บันทึกชุด เรียนรู้จากประสบการณ์ นี้ ตีความจากหนังสือ Experiential Learning : Experience as the Source of Learning and Development, 2nd Edition (2015) เขียนโดย David A. Kolb
ตอนที่ ๔ นี้ ตีความจากส่วนหนึ่งของบทที่ ๒ The Process of Experiential Learning ที่เขียนเมื่อ ๔๐ ปีมาแล้ว และผมเขียนเพิ่มเติมในตอนท้าย เพื่อทำความเข้าใจธรรมชาติของการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นอย่างมากมายในปัจจุบัน
ในช่วงแรกจะตีความและสรุปจากหนังสือ (1st edition) เรื่องธรรมชาติของการเรียนรู้จากประสบการณ์ ดังต่อไปนี้
เน้นกระบวนการ มากกว่าผลลัพธ์
นี่คือข้อแตกต่างที่ชัดเจนที่สุด ระหว่างทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์ กับทฤษฎีการเรียนรู้แบบเดิม ในทฤษฎีการเรียนรู้แบบเดิม ความรู้มีลักษณะเป็นชิ้นๆ หรือเป็นก้อนๆ มีความชัดเจนตายตัว ให้สั่งสมไว้ เมื่อต้องการใช้ก็ดึงออกมา ในขณะที่ทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์มองความรู้เป็นสิ่งที่เลื่อนไหล มีการเปลี่ยนแปลงปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เมื่อไรก็ตาม มีการมองความรู้เป็นผลลัพธ์ เท่ากับผู้นั้นสมาทานความเชื่อแบบดั้งเดิม เพราะมองความรู้เป็นสิ่งหยุดนิ่งตายตัว
การเรียนรู้เป็นกระบวนการผุดบังเกิด (emergent process) สิ่งที่บันทึกได้เป็นอดีต ไม่ใช่การเรียนรู้แห่งอนาคต
เป้าหมายของการศึกษาคือการพัฒนาความสงสัยใคร่รู้ (inquiry) และพัฒนาทักษะในการสร้างความรู้เป็นเป้าหมายหลัก ไม่ใช่เพื่อจดจำองค์ความรู้เป็นเป้าหมายหลัก การรู้เป็นกระบวนการ ไม่ใช่ผลลัพธ์
ผมตีความว่า เพราะเราถูกฝึกมาให้เน้นผลลัพธ์ของการเรียนรู้ เราจึงละเลยความสำคัญของกระบวนการ ทำให้การเรียนรู้ที่แท้จริงไม่เกิด เกลียวยกระดับการเรียนรู้จากการปฏิบัติเป็นเครื่องมือช่วยให้เอาใจใส่กระบวนการ ที่นำสู่การเรียนรู้ที่แท้ ที่ทรงพลังอย่างแท้จริง
จะเห็นว่าพวกเราถูกแนวความคิดด้านการศึกษาแบบดั้งเดิมครอบงำกระบวนทัศน์อย่างมืดมิด ข้อความข้างบนในหัวข้อย่อยนี้ จึงเข้าใจยากมากสำหรับเรา
การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่เกิดอย่างต่อเนื่อง อยู่บนฐานประสบการณ์
การเรียนรู้ไม่มีวันจบ เพราะเป็นกระบวนการที่เกิดอย่างต่อเนื่อง โดยสรุปมาจากประสบการณ์ของผู้เรียน จากการมีสติระลึกรู้ของผู้เรียน ทั้งสติระลึกรู้ และประสบการณ์ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น การเรียนรู้จากประสบการณ์จึงเกิดขึ้นต่อเนื่องด้วย ซึ่งตรงนี้ผมเถียง ว่าในบางขณะคนเราตื่นอยู่แต่ใจลอย ฟังอยู่แต่ไม่ได้ยิน หรือได้ยินแต่ไม่รับรู้ การเรียนรู้จากประสบการณ์จึงต้องการ “ใจจดจ่อ” (attention) ซึ่งก็คือการสังเกต (observation) ที่มีการสะท้อนคิด (reflection) ไปพร้อมๆ กัน คนใจลอยจะทำ reflective observation ไม่ได้ หรือทำได้ไม่ดี
ผมขอเพิ่มเติมจากความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สมองสมัยใหม่ว่า กระบวนการใจจดจ่อ เพื่อสังเกตและทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในประสบการณ์นั้น เป็นงานหนักของสมอง ต้องใช้พลังงานมาก สมองมนุษย์จึงมีธรรมชาติประหยัดพลังงานโดยไม่เข้าสู่กระบวนการใจจดจ่อโดยไม่จำเป็น การเรียนรู้จากประสบการณ์จึงต้องเริ่มจากการมีเป้าหมายที่ทรงคุณค่า (purpose) เป็นแรงบันดาลใจ ที่เราใช้คำว่า “มีไฟ” (passion)
ไฟอยากเรียนรู้ที่คุโชน เป็นตัวนำพาสมองให้เข้าสู่โหมดใจจดจ่อ ช่วยให้วงจร/เกลียว ยกระดับการเรียนรู้จากประสบการณ์ทำงานต่อเนื่องอย่างมีพลัง
เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เขาเอ่ยถึงคำ partial skepticism ที่ผมใช้คำไทยว่า “เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง” ว่าเป็นตัวสร้างคำถาม ที่นำสู่การเรียนรู้
ด้วยธรรมชาติความต่อเนื่องของการเรียนรู้ ที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มพูนต่อเนื่องจากประสบการณ์นี้เอง การเรียนรู้จึงไม่ใช่เพียงกระบวนการเพิ่มพูนความรู้ใหม่เท่านั้น ยังมีส่วนที่เป็นการปรับปรุงหรือละทิ้งความรู้เดิม ที่สมัยนี้เรากล่าวว่า การเรียนรู้ประกอบด้วย ๓ มิติ คือ เรียนรู้สิ่งที่ยังไม่รู้ (learn), เลิกเชื่อสิ่งเก่า (unlearn), แล้วเรียนรู้สิ่งใหม่ (relearn)
เพื่อการเรียนรู้ มนุษย์ต้องก้าวข้ามขั้วตรงกันข้ามในการปรับตัวอยู่ในโลก
ขั้วตรงกันข้าม เป็นปัจจัยสู่การเรียนรู้ของมนุษย์ โดยที่มนุษย์ต้องฝึกเผชิญความรู้สึกอึดอัดขัดข้องเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่มีขั้วตรงกันข้าม และใช้สถานการณ์นั้น เพื่อการเรียนรู้จากประสบการณ์ของตน
กล่าวใหม่ว่า ประสบการณ์ที่ไม่ราบรื่น ให้ความอึดอัด หรือความรู้สึกขัดแย้ง เป็นประสบการณ์ที่ให้การเรียนรู้สูง หากเรารู้จักอยู่กับสถานการณ์นั้น และหมุนวงจรเรียนรู้จากประสบการณ์ไปพร้อมๆ กันกับสร้างสมดุลระหว่างขั้วตรงกันข้ามที่กำลังเผชิญ หากไม่สร้างสมดุล ยอมให้ขั้วหนึ่งยึดอำนาจ จะเกิดการเรียนรู้ที่ไม่นำสู่ปัญญาที่แท้จริง
ตัวอย่างของขั้วตรงกันข้ามได้แก่ ประสบการณ์ตรง - หลักการที่เป็นนามธรรม, การสังเกต - การกระทำ, ความหุนหันพลันแล่น - ความยับยั้งชั่งใจ, การเชื่อมโยงความคิดเข้ากับความเป็นจริง – การเชื่อมโยงประสบการณ์เข้ากับหลักการ, ทำความเข้าใจโลก - เปลี่ยนโลก ตัวอย่างของขั้วตรงกันข้ามเหล่านี้มาจากคำอธิบายของปราชญ์ที่ได้เอ่ยนามไปแล้ว เพื่อชี้ให้เห็นธรรมชาติของการเรียนรู้ที่ล้ำลึกที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในชีวิตมนุษย์
ที่ผมคิดว่าล้ำลึกที่สุดคือคำอธิบายเรื่อง “ถ้อยคำ” (word) ของเปาโล แฟร์ (Paulo Freire) ที่อธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมในประเทศไทยได้ดีมากในสายตาของผม คือถ้อยคำไม่ได้ทำหน้าที่เพียงเพื่อการสื่อสารตามปกติเท่านั้น ยังมีความหมายลึกๆ ที่ซ่อนอยู่ภายในถ้อยคำด้วย คือการสะท้อนคิด (reflection) และการปฏิบัติ (action) นี่คือขั้วตรงกันข้ามที่ซ่อนอยู่ในถ้อยคำ
ถ้อยคำที่พูดออกมาจากใจจริง (authentic word) มีพลังของ reflection และ action อยู่ภายใน สามารถ “เปลี่ยนโลก” ได้ ในทางตรงกันข้าม ถ้อยคำที่พูดออกมาอย่างไร้ความจริงใจ (unauthentic word) เป็นถ้อยคำที่ว่างเปล่า ไม่นำสู่ความคิดและการกระทำ ไร้ความหมาย ไร้พลัง หากสังเกตให้ดี เราจะพบ “คำโต” ที่พูดกันในวงการศึกษาไทยบ่อยๆ ที่อยู่ในถ้อยคำประเภทหลัง ต้องระวัง อย่าตกเป็นเหยื่อของ “ถ้อยคำที่ไร้ความหมาย” เหล่านั้น เพราะเป็นคำที่ไม่นำสู่การคิดและการกระทำ อาจชักจูงให้เราเป็นคนดีแต่พูด ไม่ทำ
การศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาตนเองให้เป็นคนที่ กล่าวถ้อยคำที่มีทั้งการสะท้อนคิดและการกระทำอยู่ภายใน ซึ่งก็คือ “คนจริง”
การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง การพัฒนา VASK เกิดขึ้นผ่านการเผชิญความขัดแย้งในทั้ง ๔ ขั้นตอนของวงจรเรียนรู้จากประสบการณ์คือ CE (concrete experience), RO (reflective observation), AC (abstract conceptualization), และ AE (active experimentation) โดยที่เมื่อเริ่มต้นที่ CE ก็เพื่อใช้ประสบการณ์นั้นสร้างสิ่งใหม่
คำอธิบายคุณค่าของขั้วตรงกันข้ามอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องความสร้างสรรค์ (creativity) ที่ต้องใช้พลังของขั้วตรงกันข้ามเป็น คือ โลกนามธรรม – โลกของความเป็นจริง ผมเรียนรู้มาว่า การฝึกความคิดสร้างสรรค์ต้องฝึกคิด ๒ แบบ คือแบบคิดฟุ้ง (divergent thinking) และแบบคิดสรุป (convergent thinking) ซึ่งเป็นขั้วตรงกันข้าม
การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่เป็นองค์รวมเพื่อปรับตัวอยู่ในโลก
ขอย้ำว่า ในหนังสือเล่มนี้เรากำลังอยู่กับโลกการศึกษาหรือการเรียนรู้แนวเรียนรู้จากประสบการณ์ ที่ใช้แนวคิดแตกต่างอย่างเป็นขั้วตรงกันข้ามกับแนวคิดที่ยึดถือกันอยู่ในระบบการศึกษาปัจจุบัน
ระบบการศึกษาปัจจุบันเน้นการเรียนแบบแยกส่วน เน้นเรียนเฉพาะด้านหรือเฉพาะวิชา แล้วค่อยเอามาบูรณาการกัน แต่การเรียนรู้แนวเรียนรู้จากประสบการณ์เป็นการเรียนอย่างเป็นองค์รวม (holistic) ไม่แยกส่วน เพราะเป็นการเรียนจากของจริงหรือเหตุการณ์จริง ที่มีธรรมชาติเป็นองค์รวม แยกส่วนไม่ได้
หลักการของการเรียนรู้จากประสบการณ์ เป็นหลักการองค์รวม ว่าด้วยการปรับตัวของมนุษย์ต่อโลกภายในตัว และโลกรอบตัวทั้งที่เป็นโลกกายภาพและโลกทางสังคม เกี่ยวของกับการทำหน้าที่อย่างบูรณาการของทุกส่วนของมนุษย์ ทั้งการคิด รู้สึก รับรู้ และการแสดงพฤติกรรม
การเรียนรู้เป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสภาพแวดล้อม
หลักการหรือความเชื่อเรื่องการเรียนรู้จากประสบการณ์แตกต่างจากหลักการที่ยึดถือกันในวงการศึกษาปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง เพราะวงการศึกษาปัจจุบันถือว่าการเรียนรู้เป็นเรื่องของมนุษย์ เป็นเรื่องที่ถือเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง ในขณะที่ทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์ให้ความสำคัญที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสภาพแวดล้อม
การศึกษาปัจจุบัน มนุษย์เป็นศูนย์กลาง คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาของมนุษย์เท่านั้น
การเรียนรู้จากประสบการณ์ ปฏิสัมพันธ์เป็นศูนย์กลาง คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงทั้งที่ตัวมนุษย์ผู้เรียนรู้ และที่สภาพแวดล้อม
จะเห็นว่า การศึกษากระแสหลัก มีส่วนทำให้มนุษย์มีความหยิ่งยะโส ถือผลประโยชน์ตนเป็นหลัก แต่หลักการเรียนรู้จากประสบการณ์จะมีส่วนทำให้มนุษย์มีความอ่อนน้อมถ่อมตน (humility) มองผลของปฏิสัมพันธ์ทั้งที่ตนเอง และที่สภาพแวดล้อม ทำให้ผมคิดต่อว่า หากจะแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ต้องไปแก้ที่ปรัชญาการศึกษา จากการศึกษาแบบส่งเสริมให้มนุษย์ยึดถือตนเองเป็นศูนย์กลางอย่างในปัจจุบัน ไปสู่การเรียนรู้จากประสบการณ์เพื่อสร้างกระบวนทัศน์ที่ให้ความสำคัญต่อปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม คิดอย่างนี้ไม่ทราบว่าถูกต้องหรือไม่
เขาตีความคำว่า “ประสบการณ์” (experience) ว่าเป็นได้ทั้งประสบการณ์ทางกาย (objective) และประสบการณ์ทางใจ (subjective) หรือประสบการณ์ภายใน (personal) ที่สำคัญคือประสบการณ์สองแบบนี้มีปฏิสัมพันธ์กัน ที่เขาใช้คำว่า transaction ซึ่งหมายความว่าเป็นปฏิสัมพันธ์ที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วทั้งสองฝ่ายต่างก็เปลี่ยนไป ไม่เหมือนเดิม เป็นคุณลักษณะสำคัญยิ่งของการเรียนรู้จากประสบการณ์
การเรียนรู้จากประสบการณ์ เป็นการเรียนรู้เชิงรุก กำกับด้วยตนเอง ใช้ได้ทั้งในทีมงาน และในชีวิตประจำวัน
การเรียนรู้เป็นกระบวนการสร้างความรู้
ผมเถียงตั้งแต่เห็นหัวข้อนี้ในหนังสือ ว่านี่เป็นความเข้าใจสมัยสี่สิบปีก่อน สมัยนี้ต้องบอกว่าการเรียนรู้เป็นกระบวนการสร้างสมรรถนะ หรือสร้าง VASK (gotoknow.org/posts/702910) ใส่ตัว คือเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนกว่าการสร้างความรู้ (knowledge) อย่างมากมาย อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่า การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่ ความรู้ของโลก (social knowledge) กับความรู้ส่วนบุคคล (personal knowledge) มีปฏิสัมพันธ์ (transaction) กัน ขอย้ำความหมายของคำว่า transaction นะครับ ว่าเป็นปฏิสัมพันธ์ที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วทั้งสองฝ่ายหรือทุกฝ่ายเกิดการเปลี่ยนแปลง
เขาย้ำว่า การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ดี ต้องมีท่าที “เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง” (partial skepticism) ต่อความรู้ของโลก
นิยามของการเรียนรู้
David Kolb ให้นิยามการเรียนรู้ (เมื่อ ๔๐ ปีมาแล้ว) ว่า เป็นกระบวนการสร้างความรู้ ผ่านกระบวนการการเปลี่ยนขาด (transform) ประสบการณ์ โดยเน้นที่ ๔ มิติคือ (๑) เน้นการปรับตัวและเรียนรู้ มากกว่าที่เนื้อหาหรือผลลัพธ์ (๒) ความรู้เป็นกระบวนการเปลี่ยนขาด (transformation) มีการเปลี่ยนแปลงและสร้างใหม่อยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่สิ่งที่คงที่ (๓) การเรียนรู้เปลี่ยนขาดประสบการณ์ทั้งในด้านรูปธรรมและนามธรรม (๔) เพื่อเข้าใจการเรียนรู้ต้องเข้าใจธรรมชาติของความรู้ และเพื่อเข้าใจความรู้ ต้องเข้าใจธรรมชาติของการเรียนรู้
จะเห็นว่าแม้เมื่อ ๔๐ ปีมาแล้ว David Kolb ก็มองการเรียนรู้และความรู้ในมิติที่เลื่อนไหลกว่ามุมมองของวงการศึกษาไทยมาก โดยที่เราค่อนข้างมีมุมมองแบบหยุดนิ่ง
ขอแนะนำการบรรยายของผมในเรื่องธรรมชาติของการเรียนรู้ ที่น่าจะเป็นประเด็นสำคัญเพิ่มเติมจากความรู้เมื่อ ๔๐ ปีก่อน โดยเข้าไปชมได้ที่ www.youtube.com/watch?v=FXFmXzoLxrs
ขอขอบคุณ นพ. เนตร รามแก้ว ที่กรุณาส่งหนังสือมาให้
วิจารณ์ พานิช
๑๑ เม.ย. ๖๖
[I have learned that most times, we come up with a ‘physical’ solution to our Dhukkha but very rarely the essence of the problems and the solutions.]
ขอบคุณ อาจารย์ วิจารณ์ฯ มากครับ ที่นำเรื่องนี้มาให้ผมได้เรียนรู้และพยายามเรียนรู้ไปเรื่อยๆ รวมทั้ง ห้ามตัวเองไม่ให้อยู่เฉย เลยมักเสนอความคิดเห็นบ่อยครั้ง (จึงเข้ามาอยู่ใน GotoKnow นั่นเลยครับ) และพยายามเลือกใช้คำที่ไม่ใช่ “คำโต” อย่างที่บทความฯ พูดถึง ที่ผมเข้าใจว่าอาจารย์คงหมายถึง Big word เป็นแน่ เพราะมันมักมาจากเรื่องราวแของนัก propaganda หรือไม่ก็มาจากคนที่เป็น Big brothers หรือประเภท Big mouth ก็เป็นได้….และคงเกิดขึ้นทั่วไปในโลกนี้ มากกว่าที่จะมีเฉพาะเมืองไทยของเรา อย่างที่ฝรั่งท่านหนึ่งพูดอ้างอิง นะครับ ….วิโรจน์ ครับ