ทำไมผมจึงเรียนเก่งน้อยลง


การอยู่กับคนเก่ง คนดี ก็จะทำให้เราเป็นคนเก่งมากขึ้น เป็นคนดีมากขึ้น

นักศึกษาบางคนเป็นคนที่เรียนหนังสือดีมาก ตั้งแต่ตอนเรียนอยู่ในชั้นมัธยม  แต่พอเข้ามาเรียนทันตแพทย์กลับรู้สึกขาดความเชื่อมั่น  รู้สึกว่าตนเองเป็นคนเรียนไม่เก่งอีกเหมือนเดิม

นี่เป็นเรื่องธรรมดา  อ. นำชัย แห่งภาควิชาทันตกรรมประดิษฐ์ มข. เคยให้ข้อคิดที่ดีไว้ว่า ทุกคนที่ได้ผ่านเข้ามาเรียนในคณะทันตแพทย์ล้วนแต่เป็นคนเก่งของโรงเรียน  ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่เมื่อคนเก่งหลายๆ คนมาอยู่ด้วยกัน  ก็ต้องย่อมมีคนเก่งมาก เก่งน้อยกว่ากัน

หัวใจจึงอยู่ที่เราเตรียมใจมาพบเพื่อนๆ ที่เก่งหรือเปล่า  หากเราคิดว่าการอยู่กับคนเก่ง  คนดี ก็จะทำให้เราเป็นคนเก่งมากขึ้น  เป็นคนดีมากขึ้นแล้ว  ก็ไม่น่าจะต้องน้อยเนื้อต่ำใจอีก  เพราะมันเป็นหนึ่งในขั้นตอนการเรียนรู้ชีวิตที่แท้จริงในสังคม  และจะทำให้เราเป็นทันตแพทย์ที่มีคุณภาพในที่สุด

ขอให้เจ้าของคำถามและผู้เข้ามาอ่านบล็อกช่วยอีเมล์ถึงอาจารย์อ๊อดด้วยครับว่าได้รับประโยชน์จากคำแนะนำของเราหรือไม่ อย่างไร เพื่อเราจะได้นำไปปรับปรุง จะขอบคุณมาก

หมายเลขบันทึก: 70471เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2007 16:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 18:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สวัสดีค่ะ อาจารย์อ๊อต

  • หากจัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันช่วยกันเรียนระหว่างนักศึกษาเก่งมากกับเก่งน้อย จะทำให้ นักศึกมั่นใจในการเรียนมากขึ้น มั้ยค่ะ
  • ขอชื่นชมกับโครงการเปิด blog ของอาจารย์อ๊อต เพื่อให้คำปรึกษากับลูกศิษย์ค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

 

อาจารย์อ๊อตค่ะ รูปอาจารย์ไม่แสดงค่ะ

สวัสดีปีใหม่ค่ะ อาจารย์อ๊อด

เป็น blog ที่น่าสนใจมากค่ะ เพราะนักศึกษาทันตแพทย์จะได้มีที่ให้คำปรึกษามากขึ้น นอกเหนือจากการปรึกษาจากอาจารย์ที่คณะ บางคนอาจไม่กล้าที่จะถามกับอาจารย์โดยตรง

ขอบคุณค่ะ

ต้องขอขอบคุณสำหรับกำลังใจและข้อคิดเห็นต่อ blog "dentcounseling" ไม่อยากเชื่อว่าภายในเวลาเพียง 1 วันก็มี response ได้ขนาดนี้ครับ

เห็นด้วยว่าอยากให้ blog นี้เป็นเวทีแลกเปลี่ยน เพราะผมก็ไม่คิดว่าผมและทีมงานจะสามารถรู้ไปหมดทุกเรื่องครับ

ผมคิดไปถึงว่า blog นี้จะช่วยให้ผู้ใหญ่เข้าใจเด็กมากขึ้นและในขณะเดียวกันก็ทำให้เด็กได้เรียนรู้ว่าผู้ใหญ่คิดอย่างไร  และมีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไรครับ

เจริญพร อาจารย์

เข้ามาอ่านครั้งหนึ่งแล้วเมื่อวาน แต่ก็ปล่อยให้ผ่านไป...วันนี้เปิดมาก็เจออีก อ่านซ้ำก็เลยอยากจะคุยบ้าง เพราะคิดเรื่องทำนองนี้มานานพอสมควรเหมือนกัน

คนเก่งทั้งนั้นที่สามารถสอบเอนฯ ได้ (สำนวนเก่า)..แต่ คนเก่งมารวมกัน ก็ต้องมีจัดลำดับคนเก่งขึ้นอีกครั้ง..ซึ่งประเด็นนี้ อาจารย์ก็คุยไว้แล้ว จึงผ่านไป...

ในฐานะเป็นครูบาลี ได้ ปธ.7 (7-9 จัดเป็นเปรียญเอก เค้าว่าคนเก่งเท่านั้นจึงจะเป็นเปรียญเอกได้) แต่จริงๆ แล้ว เปรียญเอกก็หาคนเก่งจริงๆ ยากส์ บางท่านอาจเก่งฉันทลักษณ์ บางท่านอาจชำนาญด้านแปลบาลีเป็นไทย หรือบางท่านอาจถนัดด้านแปลไทยกลับมาเป็นบาลี เป็นต้น ...จึงหาเปรียญเอกที่โดดเด่นจริงๆ ได้ยากส์

ในฐานะเคยเรียนระดับมหาบัณฑิตย์ ก็ไม่เห็นว่ามีคนเก่งจริงๆ เพราะบางคนเก่งแต่อังกฤษ แต่ความรู้ด้านอื่นๆ ไม่ค่อยกว้าง ต้องพึ่งพาผู้อื่นเรื่อยไป ไปค้นหาเองก็ทำให้เกิดความเนิ่นช้า..บางคน ความรู้ลึกและกว้าง เค้ารู้ซอกซอนไปเกือบทุกสาขาวิชา แต่ใช้คอมฯ ไม่เป็น พิมพ์ดีดก็ไม่ชำนาญ ก็ทำให้เกิดความเนิ่นช้า... บางคน อังกฤษก็ไม่เท่าไหร่ ความเฉียบคมก็ธรรมดา แต่ขยันเก็บข้อมูลทำให้ความเนิ่นช้าที่จะมีน้อยลงได้...ประมาณนี้.. จึงหาคนเก่งจริงๆ ได้ยากส์ เช่นกัน

เพียงสองนัยข้างต้น อาจสรุปได้ว่า เพราะระดับสูงขึ้นนั้น มีเนื้อหาเยอะ มีรายละเอียดเยอะ ต้องใช้ความชำนาญหรือความเก่งหลายๆ ด้าน ทำให้เรารู้สึกว่าคนเก่งน้อยลง นั่นคือ ไม่ค่อยมีคนเก่งจริงๆ ประมาณนั้น ( อาตมามักจะพูดให้นักเรียนฟังเสมอในสองนัยนี้)

อีกอย่าง เคยอ่านความคิดความเห็นของใครก็ไม่ค่อยแน่ใจ ... อ้างถึงอาจารย์ชำนาญการด้านกฎหมาย เค้าบอกว่า เคยมีการวิจัยผู้เชียวชาญสุดๆ ด้านกฎหมายหลายๆ ท่าน ..ผู้เชียวชาญเหล่านี้ สมัยเรียนโดยมากมิใช่พวกเรียนเก่ง เป็นพวกปานกลางหรือค่อนข้างดีเท่านั้น... คนเหล่านี้ ได้พัฒนาศักยภาพขึ้นมาหลังจากทำงานผ่านไป 5-15 ปี ..อาจารย์ท่านนี้ ยังอ้างว่า พวกที่เรียนจบกฎหมายใหม่ๆ ยังไม่มีหัวกฎหมาย หัวกฎหมายจะเกิดขึ้นหลังจากทำงานไปราว 5-10 ปี และถ้าผ่านไปแล้วยังไม่เกิดขึ้น ผู้นั้นก็จะไม่มีหัวกฎหมายแม้จะจบกฎหมายก็ตาม...

ประเด็นนี้ พอจะสร้างมุมมองได้อีกอย่างหนึ่งว่า ทำไมคนจึงเรียนเก่งน้อยลง เมื่อเรียนสูงขึ้น ...

อ๋อ อาจารย์ท่านนี้ยังมีนิทานมาเล่าเพิ่มเติมว่า มีนักกฎหมายคนหนึ่ง มาเรียนเนติบัณฑิตย์ฯ เรียนอยู่หลายปีก็ยังสอบไม่ได้ ...ภายหลังมีภรรยาก็ชอบเอาประเด็นด้านกฎหมายไปคุยกับภรรยา...นานๆ ภรรยาก็เริ่มโต้แย้ง และเค้าก็มีความเห็นแย้งกับภรรยา เมื่อฟันธงไม่ได้จึงไปถามอาจารย์ อาจารย์ก็บอกว่าภรรยาถูก เค้าผิด..เป็นอย่างนี้หลายครั้ง...สรุปว่า ถ้าใครเป็นอย่างนี้ก็ควรเลิกเรียนได้แล้ว 5 5 5

เจริญพร 

 

ที่ท่านมหาชัยวุฒิให้คำแนะนำเป็นอีกมุมมองหนึ่งที่ดีมากครับ  ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของเพื่อนอาวุโสคนหนึ่งที่เคยสอนลูกของเขาว่า "คนทุกคนล้วนมีคุณค่าในตนแตกต่างกันไป  ลูกจึงไม่ควรดูแคลนคนอื่น"

เราจึงควรค้นหาแง่มุมดีๆ ของตัวเองให้พบ และให้ความภาคภูมิใจกับมุมดีๆ ตรงนั้น

มีเรื่องหนึ่งที่อยากแลกเปลี่ยนค่ะ คือ เมื่อเขาเก่ง เราก็อาจจะให้โอกาสแต่ละคนแสดงความเก่งออกมา เราก็จะได้คนเก่งหลายๆ ด้าน มารวมกันกันเป็นทีม คงจะทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นได้มากมายเลยนะคะ

สวัสดีครับ อ.จรินทร์

ผมคิดว่า บล็อคนี้น่าจะมีประโยชน์สำหรับ นทพ. มาก ๆ เลยครับ ขอบคุณ อ. ที่มีทางออกให้กับพวกเราทุก ๆ คน เพื่อที่ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้สึกต่าง ๆ ที่อาจมีประโยชน์สำหรับคนอื่น ๆ ต่อไป

สวัสดีค่ะ,

คือเคยเป็นอาสาสมัครเจ้าหน้าที่ที่ช่วยงานแบบปัดกวาดเช็ดถูเสิร์ฟอาหารกวาดลานวัดอยู่ที่ มูลนิธิศูนย์วิปัสสนาเชียงใหม่ น่ะนะคะ  ได้เคยเห็นทุก ๆ ปีในช่วงเดือน มีค. และ เมษ. คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำนิสิตแพทย์ ปี ๑ จะขึ้น ปี ๒ มาเข้ารับการอบรมคอร์ส "พัฒนาจิตเพื่อให้เกิดปัญญาและสันติสุข"  หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ สอนการเจริญสติ วิปัสสนา ในแนวคุณแม่สิริ กรินชัย เป็นเวลา ๗ คืน ๘ วัน  แบบ ยกชั้นมาเลยค่ะ

ทั้งนี้ จัดเป็นกิจกรรมบังคับเลยน่ะนะคะ  ทางคณะจัดมา  เพราะคณบดี และอาจารย์แพทย์หลายท่าน  เล็งเห็นปัญหาที่มากกว่าที่อาจารย์เขียนในบล๊อกนี้อีกค่ะ  คือไม่ใช่แค่เรื่องรู้สึกว่าเก่งน้อยลง  แต่เป็นการที่เก่งมาแต่ละที่แล้วอีโก้ชนกันเปรี้ยงปร้างก็มี  หรือว่าความเครียดนานาชนิดที่คาดไม่ถึงก็มี  รวมทั้งการปรับตัวเข้ากับการเรียนมหาวิทยาลัยสำหรับเด็กที่เรียนเร็ว เรียนเก่ง สอบเทียบมา หรือเดินทางมาจากภาคอื่น ๆ ฯลฯ ด้วยค่ะ

 เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ได้ผลมาก  นิสิตรุ่นแรก ๆ ที่จบออกไปนี่ล่ะค่ะ  เป็นคนรณรงค์ขอให้รุ่นน้อง ๆ ต่อไปได้เข้ามา  และต้องเข้าทุกคน  ไม่งั้นไม่ได้ข้ามฟากไปเรียนปี ๒

จากแบบสอบถามที่ให้กรอกในวันสุดท้าย  ทั้งของคณะเอง  และของทางศูนย์วิปัสสนาเชียงใหม่  พบว่า นิสิตแพทย์ได้รับการฝึกฝนให้มีวิธีที่จะเข้าใจวิธี "อยู่กับปัจจุบัน"  ได้อย่างมีคุณภาพ  สามารถมองไปเห็นถึงเหตุและผลของปัญหาต่าง ๆ  ง่ายขึ้น 

แน่นอนค่ะ เรื่องช่วยลดเรื่องความเครียดหรือผลพลอยได้เรื่องการเรียน หรือ ความจำนั้นมันตามมาเอง  ถึงแม้เราจะไม่ไปบอกให้คาดหวังน่ะนะคะ 

 ประธานของมูลนิธิศูนย์วิปัสสนาเชีัยงใหม่  และเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของอาจารย์ที่สอนในคอร์สนี้  คือ อ.พิชัย กรรณกุลสุนทร นั้น  ปัจจุบันท่านเป็นคณบดี คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏเชียงใหม่ค่ะ  และท่านก็เขียนบล๊อกอยู่ที่นี่ด้วย  ยังไงอาจารย์ลองแวะเวียนไปคุยหรือลองถามแนวทางดูก็ดีนะคะ

เพราะจากที่สังเกตุการณ์เก็บข้อมูลจะทำวิทยานิพนธ์ของตัวเองมาสองสามปี  พบว่า  อย่างปัญหาเรื่อง "ทำไมผมจึงเรียนเก่งน้อยลง" นี้  เป็นเรื่องง่าย ๆ มากเลยค่ะ  พอเด็กคนไหนได้ลองเข้าคอร์สนี้ ได้ลองฝึกเจริญสติเองด้วยกายกับใจในวิธีที่พระพุทธเจ้าสอนมานี่ล่ะค่ะ  ไม่เกินสามสี่วัน  คำตอบออกมาเองแล้วในใจโดยไม่ต้องรอใครมาบอก หรือ รอเลคเชอร์เช้าเย็นที่ทางศูนย์มีให้เลยค่ะ  

นี่คือจากที่เห็นนิสิตแพย์เชียงใหม่รายงานในคอร์สน่ะนะคะ  ลองไปดูเวบบอร์ดของพวกน้อง ๆ นิสิตแพทย์ที่มช.ก็ได้ค่ะ  น่าจะยังมีเขียนเรื่องนี้อยู่บ้างเป็นระยะ ๆ ว่าเขานำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง

 คำตอบที่ว่านั้นก็คือ  ทุกอย่างมันไม่มีอะไรเที่ยงไงคะ  คือพอเขากำหนดสติเป็นได้ไม่นาน และได้ทำอย่างต่อเนื่องภายในคอร์สเขาก็จะรู้แล้วว่า  แม้นแต่กายเขา ใจเขาเอง  แป๊บเดียวเดี๋ยวก็เปลี่ยนไป เปลี่ยนมาไม่รู้ตั้งกี่สิบอย่างแล้ว   ประสาอะไรกับสิ่งสมมติที่เป็นนามธรรมอย่าง "ความเก่ง" 

แล้วเมื่อสิ่งนั้นมัีนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงซะอย่างนั้น  พอพยายามจะไปยึดติดคว้าเอาไว้แน่นเป็นสรณะว่ามันจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เสมอไปชั่วฟ้าดินสลาย  ก็อกหักเป็นธรรมดาสิคะ  มันก็เป็นทุกข์แน่นอนล่ะ  เรื่องอย่างนี้น้อง ๆ นิสิตพอเขาปฏิบัติแล้วเห็น "ความจริง" ขึ้นมาในใจ  ส่วนใหญ่มักจะขำตัวเองกันค่ะ   

 แล้วยิ่งพอได้มาปฏิบัติเองในคอร์ส อย่างนี้  ซึ่งฟรีด้วยน่ะนะคะ  หลายคนส่งคุณพ่อคุณแม่มาเข้าบ้างทีหลังก็มี  บางคนเดินมาบอกในวันท้าย ๆ ก็มีว่า  ตอนนี้รู้แล้วว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุข  ทุกอย่างนี้เขาพูดของเขาเองค่ะ

คิดว่าสิ่งที่อาจารย์ได้ยกขึ้นมากล่าวตอนท้ายบทความนี้  คือ 

" หัวใจจึงอยู่ที่เราเตรียมใจมาพบเพื่อนๆ ที่เก่งหรือเปล่า  หากเราคิดว่าการอยู่กับคนเก่ง  คนดี ก็จะทำให้เราเป็นคนเก่งมากขึ้น  เป็นคนดีมากขึ้นแล้ว  ก็ไม่น่าจะต้องน้อยเนื้อต่ำใจอีก  เพราะมันเป็นหนึ่งในขั้นตอนการเรียนรู้ชีวิตที่แท้จริงในสังคม  และจะทำให้เราเป็นทันตแพทย์ที่มีคุณภาพในที่สุด"

 เป็นสิ่งที่ใช่ที่สุดแล้วล่ะค่ะ  นั่นก็คือ  การเรียนรู้ที่จะสามารถอยู่กับผู้อื่นได้  ทำงานกับผู้อื่นได้โดยราบรื่น  เป็นการเตรียมตัวก้าวไปสู่ชีวิตที่แท้จริงข้างหน้า   

บางทีกระบวนการศึกษาเราก็เตรียมเด็กไว้แต่เชิงวิชาการ  เป็นเด็กที่เก่งมาก  แต่มักโดดเดี่ยว  แม้นกระทั่ง "ใจ" ของตัวเองแท้ ๆ  ก็ยังไม่รู้จัก  เพราะฉะนั้น  ประสาอะไรคะ  ที่จะเป็นผู้ที่รู้จักเห็นอกเห็นใจ ประนีประนอม เอาใจเขามาใส่ใจเรา  และทำงานเป็นทีมเวิร์คได้  มีจิต เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ได้ทันทีเหมือนเปิดสวิทช์ หลังจากจบจากม. ๖ แล้ว?

แต่นี่ล่ะค่ะ  คอร์ส ๗ วันที่สอนให้รู้จักการทำงานของ "ใจ" ตัวเองนี่ล่ะค่ะ  พร้อมที่จะท้าพิสูจน์อยู่ ว่าสามารถทำให้เด็กนักศึกษาทันตแพทย์ที่เีก่ง ๆ ของอาจารย์  สามารถมีภูมิคุ้มกันใจตัวเองได้เพิ่มอีกหนึ่งอย่าง  สามารถเป็นเด็กที่เก่งด้วย  และดีด้วยได้  ภายใน ๗ วันนี้เองค่ะ

ความจริงก็มีสอนกันอยู่ทั่วประเทศน่ะนะคะ   ตัวเองก็เคยไปมาหลายที่  แต่ถูกโฉลกกับที่เชียงใหม่น่ะค่ะ เลยเลือกใช้เป็นที่เก็บข้อมูล

พระอัสสชิท่านเคยกล่าวโปรดพระสารีบุตรตั้งแต่พระสารีบุตรยังไม่ได้บวชว่า "เย ธัมมา เหตุ ปัทวา  ธรรมทั้งหลายนั้นหลั่งมาแต่เหตุ"  ลูกศิษย์อาจารย์นั้นเขาขาด "ความเชื่อมั่น"  และ "รู้สึก" ไปว่าไม่เก่งเหมือนเดิม  ก็ยิ่งชัดเลยใช่ไหมคะว่า  ทุกข์นั้นมีเหตุมาจากใจเขานั่นเอง  

ทุกข์มาจากในใจ  ก็ต้องแก้จากในใจน่ะนะคะ  คิดว่า  

คอร์ส ๗ วันที่ว่านี้  สอนให้รู้จักกระบวนการรับ และ รู้ สิ่งต่าง ๆ ที่มา "กระทบ" ประสาทสัมผัสต่าง ๆ รวมทั้งใจด้วยอย่างไม่ "กระเทือน" นั่นเองค่ะ  เหมือนสอนใจให้ติดเกราะ

เพราะฉะนั้น  คิดว่าไม่ต้องเสียเวลาไปวิเคราะห์เหตุแห่งทุกข์นั้นเพราะปัจจัย "ภายนอก" เลยค่ะ  ไม่ว่าจะเป็น วิชาเรียนที่มากขึ้น  หรือ เพื่อนคนอื่นที่เก่งกว่า  เนิ้อหายากขึ้น ลักษณะการเรียนเปลี่ยนไป

ทุกอย่างมันเป็นเรื่องของ "การเปลี่ยนแปลง" ทั้งนั้นใช่ไหมคะ  มันเป็น "ธรรมดา" ของโลกทั้งนั้นเลย  เพราะฉะนั้น  ถ้าเขาสามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ อย่างที่มันเป็นโดยเนื้อแท้ในธรรมชาติแล้ว  เขาก็อาจจะคลายความยึดติดบางอย่างลง  

พอคลายได้  ก็ไม่ทุกข์  แถมยังจะมีสายตาที่เป็น objective และไม่ subjective  ซึ่งตรงนี้แหละค่ะถ้าเขาเกิดมีปัญหาเรื่องการปรับตัวเข้ากับการเรียนลักษณะใหม่ที่ต่างไปจากมัธยมจริง ๆ  เขาก็จะสามารถสามารถเข้าใจกระบวนการแก้ปัญหานั้น ๆ ได้อย่างไม่ีมีอารมณ์เข้า่ไปวุ่นวายและไม่เดือดร้อนใจมากนัก

 

เป็นตัวช่้วยน่ะค่ะ  พูดง่าย ๆ

 

เด็ก ๆ ที่เอ็นท์ติดเ้ข้ามากันระดับนี้แล้วฉลาดระดับไม่ธรรมดาแล้วล่ะค่ะ  จากที่ไปเก็บข้อมูลมา สังเกตุมา  ทั้งคอร์สบุคคลทั่วไป และคอร์สนิสิตแพทย์มช.   เพราะฉะนั้นจึงมั่นใจมากว่า  หากนักศึกษาทันตแพทย์ของอาจารย์ ได้มีโอกาสลองไปฝึกลักษณะนี้ดูบ้าง  จะทำได้ดีมาก ๆ แน่นอน 

ที่สำคัญ  จะเป็นประโยชน์ไม่เฉพาะแต่กับการเรียนของเขาเอง และครอบครัวคนใกล้ตัวในปัจจุบัน แต่ยังรวมไปถึงการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขชนิดที่เติมเต็มได้ในภายภาคหน้า และเผื่อแผ่ไปถึงคนที่เขาจะได้มีโอกาสไปสัมผัสและเป็นตัวอย่างให้ชื่นชมด้วยค่ะ 

เพราะวิชานี้  ลองมีความ"เข้าใจ" ในแง่พื้นฐานแล้ว  ไม่ต้องท่อง ไม่ต้องจำ ไม่ต้องวิจัย ก็ไม่มีวันลืมค่ะ

ด้วยความเคารพ,

ณัชร 

 

ต้องขอขอบคุณคุณณัชรที่กรุณาให้คำแนะนำแนวทางสำหรับนักศึกษาทันตแพทย์ในการสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเอง  เพื่อจะใช้ในการแก้ไขปัญหาอื่นๆ ที่จะผ่านมาในชีวิตได้

จะขอลองปรึกษากับผู้เกี่ยวข้องดูครับ  แต่เชียงใหม่ค่อนข้างไกลจากขอนแก่นมาก  อาจจะต้องลองหาสถานที่ที่เทียบเคียงกันได้ในภาคอีสานแทน

อยากได้ลิงค์ของเว็บบอร์ดที่นศ. เชียงใหม่ถ่ายทอดประสบการณ์ที่ว่านี้ครับ  หากเป็นไปได้

ได้อ่านที่คุณ ณัชร ได้แนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม ก็เลยอยากจะแนะนำ website บ้างน่ะค่ะ www.wimutti.net ไม่ต้องเดินทางไกลค่ะ แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันในการปฏิบัติวิปัสสนา  

แค่ลองเข้าไปอ่าน ศึกษาด้วยตนเอง, download MP3 มาฟัง หรือมีข้อสงสัยก็เข้าไปถามในกระดานถามตอบของ web ได้น่ะค่ะ

ขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่อาจารย์ได้เขียนไว้ว่า ทำไมนักศึกษาจึงรู้สึกว่าตนเรียนเก่งน้อยลง   อันนี้หนูเห็นด้วยอย่างยิ่งในเรื่องที่ว่า ในคณะทันตะมีคนเก่งหลายๆคนมาอยู่รวมกัน  ความเก่งจึงเป็นเชิงเปรียบเทียบกันเองระหว่างนักศึกษาแต่นั่นน่าจะเป็นผลพวงมาจากชั้นมัธยม    แต่ยังมีประเด็นในเรื่องความเก่งที่หนูว่าน่าเป็นห่วงกว่า ก็คือ  การตัดเกรดบางวิชานั้นอิงกลุ่ม   ดังนั้นเมื่อเกิดกรณีการปั่นrequirementขึ้น ทำใหคนที่กำลังจะแย่กลับแย่ลงๆเรื่อยๆ  คนที่ปั่นrequirementก็ขึ้นเรื่อยๆ  ซึ่งประเด็นนี้หนูว่าน่าเป็นห่วง เพราะมันกำลังแสดงถึงความไม่เอื้ออาทรกันระหว่างเพื่อน  เรื่องแบบนี้หาอ่านได้เรื่อยๆในwebboard  แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนนะคะ  แค่บางคนเท่านั้น  การกระทำอาจไม่ได้ตั้งใจทำใหเพื่อนเกรดน้อยลง  แต่อาจทำเพื่อให้ตัวเองได้เกรดมากขึ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท