ดร.อุทัย อันพิมพ์
ดร. อุทัย ดร.อุทัย อันพิมพ์ อันพิมพ์

ได้อะไรกับการไปเป็น KM Intern


KM Intern ณ สคส. ได้ทั้งความรู้ แนวคิด ได้พันธมิตร และเครือข่าย

หลายคนอาจจะ คุ้นกับคำว่า KM Intern  และ KM Extern คืออะไร? และหลายๆ คนอาจจะสงสัยครับว่าทั้ง 2 คำนี้หมายความว่าอย่างไร  และจากที่ผมเคยได้รับโอกาสจากท่าน ศ.นพ.วิจารณ์   พานิช  ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)  มาเป็น KM Intern  และ มีโอกาสได้สัมผัสกับคนที่เป็น KM Extern เช่น คุณดนัย  รักขิตตธรรม กว่าระยะเวลา 3 เดือน ทำให้ผมมีความเข้าใจว่า  KM Intern  คือ ผู้ที่เข้ามาศึกษา เรียนรู้ด้านการจัดการความรู้ (KM) ในสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)  และภาคีเขือข่ายเป็นการประจำ และมีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือน สำหรับ KM Extern ก็จะมีลักษณะเช่นเดียวกัน หากแต่ว่าไม่ได้มาเป็นการประจำ จะมาเป็นช่วงเวลาสัปดาห์ละ 2-3 วัน  และมีเวลาเรียนรู้ไม่น้อยกว่า 6 เดือนติดต่อกัน

มาเป็น KM Internตั้ง 3 เดือนได้อะไรบ้าง  3 เดือนเร็วยิ่งกว่าอะไร ?...เพราะจากที่ผมได้มีโอกาสไปเรียนรู้ด้านการจัดการความรู้ (KM)  ที่ สคส. ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา หากนับจำนวนวันดูเหมือนจะนาน แต่พอได้ไปอยู่จริงๆ แล้วเวลาได้ผ่านไปอย่างรวดเร็วแทบตั้งตัวไม่ทันเช่นกัน ยิ่งเราไปอยู่ในแหล่งของความรู้ที่มีบรรยากาศที่เป็นกัลยาณมิตรยิ่งทำให้เวลาดูเหมือนว่าจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว  ทำงานเก็บประเด็นความรู้แทบไม่ทัน และหากถามว่าได้อะไรบ้างในช่วงที่มาอยู่ 3 เดือน จึงใคร่ขอเล่าให้ฟังดังนี้ครับ

1. ได้ความรู้วิชาการ (Explicit Knowledge) KM อย่างมากมาย เพราะที่ สคส. เป็นคลังความรู้ด้านการจัดการความรู้ (KM)  โดยเฉพาะ จึงมีเอกสารที่เป็นวิชาการมากมายให้ศึกษา อีกทั้งได้จัดเก็บเป็นชุดเพื่อนำกลับมาศึกษาต่อ และเมื่อเกิดข้อสงสัย (กันลืม)

2. ได้เทคนิคกระบวนการด้านการจัดการความรู้ (KM) มีอะไรให้เรียนรู้มากมาย  ทุกคนที่อยู่ใน สคส. ล้วนแต่เป็นผู้มีประสบการณ์ในกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สามารถ ลปรร. ได้กับทุกคน ผมจึงสามารถที่จะ Capture ความรู้จากแต่ละท่านได้อย่างไม่รู้ตัว นอกจากนั้นยังได้รับความรู้จากภาคีเครือข่ายของ สคส. ที่มาร่วมกิจกรรมตามที่ผมได้เคยนำเสนอไปแล้ว

 3. ได้แนวคิดในการทำงาน เพราะจากที่ผมได้เข้ามาอยู่ที่ สคส. ท่านอาจารย์หมอวิจารณ์  ได้สร้างแรงบันดาลใจให้ผมได้ตระหนักถึงกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ การทำงานให้มีความเชื่อมโยง ต้องรอบคอบ เพื่อแก้ปัญหาในการทำงานได้  นอกจากนั้นการทำ KM นับเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างมีพลัง  เมื่อเราได้ทำ KM  ก็จะทำให้เราเป็นผู้รู้ และผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อยู่ตลอดเวลา

 4. ได้พันธมิตร ภาคีเครือข่ายในการทำงานมากขึ้น  การทำงานการขับเคลื่อน KM ของ สคส. จะทำงานในลักษณะร่วมกับภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ ดังนั้นจึงมีความหลากหลายด้านอาชีพและกิจกรรม เวลาจัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จึงมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้มากขึ้น  นอกจากนั้นยังได้พันธมิตร และเครือข่าย อันจะส่งผลให้งานเรามีประสิทธิภาพ สุดท้ายก็จะขยายผลสู่สังคมเอื้ออาทร และสมานฉันท์ เช่น เครือข่ายของ UKM,  CKM, เครือข่ายเบาหวาน, สรส., สสส., สกว. และโรงเรียนชาวนา จังหวัดสุพรรณบุรี นครสวรรค์  เป็นต้น  จากประสบการณ์จะ ทำให้สามารถนำไปเป็น Model ในการทำงานได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเมื่อมีปัญหาต่างๆ ก็สามารถติดต่อสอบถามและ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายได้เป็นอย่างดี

5. นำไปใช้ในงานวิจัย จากประสบการณ์กว่าสามเดือนที่ผ่านมา ผมสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ ในการทำวิทยานิพนธ์ เกษตรกรรมแบบประณีตในชุมชนได้เป็นอย่างดี  เพราะที่ผ่านมาได้มีโอกาสได้ไปร่วมสังเกตการณ์ การขับเคลื่อนกระบวนการจัดการความรู้ตามเวทีต่างๆ จึงทำให้เราได้แนวทาง และมีความมั่นใจในการดำเนินการวิจัย การจัดการความรู้ในชุมชนต่อไป 

               อย่างไรก็ตามการที่จะเป็น KM Intern  หรือ KM Extern ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ดี มีประโยชน์ต่อตนเอง องค์กร ชุมชนทั้งนั้นนะครับ หากท่านสนใจอยากจะได้รับโอกาสดีๆ สามารถติดต่อได้ที่ คุณฉันทลักษณ์   อาจหาญ (คุณจ๋า) [email protected] ท่านจะได้มีโอกาสได้ไปฝึกทักษะ (Skills) การจัดการความรู้ (KM) สำหรับไปพัฒนา และขับเคลื่อนองค์กร และหน่วยงาน ชุมชน ของตนให้เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ต่อไป   

ขอบคุณครับ

อุทัย   อันพิมพ์

24 มกราคม 2550

หมายเลขบันทึก: 74076เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2007 00:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 เมษายน 2012 11:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • เข้ามาเยี่ยม อาจารญ์อุทัย คนใหม่ในขวดเก่าครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท