ญาติ เป็นคำสัญชาติไทยที่ใช้กันทั่วไป ความเข้าใจก็คือผู้ที่มีความเกี่ยวเนื่องกันทางสายโลหิต คำไทยแท้ที่ใช้คือ พี่น้อง ซึ่งบางครั้งเราเรียกรวมกันว่า ญาติพี่น้อง หรือบางครั้งก็ใช้ศัพท์สูงๆ ว่า วงค์วานย่านเครือ ..
ญาติ ตามบาลี มาจาก ญา รากศัพท์ แปลว่า รู้... ส่วน ติ เป็นปัจจัย (ญา+ติ = ญาติ)...ถ้าแปลว่า รู้ เฉยๆ ก็ไม่สามารถเข้าใจได้ จึงต้องมีอธิบายเพิ่มเติม
วจนัตถะ ญาตพฺโพติ ญาติ ผู้ใดอันเราควรรู้จัก เหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่าญาติ (ผู้ที่เราควรรู้จัก)
ญาติ จึงแปลตามวิเคราะห์ได้ว่า ผู้ที่เราควรรู้จัก นั่นคือ ผู้ที่เราควรรู้จักว่าเขาเป็นใคร เป็นพ่อแม่ ลุงป้า น้าอา ปู่ย่า ตายาย ลูกหลานเหลน หรือผู้ที่เราควรรู้ว่า คนนั้นเป็นน้องคนโน้น คนนี้เป็นหลานคนนั่น ...อะไรทำนองนี้...
อีกนัยหนึ่ง ความหมายของญาติตามนัยว่า ผู้ที่ควรรู้จัก หมายถึง คนที่เป็นญาติกันก็ควรจะเอาใจใส่ซึ่งกันและกันบ้างตามสมควร ไม่ควรคิดว่าธุระมิใช่ เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ หมางเมิน ดูหมิ่น หรืเหยียดหยาม...อะไรประมาณนี้...
หมายเหตุ
การสงเคราะห์ญาติ คำสอนในทางพระพุทธศาสนาก็มีไว้หลายนัยเช่น มงคล ๓๘ บอกว่า ญาตกานญจ สงฺคโห ..เอตมฺมงคลมุตฺตมํ การสงเคราะห์เหล่าญาติ ข้อนี้จัดเป็นมงคลอันสูงสุด..
พุทธจริยา ๓ ประการ มีข้อหนึ่ง คือ ญาตัตถจริยา การประพฤติเป็นประโยชน์ต่อพระญาติ นั่นคือ พระพุทธเจ้าทรงลดหย่อนระเบียบบางอย่างสำหรับผู้เป็นพระญาติที่เข้ามาบวชในพระธรรมวินัยของพระองค์ ..
เมื่อนางวิสาขาจะออกเรือนไปอยู่บ้านสามี พ่อของนางได้สอนหลักปฏิบัติไว้หลายอย่าง อย่างหนึ่งก็คือ เขาคืน หรือไม่คืนก็ควรให้ ได้แก่ บรรดาญาติที่เดือดร้อนแล้วมาหยิบยืมของกินของใช้ แม้ว่าเขาจะคืนหรือไม่คืน ก็ควรจะให้เขาไป ...อะไรทำนองนี้