ดร.อุทัย อันพิมพ์
ดร. อุทัย ดร.อุทัย อันพิมพ์ อันพิมพ์

เห็ดป่า กับการใส่เชื้อเพื่อความเกื้อกูล


วิธีการใส่เชื้อเห็ดลงไปในดินเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเห็ดกับพืชอาศัยนั้นสามรถทำได้หลายวิธี เช่น ใช้สปอร์ ดินมีเชื้อ เนื้อเยื่อเจริญ และเส้นใยเลี้ยงเชื้อ เป็นต้น

การปลูกเห็ดมัยคอร์ไรซา  (Mycorrhizas) เป็นเห็ดที่อาศัยอยู่บริเวณรากพืชแบบได้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน  ในฤดูฝนเมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมก็เกิดดอกเห็ดขึ้น  เช่น  เห็ดเผาะ  (เห็ดถอบ)  เห็ดผึ้ง  (เห็ดห้า, เห็ดตับเต่า) เห็ดระโงก เห็ดไค   เห็ดน้ำหมาก  เห็ดแดง  เห็ดขิง  เห็ดปะการัง  เห็ดหล่ม ฯลฯ ตามที่ผมได้นำเสนอไปแล้วเมื่อวาน

การใส่เชื้อเห็ดลงไปในดิน เพื่อให้เห็ดสามารถเจริญเติบโตร่วมกับต้นพืชและเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน มีวิธีการใส่เชื้อที่นิยมอยู่ 4 วิธี ประกอบด้วย

1.การใช้สปอร์ ( Spore inoculums) สปอร์ของเห็ดราบางชนิดสามารถเก็บได้ในปริมาณมาก เช่น เห็ดเผาะ ( Astraeus hygrpmetricus) เห็ดลูกฝุ่น ( Rhizopogon spp.) และเห็ดทรงกลม ( Scleroderma spp.) เราสามารถนำสปอร์ไปละลายน้ำหรือใช้สปอร์โดยตรงคลุกกับเมล็ดพันธุ์ก่อนเพาะกล้า หรือนำสปอร์ละลายน้ำในอัตราส่วน 1 :500  แล้วนำไปรดต้นกล้า หรือในแปลงเพาะเมล็ด หรือรดที่โคนต้นของพืชอาศัย (พืชที่เราเห็นเห็ดชนิดนั้นๆ เกิดในธรรมชาติ)เป็นวิธีที่ทำได้ง่าย สะดวก แต่มีข้อเสีย คือสปอร์มีระยะพักตัว มีการงอกที่ไม่สม่ำเสมอ สปอร์บางชนิดมีอัตราการงอกต่ำ 

 2. การใช้ดินเชื้อ ( Soil inoculums) โดยใช้ดินหัวเชื้อไมคอร์ไรซ่าซึ่งเก็บจากบริเวณแหล่งกำเนิดของต้นไม้ที่มีเชื้อไมคอร์ไรซ่าอยู่ในธรรมชาติ เป็นวิธีปฏิบัติอย่างได้ผลดีมานาน และในปัจจุบันก็ยังเป็นที่นิยมใช้กันอยู่ วิธีการ คือ นำดินเชื้อไมคอร์ไรซ่าที่ปริมาณห่างจากลำต้นไม่เกิน 50 ซม. โดยรอบ และขุดลึกประมาณ 10-20 ซม. ให้มีรากเดิมติดมาด้วย แล้วนำไปใช้ทันที  หรือจะนำไปคลุกกับดินเพาะเมล็ดอัตรา 1 : 5 ส่วน แล้วเพาะเมล็ด เป็นวิธีที่ประหยัดเสียค่าใช้จ่ายน้อย ไม่ต้องใช้วิธียุ่งยากซับซ้อน ง่ายต่อการปฏิบัติ ข้อเสียคือดินมีน้ำหนักมาก ขนย้ายระยะทางไกล ๆ ไม่สะดวก เราไม่สามารถทราบชนิดเชื้อเห็ดราไมคอร์ไรซ่าที่เหมาะสมกับต้นกล้าได้ และดินอาจมีเชื้อโรคติดมาระบาดต้นกล้าได้ง่าย วิธีการแก้ไข ต้องเลือกดินรากต้นแม่ที่สมบูรณ์ปราศจากโรค และควรปัดกวาดซากพืชหน้าดินออกให้สะอาดก่อนขุดดินนำเอาไปใช้เพาะต้นกล้า

3. การใช้เนื้อเยื่อดอกเห็ด ( Sporocarp inoculum) การใช้ดอกเห็ดหรือชิ้นส่วนของดอกเห็ดนำไปบดให้มีขนาดเล็กแล้วนำไปผสมน้ำที่สะอาดอัตราส่วน 1 :100 รดต้นกล้าในแปลงเพาะเป็นวิธีการใช้ได้ผลดีแต่มีข้อเสียตรงที่การเก็บดอกเห็ดต้องรอช่วงฤดูฝน จึงจะสามารถเก็บดอกเห็ดในปริมาณมาก ๆ ได้ และวิธีการนี้ต้องรีบนำดอกเห็ดมาใช้ทันทีมิฉะนั้นดอกเห็ดจะเน่าสลายเสียก่อน

4. การใช้เส้นใย ( Mycelial inoculum) การเลี้ยงขยายเชื้อจากดอกเห็ดเป็นวิธีการที่นิยมกันมากในปัจจุบัน เพราะเราสามารถคัดเลือกสายพันธุ์เห็ดราไมคอร์ไรซ่าพันธุ์ดี  นำไปเลี้ยงเชื้อในอาหารเทียม เช่น Potato-Dextrose Agar (พี ดี เอ) เติมวิตามินบี 1  ขององค์กรเภสัช  1  เม็ด  และเติมภูไมท์ซัลเฟต  30  กรัม ต่อลิตร เลี้ยงเชื้อได้ภายใน 3-4 เดือน ก็นำเอาหัวเชื้อไปใช้คลุกดิน หรือนำไปปั่นผสมน้ำนำไปรดต้นกล้าได้ วิธีการนี้มีข้อเสียคือ ต้องใช้เทคนิคเครื่องมือและอุปกรณ์ค่อนข้างซับซ้อนและต้องการความรู้และความชำนาญเป็นพิเศษจึงดำเนินการได้ แต่ข้อดีก็คือ หัวเชื้อที่ได้จะบริสุทธิ์ปราศจากเชื้อปนเปื้อน และได้สายพันธุ์เชื้อราที่เป็นพันธุ์ดีที่ได้คัดเลือกสายพันธุ์เหมาะสมแล้วมาใช้และมีประสิทธิภาพ

จากข้างต้นเป็นรายละเอียด และแนวทางปฏิบัติที่เสริมต่อจากเมื่อวาน ซึ่งค่อนข้างที่เป็นเทคนิควิชาการนิดหนึ่งนะครับ ต้องขออภัยเป็นอย่างสูง แต่ผมก็ได้พยายามที่จะนำเสนอให้อ่านแล้วเข้าใจได้ง่ายครับ  สำหรับตัวอย่างประกอบขอเป็นวันพรุ่งนี้นะครับ เพราะวันนี้รู้สึกเป็นเรื่องเล่าที่ยาวแล้ว เกรงว่าท่านจะเหนื่อยสายตา

ขอบคุณครับ

อุทัย   อันพิมพ์

อุทัย   อันพิมพ์

หมายเลขบันทึก: 71828เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2007 08:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 13:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ทฤษฎีเหล่านี้ work ในสภาพใดบ้าง กับพืชใด อายุสักเท่าไหร่

แค่นี้ภาพยังไม่ชัดพอในการทำงานจริง

เรียน ผศ.ดร.แสวง   รวยสูงเนิน

ขอบคุณมากครับอาจารย์ แต่ในเบื้องต้นผมขอเรียนอย่างนี้ครับ

  • เห็ดที่สามารถเกิดได้ในสภาพแวดล้อมของเมืองไทยมีมากมายหลายชนิด แต่ที่ผมสนใจศึกษาและมีข้อมูล จะเป็นเห็ดที่นิยมในการบริโภค ได้แก่ เห็ดเผาะ เห็ดระโงก และเห็ดผึ้ง
  • การเพาะปลูกสามารถทำได้ตลอดฤดูกาล ขึ้นกับปัจจัยความพร้อมของเกษตรกร และเชื้อเห็ด
  • เห็ดทั้ง 3 ชนิดสามารถเจริญเติบโตได้กับกลุ่มของไม้ Dipterocarp (ต้นยางนา พลวง ชาด กะบาก พยอม รัง) และ หูลิง แค เหมือด หว้า ฯลฯ
  • การปลูกเชื้อสามารถใส่ได้ต้งแต่ระยะต้นกล้า และต้นโต หากเป็นต้นกล้าพบว่ากลุ่มที่ใส่เชื้อเห็ดเข้าไปจะทำให้โตเร็วขึ้น และจะให้ผลผลิตเห็ดตอนต้นไม้โตประมาณ 2-5 ปี แล้วแต่ชนิดของไม้ หากเป็นต้นที่โตก็จะสามารถเห็นผลผลิตได้ในฤดูกาลต่อไป

แต่อย่างไรก็ตามในการจัดการความรู้เรื่องเห็ดป่า เราต้องมีความเข้าใจในธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความต้องการของเห็ด อีกทั้งการทำให้เกิดดอกเห็ดเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน จึงค่อยๆ เริ่มทำความเข้าใจ และเรียนรู้ จะเกิดความชำนาญต่อไปครับ

ด้วยความเคารพ

อุทัย   อันพิมพ์

ขอรายละเอียดได้ไหมครับเกี่ยวกับวิธีเพาะเห็ดที่คุณ อุทัย มีอยู่ครับ

ขออนุญาตครับอาจารย์เห็ดหล่มหรือเห็ดไค เพาะแบบเดียวกันไหมครับ? ขอบคุณครับ

ขออนุญาตครับอาจารย์เห็ดหล่มหรือเห็ดไค เพาะแบบเดียวกันไหมครับ? ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท