บ้านหลังเรียน : เดินเท้าเข้าหมู่บ้าน


ไม่ใช่การไม่ให้ค่าความสำคัญกับการเรียนรู้ของเด็กๆ หรอกนะครับ แต่เราต้องการให้เด็กๆ ไม่เคร่งเครียดกับการเรียนรู้  อยากให้พวกเขาเรียนรู้อย่างเพลิดเพลินและมีสิทธิ์ที่จะเรียนรู้ด้วยวิธีการของเขาเอง  ซึ่งวิธีการ หรือกระบวนการที่ว่านั้น จะเป็นไปในเชิงปัจเจกบุคคล หรือพวกเขาร่วมกันออกแบบ ก็ได้

เป็นอีกวันหยุดที่รู้สึกมีคุณค่าและความหมายอย่างมหาศาล  เพราะเป็นวันหยุดที่ชีวิตของใครหลายๆ คน โดยเฉพาะเด็กๆ และเยาวชนในหมู่บ้านได้ใช้เวลาว่างมาเรียนรู้ร่วมกัน

วันนี้  (อาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน 2565)  เด็กบ้านหลังเรียน  (บ้านหนองบัว ตำบลดอนกอก อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์)  ยังคงตื่นตัวที่จะรวมกลุ่มทำกิจกรรมสร้างสรรค์ในแบบฉบับของตนเอง ตามครรลอง “บันเทิงเริงปัญญา” 

 



การบ้าน : จากโรงเรียนกลับสู่บ้านหลังเรียน
 

วันนี้ – ก่อนเข้าเวทีตามกำหนดการที่ถูกออกแบบไว้  ทีมงานได้รับแจ้งจากเด็กๆ ว่า “มีการบ้านจากโรงเรียน”

คำว่า “มีการบ้านจากโรงเรียน”  ในที่นี้หมายถึง หลายต่อหลายคนต้องประดิษฐ์สิ่งของจากวัสดุเหลือใช้ไปส่งครูที่โรงเรียน  ซึ่ง ณ วินาทีนั้น “ทุกคนยังไม่ทำ”

แท้ที่จริงแล้ว วันนี้เราออกแบบกิจกรรมไว้คือการ “เพาะต้นไม้”  เพื่อให้เด็กๆ นำไปเพาะเลี้ยงไว้ที่บ้านของตนเอง เพื่อเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของการเรียนรู้ร่วมกัน  และผูกโยงเชิงปรัชญาให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การเติบโตของตนเองผ่านกระบวนการเติบโตของต้นไม้ 



ครั้นได้ฟัง “การบ้าน” ของเด็กๆ แล้ว  ทั้งผมและทีมงาน ก็ปรับเปลี่ยนกิจกรรมตรงนั้นเลย – เรียกได้ว่า “ปรับหน้างาน”  ด้วยการให้ทุกคนช่วยกันคิดว่า “จะทำอะไรดี”

คำตอบที่ได้ก็คือ  “นำขวดพลาสติกมาทำเป็นกระถางต้นไม้และกล่องใส่ปากกา-ดินสอ-ไม้บรรทัด”



เมื่อได้คำตอบ/มติอันเป็นเอกฉันท์ เด็กๆ ก็ออกเดินเท้าเก็บขวดพลาสติกในพื้นที่ใกล้ๆ ตัวเพื่อนำมา “รีไซเคิล”  - ตอนนั้นคิดในใจแบบง่ายๆ ว่า “ดีเหมือนกัน เป็นการเก็บขยะในหมู่บ้านไปในตัว”  ซึ่งยึดโยงกับเรื่อง “จิตอาสาและสิ่งแวดล้อมในชุมชน” ไปพร้อมๆ กัน

 

การประดิษฐ์สิ่งของเหลือใช้เช่นนี้  เราให้ทุกคนร่วมด้วยช่วยกัน  มิใช่ให้ทำแต่เฉพาะคนที่ได้รับใบงาน-การบ้านมาจากโรงเรียน  เป็นการย้ำเน้นถึงแนวคิดการเรียนรู้ความเป็นทีม การอยู่ร่วมกันแบบพี่น้อง และเน้นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง เพื่อให้เกิดเป็น "ทักษะ"

 



เดินเท้าเข้าหมู่บ้าน : สัมผัสจริงกับสถานที่สำคัญของหมู่บ้าน
 

พอเสร็จสิ้นกิจกรรมข้างต้น ก็ถึงคิวกิจกรรม “เดินเท้าเข้าหมู่บ้าน”  

กิจกรรมเดินเท้าเข้าหมู่บ้าน  เป็นกิจกรรมที่เด็กๆ เรียกร้องต่อเนื่องมาสองสัปดาห์ แต่เรายังไม่สบโอกาสพาเด็กๆ เดินเที่ยวท่องเข้าไปในหมู่บ้าน  เพราะคิดว่ายังอยากบ่มเพาะหลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างให้มากกว่านี้สักหน่อย  

ถ้าจำกันได้ในบันทุกก่อนหน้านี้  ผมและทีมงานออกแบบกระบวนการล่วงหน้าเพื่อเชื่อมโยง-ยึดโยงสู่กระบวนการ “เดินเท้าเข้าหมู่บ้าน” มาเป็นระยะๆ อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น 

  • การวาดภาพสถานที่สำคัญในหมู่บ้าน 
  • การบอกเล่าเรื่องบุคคลสำคัญในหมู่บ้าน
  • เหตุการณ์สำคัญในหมู่บ้าน
  • การบอกเล่าประวัติหมู่บ้าน
  • การวาดภาพหมู่บ้านในฝัน  

    ซึ่งทั้งหมดนั้น  เราหนักแน่นในแนวคิดและเฝ้าสังเกตว่าเด็กๆ พร้อมหรือยัง –  
    และวันนี้ เราประเมินตรงกันว่า  “เด็กๆ  กระหายที่จะเดินเท้าเข้าหมู่บ้าน” เป็นที่สุด  




 


ด้วยเหตุนี้ กระบวนการเรียนรู้จึงเริ่มต้นจากการ “เปิดวงโสเหล่” ว่า “(เรา)จะไปที่ไหนดี”  โดยให้เด็กๆ ร่วมคิดและทบทวนไปยังกระบวนการที่ผ่านมา แล้วให้เด็กๆ ตัดสินใจร่วมกัน ซึ่งคำตอบที่ได้มาก็คือ “สวนหลังบ้านของเพื่อนในกลุ่ม” 
 

จะว่าไปแล้ว ถ้าจำกันได้  สถานที่จะไปนั้นมิใช่ข้อมูลใหม่ที่ผุดโผล่ขึ้นมาสดๆ ในวันนี้  แต่ปรากฏชัดเจนในเวทีแรกเริ่มที่สมาชิกในกลุ่มได้เปิดเปลือยถึง “พื้นที่ที่เขาหลงรัก” และนั่นก็มีน้ำเสียงที่ชัดแจ้งในการเชื้อเชิญเพื่อนๆ เข้าไปท่องเล่นด้วยกัน




ด้วยความที่ไม่ได้กำหนดพื้นที่ของการเข้าเรียนรู้ล่วงหน้า  เราจึงไม่ได้ประสานผู้ปกครอง หรือเจ้าของพื้นที่ดังกล่าวไว้ล่วงหน้า อาศัยว่า “คิดตรงนั้น-ตัดสินใจตรงนั้น”  และเจ้าตัว อันหมายถึงเด็กในกลุ่มผู้เป็นเจ้าของบ้านยินดีปรีดาที่จะให้เพื่อนๆ ไปเยี่ยมเยียน –

เรากำหนดกติกาง่ายๆ (กติกาแบบหลวมๆ) ประมาณว่า ระหว่างที่เดินเท้าเข้าไปนั้น ให้สังเกตเรื่องราวระหว่างทางและจดบันทึกสิ่งที่สังเกตได้ตามอัธยาศัย  - เน้นการจดบันทึกลงในสมุดของแต่ละคน  โดยแต่ละคนสามารถตั้งคำถามแล้วตอบเองก็ได้  จะตั้งคำถามไว้ก่อนโดยไม่ต้องรีบหาคำตอบก็ไม่ว่ากัน   รวมถึงตั้งคำถามแล้วซักถามผู้ที่เกี่ยวข้องในระหว่างทาง ก็ย่อมสามารถกระทำได้ 

 เรียกได้ว่า  เปิดกว้างให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ในแบบฉบับที่เขาถนัด !
 



การเปิดกว้างเช่นนี้  ไม่ใช่การไม่ให้ค่าความสำคัญกับการเรียนรู้ของเด็กๆ หรอกนะครับ แต่เราต้องการให้เด็กๆ ไม่เคร่งเครียดกับการเรียนรู้  อยากให้พวกเขาเรียนรู้อย่างเพลิดเพลินและมีสิทธิ์ที่จะเรียนรู้ด้วยวิธีการของเขาเอง  ซึ่งวิธีการ หรือกระบวนการที่ว่านั้น จะเป็นไปในเชิงปัจเจกบุคคล หรือพวกเขาร่วมกันออกแบบ ก็ได้ 






กระนั้น/เหนือสิ่งอื่นใด

ทั้งผมและทีมงาน  แอบมีความหวังแบบลึกเร้นเงียบๆ ในใจว่า  การเดินเท้าเข้าหมู่บ้านครั้งนี้จะช่วยจุดประกายและนำไปสู่การเกิดกระบวนการบางอย่างในตัวตนของเด็กๆ  เสมือนการหว่านเพาะเมล็ดบางอย่างลงในตัวตนของเด็กๆ  อาทิเช่น ทักษะการสังเกต  การจดจำ การบันทึก  การขบคิด ฯลฯ 

หรือแม้แต่การยกระดับขึ้นมาที่หมายถึง เด็กๆ สามารถวิเคราะห์ได้ว่า...

  • สถานที่ที่ตรงนั้น สัมพันธ์กับวิถีความเป็นอยู่ของคนในครอบครัวนั้น อย่างไร 
  • สถานที่ตรงนั้น กำหนดพฤติกรรมผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่างไร  
  • สถานที่ตรงนั้น คือ ระบบการผลิตในครัวเรือน อย่างไร 
  • สถานที่ตรงนั้น มีภูมิปัญญา เช่นใดบ้าง 
  • สถานที่ตรงนั้น มีระบบนิเวศ อย่างไร
  • สถานที่ตรงนั้น มีการจัดการทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง อย่างไร
    ฯลฯ
     




และที่สำคัญ  สถานที่ตรงนั้น พร้อมที่จะเป็น “ห้องเรียนชีวิต”  ให้เด็กๆ  ได้ย่างกรายเข้าไปเรียนรู้และใช้ชีวิตร่วมด้วยหรือไม่  

ถ้าได้รับการอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่  นั่นหมายความว่า ได้เวลาที่กระบวนการ “ข้าวสุก-ปลาตาย” ต้องกรีดกรายออกมาสบตากับเด็กๆ เสียแล้ว 

ครับ – ถ้าเกิดขึ้นจริง มันคงวิเศษมากๆ




เขียน : 1 กรกฎาคม 2565
ภาพ : ธัญวรัตม์  มีชาติ

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท