BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ปทุม


ปทุม

ดอกบัว มีมากมายหลายชนิด เช่น บัวแดง บัวขาว บัวขาบ บัวสาย บัวหลวง... ในภาษาบาลีก็มีหลายสิบศัพท์ที่เป็นชื่อของดอกบัว และหลายศัพท์คนไทยก็รู้จักดี เช่น อุบล ปทุม บุณฑริก กชกร โกมุท ...วันนี้ จะนำนิทานว่าด้วยศัพท์ว่า ปทุม มาเล่าให้อ่าน...

ปทุม ตามศัพท์ก็แปลได้หลายนัย... ส่วนนัยที่มีนิทาน ปทุม แปลว่า ต้นไม้ต้นแรก ต้นไม้แรกเริ่ม หรือ ต้นไม้เก่าแก่ ก็พอได้ ... โดย ป.ปลา แทนคำว่า เริ่มแรก (ปฐม) หรือ เก่าแก่ (โปราณ) ผสมกับ ทุโม ซึ่งแปลว่า ต้นไม้ (ป+ทุโม = ปทุโม)

วจนัตถะ  ปฐโม วา ปุราโณ วา ทุโมติ ปทุโม ต้นไม้ เริ่มแรก หรือเก่าแก่ ดังนั้น ชื่อว่า ปทุม (ต้นไม้เริ่มแรก หรือต้นไม้เก่าแก่)

มีนิทานว่า ครั้นแรกปฐมกัปป์นั้น มีแต่น้ำแผ่ปกคลุมทั่วไป ไม่มีผืนแผ่นดิน... ต่อมาที่แผ่นผืนน้ำก็มีต้นไม้ชนิดแรกเกิดขึ้น (ปทุม) เทพชั้นอาภัสรพรหมก็ลงมาเพื่อจะชมว่าต้นไม้เริ่มแรกนี้จะออกดอกเท่าไหร่ เพราะถ้ามีดอกจำนวนเท่าไหร่ นั่นคือ จะมีพระโพธิสัตว์มาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นพระองค์ ...ในกัปป์นี้ มีดอกไม้เกิดขึ้น ๕ ดอก ชาวเทพอาภัสสรพรหมก็บอกว่า กัปป์นี้ เจริญหนอ ดังนั้น กัปป์นี้จึงชื่อว่า ภัทรกัปป์ (กัปป์เจริญ) ...

ต่อมาน้ำก็ค่อยๆ แห้งลง...เกิดมีแผ่นดินบางๆ ลอยไปทั่วผืนผิวน้ำเรียกว่า ง้วนดิน....เหล่าเทพก็ลองชิมดู รู้สึกติดใจ ...ต่อมาน้ำบางส่วนก็ค่อยๆ แห้งลงไปอีกเกิด เกลือดิน ...เหล่าเทพก็ชิมต่อไปเพราะติดใจในรสชาดเสียแล้ว ...ต่อมาน้ำก็แห้งกลายเป็นดินบางส่วน...เหล่าเทพก็ชิม เกล็ดดิน ....(นิทานยังยาว ค่อยอ่านตอนต่อไป...)

หมายเหตุ

ดอกบัว ใช้อุปมาหลายสิ่งหลายอย่าง ซึ่งบางเรื่องก็ติดมาจากวรรณคดีทางบาลีสันสกฤต เช่น

ก้านบัวบอกลึกตื้น   ชลธาร

มารยาทส่อสันดาน ชาติเชื้อ ฯ 

นี้ เป็น โคลงโลกนิติ จำแค่นี้แหละ (5 55)...ที่จำได้ก็มี เช่น กวีท่านแต่งไว้เป็นข้อเปรียบเทียบว่า

บัวเกิดแต่ตมหล่มโสโครก    ยังอวดโลกชูดอกออกสล้าง

คนต่ำศักดิ์รักดีย่อมมีทาง      ดูเยี่ยงอย่างดอกบัวกลัวอะไรฯ

ครูบาลีท่านบอกไว้ก็มีอยู่บทหนึ่งว่า ถูกสัตว์เจาะไช กิมิชาติกินใบ ต้องภัยเพราะแรงลม กินนรีเด็ดดม น้ำและเปลือกตมไม่เพียงพอ นี้คือธรรมชาติของดอกบัวที่ไม่สามารถผลิบานได้ ซึ่งเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะสาเหตุ ๕ อย่าง ดังต่อไปนี้

๑. ถูกสัตว์เจาะไช หมายถึง มีโรคภายในร่างกาย หรือโรคประจำตัว

๒. กิมิชาติกินใบ (กิมิชาติ แปลว่า หนอน) หมายถึง มีอวัยวะไม่สมประกอบ

๓. ต้องภัยเพราะแรงลม หมายถึง ถูกลมปากของคนพูดนินทาหรือสรรเสริญเกินไป ทำให้เปลี่ยนแปลงไปได้ (ถ้าบัวก็คือก้านหัก)

๔.กินนรีเด็ดดม หมายถึง ถูกเพศตรงข้ามมาติดพันแล้วเสียทีติดตามเค้าไป (คล้ายกับบัวที่ไม่ทันบานก็มีใครมาเด็ดไปเสียก่อน)

๕. น้ำและเปลือกตมไม่เพียงพอ หมายถึง มีบุญบารมีน้อย วาสนาไม่ถึง (คล้ายๆ กับบัวที่ขาดน้ำขาดปุ๋ย)

  

คำสำคัญ (Tags): #ปทุม
หมายเลขบันทึก: 74051เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2007 22:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

พระอาจารย์ครับ...กระผมเสนอให้พระอาจารย์เปิดประเด็นเล่าเรื่องภาษาบาลีตามที่มีผู้เสนอถามอ่ะครับ... อันนี้เรียกว่าตามใจลูกค้าอ่ะคับ....55555

 

ผมมีอยู่ 3 คำ ที่อยากให้พระอาจารย์แถลงไขอ่ะครับ...

คำว่า ปัญญา...

          สุนทรีย์....

          สนทนา....

จะตอบครั้งเดียวเลย  หรือว่าแยกก็ได้ครับ...

ถ้าจะกรุณากระผม...ลองรวมความหมายของ 3 คำนี้เข้าด้วยกันก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่งครับ...

สุนทรีย์สนทนาเพื่อปัญญา...

 

คุณโยมขำ ...

ก็ถามได้ครับ ถ้ารู้หรือพอค้นได้ก็จะตอบ แต่ผู้ถูกถาม บางครั้งก็รู้สึกว่าเป็นภาระในการตอบ ...

ถ้าว่าไปอย่างนี้เรื่อยๆ ผู้อ่านจะไม่รู้สึกว่าถูกบังคับ เพราะถ้าเค้านึกสนุก เบื่อๆ ก็อาจเข้ามาอ่านบ้าง...และผู้เขียนก็ว่าไปเรื่อยๆ นึกศัพท์ไหนได้ก็ว่าไป ...ประมาณนี้....

ปัญญา แปลว่า รู้ทั่ว สันสกฤต คื ปรัชญา..

สุนทรีย์ แปลว่า ควรแก่ความงาม บันเทิงใจ น่ายินดี ...

สนทนา ตามศัพท์แปลว่า ไหลไป คือ การหลั่งไหลออกไปแห่งคำพูด ความคิดเห็น ทำนองนี้...

สุนทรีย์สนทนาเพื่อปัญญา น่าจะแปลว่า ถ้อยคำที่หลั่งไหลออกมาโดยความบันเทิงใจเพื่อความรู้ทั่ว....

ปัญญา รู้ทั่ว ?  รู้อย่างไร ? ต้องอธิบายอีก ยาววววว....

อีกอย่างคุณโยมขำ การถามมีวัตถุประสงค์ ๕ ประการ

๑. เพื่อกระจ่างสิ่งที่ตนยังไม่เคยรู้ไม่เข้าใจ

๒. เพื่อตรวจสอบสิ่งที่ตนรู้แล้วเข้าใจแล้ว

๓. เพื่อตัดข้อสงสัย

๔. เพื่อจะได้มีผู้เห็นด้วยกับความเห็นของตน

๕. เพื่อต้องการจะพูดเอง...

เจริญพร

ถาม 3 ได้แถมอีก 1 ... แบบนี้กำไรบานเลยอ่ะครับพระอาจารย์....5555

 

เรื่องของเรื่องเป็นแบบนี้ครับพระอาจารย์...

 

ผมกำลังจะทดลองใช้กระบวนการ Wit : Dialogue กับเด็กนักเรียนชั้นประถม... โดยที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม เขาสนใจให้ทดลองใช้กับเด็กนักเรียนสาธิตของม.ราชภัฏ...

 

ทีแรกผมเขียนเป็นโครงคร่าว ๆ เพราะเกิดจากความเชื่อและวิธีคิดที่ว่า... การเรียนรู้ที่ถูกกำหนดกรอบ...ยากจะทะลุกรอบได้... เลยไม่ได้เขียนเป็นโครงการวิจัยเฉพาะ(และก็ไม่สงวนลิขสิทธิ์อ่ะครับ...)

 

ต่อมา ดร.ถาวร ท่านสนใจและอยากให้ใช้อย่างเป็นระบบ(แล้วท่านก็เที่ยวไปคุยจนคนเขาสนใจมากขึ้น...) ประมาณว่าผมต้องเขียนหลักสูตรให้ชัดเจน มีที่มาที่ไป สามารถดำเนินการและประเมินผลได้จริง(รวมทั้งถ่ายทอดให้ผู้อื่นทำได้ด้วย...)

 

ก็เลยเป็นกรรมของผมที่อยู่ดีไม่ว่าดี เอาตัวไปผูกมัดกับระบบเข้าจนได้...แล้วก็ลามเลยมาถึงพระอาจารย์(รวมทั้งคนอื่น ๆ ที่ต้องรับกรรมกับผมด้วย...555)

 

Wit : Dialogue ผมแปลเป็นไทยว่า สุนทรีย์สนทนาเพื่อปัญญา พระจารย์เห็นสมควรหรือไม่...

ส่วนคำแปลของพระอาจารย์(รวมทั้งวัตถุประสงค์ของการถาม...อิอิ) จะถูกผมนำรวมไว้ในเอกสารอ้างอิงครับ.... 5555

 

แล้วผมจะปรึกษาพระอาจารย์มาเรื่อย ๆ นะขอรับ...

คุณโยมขำ

ยินดีด้วยที่ได้ของใหม่เล่น 5 5 5

เห็นด้วยนะครับ สุนทรีย์สนทนาเพื่อปัญญา เข้าใจง่าย ไม่จำเป็นต้องแปล...แต่น่าจะตัด การันต์ ออกไปเป็น สุนทรียสนทนาเพื่อปัญญา ทำให้การออกเสียงสะดวกขึ้นนะครับ

เจริญพร

ขอบคุณครับ พระอาจารย์... ตอนนี้ผมกำลังทำ Conceptual Framework ประมาณว่ากรอบแนวคิดทำนองนั้น...

 

ลองอ่านดูเองแล้ว...เบื้องต้นเห็นว่าหลายคำจะกระทบความรู้สึกผู้อื่น....พอได้เป็นกรอบแนวคิดชัดขึ้นแล้ว...คงจะให้พระอาจารย์ช่วยติติง...ตัดคำที่ส่อนิสัยขัดคอทิ้งไปบ้างอ่ะครับ...555

กราบนมัสการพระอาจารย์ไปช่วยกระผมในWit : Dialogue ดีกว่านะครับ...

จะได้ไม่รบกวนบันทึกอื่น ๆ ของพระอาจารย์ให้มัวหมอง....5555

  • มาศึกษาเรื่องดอกบัว
  • ได้ความรู้รื่อง Wit : Dialogue
  • แถมไปด้วย
  • ขอบพระคุณหลวงพี่มากครับ
P

ขจิต ฝอยทอง

แบบว่า เคยโม้เรื่องนี้ไว้แล้ว ไม่อยากโม้ซ้ำ จึงลิงค์ไปลิงค์มา.... ประมาณนั้น

 โม้นานๆ ก็ลืมเหมือนกัน... พักหลังนี้จำไม่ค่อยได้ ว่าศัพท์นี้เคยโม้แล้วหรือยัง ต้องมาตรวจอยู่เรื่อง.....

เกรงว่าจะโม้ ไม่เหมือนกัน (..............)

เจริญพร 

นมัสการพระอาจารย์ครับ โคลงโลกนิติ ที่ว่า ก้านบัวบอกลึกตื้น ชลธาร

ผมก็เอาไปใช้แต่งโคลงบทที่ว่า ก้านบัวบอกตื้นลึก แหล่งชล ครับผม 555

ก้านเด็กส.ศ.(สตรีเศรษฐบุตรม.1/000)

ก้านบัวบอกลึกตื้น ชลธาร

มารยาทส่อสันดาร ชาติเชื้อ

ลืมแล้ว

ไม่มีรูป

ก้านเด็กส.ศ.(สตรีเศรษฐบุตรม.1/000)

 

ไป copy มาจาก คลิกที่นี้

  • ก้านบัวบอกลึกตื้น             ชลธาร
  • มารยาทส่อสันดาน            ชาติเชื้อ
  • โฉดฉลาดเพราะคำขาน      ควรทราบ
  • หย่อมหญ้าเหื่ยวแห้งเรื้อ      บอกร้าย แสลงดิน

ที่จริงต้นฉบับที่เป็นบาลีและสันสกฤตก็มี แต่ไม่ต้องการไปปัดฝุ่นที่เกาะหนังสืออยู่ (มีเงินให้เพื่อนกู้ มีความรู้อยู่ในตำรา มีภรรยาแต่แยกกันอยู่ ในยามจำเป็นที่จะใช้ ย่อมไม่ทันเหตุทันการณ์ 5 5 5...)

เจริญพร

บัวบอกได้เพราะนำลึก

ใจจะนึกหยั่งลงหาไม่

แต่บอกได้ใจนั้นคุณความดี

ความมีจนคนนั้นอาศัยหาจึงพบ

ทิวเสิมบอกแฮ่..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท