มหาวิทยาลัยวิจัย


มหาวิทยาลัยวิจัย

         เป็นที่ยอมรับกันว่า   ในขณะนี้มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นจ่าฝูงของมหาวิทยาลัยวิจัยของประเทศไทย   รายงานประจำปี 2547 (ซึ่งแจกในการประชุมสภามหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 16 พ.ย.48) ระบุปณิธานว่า "เป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ   มุ่งความรู้คู่คุณธรรม"   กำหนดพันธกิจไว้ 7  ข้อ   โดยข้อ 1 คือ  "ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดผลงานวิจัยระดับสากล   เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่และการประยุกต์"

ค่าใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2547 เป็นเงินงบประมาณแผ่นดิน 4,808.6 ล้านบาท   เงินรายได้ 8,845.0 ล้านบาท   รวม 13,653.6 ล้านบาท   ในจำนวนนี้เป็นเงินวิจัย 740.8 ล้านบาท   คิดเป็นร้อยละ 5.4   ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขคร่าว ๆ ไม่เน้นความแม่นยำในการใช้เงิน

         เงินวิจัยของมหาวิทยาลัยวิจัยอันดับ 1 ของประเทศ  คิดเป็น 5.4% ของเงินค่าใช้จ่ายทั้งหมด   โปรดหาตัวเลขของมหาวิทยาลัยวิจัย
ในต่างประเทศมาเปรียบเทียบเอาเองนะครับ

         เงินวิจัย 740.8 ล้านบาทนี้   มหาวิทยาลัยลงทุนเอง 27.0 ล้านบาท   คิดเป็นร้อยละ 3.6

         แต่เงิน 27.0 ล้านบาทนี้หมายถึงเงินรายได้ที่ตั้งเป็นทุนวิจัย   ยังมีตัวเลขอีกส่วนหนึ่งของงบประมาณเงินรายได้ (8,845 ล้านบาท) ว่าเป็นของแผนงานวิจัย 312.6 ล้านบาท   ซึ่งเดาว่ามีเพียง 27.0 ล้านบาทที่ใช้เป็นทุนวิจัยโดยตรง   นอกนั้นใช้ในกิจการสนับสนุนการวิจัย   ก็เท่ากับว่าเงินที่ใช้จ่ายเพื่อการวิจัยจริง ๆ เท่ากับ 1,026.4 ล้านบาท   คิดเป็นร้อยละ 7.5 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด   และเงินที่มหาวิทยาลัยที่ลงทุนเองเท่ากับร้อยละ 30.5 ของค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยทั้งหมด  

         ผมจะไม่ตีความตัวเลขเหล่านี้นะครับ   ผู้สนใจลองเปรียบเทียบกับตัวเลขของมหาวิทยาลัยของท่านเอง

         ขอข้ามไปคัดลอกรายงานใน Section การวิจัยดังนี้

         มหาวิทยาลัยมีนโยบายในการสร้างความเข้มแข็งทางด้านการวิจัย   โดยเพิ่มศักยภาพของการวิจัยในหลายรูปแบบ   ทั้งในด้านการสนับสนุนการวิจัยมุ่งเป้าในลักษณะสหวิทยาการ   การวิจัยแบบใช้พื้นที่เป็นฐาน   การวิจัยครบวงจรที่มีผลตอบสนองต่อความต้องการของสังคมและประเทศ   การสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่และการพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยให้สามารถก้าวไปสู่การเป็นนักวิจัยชั้นนำ   มีคุณธรรมและจริยธรรม   เป็นที่ยอมรับในสังคมโลก   โดยจัดให้มีทุนส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่และนักวิจัยรุ่นกลาง   ตลอดจนสร้างเครือข่ายงานวิจัยเพื่อประสานเชื่อมโยงกับงานวิจัยภายในหน่วยงานของมหาวิทยาลัยและต่างสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ   รวมทั้งส่งเสริมการสร้างงานวิจัยที่มีคุณภาพ   โดยกำหนดวัตถุประสงค์ดังนี้

     1. สร้างนักวิจัยในสาขาวิชาต่าง ๆ ให้มีจำนวนมากขึ้น   และสนับสนุนการพัฒนาเพิ่มพูนศักยภาพนักวิจัยอย่างต่อเนื่อง   สร้างความสามารถในการแข่งขันเพื่อหาแหล่งทุนสนับสนุนงานวิจัย
     2. สร้างผลงานวิจัยที่มีคุณภาพเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่   เพื่อเป็นพื้นฐานในการนำไปประยุกต์ใช้ในอนาคต   พัฒนาคุณภาพการศึกษาและความเป็นเลิศทางวิชาการ
     3. ส่งเสริมให้มีโครงการและงานวิจัยในลักษณะสหวิทยาการ   และการวิจัยครบวงจรที่มีผลตอบสนองต่อความต้องการของสังคมและการพัฒนาประเทศ
     4. สร้างความร่วมมือทางการวิจัยระหว่างสถาบันภาครัฐและเอกชนเพื่อให้มีการนำผลงานการวิจัยไปประยุกต์ใช้
     5. สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิจัยในสาขาต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ   เพื่อให้สามารถแข่งขันในระดับนานาชาติ
     6. สร้างวัฒนธรรม  คุณธรรม  จริยธรรม  และจรรยาบรรณที่ดีของนักวิจัย   เพื่อผลิตผลงานที่เที่ยงตรงและมีคุณภาพ
     7. ส่งเสริมและดำเนินการอย่างเป็นระบบ   เพื่อให้การวิจัยที่กระทำในมนุษย์  สัตว์  การทดลองทางพันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ  ดำเนินไปอย่างมีจริยธรรมทุกขั้นตอน
     8. สร้างระบบการบริหารจัดการที่ดี (Research Management System)

ทิศทางการวิจัย

         มหาวิทยาลัยมีทิศทางการวิจัยเพื่อพัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการ   และสอดคล้องกับทิศทางและแผนงานวิจัยระดับชาติ  ดังนี้
     1. การพัฒนานักวิจัยโดยการส่งเสริมการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่และนักวิจัยรุ่นกลางให้มีงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง
     2. ส่งเสริมและพัฒนางานวิจัยในเชิงสร้างองค์ความรู้ใหม่   เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและความเป็นเลิศทางวิชาการ
     3. ส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยประยุกต์   เน้นการพึ่งพาตนเอง   การเพิ่มผลผลิต   การสร้างมูลค่าเพิ่มและการวิจัยเพื่อพัฒนาภูมิปัญญาไทย
     4. ส่งเสริมและพัฒนาผลงานวิจัยที่มุ่งเป้าหมาย   ในลักษณะสหวิทยาการและการวิจัยครบวงจรที่มีผลตอบสนองต่อความต้องการของสังคมและการพัฒนาประเทศ   ซึ่งเน้นหัวข้อวิจัยดังต่อไปนี้


 4.1  Post genomic medicine เพื่อหาแนวทางในการค้นหา  วินิจฉัย  รักษาโรคและป้องกันโรคเฉพาะท้องถิ่นของประเทศไทยและโรคที่ประเทศไทยมีศักยภาพ   ที่จะสร้างองค์ความรู้มากกว่าประเทศอื่น  เช่น โรคธาลัสซีเมีย   โรคติดเชื้อ (เช่น มาลาเรีย  พยาธิใบไม้ในตับ  ไข้เลือดออก  วัณโรค  เมลิออยโดสีส  เลปโตสไปโรสีส  เป็นต้น)   โรคระบบทางเดินปัสสาวะ (เช่น Renal tubular acidosis,  Renal stone disease, Sudden death syndrome เป็นต้น)  โรค autoimmune (เช่น systemic lupus erythrematosus เป็นต้น)
 4.2 การวิจัยเพื่อแสวงหามาตรการที่จุดควบคุมและป้องกันโรค/ภาวะที่เป็นปัญหาสุขภาพหรือสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยในปัจจุบันและอนาคต   เช่น Adolescent Health,  Atheroscierosis, โรคไหลตาย,  สุขภาพผู้สูงอายุ,  มะเร็งตับ,  Violence and Homicide,  สภาวะสุขภาพของนักโทษในเรือนจำ,  สภาวะของแรงงานต่างด้าว  เป็นต้น
 4.3 การวิจัยและพัฒนายา  วัคซีน  ชุดทดสอบเพื่อการวินิจฉัยโรคและผลิตภัณฑ์สุขภาพ
  4.4 การพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อเป็นพื้นฐานของคุณภาพชีวิตและสันติสุขของสังคม   โดยเน้นหัวข้อต่าง ๆ ดังนี้
  1) วิถีชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ
  2) การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่สอดคล้องกับวิถีสังคมไทย
  3) การสร้างเสริมสุขภาวะในมิติต่าง ๆ (กาย  ใจ  สังคม  จิตวิญญาณ) ในระดับบุคคล  ครอบครัว  ชุมชนและสังคม
  4) การพัฒนาที่คำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  5) ความขัดแยังในสังคมไทย
  6) การเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนาและวัฒนธรรมที่ต่างกัน
  7) สิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน
  8) วิถีวัฒนธรรมไทย  ศาสนา  และระบบจริยธรรมของสังคมไทย  ตลอดจนการพัฒนาภูมิปัญญาไทย

          รายงานระบุผลงานวิจัยที่มีประโยชน์ในการประยุกต์ใช้สู่สังคมที่ดำเนินงานในปัจจุบัน  รวม 3 ด้าน  ดังนี้
     1. ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข
         - Postgenomic ประกอบด้วยงานวิจัยที่สำคัญ 6 ด้าน
         - การวิจัยทางคลินิก   ประกอบด้วยงานวิจัยที่สำคัญ 9 ด้าน
         - การพัฒนาวัคซีน 1 ชนิด   คือวัคซีนไข้เลือดออก
         - การพัฒนายา 1 ชนิด   รักษาไข้มาลาเรีย
         - การผลิตชุดตรวจสอบ 2 ชนิด
         - การพัฒนาชุดตรวจสอบ 1 ชนิด
         - การผลิตอุปกรณ์ชีวการแพทย์ 4 ชนิด
         - การพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพ 2 ชนิด
         - การวิจัยสร้างเสริมสุขภาพ 3 โครงการ
      2. ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 11 โครงการ
      3. ด้านสังคมศาสตร์  มนุษยศาสตร์และสิ่งแวดล้อม 11 โครงการ

ผลงานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่และได้รับรางวัลดีเด่น
     ในปีงบประมาณ 2547  มหาวิทยาลัยมีผลงานจากการวิจัยดังนี้
    ผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ   ทั้งหมด 1,033 เรื่อง   ผลงานวิจัยที่จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา จำนวน 10 เรื่อง   ผลงานวิจัยที่อยู่ระหว่างดำเนินงานจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา จำนวน 90 เรื่อง   และผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัล รวม 22 รางวัล (จำแนกเป็น  รางวัลระดับชาติ  จำนวน 16 รางวัลและรางวัลระดับนานาชาติจำนวน 6 รางวัล)

         ที่ผมชอบใจมาก   คือรายงานนี้มี section "เครือข่ายและความร่วมมือ"   โดยนำเสนอเครือข่ายและความร่วมมือภายในประเทศ 33 เครือข่าย  และเครือข่ายและความร่วมมือกับต่างประเทศ 23 เครือข่าย   ผมมีความเห็นว่ามหาวิทยาลัยต้องรู้จักสร้าง strategic partnership เพื่อร่วมกันสร้างความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือมนุษยชาติ

วิจารณ์  พานิช
 16 พ.ย.48

หมายเลขบันทึก: 7479เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2005 09:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ในปีงบประมาณ พ.ศ.2549 มน.ได้รับเงินงบประมาณแผ่นดินประมาณ 1,270 ล้านบาท แต่ว่าเป็นงบลงทุนเสียประมาณ 450 ล้านบาท เหลือเป็นงบดำเนินการเพียงประมาณ 820 ล้านบาท ในจำนวนนี้แบ่งเป็นงบสำหรับสนับสนุนโครงการวิจัยต่าง ๆ จำนวน 25.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.02 ของทั้งหมด (1,270 ล้านบาท) หรือร้อยละ 3.12 ของงบดำเนินการ (820 ล้านบาท)

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท