคลแล้ว... สังคมไทยจะก้าวไปไกล และยั่งยืนครับ

        ขอขอบพระคุณ...

        ขอขอบพระคุณอาจารย์มาลินี...

        • ขอขอบพระคุณที่กรุณาให้เกียรติอ่าน และแวะมาเยี่ยมเยียน

        บันทึกของอาจารย์จุดประกายเรื่องนี้ได้ดี ทำให้ได้ข้อคิด (ไอเดีย) ว่า น่าจะนำเรื่องที่ผมบรรยายให้เจ้าหน้าที่ศูนย์มะเร็งลำปางฟังที่เชียงราย (22 มกราคม 50 ที่โรงแรมเวียงคำ) มาเรียบเรียงใหม่

        • ขอขอบพระคุณครับ...
        วันนี้ชมตัวเองในใจแล้วค่ะ....ว่า...."คนดีจ๊ะ....วันนี้ขอให้ทำแต่สิ่งดีๆ...นะจ๊ะ..."  ขอบคุณอาจารย์ค่ะ...

        ขอขอบพระคุณอาจารย์เม็กดำ1 และท่านผู้อ่านทุกท่าน...

        • ขอขอบพระคณที่กรุณาให้เกียรติอ่านบันทึก และแวะมาเยี่ยมเยียน
        • ขออนุโมทนาในกุศลเจตนาของท่านอาจารย์ที่จะแสดงความชื่นชมคนดี และการทำดี (อนุโมทนา + สาธุการ)

        การแสดงความชื่นชม...

        • ท่านที่พูดไม่เก่งจะเริ่มด้วยคำง่ายๆ ก็ได้ เช่น สาธุ สาธุ สาธุ (ธรรมเนียมในพระพุทธศาสนาให้กล่าว 3 ครั้ง เพื่อแสดงเจตนาว่า หนักแน่น)
        • หรือจะกล่าวว่า "ดี ดี ดีแล้ว" หรือ "ดี ดี ดีมาก" ก็ได้ครับ

        คำชมของครูบาอาจารย์...

        • คำชมของพ่อแม่สร้างลูกที่ดี
        • คำชมของครูสร้างลูกศิษย์ที่ดี

        ผมนึกถึงคำสอนของท่านอาจารย์หมอบุญนำ จิตแพทย์โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้...

        • ท่านเขียนไว้ในจุลสารนักศึกษา ประมาณปี 2525 ว่า
        • "พ่อแม่ที่ดีสร้างลูกที่ดี ลูกที่ดีสร้างพ่อแม่ที่ดี"

        กล่าวคือ...

        • ความประพฤติที่ดีงามของคนใกล้ชิดมีส่วนสำคัญในการสร้างขวัญ กำลังใจ และเพิ่มศักยภาพให้คนรอบข้าง
        • เช่น ลูกดีๆ น่ารัก พอเห็นพ่อแม่กลับจากทำงาน เตรียมน้ำให้ ไหว้หรือกราบพ่อแม่ ยิ้มแย้ม ทักทาย...
        • เช่น ลูกดีๆ น่ารัก พ่อแม่ให้อะไรก็ไหว้หรือกราบ ยิ้มแย้ม แสดงความขอบพระคุณ...
        • อย่างนี้พ่อแม่คงหายเหนื่อย
        • หรือพ่อแม่เห็นลูกทำอะไรดีแล้วชมทันที กอดจูบลูบหลังหน่อย...
        • อย่างนี้ลูกคงโตไปเป็นคนดีได้

        สังคมไทย....

        • สังคมไทยเราชอบยกย่อง "คนได้ดี" หรือยกย่องบุญเก่า เช่น รูปร่าง หน้าตา ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ฯลฯ
        • ถ้าเราจะช่วยกัน ทำให้สังคมไทยก้าวไปไกลยิ่งขึ้น...
        • เราควรสนับสนุน "คนทำดี" หรือ "คนดีได้ (มีศักยภาพที่จะเป็นคนเก่งและดี)" ให้ "ได้ดี"...
        • ยกย่องบุญใหม่ (การทำดี) ให้มากกว่าบุญเก่า (การได้ดี)...

        ขอขอบพระคุณ...

        ขอขอบคุณ คุณมะปรางเปรี้ยวและท่านผู้อ่านทุกท่าน...

        • ขอขอบคุณที่กรุณาให้เกียรติติดตามอ่านบันทึก และแวะมาเยี่ยมเยียน
        • ช่วยกันแสดงความชื่นชมตัวเรา (เงียบๆ - ในใจ) และแสดงความชื่นชมคนอื่น (ดังๆ - เป็นคำพูด หรือตัวอักษร) บ่อยๆ ครับ... เพื่อสังคมไทยจะได้มีเมตตา ปรารถนาดีกัน

        ขอขอบคุณครับ...

        • วันนี้ขอชื่นชมอาจารย์หมอในการเขียนบันทึกที่นำแต่เรื่องราวดี ๆ มาแบ่งปันเสมอ ๆ ค่ะ (เป็นอนุโมทนาทานด้วยใช่ไหมคะ )
        • หนูชอบข้อความนี้มากค่ะ

          ผู้บริหารเปรียบเหมือน "ไฟ"... ใกล้นักก็ร้อน ไกลหน่อยก็หนาว

          • ผู้บริหารควรฝึกเจริญเมตตา หรือการมองโลกในแง่ดี เพื่อเสริมพระคุณ ไม่ใช่พระเดช (อำนาจ)
        • อยากให้ผู้บริหารได้อ่านบันทึกนี้บ้างค่ะ

        ขอขอบคุณอาจารย์ขจิต และท่านผู้อ่านทุกท่าน...

        • ขอขอบพระคุณที่กรุณาให้เกียรติอ่านบันทึก และแวะมาเยี่ยมเยียน...
        • ขอแสดงความยินดีที่อาจารย์ทำดีมาเป็นเวลานาน... นี่เป็นอุปนิสัยสำคัญที่จะทำให้อาจารย์แสดงความชื่นชมได้ดี ทั้งต่อตัวเอง และคนรอบข้าง สาธุ สาธุ สาธุ

        ขอขอบคุณครับ...

        ขอขอบคุณอาจารย์เมตตา และท่านผู้อ่านทุกท่าน...

        • ขอขอบพระคุณที่กรุณาให้เกียรติอ่านบันทึก และแวะมาเยี่ยมเยียน...
        • ขอแสดงความยินดีที่อาจารย์ทำอะไรดีๆ ไว้มาก เลยชื่นชมตัวเองได้สนิทใจ สาธุ สาธุ สาธุ

        ขอขอบคุณครับ...

        ขอขอบคุณอาจารย์อ้อ-สุชานาถและท่านผู้อ่านทุกท่าน...

        • ผู้บริหารเปรียบเหมือน "ไฟ"...
        • ใกล้ก็ร้อน ไกลก็หนาว

        ทว่า... ไฟทั้งหลาย ร้อนมากก็มี อุ่นพอสบายก็มี

        • ตัวอย่างไฟที่ร้อน... เราคงทราบกันดี ไม่จำต้องกล่าวอีก
        • ตัวอย่างไฟที่เย็น... ได้ยินว่า แสงสว่างจากหิ่งห้อย "เย็น" กว่าไฟอื่นๆ (เข้าใจว่า มีสัดส่วนของรังสีอินฟราเรดน้อยกว่าไฟอื่นๆ)

        ผู้บริหารเอง... ก็ทำตัวให้ร่มเย็น เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร เป็นเสมือน "น้ำ" ที่ให้ความร่มเย็นได้

        • ถ้าผู้บริหารตั้งอยู่ในธรรม ดังเช่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวว่า "เราจะปกครองโดยธรรม (ทศพิธราชธรรม)"
        • ถ้าผู้บริหารเจริญเมตตา โดยเริ่มง่ายๆ ที่การแสดงความชื่นชมให้แผ่ไปเหมือนฝนที่โปรยปรายไปทั่วฟ้า

        ผู้บริหาร...

        • พาเรโต (Pareto = นักเศรษฐศาสตร์อิตาลีที่ตั้งข้อสังเกตว่า โลกเรามักจะมีอะไรๆ เป็นแบบ 80:20)
        • ตัวอย่างเช่น คนในองค์กร 20% มักจะทำงาน หรือสร้างมูลค่าเพิ่ม 80% ของงาน ฯลฯ ขณะที่คนที่เหลือ 80% มักจะทำงาน หรือสร้างมูลค่าเพิ่ม 20% ของงานทั้งหมด ฯลฯ
        • ผู้บริหารควรคล้อยตามกฎของพาเรโต  เสมอว่า เราจะติเตียน(ตามจริง เพื่อประโยชน์ และมีเมตตานำ) ไม่เกิน 20% เราจะชมให้เกิน 80%

        ผู้บริหาร...

        • ควรให้อำนาจ (ไฟ) ให้น้อย... อย่างมาก 20%
        • ควรใช้พระคุณ (น้ำ) ให้มาก... อย่างน้อย 80%

        ผู้บริหาร...

        • ควรใช้ "ลม(ปาก)" แสดงความชื่นชมให้มาก
        • ควรใช้ "ดิน(ความนิ่ง ความข่มใจ)" อดกลั้นความโกรธให้มาก

         ดิน น้ำ ลม ไฟ...

        • ผู้บริหารควรใช้ดิน น้ำ ลม ไฟอย่างสมดุล... 
        • เมื่อใช้ "ดิน(ความข่มใจ) น้ำ(เมตตา / พระคุณ) ไฟ(อำนาจ) และลม(ปากแสดงความชื่นชม)" ให้สมดุลแล้ว สังคมจะก้าวไปไกลและเร็ว...

        ขอขอบคุณครับ...

        ติดตาม blog ของอาจารย์เสมอ ชอบที่อาจารย์เขียนได้รับประโยชน์มากเลยครับ

        ขอขอบคุณคุณมานะชัยและท่านผู้อ่านทุกท่าน...

        • ขอขอบคุณที่ให้เกียรติอ่านบันทึก และแวะมาเยี่ยมเยียนครับ

        ผมเชื่อมั่นว่า ผู้เขียนบล็อกเกือบทุกคนคงรู้สึกดีใจที่มีคนอ่าน และแวะมาเยี่ยมเยียน... นี่เป็นขวัญ และกำลังใจของคนทำบล็อกทีเดียว

        • ขอให้พวกเรา (ทั้งท่านผู้อ่านและผู้เขียน) มีความสุข มีสุขภาพดี จะได้ทำอะไรดีๆ ไปนานๆ...

        ขอขอบคุณครับ...

        - อ่านแล้วรู้สึกอยากขอบพระคุณมาก ๆ เลยครับ

        - มีประโยชน์ และให้ข้อสรุป ข้อคิด กับผมมากจริง ๆ

        ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์วิบูลย์ และท่านผู้อ่านทุกท่าน...

        • ขอขอบพระคุณที่กรุณาให้เกียรติอ่านบันทึก และแวะมาเยี่ยมเยียน

        บันทึกใน "บ้านสาระ" และ "บ้านสุขภาพ" ได้รับความกรุณาจาก มน. มากเช่นเดียวกันครับ เพราะผมเริ่มเข้ามาบันทึกจากการแนะนำของท่าน รศ.มาลินี ธนารุณ

        • การได้ทราบว่า ท่านผู้อ่านได้รับประโยชน์จากบันทึกเป็นขวัญ และกำลังใจสำคัญสำหรับผู้เขียนมาก...

        ขอขอบพระคุณครับ...

        พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
        ClassStart
        ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
        ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
        ClassStart Books
        โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท