คะน้า- - -หนึ่งในความขี้เกรงใจของชาวอาทิตย์อุทัย


อีกตัวอย่างคือ ถ้าคุณมาริโกะ สาวน้อยออฟฟิศ กำลังพยายามเปลี่ยนหมึกปริ๊นเตอร์ และเธอกำลังไม่แน่ใจว่าทำถูกหรือเปล่า คุณเป็นเพื่อนร่วมงานที่อยู่แถวนั้น หรือเดินผ่านมาพอดี คุณอาจได้ยินเธอรำพึงเบา ๆ เสียงงุ้งงิ้งน่ารักว่า "..อืมม..เปลี่ยนหมึกปริ๊นเตอร์อย่างนี้ถูกหรือเปล่าน้า..." ก็จงทราบเถอะค่ะว่า เธอพูดกับคุณ ฮิ ๆ

Chinese Kale

 ภาพ ผักคะน้าน้ำมันหอย  สั่งทานครั้งต่อไป ลองนึกถึงสิ่งดี ๆ ที่ญี่ปุ่นและไทยต่างก็มีอยู่ในใจด้วยกันสิ่งนี้ ที่มาภาพ: http://farm1.static.flickr.com/59/185558555_932d506a1e.jpg


 

 ท่านชอบทาน "ผักคะน้า" กันไหมคะ?

 ผู้เขียนบล๊อกชอบมากค่ะ

วันนี้ชื่อเรื่องและภาพอาจจะทำให้ท่านไขว้เขวบ้างเล็กน้อย

แต่มันเป็นสิ่งที่แว่บขึ้นมาอยู่ในหัวเสมอค่ะ  เวลาอยู่ในแวดวง

การสนทนากับชาวญี่ปุ่น  และได้ยินคำลงท้ายประโยคว่า

"...คะน้า....คะน้า..."

อยู่ร่ำไป

 

 ถ้าว่ากันตามไวยากรณ์แล้ว

 ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่ชวนมึนหัวที่สุดภาษาหนึ่งเลยล่ะค่ะ

 คือความยากนั้น หลายท่านอาจบอกว่าภาษาต่างด้าวภาษาไหนก็ยาก

 แต่ของญี่ปุ่นนั้น เพิ่มความยากด้านวัฒนธรรมเข้าไปด้วยอีกเยอะน่ะซี่คะ

 ในที่นี้ พี่ยุ่นของเราเป็นเผ่าพันธุ์ที่ขี้เกรงใจพอ ๆ กับพี่ไทยน่ะค่ะ

 

ครูสอนภาษาญี่ปุ่น เคยสอนถึงระดับความไม่แน่ใจ,

 ความน่าจะเป็น และคำที่คนญี่ปุ่นใช้ไว้มากมาย

 ถึงขั้นแบ่งเป็นระดับเปอร์เซ็นต์แน่ะค่ะ คือกะคร่าว ๆ น่ะนะคะ

เช่น พูดอย่างนี้แปลว่ามั่นใจประมาณกี่เปอร์เซ็นต์  อย่างนี้เท่าไหร่

สำหรับเด็กศิลป์ภาษา ผู้ซึ่งกลัวเลขมาก ก็กลุ้มใจไปตามระเบียบค่ะ

เพราะต้องคอยจัดลำดับความน่าจะเป็นในหัวเป็นเปอร์เซ็นต์ก่อนพูด

นอกจากนี้  คนญี่ปุ่นยังมีพฤติกรรมชอบพูดกับตัวเองอีกด้วยค่ะ แหะ

คือไม่ใช่เขาเพี้ยน ๆ น่ะนะคะ  แต่ว่า เป็นการแสดงให้สังคมและ

คนรอบข้างรู้ว่า  เขากำลังลังเล สงสัย ไม่แน่ใจอะไรสักอย่างอยู่น่ะค่ะ

และส่วนใหญ่แล้ว  สิ่งที่เขาลังเล สงสัย อยู่นั้น เขาก็อาจจะอยากให้

คนรอบข้าง (แปลว่าเรา ผู้ซึ่งอยู่ตรงนั้น)  ได้รับทราบด้วย

เผื่อจะได้ตอบคำถาม  หรือช่วยแก้ไขได้

 

แล้วทำไมไม่ถามเราตรง ๆ เลยเล่า  ง่ายกว่าไหม  ท่านทั้งหลายอาจจะสงสัย

ก็อาจจะง่ายกว่าจริงน่ะนะคะ

  แต่มันอาจจะทำลายสิ่งที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญที่สุดอย่างยิ่งยวดลงไปด้วย

นั่นก็คือ  การทำลาย Wa หรือสภาพสมดุลย์ของธรรมชาติ

อย่างที่มันเป็น ในขณะนั้นน่ะค่ะ

 

พูดง่าย ๆ เขาอาจจะไม่อยากถามเราตรง ๆ

เพราะกลัวว่าคำถามนั้นอาจก่อให้เกิดความอึดอัดใจ ไม่สบายใจ  ให้กับผู้ตอบได้นั่นเองค่ะ

 

 สิ่งหนึ่งที่เขาพอจะทำได้  และเชื่อว่าจะให้ประโชน์กับทั้งสองฝ่าย  ก็คือ 

การรำพึงรำพันกับตัวคนเดียว

แล้วก็หวังว่าคนรอบข้างนั้นจะไวพอที่จะได้ยินได้ฟังอย่างใจที่เป็นกลางน่ะค่ะ

แล้วจะได้ช่วยตอบให้ได้

 

หรือพูดอีกนัยหนึ่ง

ที่เขาพูดรำพึงกับตัวเองคนเดียวเบา ๆ

แล้วลงท้ายว่า "..คะน้า....คะน้า..." นี่น่ะ

ก็เพราะเขา "เกรงใจ" เรานั่นเองค่ะ

เช่น

ถ้าคุณเป็นคุณสมชาย และ เพื่อนญี่ปุ่นจะเลี้ยงอาหารญี่ปุ่นคุณ

เขาอาจรำพึงคนเดียวว่า

"...เอ..คุณสมชายจะทานปลาดิบได้ไหมน้า...."

ความนัยคือ เขาเกรงใจที่จะถามคุณตรง ๆ 

เพราะการถามตรง ๆ นั้น มันมีนัยยะว่าไม่ค่อยสุภาพแฝงอยู่

และอาจทำให้คุณเสียหน้า หรือ ลำบากใจได้  ถ้าต้องปฏิเสธน่ะค่ะ

ดังนั้น  การที่เขาพูดคนเดียวเบา ๆ  จึงเป็นการรักษาหน้าให้คุณค่ะ

ตามมารยาทแล้ว  ถ้าคุณทานได้  ก็ต้องแสดงความกระตือรือล้น

รีบตอบเลยค่ะว่า  ทานได้ครับ ไม่ต้องเป็นห่วง

 

แต่ถ้าทานไม่ได้  ก็ต้องแสดงสีหน้าลำบากใจ  แล้วก็ขอโทษเบา ๆ

บอกว่า  เกรงใจจังเลย  แต่ว่า ปลาดิบน่ะ....เอ่อ.....

คือพูดค้างไว้แค่นี้น่ะค่ะ  ไม่ต้องพูดจนจบอ้างวารสารทางการแพทย์

ว่าทานปลาดิบแล้วอาจเจอพยาธิอะไรอย่างนั้น

คนญี่ปุ่นจะมีประโยคลักษณะที่พูดค้าง ๆ ไว้เยอะค่ะ

ทิ้งไว้ให้เติมคำในช่องว่างเอง

เพราะถือว่า  ถ้าพูดจนจบประโยค

อาจทำให้อีกฝ่ายเสียความรู้สึก เสียใจ เสียหน้าได้

เห็นไหมคะ  ขี้เกรงใจเสียไม่มี

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ

ถ้าคุณ มาริโกะ สาวน้อยออฟฟิศ กำลังพยายามเปลี่ยนหมึกปริ๊นเตอร์

และเธอกำลังไม่แน่ใจว่าทำถูกหรือเปล่า

คุณเป็นเพื่อนร่วมงานที่อยู่แถวนั้น หรือ เดินผ่านมาพอดี

คุณอาจได้ยินเธอรำพึงเบา ๆ เสียงงุ้งงิ้งน่ารักว่า 

"....อืมม...เปลี่ยนหมึกปริ๊นเตอร์อย่างนี้ถูกหรือเปล่าน้า..."

ก็จงทราบเถอะค่ะว่า  เธอพูดกับคุณ ฮิ ๆ

และถ้าคุณเป็นสุภาพบุรุษ หรือ สุภาพสตรี ผู้มีน้ำใจ

ไม่ว่าคุณจะรู้วิธีเปลี่ยนหรือเปล่าน่ะนะคะ

ก็ทำท่ากุลีกุจอเข้าไปช่วยเธอดูหน่อยเถอะค่ะ

 เพราะถ้าลองเธอรำพึง  "...คะน้า...คะน้า..."  มาแล้ว

แสดงว่าเธอคงจะต้องการความช่วยเหลือแล้วล่ะค่ะ

 แต่ว่าเกรงใจ

และพอคุณเข้าไปช่วยเธอดูจริง ๆ

เธอก็จะขอโทษขอโพยคุณเป็นการใหญ่

ราวกับว่าเธอทำผิดอะไรมา

ซึ่งในความรู้สึกเธอนั้น

เธอคิดว่าเธอผิดจริง ๆ ค่ะ

คือทำให้คุณเสียเวลา และลำบากที่ต้องมาช่วยเธอ

เธอจะใช้สำนวนว่า "...แย่จริงเชียว..."

หรือภาษาญี่ปุ่นคือ "Warui desu kedo...." น่ะค่ะ

ฟังดูเหมือนสิ่งที่เธอรบกวนคุณเป็นเรื่องที่เลวร้ายมาก

แต่เขาพูดกันอย่างนี้จริง ๆ นะคะในชีวิตประจำวัน

 ถึงบอกไงคะว่าคนญี่ปุ่นนี่ขี้เกรงใจสูสีกับคนไทย

เผลอ ๆ อาจจะมากกว่า

เพราะเขามีบทสนทนา สำนวนเฉพาะ สำหรับทั้งสองฝ่าย

ที่จะต้องใช้กันเป็นบทมาตรฐานเลย

สำหรับหลาย ๆ สถานการณ์ด้วยกัน

เตรียมไว้ให้แล้ว

 

 

ดังนั้น

ไปอยู่ญี่ปุ่น

วัน ๆ ท่านจะได้ยินแต่เสียงพูดว่า

"คือว่า.....เกรงใจคุณจังเลยน่ะค่ะ...แต่ว่า..."

"...ต้องขอโทษจริง ๆ นะคะ แต่จริง  แล้วนี่ ดิฉันมีเรื่องใคร่ขอรบกวนคุณสักอย่างหนึ่งน่ะค่ะ..."

"....ผมแย่จริงเชียวครับ รบกวนคุณอยู่เรื่อย  ทำให้คุณลำบากแย่เลย...."

 

หรือแม้แต่เจอหน้าทักทายกันนะคะ  เขาก็จะไม่ใช้คำว่า สวัสดี สบายดีหรือ หรอกค่ะ

ทายซิคะ  เขามักทักทายกันว่าอะไร  โดยเฉพาะถ้าติดต่อธุรกิจ ยิ่งต้องใช้ประโยคนี้เป็นมาตรฐาน

".....วันก่อน...ถ้าไม่ได้คุณช่วยไว้....คงต้องลำบากแย่...."

"...วันก่อน  ต้องขอบคุณมาก ๆ เลยครับ  สำหรับเรื่องนั้น...."

ที่เขาขอบคุณกันนั้น  ส่วนหนึ่ง  เป็นเพราะต้องการแสดงให้เห็นว่า 

นอกจากเขารู้และระลึกถึงบุญคุณเสมอแล้ว 

ยังรู้สึกเกรงใจที่อีกฝ่ายต้องลำบากทำอะไรให้เขาด้วย

ดังนั้น  สิ่งที่จะพูดเป็นสิ่งแรก  ในการเจอหน้ากันครั้งต่อไป  ก็คือ 

การแสดงความขอบคุณสำหรับเรื่องหนที่แล้ว  และขอโทษด้วยถ้าทำให้ลำบากเดือดร้อนนั่นเองค่ะ

เป็นไงคะ  ขี้เกรงใจสุด ๆ เลยดีไหม

 พี่ไทยเราล่ะคะ

มี "..คะน้า...คะน้า..." กันบ้างไหม ในชีวิตประจำวัน?

สวัสดีค่ะ.....คะน้า?

 (ถ้าแปลตามไวยากรณ์ญี่ปุ่น น่าจะแปลว่า เราลากันตรงนี้เลยดีไหมน้า...?)

kids @ bakery

"...Ne-chan..Ookii no doo ka naa...?"

" 。。姉ちゃん。。大きいのどうかなあ。。"

(พี่จ๋า...ชิ้นใหญ่ชิ้นนั้นเป็นไงน้า....? --- แปลว่าน้องสาวตัวกลมอยากทานเค้กชิ้นใหญ่ค่ะ แต่ว่าเกรงใจพี่สาว  เลยถามอ้อม ๆ ว่าพี่คิดว่าเป็นยังไง...คะน้า?)

ที่มาภาพ: http://www.flickr.com/photos/jam_session/33395301/
 



ความเห็น (11)

มีแต่ผักกาดน่ะสิ...

     ในความลังเลของคนไทยจะไม่มีการพูด นอกจากไม่พูดแล้วยังทำไปแบบผิดๆถูกๆอีกด้วย ไม่ด้วยเพราะเกรงใจ แต่เป็นความขี้อายต่างหาก อายที่จะเสียหน้า อายที่อาจเสียรู้ อายที่อาจถูกเหยียดหยาม อายที่จะเป็นหนี้บุญคุณ

     กล่าวถึงบุญคุณ คนญี่ปุ่นจะมีการตอบแทนกันในทันทีที่มีโอกาสเลยมิใช่หรือ?

     ฉะนั้น ที่บอกว่ามีแต่ผักกาด ก็ลองนึกดูเถิดว่าเป็นเช่นไร_ที่ว่ามาอาจไม่ใช่ความเกรงใจ อาจเป็นการเอาใจเขามาใส่ใจเราก็ได้

     ใจของเขา เอามาดูแลบ้างจะดีมั้ยน้า.....

         สวัสดีค่ะ คุณณัชร เพื่อนร่วมทุกข์และศิษย์ร่วมสำนัก....เติมเอาเอง

          อืม ชาวญี่ปุ่นนี่คล้ายๆกับคนไทยในเรื่องความเกรงใจจริงๆเนอะ คำว่าคะน้าเค้านี่น่ารักจังค่ะ

          เห็นคำตอบของคุณอนุเซน รินไซ แล้วอยากอ่านบลอกของคุณมั่งจังค่ะ เขียนบลอกเลยค่ะ ความคิดคมคายแบบนี้ ต้องมีประโยชน์กับชาวบลอกมากๆแน่นอน

           คุณณัชรๆ  ขอบคุณมากนะคะ เพราะเกรงใจหนอนี่ก็กำหนดไม่ทันเหมือนกัน

เป็นเรื่องเล่าที่น่ารักมากเลยค่ะ

 

ขอบคุณนะคะ

สวัสดีครับ ผมพึ่งเข้ามาเป็นครั้งแรก เรื่องนี้ขำดีมากเลยครับได้ความรู้ด้วย (ผมเรียนวิชาโทภาษาญี่ปุ่นอยู่พอดี) 

ผมกำลังจะหาข้อมูลเรื่องอาหารญี่ปุ่นไปรายงานหน้าชั้น ก็ได้เจอ blog นี้ ทุกคนนในนี้ พูดจาสุภาพกันมากๆเลยครับ ดีจัง

สวัสดีค่ะ คุณ อนุเซน รินไซ,

 

นั่นน่ะซี่คะ อยากจะขอยืมคำของคุณหมอ อนิศรามาเสียหน่อย 

 

เขียนเถอะค่ะ  บล๊อกน่ะ

 

อยากอ่านจริง ๆ ค่ะ

 

คำวิเคราะห์คุณคมดีจริง ๆ ด้วย

 

ที่ว่า แท้ที่จริงแล้ว คนไทย บางทีอาจจะขี้อาย  มากกว่า ขี้เกรงใจ

 

อายที่จะเสียหน้า

 

อายที่จะเสียรู้  ฯลฯ

 

จึงไม่ใช่คะน้า  แต่เป็นผักกาด ด้วยความขลาดอายที่มีอยู่

 

โอ้โฮ...ลึกซึ้งมาก ๆ ค่ะ นับถือ ๆ

 

เรื่องบุญคุณที่คนญี่ปุ่นจะตอบแทนทันทีเมื่อมีโอกาส  นั่นก็เข้าใจว่าจริงน่ะค่ะ

 

ความจริงก็เป็นพื้นฐานที่มาจากลัทธิขงจื๊อของจีนด้วยน่ะค่ะ

 

เพียงแต่ว่า  ของจีันที่เราได้ยินกันบ่อย  ก็คือ  "บุญคุณต้องทดแทน  แค้นต้องชำระ" ใช่ไหมคะ

 

ของญี่ปุ่นนี่  ต้องยกให้อย่างหนึ่งว่า อิทธิพลของพุทธศาสนาสามารถเข้าไปมีผลต่อแนวคิดและปรัชญาการครองชีวิตของคนในสมัยโบราณได้มากกว่าในจีน

 

ดังนั้น จึงมีเรื่องของการปล่อยวาง  การไม่จองเวร มากกว่า

 

ในหมู่ซามูไรนั้น  ยิ่งพวกที่มีปัญญามาก  หรือพวกแม่ทัพนายกอง  หรือแม้แต่โชกุนบางคน  ที่ออกรบมาก ๆ  เห็นการรบราฆ่าฟันกันแบบโหด ๆ  ก็เกิดปัญญาทางธรรมขึ้น

 

สามารถเข้าใจใน "ทุกข์" ของการเกิดแก่เจ็บตาย  และไม่เห็นประเด็นว่า จะฆ่าแกงกันไปทำไม  ตายไปก็ไม่สามารถเอาสมบัติพัสถานแว่นแคว้นอำนาจอะไรติดตัวไปได้เลย

 

จึงออกบวชเป็นพระเซนกันภายหลังนักต่อนักแล้วค่ะ 

 

อ้าว เล่าเพลินชักเริ่มออกนอกประเด็น  เห็นคุณ อนุเซน รินไซ มาทีไร  จะเป็นอันชวนคุยไปไกลทุกที

 

ความจริงคงจะเป็นการเอามะพร้าวห้าวไปขายสวนเสียด้วยซ้ำ แหะ ๆ  ขอประทานโทษด้วยค่ะ

 

ที่คุณ อนุเซน บอกมานั้น  ก็ใช่เลยน่ะค่ะ  เรื่องเอาใจเขามาใส่ใจเรา

 

ดูเหมือนตัวเองก็เพิ่งจะเขียนไปในบันทึกเรื่อง คนไทย คนญี่ปุ่น และมารยาทสังคม

 

ในเรื่องที่ว่าด้วยความเกรงใจประเภทต่าง ๆ ของคนญี่ปุ่น  และหนึ่งในนั้น  ก็คือ การเอาใจเขา มาใส่ใจเรานั่นเอง

 

ขอบพระคุณอีกครั้งนะคะที่แวะมาเยี่ยมเยือน  ยามดึก ๆ หรือว่ายามฟ้าอรุณรุ่งเสมอ

 

สวัสดีค่ะ,

 

ณัชร

สวัสดีค่ะ  คุณหมอ อนิศรา ผู้ที่เขียนบล๊อกได้สนุกน่าติดตามที่สุดคนหนึ่ง,

 

ขอบพระคุณมาก ๆ ค่ะ ที่กรุณาสละเวลาแวะมาเยี่ยมเยือนเสมอ   ทั้ง ๆ ที่ทราบว่าคุณหมอคงจะยุ่งมาก 

 

ไหนจะงานราษฎร์ งานหลวง และงานบล๊อก ฮิ ๆ

 

นั่้นแน่...มีการทิ้งให้เราเติมคำในช่องว่างด้วย  จะเล่นมุขเกรงใจแบบสาวญี่ปุ่นหรือคะคุณหมอ  ฮิ ๆ

 

ดูน่ารักน่าเอ็นดูดีมาก

 

จะว่าไปแล้วคุณหมอนำประเด็นเรื่องการกำหนดขึ้นมาพูดถึงได้อย่างน่าสนใจมากค่ะ

 

เพราะพอคุณหมอบอกว่า  การเกรงใจนั้น  กำหนดไม่เคยทัน  ก็ทำให้ตัวเองอึ้งไปสองอึดใจครึ่ง (นึกออกไหมคะ ว่าประมาณไหน ฮิ ๆ)

 

เพราะเป็นการตั้งข้อสังเกตุที่แยบคายดีจริง  ๆ

 

ต่อเมื่อตั้งใจวิเคราะห์สถานการณ์ใหม่แล้วลองทบทวนอีกครั้งหนึ่งแล้วนั่นแหละค่ะคุณหมอ  ตัวเองเลยได้ข้อสรุป(ส่วนตัึว) ว่า

 

จริง ๆ แล้วถ้าสติมันไวจริง ๆ

 

มันอาจจะยังไม่ไปถึงความรู้สึก "เกรงใจ" ก็ได้นะคะ

 

มันก็อาจจะแค่ "เห็นหนอ" ก่อน หรือ "ยินหนอ"

 

คนที่สติไวมาก  ก็จะดับไปตรงนั้น  สังขารขันธ์ไม่เอาไปปรุงแต่งต่อ

 

ซึ่งคนคนนั้นก็คงไม่ใช่เราชัวร์  ฮิ ๆ ๆ

 

อันดับต่อไป  ก็คงจะเป็นระดับที่เราพอจะยังรอลุ้นไหว

 

นั่นก็คือ ระดับ "คิดหนอ" 

 

ถ้าเรายังพอยันอยู่ที่ระดับ "คิดหนอ" นี้  แล้วกำหนดย้ำ ๆ หลาย ๆ ที

 

ดูการเปลี่ยนแปลงของความคิด  แต่ไม่ตามความคิด (ซึ่งคงจะยุ่งยากหน่อย  แต่ถ้าวันหลัง ๆ ของการปฏิบัติ  หรือถ้าเข้าคอร์สเข้มแล้ว ก็พอไหว)

 

พอเราได้เห็น "ความไม่เที่ยง"  "ความทนอยู่ไม่ได้" ของความคิดที่มัน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ํดับไป ได้อยุ่ตรงนั้นแล้ว

 

มันก็คงยังไม่ทันได้ไปปรุงแต่งเป็น ชอบ/ ไม่ชอบ/ เฉย ๆ ได้มั้งคะ

 

เดาเอาว่า  อาการ "เกรงใจหนอ" นี้  มันน่าจะเป็นลูกผสม  ของการ "คิด" ที่ไม่ดับ  ที่ไม่ประกอบด้วยสติที่ไปกำกับรู้  

 

แล้วก็ตามมาติด ๆ ด้วยจิตที่เป็นโทสะ  ที่ในที่นี้ แปลว่า  ความไม่ชอบใจ  ความไม่อยากได้

 

ความเกรงใจ  คือ ความรู้สึกไม่อยากได้ในอารมณ์นั้นน่ะค่ะ  คือมันจะไม่สบายใจ  ลำบากใจ  อึดอัดใจ  เดือดร้อนใจ

 

คือถ้าตีโจทย์ของอารมณ์ที่เกิดขึ้น  หรือมากระทบให้แตก มันก็น่้าที่จะพอกำหนดดูมันได้ทัน  และเห็นมันดับไปนะคะคุณหมอ  คิดว่าน่ะนะ

 

มันจะเป็นอะไรก็แล้วแต่  ขอให้คุณหมอสามารถกำหนดเห็นทันดูมันดับไปก็แล้วกันค่ะ

 

จะเอาใจช่้วย  

 

คุณหมอรู้วิธีแล้วมาสอนด้วยนะคะ  ฮิ ๆ

 

เพราะไม่เคยได้คิดเรื่องนี้มาก่อนเลยน่ะ

 

ถึงว่าคุณหมอแยบคายมาก  คิดเรื่องการกำหนดการเกรงใจได้ด้วย  โห....

 

ขอบพระคุณมากค่ะ,

 

ณัชร 

 

สวัสดีค่ะ อาจารย์ จันทรรัตน์ ,

 

ขอบพระคุณมากค่ะ ที่กรุณาแวะมาเยี่ยมเยียน 

 

และขอบพระคุณสำหรับคำให้กำลังใจของอาจารย์ด้วยค่ะ

 

เมื่อกี๊ได้แวะไปดูบล๊อกอาจารย์มาด้วยค่ะ สีสันสีชมพูวัยรุ่นดีมากเลยค่ะ  พอเห็นเป็นสุขภาพก็สนใจและดีใจ 

 

และเห็นรูปอาจารย์อมยิ้มอยู่ด้วย  ก็รู้สึกอบอุ่ีนใจดีค่ะ

 

แต่พอเห็นคำถัดไปว่า "..สำหรับสตรีวัยทอง..." เท่านั้นแหละค่ะ  ยิ้มหุบเลย  แหะ ๆ

 

แหม...อาจารย์ล่ะก็  มาทดสอบกำลังสติหนูก็ไม่บอกล่วงหน้า  ฮี่ ๆ ๆ

 

อาจารย์พิชัยของหนู จากศูนย์วิปัสสนาเชียงใหม่ส่งมาทดสอบหนูภาคสนามของจริงหรือเปล่าคะ ฮิ ๆ

 

ขอบพระคุณมากค่ะที่แวะมา

 

สวัสดีค่ะ,

 

ณัชร 

 

สวัสดีค่ะ คุณ ชัชชัย ,

 

ขอบพระคุณมากค่ะ  ที่กรุณาแวะมาเยี่ยมเยียน  และกรุณาทิ้งข้อความน่ารัก ๆ ไว้ด้วย

 

ข้อความดี ๆ อย่างของคุณ  เป็นกำลังใจที่ดียิ่งสำหรับคนเขียนบล๊อกมาก  ทราบไหมคะ

 

คือดีใจที่พอจะทำตัวเป็นประโยชน์เล็ก ๆ น้อย ๆ ให้รายงานคุณได้น่ะค่ะ

 

แต่ขณะเดียวกัน  ก็กลุ้ัมใจด้วย แหะ ๆ

 

เพราะว่าตัวเองไม่เคยเรียนเอก หรือ โท ญี่ปุ่นน่ะซี่คะ

 

เผลอ ๆ คุณชัชชัยนั่นแหละ  จะมีความรู้ภาษาญี่ปุ่นที่แตกฉานมากกว่าคนเขียนบล๊อก

 

เพราะฉะนั้น  ที่เห็นเขียน ๆ ในนี้  เป็นแค่ภาษาญี่ปุ่นแบบลูกทุ่ง  ของคนที่เรียนแบบ "ภาคค่ำ" ที่เมืองไทย

 

แล้วไปลุย ๆ แบบเอาตัวรอดเองที่สำนักดาบที่ญี่ปุ่นมาแค่ ๓ เดือนน่ะนะคะ

 

มันก็อาจจะไม่ได้ถูกไปเสียทั้งหมด

 

ยังไงก็กรุณาตรวจสอบกับอาจารย์ของคุณอีกทีก็ได้ค่ะ  ถ้าคุณอยากจะแม่นแกรมม่าร์ภาษาญี่ปุ่นแบบเป๊ะ ๆ

 

มันเป็นภาษาที่ยากที่สุดในโลกแล้วล่ะคุณเอ๋ย  (ขู่เสียเลย ฮิ ๆ)

 

แล้วก็ขอบคุณนะคะที่มาทำให้คนอ้วนอย่างข้าพเจ้านี้สะดุ้งไปแปดตลบ

 

เมื่อคุณบอกว่า  หาข้อมูลจะเขียนเรื่องอาหารญี่ปุ่น

 

แล้วมาเจอบล๊อกนี้

 

ฮือ ๆ ๆ  หมดกัน

 

ชื่อเสียงฉัน

 

กลายเป็นคนเขียนเรื่องอาหารญี่ปุ่นไปเสียแล้ว ฮือ ๆ

 

ไม่เป็นไรค่ะ

 

เอาเป็นว่า

 

หวังว่าคุณคงได้เกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คุณต้องการไปน่ะนะคะ

 

แล้วมีอะไร  ก็กลับมา ลปรร กันบ้างนะคะ

 

ไม่เห็นทิ้งที่อยู่บลีอกกันไว้ให้บ้างเลย?

 

ว่าแต่ว่า  เรียนโทญี่ปุ่นไป เพราะอะไรหรือคะ?  ถามได้ไหม?

 

แล้วพูดหน้าห้องเรื่องอาหารญี่ปุ่น  จะพูดว่าอะไรบ้างคะ?   อยากรู้บ้างจัง

 

ถ้าว่าง  ก็แวะมาเล่าให้ฟังบ้างนะคะ

 

สวัสดีค่ะ,

 

ณัชร 

อ๋อ อย่าพึ่งเข้าใจผิดครับ ผมเรียนปริญาตรี เอกคอมพิวเตอร์ โทภาษาญี่ปุุ่น (ไม่ค่อยจะเกี่ยวกันเลย เนอะ)

 นั่นคือผมพึ่งหัดเรียนแค่ไม่กี่ตัวเองครับ 

 ส่วนที่ผมเลือกที่จะเรียนภาษาญี่ปุ่นเพราะว่า ผมชอบอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น รวมทั้งเกมด้วย

ส่วนรายงานเป็นงานของวิชาคุณภาพชีวิต เรื่องอาหารเพื่อสุขภาพ กลุ่มผมจับฉลากได้ อาหารญี่ปุ่นพอดิบพอดีเลย

รีบรี่ไปที่ google แล้วก็เจอ blog นี้แหละครับ 

สวัสดีค่ะ คุณ ชัชชัย,

 

ขอบพระคุณค่ะ ที่กรุณาแวะกลับมาตอบอีกครั้ง

 

เกี่ยวสิคะ เกี่ยวมากเลย  อีกหน่อยคุณชัชชัยจะได้งานที่ดีมาก ๆ แน่ 

 

การเรียนสิ่งที่ชอบ  จะทำให้คุณมีแรงดลใจ แรงมุมานะที่จะตั้งใจเรียนน่ะค่ะ  หลายคนที่มาเรียนภาษาญี่ปุ่นภาคค่ำที่เจอในห้องเดียวกันก็เป็นน้อง ๆ ที่ชอบการ์ตูนญี่ปุ่นน่ะค่ะ  ไม่เห็นแปลกเลย  มันก็เป็นสื่ออย่างหนึ่ง  ที่สะท้อนอีกสังคมหนึ่งในเอเชีย

 

ชื่อรายงานน่าสนใจดีมากค่ะ  อาหารเพื่อสุขภาพ  ขอให้ทำได้สนุกและน่าสนใจสมกับชื่อรายงานที่จับฉลากได้มานะคะ

 

หากมีอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่พอจะให้ช่วยเหลือได้อีก  ก็บอกมาได้นะคะ  จะพยายามค่ะ

 

สวัสดีค่ะ,

 

ณัชร

 

ป.ล.  เดี๋ยวนี้ที่ญี่ปุ่น  คนก็เริ่มอ้วนกันแล้วล่ะค่ะ  เพราะว่า เริ่มมีวัฒนธรรมการทานอาหารคล้ายคนอเมริกันเข้าไปบ้างแล้ว

 

คุณณัชรครับ

ผมชอบเรื่องนี้มากครับ ชอบเด็ก 2 คนด้วย เรื่องน่ารักมาก
ขอบคุณที่เขียนเรื่องดีๆให้อ่าน

แต่ไม่ต้องขอบคุณผมนะครับ ที่อ่านเรื่องของคุณณัชร เพราะเดี๋ยวจะทำให้ผมเกรงใจอีก

มาโนชซัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท