เก็บตกวิทยากร (78) ภาพ (ฝัน) ของครูรักษ์ถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่


วิเคราะห์จากสิ่งที่นักศึกษากำลังถูกบ่มเพาะภายใต้โครงการดังกล่าว  ผมค่อนข้างมั่นใจว่า  จริงๆ แล้วครูรักษ์ถิ่นเป็นประหนึ่ง “วิศวกร-สถาปนิกชุมชน” เลยก็ว่าได้  เพราะทำหน้าที่หลากหลาย  บางขณะอาจเป็นหมอชุมชน  บางเหตุการณ์อาจเป็นนักวิชาการ นักวิจัยชุมชน  เป็นโฆษกชุมชน เป็นทนาย (หมอความ)  เป็นนักไอที เป็นนักสื่อสารชุมชน เป็นนักวัฒนธรรม

จากบันทึกที่แล้ว  ที่นี่   ถือโอกาสขยายความต่อเนื่องสู่หัวใจห้องที่ 4 (คำถามข้อที่ 4)  ในหัวข้อ “คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของครูรักษ์ถิ่น” 

 

 

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

วาดภาพเพื่อนที่ชื่นชอบ : คนต้นแบบ ว่าที่คุณครูต้นแบบ

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

ผมให้นักศึกษาวาดภาพเพื่อนร่วมรุ่นที่แต่ละคนรู้สึกรัก –ชื่นชอบ-ศรัทธา  โดยให้นักศึกษามองในมิติที่ว่าเพื่อนคนนี้มีคุณลักษณะที่สอดคล้องและเหมาะสมต่อการเป็นครูรักษ์ถิ่น  ซึ่งการวาดที่ว่านี้  มีกติกาง่ายๆ คือ ห้ามมิเพื่อนคนนั้นรู้ตัวว่ากำลังถูกมองว่าเป็นต้นแบบ

 

พูดง่ายๆ ก็คือ ฝึกการสังเกตแบบเงียบๆ  ฝึกวิเคราะห์ ฝึกการถ่ายทอดข้อมูลผ่านงานศิลปะ (ภาพวาด) หรือแม้แต่การฝึกสมาธิ รวมถึงฝึกการค้นหาสิ่งดีๆ รอบตัว และการชื่นชมสิ่งดีงามรายรอบตัว  -

 

 

 

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ล้อมวงโสเหล่ : สื่อสารสร้างสรรค์ผ่านภาพวาด 

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

เสร็จจากการวาดภาพ  ผมชวนให้นักศึกษาออกเดินไปหาเพื่อนที่ตัวเองวาดภาพให้  จากนั้นให้นั่งล้อมวงเป็นกลุ่มๆ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความชื่นชอบผ่านภาพวาดสู่กันฟัง รวมถึงการเปิดโอกาสให้แต่ละคนแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องอื่นๆ ไปพร้อมๆ กัน  เพียงแต่มีกติกาง่ายๆ คือ “มีคนพูด-มีคนฟัง”

 

เมื่อเสร็จสิ้นการบอกเล่า  ผมให้นักศึกษาแต่ละคนนำโทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่ายภาพแล้วโพสลงในสังคมออนไลน์ แต่ไม่ได้บังคับว่า “ทุกคนต้องโพส” เรียกได้ว่าเชิญชวนตามความสมัครใจ โดยมีกติกาเพิ่มขึ้นมาเล็กๆ น้อยๆ คือ มีวาทกรรม (แฮชแทก)  ร่วมกัน หรือแม้แต่ให้แทกไปยังเพื่อนที่ปรากฏในภาพ

 

 

ความจริงมีอยู่ว่า ผมมีเจตนาที่ชัดเจนที่จะฝึกทักษะการสื่อสารสร้างสรรค์แก่นักศึกษา เสมือนการสร้างสื่อ-ผลิตสื่อไปในตัว เป็นการสื่อสารสร้างสรรค์ผ่านการเล่าเรื่อง  ผ่านภาพวาด ผ่านสังคมออนไลน์  ควบคู่ไปกับฝึกการฟัง การซักถาม  ฝึกความกล้าที่จะ “บอกรัก” หรือ “ชื่นชม” กันและกันไปในตัว 

 

เช่นเดียวกับการพยายามสื่อให้รู้ว่า รายรอบตัวของนักศึกษาล้วนมีข้อมูล-ความรู้ที่น่าสนใจอย่างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเปิดใจเบิ่งมองและค้นพบได้หรือไม่

 

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ล้อมวงโสเหล่ :  สังเคราะห์ชุดความรู้ว่าด้วยครูรักษ์ถิ่น (ในฝัน)

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เมื่อกระบวนการกลุ่มย่อยปิดตัวลง  ผมก็ขยับขึ้นสู่กระบวนการกลุ่มใหญ่ในทันที  กล่าวคือแบ่งนักศึกษาออกเป็น 4 กลุ่มตามฐานคิดของ “สัตว์ 4 ทิศ”  เพื่อให้แต่ละกลุ่มระดมสมอง-สังเคราะห์ข้อมูลจากภาพวาดแต่ละภาพว่าคุณลักษณะที่พึงประสงค์ หรือคุณลักษณะ (ในฝัน)  ของครูรักษ์ถิ่นมีอะไรบ้าง

 

ผมเน้นย้ำหนักแน่นว่า แม้จะเป็นเพียงภาพฝัน หรือในฝัน  แต่ก็ขอให้ยึดข้อมูลจากภาพวาดเป็นหัวใจหลัก  เสมือนภาพวัดที่อยู่บนฐานข้อเท็จจริงนั่นเอง  หากขาดตกบกพร่องอะไร  ค่อยวิเคราะห์สังเคราะห์และชักลากจากแหล่งอื่นๆ เข้ามาสมทบ

 

กระบวนการนี้ก็ฝึกการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ถอดความรู้จากภาพ ฝึกการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ฝึกการทำงานแข่งกับเวลา  ฝึกการทำงานเป็นทีม  ฝึกการแก้ปัญหา หรือแก้สถานการณ์ร่วมกัน  ฝึกการออกแบบสื่อ ฯลฯ

 

 

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ภาพ (ฝัน) ครูรักษ์ถิ่น 

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

เมื่อนักศึกษาทั้ง 4 กลุ่มสังเคราะห์ข้อมูล หรือเรียกแบบยกระดับเป็นวิชาการสักหน่อยในทำนองว่า “บทสรุป” (Conclusion)  หรือ“ชุดความรู้”  เสร็จสิ้นแล้ว ก็เป็นกระบวนการนำเสนอข้อมูลในแบบที่นักศึกษาถนัด  หรือที่ผมมักพูดติดปากเสมอมาว่า “จงนำเสนอ (Reporting) ด้วยวิธีการของเราเอง” 

 

ภาพรวมอันเป็นคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของครูรักษ์ถิ่นที่นักศึกษาสะท้อน-นำเสนอออกมานั้น  พบประเด็นที่มีความถี่ซ้ำกว่าประเด็นอื่นๆ ดังต่อไปนี้

 

 

  • ครูต้องตื่นตัวเรียนรู้ตลอดเวลา 
  • กระตือรือร้นที่จะพัฒนาตัวเองในทุกๆ เรื่อง 
  • มีความรู้ หรือมีศาสตร์และศิลป์ในการสอน - จัดการเรียนรู้
  • มีจิตวิญญาณความเป็นครู  อาทิเช่น รับผิดชอบต่อหน้าที่ รัก เมตตาและไม่เลือกปฏิบัติต่อเด็ก อดทน เสียสละ 
  • เป็นแบบอย่างที่ดี ทั้งกาย วาจา ใจ

 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆ ชวนขบคิดเพิ่มเติม  เช่น  การเป็นนักพัฒนาชุมชน  และการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน  ซึ่งผมมองว่าก็ไม่แปลก เนื่องจากครูรักษ์ถิ่น คือคนที่กลับไปสอนหนังสือที่บ้านเกิดของตนเอง บทบาทและหน้าที่จึงไม่ได้อยู่แค่การสอนหนังสือ ทว่าหมายถึงต้องสอนชีวิตและพัฒนาท้องถิ่นควบคู่กันไป

 

 

และเท่าที่ผมวิเคราะห์จากสิ่งที่นักศึกษากำลังถูกบ่มเพาะภายใต้โครงการดังกล่าว  ผมค่อนข้างมั่นใจว่า  จริงๆ แล้วครูรักษ์ถิ่นเป็นประหนึ่ง “วิศวกร-สถาปนิกชุมชน” เลยก็ว่าได้  เพราะทำหน้าที่หลากหลาย  บางขณะอาจเป็นหมอชุมชน  บางเหตุการณ์อาจเป็นนักวิชาการ นักวิจัยชุมชน  เป็นโฆษกชุมชน เป็นทนาย (หมอความ)  เป็นนักไอที เป็นนักสื่อสารชุมชน เป็นนักวัฒนธรรม  ฯลฯ

 

ผมมองเช่นนั้น  และให้กำลังใจต่อนักศึกษา  เพราะเท่าที่มองเห็นตอนนี้  ยอมรับว่า ภารกิจ/พันธกิจของครูรักษ์ถิ่นยิ่งใหญ่จริงๆ 

 

ชื่นชม และให้กำลังใจ  นะครับ

 

 

เขียน : อังคาร 21 มีนาคม 2566
อาคารพัฒนานิสิต กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
 

 

 

หมายเลขบันทึก: 712029เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2023 14:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 เมษายน 2023 15:34 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ตามต่อ … เสมือนผมนั่งอยู่ในห้องนั้นด้วย ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ ผมอยู่ห่างจากห้องนั้นไปอีกปีกหนึ่งของอาคารเท่านั้น

ขอบคุณ อาจารย์แผ่นดินที่แวะมาเยี่ยมผมครับ 555

ครับ อาจารย์ Wasawat Deemarn

หมายถึง ผมเล่าให้เห็นภาพชัดเจน ทั้งกระบวนการ และผลลัพธ์ของกระบวนการเหรอครับ

หรือ เล่าว่า ผู้ช่วยวิทยากร โดดงาน 555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท