บริหารการชื่นชมคนทำดีได้อย่างไร ?


          คุณจุ๋ม (คุณภาวินี  บุตระ) นักวิชาการศึกษาของคณะสหเวชศาสตร์  ถามในที่ประชุมวันรวมพลคนเขียน Blog  ของ มน. เมื่อวานนี้ (วันที่ 23 ม.ค. 50) แบบซื่อๆ ทำนองว่า " การแสดงความชื่นชมกัน ตามวิธีของ KM เนี่ยนะคะ  เธอพบว่า บางทีก็ทำให้เกิดความน้อยใจกับคนที่ไม่ได้รับคำชมบ้าง หรือเกิดความไม่เห็นด้วยบ้าง ดังนั้น  วิธีนี้ หรือ KM นี่จะนับได้ว่าเป็นวิธีที่ดีจริงหรือ??"  เล่นเอาหลายคนในที่ประชุมตลึงจังงังกันไปทั่ว

          ดิฉันชอบมากค่ะ กับการแสดงความคิดเห็นแบบตรงๆ ของคุณจุ๋ม  (ความจริงดิฉันคุ้นเคยแล้ว เพราะโดนบ่อย) 

          คำถามแบบนี้  ดิฉันก็เคยได้ยินจากปากท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่งด้วยซ้ำ คือ คุณหมออัจฉรา  เชาวะวณิช  ผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร  ท่านเคยเล่าเหมือนกันว่า ท่านประสบกับ ผลเสียของการ ชื่นชมผู้ที่ทำดี คือ ความไม่พอใจ ไม่เห็นด้วย หรือความอิจฉา.....

          แล้วผู้บริหารจะทำอย่างไรดี ?

          ดิฉันก็อยากทราบเหมือนกัน.....

          ดูเหมือนหลายท่านก็ติดใจเรื่องนี้  คุณโอ (คุณรัตน์ทวี  อ่อนดีกุล) บันทึกไว้ใน Blog  ชื่อเรื่อง รายงาน (เกือบ) สด "เสวนารวมพลคนเขียน blog ครั้งที่ 1/2550"  อาจารย์ beeman  ก็บันทึกไว้ใน Blog  ชื่อเรื่อง  ของทุกอย่าง มีทั้งประโยชน์และโทษ    
 
          สำหรับดิฉัน ปัญหามันอยู่ที่ แล้วผู้บริหาร จะ บริหารการชื่นชมคนทำดีได้อย่างไร ? 

          ดิฉันพยายามศึกษาหาความรู้ในเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน ขอมิตรสหาย ช่วยขยายความให้กระจ่างหน่อยได้ไหมคะ  เพราะเอามาจากพระไตรปิฎก อ่านยาก เข้าใจยากจังเลยคะ

076 การตำหนิและการยกยอ

ปัญหา

พระพุทธองค์ทรงแสดงหลักในการตำหนิ หรือให้การยกยอบุคคลอื่นไว้อย่างไรหรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ

ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงรู้การยกยอและการตำหนิ ครั้นรู้แล้ว ไม่พึงยกยอ ไม่พึงตำหนิ พึงแสดงแต่ธรรมเท่านั้น นั่นเราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ?

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไร เป็นการยกยอ เป็นการตำหนิ และไม่เป็นการแสดงธรรม ? คือ เมื่อกล่าวว่า ชนเหล่าใด กระทำการประกอบเนือง ๆ ซึ่งโสมนัสของคนที่มีความสุขสืบเนื่องมาแต่กามอันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ชนเหล่านั้นทั้งหมด มีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติผิด ดังนี้  ชื่อว่าตำหนิชนพวกหนึ่ง

“เมื่อกล่าวว่า ชนเหล่าใด ไม่กระทำการประกอบเนือง ๆ ซึ่งโสมนัสของคนที่มีความสุขสืบเนื่องมาแต่กามอันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ชนเหล่านั้นทั้งหมด ไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติชอบดังนี้ ชื่อว่ายกยอคนพวกหนึ่ง

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แลเป็นการยกยอ เป็นการตำหนิ และไม่เป็นการแสดงธรรม

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไร ไม่เป็นการยกยอ ไม่เป็นการตำหนิ เป็นการแสดงธรรมแท้ ? คือ ไม่กล่าวอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใดกระทำการประกอบเนือง ๆ ซึ่งโสมนัส...... ชนเหล่านั้นทั้งหมดมีทุกข์...... กล่าวอยู่ว่า อันความตามประกอบนี้แล เป็นธรรมมีทุกข์..... ดังนี้ เชื่อว่าแสดงแต่ธรรมเท่านั้น

“ไม่กล่าวอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใดไม่กระทำการตามประกอบเนือง ๆ ซึ่งโสมนัส ของคนที่มีความสุขสืบเนื่องมาแต่กาม..... ชนเหล่านั้นทั้งหมด ไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อนใจ เป็นผู้ปฏิบัติชอบ..... อย่างนี้แล ไม่เป็นการยกยอ ไม่เป็นการตำหนิ เป็นการแสดงธรรมแท้.....


อรณวิภังคสูตร อุ. ม. (๖๕๗-๖๕๘)
ตบ. ๑๔ : ๔๒๕-๔๒๗ ตท. ๑๔ : ๓๖๒-๓๖๔
ตอ. MLS. III : ๒๗๙-๒๘๐

 

คำสำคัญ (Tags): #การชม#การตำหนิ
หมายเลขบันทึก: 74210เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2007 19:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
  • เป็นคำถามที่น่าตั้งวงคุยกันครับ
  • การชื่นชมคนทำความดี  สำหรับผู้บริหารต้องระมัดระวัง แต้ต้องไม่ลังเล
  • คนทำดีต้องได้รับการชื่นชม  ครับ

- KM ช่วยให้งานได้ผล คนเป็นสุข (ที่เห็นงานสำเร็จ) เห็นจะไม่พอ

- งานที่ว่าได้ผลนั้น ต้องเป็นงานที่มีจุดมุ่งหมายที่ดีงาม ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ทำให้คนส่วนใหญ่เป็นสุขร่วมกัน ไม่ทำให้คนดีหรือสุจริตชนเดือดร้อน (คนขี้อิจฉานั้น ผมไม่แน่ใจว่าจะจัดอยู่ในกลุ่มคนดีนี้ได้หรือไม่)

- KM ที่ใช้ช่วยให้งานที่มีจุดมุ่งหมายไม่ดีสำเร็จนั้น ไม่ใช่ KM  น่าจะเรียกเป็นอย่างอื่น

- ของทุกอย่างมีทั้งคุณและโทษ ขึ้นกับผู้ใช้ และจุดมุ่งหมายในการใช้

- ทำอะไรลงไปย่อมมีทั้งผลทางตรง และทางอ้อม (side effects) เสมอ (action = reaction) การชื่นชมคนทำดีก็เช่นกัน อาจทำให้เกิดการอิจฉากันจนเกิดความแตกแยก และยิ่งถ้าไปชื่นชมคนผิดยิ่งแย่เข้าไปใหญ่

- การจะลดผลข้างเคียงให้เหลือน้อยที่สุดน่าจะเป็นเรื่องของกาละ เทศะ (time and space) ว่าตอนไหนควร ตอนไหนไม่ควร ควรดูด้วยว่าทุกอย่างสุกงอมดีแล้วหรือยัง ก่อนลงมือทำอะไรจึงควรต้องทำ BAR ไงละครับ

เข้ามาเก็บเกี่ยวค่ะอาจารย์

ขอบพระคุณค่ะ 

- รวมพลคนเขียน Blog  ของ มน. ความจริงไม่น่าพลาดงานนี้เลยจริงๆค่ะ  จะจัดอีกไหมคะ  อยู่ในช่วงเรียนรู้การเขียนblogค่ะ  คิดว่ามีประโยชน์มากเลยค่ะ เป็นเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ดี     

เรื่องการกล่าวชื่นชม  คิดว่าคนทำดีควรได้รับคำชมค่ะ ทำดีทำยากค่ะ ถึงจะชมผิดคนไปบ้างก็ดีกว่าตำหนิผิดคนค่ะ   

 

คนทำดีควรชมเชยในที่สาธารณะ แต่คนทำผิดควรติคนนั้นในที่ลับตา

เห็นด้วยกับอ. เริงวิทย์ บุญโยมครับ ในเรื่องของชมผู้ทำดีต่อหน้าผู้อื่น เพราะจะทำให้เป็นแบบอย่างอยากจะทำตาม และได้รับคำชมอย่างผู้ที่ถูกชม แต่ส่วนผู้ที่ทำผิดควรจะตำหนิในที่ลับตาครับเพราะว่าคนทำผิดพลาดในความจริงแล้วก็ต้องรู้สึกอับอาย หรือรู้สึกไม่ดีอยู่แล้ว และยิ่งถ้าตำหนิต่อหน้าผู้อื่นๆ อีกก็จะทำให้เกิดความเสียหน้า ท้อใจหรือที่ร้ายที่สุดก็จะรู้สึกมีฐิฑิต่อผู้ที่ตำหนิเพราะเป็นเหมือนการประจาน ขอบคุณครับ

ขอขอบคุณอาจารย์มาลินี...

  • การชื่นชมคนดี (appreciation) มักจะพบในสังคมที่พัฒนาแล้ว หรือกำลังพัฒนา... พบน้อยในสังคมที่ไม่พัฒนา หรือไม่ขวนขวายพัฒนา

การชื่นชมคนดี...

  • (1). ถ้าชมคนอื่นเป็นบุญกิริยาวัตถุ... หมวดทาน กล่าวคือ เป็นอนุโมทนาทาน (ทานอันเนื่องจากการแสดงความยินดีในการทำดีของผู้อื่น)
  • (2). ถ้าชมคนอื่น... ควรชมทั้งต่อหน้า และลับหลัง ชมต่อหน้าทำให้เกิดความแช่มชื่นใจ เปรียบเหมือนได้น้ำเย็นกลางทะเลทราย ชมลับหลังทำให้เกิดความแช่มชื่นใจยิ่งขึ้น เปรียบเหมือนได้โอเอซิส (ossis = แอ่งน้ำผุด มักจะมีพืชพันธุ์ร่มรื่น) กลางทะเลทราย
  • (3). ถ้าชมตัวเอง... ควรชมในใจ เนื่องจากการชมตัวเองให้คนอื่นได้ยินใกล้ต่อกิเลสสายมักมาก (โลภะ / ปรารถนาลาภ สักการะ) ดังคำกล่าวที่ว่า "ไม่มีใครยกหาง อย่ายกหางตัวเอง"
  • (4). การชมตัวเองเป็นบุญกิริยาวัตถุ หมวดภาวนา... ถ้าพิจารณาว่า เราให้ทานมามากแล้ว เป็นจานานุสสติ ถ้าพิจารณาว่า เรารักษาศีล (วิรัติศีล / ข้อพึงงดเว้น) และมีความประพฤติดี (จารีตศีล / ข้อควรทำ) เป็นสีลานุสสติ...

การพิจารณาศีลมักจะเป็นอุปนิสัยปัจจัย ทำให้พระภิกษุ สามเณรเกิดความแช่มชื่น ปีติ โสมนัส จนบรรลุมรรค ผล นิพพาน...

  • กล่าวสรุปคือ
    (1). ถ้าชมคนอื่น... ให้ชมทั้งต่อหน้า และลับหลัง (การชมลับหลังให้สะท้อนไปจนถึงเจ้าตัวจะทำให้เกิดความแช่มชื่นยิ่งกว่า... เปรียบเหมือนให้โอเอซิสย่อมแช่มชื่นนานกว่าให้น้ำ 1 มื้อ)
    (2). ถ้าชมตัวเอง... ชมในใจพอแล้ว อย่าชมออกนอกหน้า คนอื่นจะว่าได้ว่า มักมาก หรือยกหางตัวเอง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในพระวินัยปิฎกถึงการกล่าวตักเตือนผู้อื่นว่า...

  1. เป็นผู้รู้วินัย... รู้ว่า อะไรควร(สมควร) อะไรไม่ควร(สมควร)
  2. ตั้งจิตประกอบด้วยเมตตา... ปรารถนาดีแล้วจึงกล่าว ยังไม่ปรารถนาดีไม่ควรกล่าว
  3. กล่าวคำจริง... กล่าวแต่เรื่องจริง ไม่กล่าวเรื่องเท็จ (ไม่จริง)
  4. กล่าวด้วยถ้อยคำสุภาพ... เป็นคำของชาวเมือง ไม่กล่าวคำหยาบคาย กระด้าง
  5. ขอโอกาส... หรือขออนุญาตชี้แจงก่อนกล่าว ยกเว้นพระอุปัชฌาย์ (พระที่บวชให้) หรือพระอาจารย์ (ครูบาอาจารย์)

ผู้บริหารควรชื่นชมคนทำดีอย่างไร...

  • (1). ชมการทำดี (การกระทำ - action) ให้มากกว่าคนทำดี (บุคคล - people)...

การชมบุคคลใดบุคคลหนึ่งมากเกินอาจทำให้ทีมงานแตกสามัคคีกันได้ เปรียบเหมือนคำกล่าวที่ว่า "ถ้าอยากให้สุนัขกัดกัน... ให้โยนชิ้นเนื้อ(เข้าไป)" ส่วนการชมการทำดีนั้นเป็นสากล เพราะความดีนั้น... ใครๆ ก็ทำได้ (ถ้าตั้งใจทำ)

  • (2). ชมบุญใหม่ให้มากกว่าบุญเก่า...

การชมบุญเก่า หรือผลของบุญในอดีต เช่น ชมคนรูปงาม ชมคนรวย ชมคนมีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ฯลฯ ไม่เป็นปัจจัยให้คนทำดีเท่ากับการชมบุญใหม่ หรือการทำดีในปัจจุบัน

  • (3). ชมต่อหน้า และลับหลัง...

การชมต่อหน้าทำให้แช่มชื่น เปรียบเหมือนให้น้ำมื้อใหญ่กลางทะเลทราย การชมลับหลังทำให้แช่มชื่นยิ่งขึ้นไป เปรียบเหมือนให้โอเอซิส (แอ่งน้ำพร้อมพืชพันธุ์)

  • (3). ชมให้ทั่ว...

คำชมเปรียบเหมือนฝน... ถ้าตกไม่ทั่วฟ้าย่อมไม่ยังแผ่นดินให้ชุ่มฉ่ำ ผู้บริหารควรชมให้ได้ทั้งคนที่รัก คนที่ชัง และคนปานกลาง ไม่ว่าใครก็ควรชมให้ได้... ถ้าทำดี

  • การชมคนเลวนั้น... บางทีผู้บริหารก็ต้องชมให้ได้ เพราะแม้คนเลวมากก็มักจะมีอะไร "ดี" อยู่บ้าง เช่น โจรปล้นแผ่นดินอาจจะเลี้ยงดูบุตรภรรยาดี ฯลฯ

แม้เราจะชิงชังโจรปล้นแผ่นดินก็ควรชมเขาในส่วนดี เช่น ชมว่า เอาใจใส่ครอบครัวดี ฯลฯ แต่ไม่ควรชมส่วนเลวของเขา

  • (4). ชมทีละน้อย บ่อยๆ...

เพลงลูกทุ่งเพลงหนึ่งบอกแฟนเพลงให้... "รักน้อยๆ แต่รักนานๆ"... การชมทีละน้อย บ่อยๆ ดูจะดีกว่าชมทีละมาก หนักๆ

  • เปรียบเหมือน "น้ำ" ที่ดีกับสุขภาพ... ดื่มทีละน้อยๆ บ่อยๆ นั้นดี

ทว่า... การดื่มน้ำมากเกินก็อาจทำให้เกิดอันตราย ดังปรากฏในนักวิ่งมาราธอนที่ดื่มน้ำมาก ทำให้ความเข้มข้นของเกลือในเลือดต่ำ (hyponatremia) สมองบวมได้

  • น้ำฝนให้ความแช่มชื่นกับแผ่นดิน เพราะหยาดลงมาทีละน้อย พายุ... หยาดลงมามากเกิน เลยเกิดความเสียหาย
  • น้ำตาล... ชื่อว่าหวาน ทว่า... ถ้ามากไปก็เอียน

ผู้บริหารควรหัดชมให้เหมือนน้ำฝนหยาดน้อยๆ ด้วยความหวาน "พอประมาณ"...

  • (5). ชมทุกวัน...

ผู้บริหารเปรียบเหมือน "ไฟ"... ใกล้นักก็ร้อน ไกลหน่อยก็หนาว

  • ผู้บริหารควรฝึกเจริญเมตตา หรือการมองโลกในแง่ดี เพื่อเสริมพระคุณ ไม่ใช่พระเดช (อำนาจ)

อำนาจนั้นเบา...

  • เริ่มแรก... ทำให้อิ่มเอิบ
  • ต่อมา... ทำให้พอง
  • นานวัน... ทำให้พองขึ้น
  • นานขึ้นอีก... ทำให้พองจนเกือบลอย (ทว่า... ไม่ลอย เพราะแผ่นดินบ่นว่า "หนัก")
  • วันหนึ่ง... ความพองนั้นก็แตกออก
  • และแล้ว... อำนาจก็ไหลไป ไปทำให้คนอื่นอิ่มเอิบบ้าง

ผู้บริหารเจริญเมตตา หรือทำพระคุณให้งอกงามได้โดยการฝึกชมเป็นประจำ...

  • ขั้นแรกชมคนอื่นให้ได้วันละครั้ง
  • ต่อไปค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนถึงชั่วโมงละครั้ง หรือยิ่งกว่านั้น

คนระดับต่ำกว่า หรือระดับเดียวกัน... ชมกันมักจะมีอานุภาพไม่มาก ทว่า... ผู้หลักผู้ใหญ่ชมมักจะมีอานุภาพมาก ทำให้คลื่นของการทำดีแผ่ออกไปอย่างรวดเร็ว

  • ถ้าจะมีคำกล่าวว่า "คำชมของผู้บริหารทำให้เกิดการแตกความสามัคคี" ก็ควรทำใจให้ตั้งอยู่ในพรหมวิหารคือ "อุเบกขา"...
  • ทำใจว่า....
    (1). เราจักบริหาร จักปกครอง เพื่อความผาสุก และความอยู่สบายของมหาชน โดยเฉพาะคนทำดี บัดนี้... เราได้ทำกิจของเราดีแล้ว
    (2). เราจักบริหาร จักปกครอง โดยถือความดี การทำดี และคนดีเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ถือคนเลวเป็นที่ตั้ง...

ธรรมดากบ เขียด (คนเลว มักมาก มีอิจฉาริษยาเป็นเจ้าเรือน) ถึงฤดูกาลจักร้อง เราจะทำอะไรกับกบและเขียดได้...

  • เราไม่เคยรับปากกับกบ เขียดทั้งหลายนี่... ว่า เราจักบริหาร จักปกครองเพื่อกบ เขียด
  • เรารับปากกับความดี และคนทำดีว่า เราจักบริหาร จักปกครองเพื่อความดี และคนทำดี

เพราะฉะนั้น...

  • เราจะกล่าวคำจริง จะไม่กล่าวคำเท็จ
  • เราจะชื่นชมคนทำดี จะไม่ชื่นชมคนทำเลว
  • เราจะแสดงความชื่นชมให้คนทำดีแช่มชื่น... เหมือนฝนโปรยปราย และเหมือนน้ำผุดออกจากโอเอซิส

 

เรียน อาจารย์มาลินี...

  • ลำดับเลขผิดพลาดไปหน่อยหนึ่ง... ขออภัยครับ

ขอบพระคุณค่ะคุณหมอP ขอเก็บเกี่ยวเลยนะคะ

ทุกๆข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่หลั่งไหล เสมือนฝนโปรยปราย และน้ำผุดออกจากโอเอซิส แก่คนที่อยู่กลางทะเลทรายเช่นดิฉัน ขอขอบพระคุณกัลยาณมิตร ที่รักและนับถือทุกๆ ท่าน ด้วยความจริงใจ
P 
P 
P 
P 
ไม่มีรูป 
P 
P
รู้สึกว่าเป็นหัวข้อที่คนให้ความสนใจมาก  เพราะเรื่องนี้ก็มีความคิดที่หลากหลาย  ถือว่าคุณจุ๋มได้จุดประเด็นความสนใจคนทั้งมน.ทีเดียว  ทุกอย่างถือว่ามีดาบสองคมทั้งนั้น  การมองแต่ด้านดีเพียงอย่างเดียว  ไม่มองถึงข้อเสียหรือความผิดพลาดที่อาจเกิด  อาจทำให้งานล้มเหลวได้  ถ้ามีคนกระตุกบ้างก็จะทำให้ฉุกคิด และสามารถป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้  รู้สึกได้รับความรู้มากขึ้น  และคิดว่าการกระทำสิ่งใดด้วยจิตมีเมตตาจะทำให้คลื่นเมตตาขยายไปมากขึ้น  ถ้าเรามีเมตตาให้ทุกคนได้ก็จะดึงดูดสิ่งดี ๆ เข้าหาคณะ    แต่ถ้าเมื่อไหร่เป็นความเมตตาโดยมีจุดประสงค์แอบแฝง  เป็นน้ำผึ้งผสมยาพิษ  ก็ย่อมทำให้เกิดโทษได้  มองทุกอย่าง 360 องศา  ก็เป็นประโยชน์ดี   จริง ๆ แล้วมีนิทานก่อนนอนมาเล่าให้ฟัง  แต่เอาไว้สัปดาห์หน้าแล้วกันค่ะ
สาธุ อ่านแล้วยังไม่ค่อยเข้าใจ  สงสัยบาปหนา  คงต้องศึกษาอีกมากครับ

1. เราถามตัวเราเองดูนะครับ...ที่ชมนั้น...ด้วย "ความจริงใจ...หรือเปล่าครับ"

2. ลองค้นหาดูนะครับ...คนที่สำเร็จและเป็นเรื่อง KM นั้น...ต้องเป็นคนลักษณะแบบไหนครับ"

   สิ่งที่ผมค้นพบว่า...คนที่จะทำ KM ให้สำเร็จ..ต้องเป็นคนว่า...คนอื่นน้อยที่สุดครับ...

  ฉะนั้น จึงขอเรียนเชิญอาจารย์ สมัครเป็นสมาชิก.."ชมรม...คนดี" ได้เลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท