เรื่องดีที่ภูมิใจในค่ายเบาหวาน (รพ.เทพธารินทร์) ครั้งที่ ๑๒


สิ่งที่แปลกใหม่คือ เราได้นำวิธีการของ KM มาใช้ในค่าย

ดิฉันได้นำเสนอทีมงานค่ายเบาหวานของเทพธารินทร์ ว่าลองจัดกลุ่มให้ชาวค่ายได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกันบ้าง บันทึกความรู้เหล่านั้นไว้เพื่อให้ผู้ป่วยรุ่นหลัง (หรือรุ่นก่อนก็ได้) ได้เรียนรู้บ้าง ก็น่าจะดี ที่สำคัญดิฉันต้องการให้บุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ได้เรียนรู้ว่าผู้ป่วยเขาก็มีความรู้นะ เขามีความรู้ปฏิบัติ เพราะเขาเป็นผู้ที่มีชีวิตอยู่กับเบาหวาน

ก่อนจัดค่ายเราประชุมเตรียมการเฉพาะเรื่องนี้ ๒ รอบ ดิฉันให้ข้อมูลว่า "คุณอำนวย" "คุณลิขิต" มีบทบาทหน้าที่อย่างไร กระบวนการดำเนินการควรเป็นอย่างไร (ทำเป็นเอกสารให้เลย) ควรเลือกคนแบบไหน ครั้งแรกคุณสมทรง พลชาติ พี่ใหญ่ของเราตั้งชื่อกิจกรรมว่า "ชั่วโมงแห่งความภาคภูมิใจ" เพราะเราจะใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง แต่เมื่อถึงค่ายเปลี่ยนชื่อเป็น "เรื่องดีที่ภูมิใจ" ก็ดูดีนะคะ

งานนี้มีคุณธัญญา หิมะทองคำทำหน้าที่อำนวยการโครงการ คุณอาฬสา หุตะเจริญเป็นทีมงาน ดิฉันมอบการบ้านว่ากลับมาแล้วให้เล่าลงบล็อก คุณธัญญาทำงานเร็วมาก ส่งการบ้านมาหลายตอนเลย สมาชิกลองติดตามดูนะคะ

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๘

"เรื่องดีที่ภูมิใจ" ในค่ายเบาหวาน

กลับมาจากค่ายเบาหวานเมื่อวันอังคาร ๑๕ พ.ย. ตอนเกือบๆ ๕ โมงเย็นค่ะ เรียบร้อยดี และเป็นเหมือนอย่างทุกครั้งที่ผ่านมา ทั้งชาวค่ายทั้งทีมงานประทับใจกับประสบการณ์ที่ผ่านมาด้วยกันตลอด ๔ วัน ๓ คืน ที่เพิ่งผ่านมาหมาดๆ

ค่ายเบาหวาน ๑๒-๑๕ พ.ย.นี้ เป็นการทำค่ายครั้งที่ ๑๒ ของทีมงาน เราทำกันเพียงปีละครั้ง เพราะทำมากกว่านี้ไม่ไหวค่ะ ค่ายของเราทำกันแบบทุ่มทุนสร้างมาก ทั้งบุคลากร ทั้งกิจกรรม ทั้งโปรแกรมสอนและเที่ยว ใช้พลังงานและเวลาในการตระเตรียมและดำเนินการเยอะมากๆ (แต่ต่อไปเมื่อสถานที่อำนวย เราจะพยายามทำค่ายแบบใหม่ "ฟูลอ๊อบชั่น" ขนาดนี้แน่นอนค่ะ พิสูจน์มาแล้ว การสอนเรื่องการปฏิบัติตัว จะให้เกิดผลจริง จะให้เกิดผลตลอดเวลา ต้องย้ำทำกิจกรรมย้ำสอนค่ะ แค่ปีละครั้ง ปีละ ๘๐ คน ส่งผลไม่แรงเท่าที่เราต้องการ)

ปีนี้เรามีสมาชิกค่าย ผู้สังเกตการณ์ และทีมงานรวม ๑๐๒ ชีวิต เป็นผู้เป็นเบาหวาน ญาติ และผู้รักสุขภาพทั่วไป ๗๖ คน ที่เหลือคือ staff (หมอเบาหวาน ๔ คน หมอเวชศาสตร์ฟื้นฟู ๑ หมอทั่วไป ๑ นักกำหนดอาหาร ๓ เภสัชกร ๑ นักกายภาพบำบัด ๑ พยาบาล/ผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน...เพียบ) และผู้สังเกตการณ์

ในจำนวนชาวค่าย ๗๖ คนนั้น ปีนี้มีผู้เป็นเบาหวานเพียงประมาณครึ่งหนึ่ง อายุเฉลี่ยสงสัยจะเกิน ๖๐ ปีค่ะ มีชาวค่ายหลายท่านบอกว่ามาค่ายนี้แล้วดี ดูอายุเพื่อนร่วมทัวร์แล้วยังรู้สึกว่าตัวเองเป็นเด็กอยู่เลย!

KM ที่ค่ายเบาหวาน-เตรียมงาน

ปกติแล้ว ในค่ายเบาหวานเราจะมีกิจกรรมที่เรียกว่า "พบแพทย์" เป็นกิจกรรมที่เราแบ่งกลุ่มชาวค่ายออกเป็น ๔-๕ กลุ่ม จำนวนกลุ่มละประมาณ ๑๕ คน แต่ละกลุ่มมีคุณหมอประจำ ๑ ท่านนำการสนทนา สนทนาเรื่องอะไรก็ได้ ชาวค่ายชอบช่วงนี้ ไปโรงพยาบาลมีเวลาคุยกับคุณหมอไม่กี่นาที มาแบบนี้ได้เต็มๆ เลย อย่างน้อยก็ ๑ ชั่วโมงระหว่างกิจกรรมนี้ แล้วยังจะเวลาอื่นๆ ตลอดค่ายอีกต่างหาก นอกจากนั้นยังได้ฟังคำถามและฟังคนอื่นๆ เล่าเรื่องของตนเองไปพร้อมๆ กันด้วย หลายครั้งคนในกลุ่มกันเองก็ให้กำลังใจซึ่งกันและกันในการปฏิบัติตนให้ถูกต้อง หลังๆ เราก็มีการจัดทีมงานไปประจำแต่ละกลุ่ม คอยจดมาว่าการสนทนามีประเด็นอะไรเด็ดๆ บ้าง

สำหรับค่ายปีนี้สิ่งที่แปลกใหม่ คือเราได้ทำตามข้อแนะนำของ อ.วัลลา นำวิธีการของ KM มาใช้ในค่ายสำหรับช่วง "พบแพทย์" นี้ เราเปลี่ยนชื่อกิจกรรมจาก "พบแพทย์" เป็น "เรื่องดีที่ภูมิใจ" ในกิจกรรมนี้แทนที่จะปล่อยให้ชาวค่ายสนทนาไปเรื่อยๆ เราจัดหัวข้อให้เป็นกรอบการสนทนา (หัวปลา) จัดให้มีคุณอำนวย จัดให้มีคุณลิขิต เราเปลี่ยนจากการ "สอนชาวค่าย" มาเป็นการ "เรียนรู้จากชาวค่าย" เรามีความรู้จากตำรา ชาวค่ายมีความรู้จากประสบการณ์การอยู่กับเบาหวานจริงๆ

ขั้นแรกของการเตรียมการ คือ การคิดหัวข้อสำหรับการสนทนาในแต่ละกลุ่ม อ.วัลลา ย้ำว่าหัวข้อนั้นต้องแคบ มิฉะนั้นจะทำให้การสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้เปะปะ เราเลือกกันมาได้ ๕ หัวข้อดังนี้

  • อร่อยนอกบ้าน (เคล็ดลับและประสบการณ์ในการควบคุมอาหาร เมื่อต้องทานอาหารนอกบ้าน)
  • ไม่พลาดเรื่องยา (วิทยายุทธ์ในการทำให้ตนเองไม่ลืมกินยา กินยาได้ถูกต้อง ไม่เกลียดการกินยา)
  • ร่าเริงออกกำลัง (ทำอย่างไรถึงผลักให้ตัวเองไปออกกำลังกายได้อย่างสม่ำเสนอ ในสถานที่และสถานการณ์ต่างๆ)
  • ถนอมเท้า (ดูแลรักษาเท้ากันอย่างไร)
  • ตามติดน้ำตาล (รู้ได้อย่างไรว่าตัวเองควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีแค่ไหน)

ส่วนกลุ่มที่ ๖ นั้นเราไม่ได้ใช้เทคนิค KM เพราะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน ไม่มีประสบการณ์เบาหวานมาเล่าสู่กันฟัง เราจัดให้กลุ่มนี้เข้าพูดคุยสนทนากับ ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ และ นพ.วรวิทย์ กิตติภูมิ เรื่องการป้องกันเบาหวาน

สำหรับคุณอำนวยและคุณลิขิตนั้น เราได้มีการคัดเลือกอย่างเข้มข้น เราจะเลือกผู้ที่มีทักษะในการฟัง กระตุ้นการพูดคุย และสามารถดึงผู้ร่วมประชุมเข้าประเด็นได้ เป็นคุณอำนวย เราตั้งใจไม่เลือก expert ในเรื่องนั้นๆ เป็นคุณอำนวย เพราะเห็นว่าจะทำให้ผู้ร่วมกลุ่มไม่กล้าพูด และจะคอยแต่ส่งคำถาม รอฟังคำตอบจากผู้รู้เท่านั้น สำหรับคุณลิขิต เราเลือก young staff ที่มี background ในแต่ละหัวข้อและมีความสามารถในการจับประเด็น

ในการแบ่งกลุ่มชาวค่ายนั้น เราก็ใช้เวลานานมาก และต้องอาศัยผู้ที่รู้จักวิถีชีวิตและบุคลิกของแต่ละคน ส่วนนี้เราทำได้แต่ไม่ทั้งหมด เนื่องจากปีนี้เรามาชาวค่ายซึ่งไม่ได้รักษาอยู่ที่เทพธารินทร์จำนวนไม่น้อย แต่ละกลุ่มนั้น เราพยายามจัดให้มีทั้งศิษย์เก่าค่ายเบาหวาน และผู้มาร่วมค่ายเป็นครั้งแรก จัดให้มีชาวค่ายซึ่งเราคิดว่ามีประสบการณ์เด่นในแต่ละเรื่องมาเล่าให้ฟังแน่นอน

นอกจากการเตรียมการของทีมงานแล้ว เราได้เตรียมชาวค่ายด้วย คืนก่อนกิจกรรม "เรื่องดีที่ภูมิใจ" เราได้ฝากการบ้านชาวค่ายก่อนนอน เราอธิบายคร่าวๆ ถึงกิจกรรมนี้ และให้ชาวค่ายเตรียมเรื่องราวของตนเองตามหัวข้อของกลุ่มตนมาเล่าให้ฟัง ไม่ได้หวังว่าเค้าจะกลับไปทำการบ้านกันอย่างเอาเป็นเอาตายหรอกค่ะ แค่อยากให้หัวข้อติดๆ อยู่ในความสนใจของชาวค่ายบ้างเท่านั้น มีเรื่องเด็ดๆ จะได้ไม่ตกหล่นเวลาเล่า

กิจกรรม "เรื่องดีที่ภูมิใจ" นี้ถูกจัดให้เป็นกิจกรรมในช่วงบ่ายของวันอาทิตย์ที่ ๑๓ พ.ย. เราแบ่งห้องประชุมออกเป็น ๕ มุม ติดป้ายชัดเจน ตัวใหญ่มาก แถมจัดเก้าอี้ให้หันหน้ามองป้ายอีกต่างหาก นัยว่าจะช่วยให้ชาวค่ายกลับเข้าสู่ประเด็นได้ไวหน่อย เราให้เวลา ๔๐ นาทีสำหรับกิจกรรมนี้ เดิมวางแผนไว้ ๑ ชั่วโมง แต่กิจกรรมเช้าใช้เวลามากกว่าที่คิด เราจึงจำเป็นต้องหดเวลาช่วงนี้ลงไป

อ้อ! เราตัดสินใจกันว่าไม่ใช้ฟลิปชาร์ทค่ะ เพราะต้องการบรรยากาศสบายๆ ไม่ต้องการบรรยากาศการสัมมนา การเขียนขึ้นกระดาน ซึ่งอาจทำให้สมาชิกกลุ่มไม่กล้าพูดหรือออกความเห็นมากนัก

ผลออกมาเป็นอย่างไร พรุ่งนี้มาเล่าต่อนะคะ

 

กลุ่มไม่พลาดเรื่องยา คุณหมอสิริเนตร  กฤติยาวงศ์ ทำหน้าที่ "คุณอำนวย"

เรื่องเล่าโดย:  คุณธัญญา หิมะทองคำ โรงพยาบาลเทพธารินทร์

หมายเลขบันทึก: 7425เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2005 10:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 07:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ชอบคำว่า "เรื่องดีที่ภูมิใจ" จังเลยครับ รู้สึกเวลาเข้ากลุ่มคงสนุกดี

อ่านแล้วมีกำลังใจในการทำงานดีค่ะ-และอยากจัดกิจกรรมดีๆแบบนี้มั่งค่ะ

สนใจการทำค่ายเบาหวานค่ะ  รู้สึกว่าการให้สุขศึกษาอย่างเดียวไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้อย่างถาวร   คงไม่สงวนลิขสิทธิ์นะคะ ถ้า  จะนำมาเป็นแบบในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานบ้าง   ขอขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

กิจกรรมนี้น่าสนใจมาก...ขออนุญาตเอาไปปรับใช้ในคลีนิกเบาหวานของโรงพยาบาลและเครือข่ายสถานีอนามัย..เพราะที่เชียงรายเริ่มทำKM DM ในปี2550นี้ให้ชัดเจนมากขึ้นค่ะ...
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท