จุมเรียบซัว(สวัสดี)กัมพูชา ตอน ๗


บริษัทที่ทำถนนมาจากมาเลเซีย บริษัทนี้ขยันมาก ทำกันตั้งแต่เช้ามืดจนดึกทีเดียว เห็นแล้วเสียดายที่บ้านใกล้เรือนเคียงกับไทยแท้ๆ... ธุรกิจกลับเป็นของมาเลเซียไปเสียได้

                      

อาทิตย์ที่ 17 ธันวาคม 2549:

  • 2.00 นาฬิกา... รถวัดไปรับคณะของเรา 3 คนก่อน รถคันนี้เป็นรถยอดนิยมของคนเขมรเสียด้วย คนเขมรที่นั่นชอบใช้รถโตโยต้า คัมรี่มือสองสีดำ
รถคัมรี่ในกัมพูชาส่วนใหญ่เป็นรถพวงมาลัยขวาสีขาว... เข้าใจว่า น่าจะนำเข้ามาจากญี่ปุ่น เนื่องจากคนญี่ปุ่นชอบใช้รถสีขาว
  • เราคงจะประมาณการณ์ได้ว่า อุบัติเหตุในกัมพูชาคงจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการขับรถเร็ว และการใช้รถพวงมาลัยขวา(แบบรถในไทย หรือประเทศอดีตเมืองขึ้นอังกฤษ)ในถนนแบบชิดขวา(แบบอเมริกา พม่า ลาว กัมพูชา หรือประเทศอดีตเมืองขึ้นฝรั่งเศส)

 

อาจาย์สาเรนกับสามเณรจะไปวัดพร้อมรถกระบะ เนื่องจากขนของมามากเกินที่รถวัดจะรับไหว

  • 02.30 นาฬิกา (17 ธันวาคม)... เราไปถึงวัดเวฬุวัน วัดนี้อยู่นอกเมืองพนมเปญไปอีก 16 กิโลเมตร

ทางเข้าวัดเป็นถนนลูกรังขนาด 2 เลน... ก่อนถึงวัดมีการก่อสร้างถนนใหญ่ขนาดประมาณ 4-6 เลน

  • ท่านพระสา แอมบอกว่า บริษัทที่ทำถนนมาจากมาเลเซีย บริษัทนี้ขยันมาก ทำกันตั้งแต่เช้ามืดจนดึกทีเดียว เห็นแล้วเสียดายที่บ้านใกล้เรือนเคียงกับไทยแท้ๆ... ธุรกิจกลับเป็นของมาเลเซียไปเสียได้

 

วัดเวฬุวันเป็นวัดชานเมืองพนมเปญ ห่างตัวเมืองประมาณ 16 กิโลเมตร มีพระภิกษุสามเณรศึกษาเล่าเรียนบาลีประมาณ 70 รูป และมีโยมเป็นแม่ชีบ้างอุบาสกบ้างอยู่ในวัดรวมกันประมาณ 40 กว่าคน

  • ท่านเจ้าอาวาสไม่อยู่ เข้าใจว่า คงจะเดินทางไปต่างประเทศ... ท่านพระสา แอมกล่าวว่า ท่านเจ้าอาวาสตั้งใจจะให้พระ เณรเรียนบาลีได้เต็มที่ จึงให้พักกุฎิชั้นเดียวหลังละ 1 รูป ไม่ให้อยู่รวมกัน จะได้ท่องตำราได้เต็มที่ และไม่พูดคุยกันมาก

ภาพที่ 1: กุฏิในวัด

ภาพที่ 2:สามเณรในวัดเดินไปเรียน โปรดสังเกตว่า ที่นี่ใช้จีวรสีกลักเหลืองเป็นส่วนใหญ่

ภาพที่ 3: พระเจดีย์ในวัด กลางคืนแขวนไฟกระพริบเป็นสีๆ ทำให้นึกถึงสีของพระฉัพพันนรังสีที่แผ่ซ่านจากพระวรกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

  • โปรดสังเกตใบโพธิ์ที่ปลูกไว้เป็นพุทธบูชาในภาพ... ของจริงล้อมรั้ว และมีลานสำหรับเดินประทักษิณ (เวียนขวา) ไว้อย่างดี

ภาพที่ 4: โบสถ์ที่ชาวเขมรช่วยกันพลิกฟื้นคืนแผ่นดิน... สร้างขึ้นมาใหม่หลังจากรบราฆ่าฟันกันเอง ผู้เขียนชอบรูปดอกบัวตูมสีแดงที่ประดับไว้รอบโบสถ์ และชอบมากที่มีเสียงท่องตำราทั่วไปในวัด

ภาพที่ 5: ป้ายอนุโมทนาที่โบสถ์ โปรดสังเกตจะเห็นยอดเงินบริจาคเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ จากชาวเขมรอพยพไกลบ้านไกลเมือง ท่านเหล่านี้มีส่วนช่วยพลิกฟื้นแผ่นดินเขมร... สาธุ สาธุ สาธุ

 

ภาพที่ 6: อาคารห้องสมุด ท่านพระสา แอมกล่าวว่า ที่นี่มีหนังสือภาษาไทย เช่น ตำราพระอภิธรรม พระไตรปิฎก อรรถกถา ฯลฯ เพราะภาษาใกล้เคียงกัน พระภิกษุ สามเณร แม่ชีที่อ่านไทย พูดไทยได้ก็มี

  • โปรดสังเกตอาคารด้านข้าง (ทางขวา) เป็นที่ดินที่ญาติโยมซื้อไว้ต่างหาก เพื่อให้ท่านอาจารย์บุด สาวงพัก ท่านเป็นฆราวาสถือศีล 10 พระเขมรที่ไปไทยมักจะกล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่า "อาตมาเป็นลูกศิษย์อาจารย์บุด สาวง"

ภาพที่ 7: ป้ายอนุโมทนาที่อาคารห้องสมุด โปรดสังเกตธงพระฉัพพันนรังสีด้านบน

เดือนนี้พระ เณรไม่ออกบิณฑบาต เพราะมีเจ้าภาพมาถวายภัตตาหารไว้ทั้งเดือน ทุกรูปมีปิ่นโตพร้อม

  • การเรียนบาลีเป็นไปอย่างเข้มข้น เรียนกันวันละหลายรอบ อาจารย์สาเรนเดินทางไปถึงก็สอนบาลีต่อทันที

พระภิกษุที่นั่นสละกุฏิชั่วคราวให้แม่ชี 2 ท่าน 1 หลัง และสละให้ผู้เขียน 1 หลัง ทราบมาว่า ที่นั่นยังไม่มีไฟฟ้าเข้า

  • ทางวัดมีแผงโซล่าเซลล์ 2 ชุดใหญ่ไว้สำหรับอัดไฟเข้าแบตเตอรี่รถยนต์ มีหลอดไฟนีออน(ฟลูออเรสเซนต์)ขนาดเล็กต่อแบบหนีบเข้ากับขั้วแบตเตอรี่อย่างดี

ภาพที่ 8: รอบๆ วัดเป็นนา มีต้นตาลปลูกไว้ทั่วไป ถูกใจผู้เขียนซึ่งชอบต้นตาลมากเป็นพิเศษ

ภาพที่ 9: ซุ้มประตูวัด โปรดสังเกตดินที่มีหน้าดิน(ดินดำ)บางมาก ลักษณะพื้นที่ที่มีหน้าดินบางคล้ายที่พบมากทางอีสานเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อภาวะดินเสื่อมโทรม และอาจเกิดทะเลทรายได้ในอนาคต...

ภาพที่ 10: กุฏิที่ผู้เขียนมีโอกาสไปพัก อาจารย์แม่ชีมาลีกล่าวว่า "กุฏิที่นี่สบายอย่างกับเป็นแดนสวรรค์" ท่านว่าอย่างนั้น

ภาพที่ 11: ด้านในกุฏิมีรูปอาจารย์บุด สาวงสมัยที่บวชเป็นพระแขวนไว้ด้วยความเคารพ เข้าใจว่า ท่านสึกไปรักษาโรคหลายอย่างหลังยุคเขมรแดง โดยเฉพาะไวรัสตับอักเสบซีทำให้ท่านเป็นตับอักเสบเรื้อรัง เป็นลมไปหลายครั้งทีเดียว

  • โปรดสังเกตแบตเตอรี่ข้างโต๊ะ ไฟฟ้ายังไปไม่ถึงวัด ไกลกันเพียง 1 กิโลเมตร ตอนนี้ใช้แผงโซล่าเซลล์ชาร์จแบตเตอรี่ และนำไปใช้กับหลอดนีออน (ฟลูออเรสเซนต์) ดวงเล็กไปได้คราวละหลายๆ วันทีเดียว

ภาพที่ 12: หิ่งห้อยในห้องพัก บินไปบินมา เลยตกน้ำในห้องน้ำ โปรดสังเกตแบบเรืองแสงด้านท้อง (สีเขียวเหลือง)

ภาพที่ 13: อาจารย์สาเรนกรุณาทำอาหารเช้าง่ายๆ แบบเขมร เป็นปลาร้าผัดหมู มีแตงกวาเป็นผักเคียง มีน้ำส้มสายชูใส่พริกหน่อยหนึ่ง อาจารย์สาเรนบอกว่า คนเขมรทำอะไรก็ใส่ปลาร้าไปหน่อย ใส่พริกไม่มากหรอก คุณแม่ท่านทำแกง 1 หม้อใช้พริก 1 เม็ด...

  • ผู้เขียนกลั้นหายใจ กลืนหมูผัดปลาร้าไปได้ประมาณ 1 ใน 5 ช้อนโต๊ะ รีบกลืน เพื่อกินให้ครบทุกอย่าง (ถ้าเจ้าภาพสังเกต หรือถาม... ท่านจะได้ไม่เสียใจว่า อุตส่าห์ทำมาก็ไม่กิน) โชคดีที่มีผักและผลไม้ไว้กินกับข้าวได้หลายจาน...

ภาพที่ 14: มื้อนี้มีผลไม้เป็นส้ม.... คุณแม่ชีมาลีบอกว่า พลิกไปมา พบว่า ส้มมาจากไทย ส่วนพลับมาจากจีน มีทั้งแบบสดและแห้ง เสียดายที่ไม่มีผลไม้จากกัมพูชา

    เชิญอ่านตอนต่อไป:

    แหล่งที่มา:

  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์. จัดทำ > 9 มกราคม 2550 > ยินดีให้ท่านผู้อ่านนำไปใช้โดยไม่เกี่ยวกับการค้าได้ครับ.

    เชิญอ่าน:

  • บันทึกย้อนหลังบน Gotoknow ย้อนหลังได้... โดยเลือกจากปฏิทินกิจกรรมด้านขวามือของบล็อก
  • บ้านสุขภาพ > http://gotoknow.org/blog/health2you
  • ดาวน์โหลดบทความ > www.lampangcancer.com > ขอขอบคุณ webmaster โรงพยาบาล > คุณณรงค์ ม่วงตานี.
หมายเลขบันทึก: 72445เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2007 14:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

-จุมเรียบซัว ครับ ท่านอาจารย์หมอวัลลภ

-ตัวผมเองยังไม่เคยไปกัมพูชาเลยสักครั้ง ไม่ใช่ไม่อยากไป ไม่อยากใคร่รู้นะครับ โอกาสต่าง ๆ มันคลาดไปทุกที คิดว่าสักวันคงได้มีโอกาสดีเข่นนี้บ้าง

- ตอนนี้ขอตามอาจารย์หมอไปโดยการอ่านบันทึกชุดนี้ไปก่อน จะได้ไปจริง ๆ แล้ว จะกลับมาศึกษาให้ละเอียดอีกครั้งก่อนไป

-บันทึกชุดนี้น่าติดตามและมีประโยชน์มากครับ ขอขอบคุณอย่างยิ่งครับที่กรุณาบันทึกอย่างดี มีภาพประกอบและคำอธิบายภาพอย่างดี มาฝากเรา

ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์วิบูลย์ และท่านผู้อ่านทุกท่าน...

  • คนไทยเรารู้จัก (ประเทศ) เพื่อนบ้านน้อยมาก... เรารู้จักอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลียมากกว่าพม่า ลาว กัมพูชา
  • น่าดีใจครับที่ Go2know มีสมาชิกสนใจเรื่องประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น

ผมเชื่อว่า...

  • ถ้าไทยทำถนน สะพาน และทางรถไฟต่อไปยังเพื่อนบ้านได้... โดยเฉพาะสถานที่ท่องเที่ยวในพม่า ลาว และกัมพูชา
  • รวมทั้งเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดน
  • ให้ความช่วยเหลือทางการศึกษา และสาธารณสุข เช่น เปิดวิทยาลัยสาธารณสุข-พยาบาลข้ามชาติ (transnational college) ใช้ภาษาอังกฤษสอน และบังคับเรียนอีก 2 ภาษาได้แก่ ภาษาเพื่อนบ้าน(เชิญอาจารย์จากเพื่อนบ้าน) และไทย
  • และให้เกียรติเพื่อนบ้าน เช่น ห้ามละครโทรทัศน์ และภาพยนต์ล้อเลียน เสียดสีเพื่อนบ้าน (รวมทั้งคนอีสาน เนื่องจากคนลาวดูแล้วสะเทือนใจ)
  • ไม่นานเลย... เราจะได้มิตรภาพกับเพื่อนบ้าน และได้ค้าขายกันอย่างดี

ขอขอบพระคุณอาจารย์ และท่านผู้อ่านที่กรุณาให้เกียรติอ่าน และแวะมาเยี่ยมเยียนครับ...

ถ้าคนขแมรร่วมมือกันรักชาติอีกไม่กี่ปี คนไทยก็ไม่กล้าดูถูกขแมรอีกแล้ว สิ่งที่คนไทยดูถูกขแมรไม่ได้เลยตอนนี้คือศิลปะวัฒนธรรม ภาษา แต่ที่ดูถูกได้คือ ความยากจน ประเทศล้าหลัง

 

คนขแมรอีสานไต้ ก็โดนดูถูกไปด้วย แต่มีสิ่งเดียวที่เชิดชูคอได้ที่สุดก็คือ วัฒนธรรม ภาษาขแมร ที่พวกผมรักนักรักหนา

กันตรึม เจรียง เบริณ อาไย ฯลฯ รวมทั้งภาษาขแมร ที่ทำให้พวกผมอยู่ในสังคมชาวสยามได้อย่างไม่อายใคร 

ขอขอบคุณอาจารย์ "ขแมร" และท่านผู้อ่านทุกท่าน...

  • จริงครับ...
  • ถ้าคน "ขแมร (= เขมร)" ร่วมมือกันรักชาติ ตั้งความปรารถนาดี หรือเมตตากันให้มาก อีกไม่นานกัมพูชาจะมีความสุข ความเจริญ

ผู้เขียนเห็นคนเขมรเก่งๆ มาก เช่น

  • เห็นครูบาอาจารย์จากสุรินทร์เก่งๆ มาก
  • ท่านพระอาจารย์สมบัติ นันทิโกเป็นชาวสุรินทร์ (ผู้เขียนฟังธัมมะจากการบันทึกเป็น MP3 ของท่าน)
  • ท่านหนึ่งเป็นอาจารย์(ดอกเตอร์)ม.ราชภัฏเชียงใหม่
  • พระเขมรที่ไปศึกษาที่วัดท่ามะโอเก่งมาก เรียนบาลีมูลกัจจายน์ (บาลีใหญ่) 2-3 ปีก็จบแล้ว ทั้งๆ ที่ปกติเรียนกัน 4-5 ปี
  • ท่านอาจารย์บุด สาวง (ชาวเขมร) บรรยายธัมมะได้ไพเราะมาก (ทั้งอัตถะ - ความหมาย และพยัญชนะ - อักษร)
  • ท่านอาจารย์หมอสวน โอสถ... แพทย์แผนกัมพูชา-จีน-เวียดนามในพนมเปญเก่งมาก เก่งทั้งธัมมะ เก่งทั้งภาษา (เขมร ไทย อังกฤษ และอาจจะมีภาษาอื่นๆ อีก)

ความจริง... [เรื่องดูถูก]

  • การดูถูกคนอื่นเป็นบาป โดยเป็นผรุสวาจา (กล่าวคำหยาบ ถ้ากล่าวต่อหน้า) เป็นปิสุณาวาจา (ส่อเสียด ถ้ากล่าวลับหลัง)
  • ไม่ว่าจะเป็นตัวเรา หรือคนอื่นก็ไม่ควรดูถูกทั้งนั้น... เพราะการดูถูกไม่ทำให้อะไรดีขึ้นมา และเป็นบาป

การที่กัมพูชายากจน...

  • ผู้เขียนกลับมองว่า ชาวเขมรส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชน เป็นเนื้อนาบุญ จึงร่วมมือ ช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้
  • คุณอาผู้เขียน (พ.อ.ธงชัย - คุณนิตยา แสงรัตน์) ให้การสนับสนุนการแปล และพิมพ์ตำราทางพระพุทธศาสนาเป็นภาษาเขมร
  • ต่อไปเราคงจะหวังได้ว่า แผ่นดินกัมพูชาคงจะมีความสุข ความเจริญต่อไปตามสมควร
  • คนเขมรเก่ง... ถ้าเพิ่มเมตตาเข้าไปหน่อย ไม่นานก็เจริญ ก้าวหน้า พัฒนาต่อไปได้

คนอีสานใต้...

  • คนอีสานใต้เป็นคนเก่งโดยธรรมชาติ... ขยัน รักพวกพ้อง เก่งทางศิลปวัฒนธรรม เช่น กันตรึม แคน หมอลำ พูดเขมรได้ ฯลฯ
  • คนที่พูดได้หลายภาษา เช่น เขมร+ไทย ฯลฯ มีแนวโน้มจะฉลาดกว่าคนที่พูดได้ภาษาเดียว
  • เพลงกันตรึมของอีสานใต้... ดังไปถึงในรถกระบะจากปอยเปตไปพนมเปญ นี่เป็นความภาคภูมิใจทางวัฒนธรรม

ตำรา มสธ. กล่าวว่า

  • สมัยรัชกาลที่ 2,3 คนกรุงนิยมหมอลำมาก เพราะเป่าแคนก็เก่ง ไสยศาสตร์ก็เก่ง...
  • ผู้ใหญ่ในยุคนั้นกลัวคนกรุงจะถูก "(อีสาน)กลืน" ทางวัฒนธรรม เลยห้ามเป่าแคนในเมืองหลวง
  • ทว่า... ทุกวันนี้ใครไปกรุงเทพฯ ที่ไหนที่นั่นคงจะได้ยินเสียงในฟีล์ม (อีสาน)
  • คนอีสานขยัน อดทน และรักพวกพ้อง... ต่อไปคนชั้นกลางส่วนใหญ่ในไทยจะเป็นคนอีสานครับ
  • การเกิดมาขยันนี่... ไม่ต้องอายใคร ขอให้ภาคภูมิใจครับ...

ขอขอบคุณ...

ข้อมูลเยอะ น่าเชื่อถือครับ ออร กุณ

ขอขอบคุณอาจารย์ขแมร และท่านผู้อ่านทุกท่าน...

  • ขอขอบคุณที่กรุณาแวะมาเยี่ยมเยียน
  • การมีครูบาอาจารย์ที่เข้าถึงองค์ความรู้ "แขมร์" แวะมาเยี่ยมเยียนเป็นสีสันสำคัญในการทำบันทึกชุดนี้ทีเดียว

ขอขอบคุณครับ...

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท