บ้านหลังเรียน : ประวัติหมู่บ้าน - ผู้คนและหมู่บ้านในฝัน


ทุกๆ อย่าง ยังดำเนินไปในมิติบันเทิงเริงปัญญา โดยยึดเด็กๆ และชุมชนเป็นศูนย์กลาง  อันหมายถึง ชวนให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ตัวเองและบริบทในชุมชนบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองอย่างช้าๆ และเป็นไปในลักษณะของการ “เป็นทีม”

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2565 กลุ่มเด็กบ้านหลังเรียน (บ้านหนองบัว ตำบลดอนกอก อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์)  ได้ร่วมกันขับเคลื่อนต่อยอดกิจกรรมจากโครงการ “บ้านหลังเรียน” ที่กลุ่มนิสิตศิลปะสัญจร และศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ริเริ่มบุกเบิก-นำร่องไว้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 

กิจกรรมดังกล่าว ยังคงดำเนินการที่ “สวนลุงวิทย์”  - พื้นที่ชีวิตที่ถูกนำร่องเนื่องในกิจกรรมนี้

 

 

รู้ตัวตน : รู้เรื่องราวบ้านเกิดเมืองนอน
 

กิจกรรมวันนี้เปิดเวทีด้วยการบอกเล่าเรื่องราว  “ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน”  ซึ่งเป็นโจทย์ที่ให้ไว้จากสัปดาห์ที่แล้ว  กล่าวคือ ผมและทีมงานฝากให้เด็กๆ ได้ไปสืบค้นข้อมูลเรื่องบริบททั่วไปของบ้านเกิดตัวเอง  โดยเน้นประเด็น ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน และเน้นให้หาข้อมูลผ่านปากคำของคนในครอบครัว หรือชาวบ้านมากกว่าการสืบค้นจากอินเทอร์เน็ต

เหตุที่ให้โจทย์ประเด็นเดียว เพราะต้องการให้เด็กๆ มีสมาธิในเรื่องนี้โดยตรง หรือแม้แต่ไม่สร้างภาระให้กับเด็กๆ จนกลายเป็นความรู้สึกหน่วงหนักและไม่สนุกกับการเรียนรู้

เหตุที่เน้นให้สอบถามจากผู้คนมากกว่าสืบค้นจากอินเทอร์เน็ต เพราะต้องการสร้างความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวและในหมู่บ้าน รวมถึงการสร้างคุณค่าให้เกิดกับผู้คนที่เกี่ยวข้อง 

 

 

กระบวนการเช่นนี้ เป็นการชักชวนให้เรียนรู้ ไม่ได้บังคับ หรือมีกติกาใดๆ ว่า “ต้องทำทุกคน”

เรียกได้ว่า  เป็นการเรียนรู้ตามอัธยาศัย  ใครใคร่ทำก็ทำ ใครใคร่นั่งฟังก็มานั่งฟัง  นั่นเอง

ซึ่งก็เป็นที่น่าชื่นใจ  เพราะเอาเข้าจริงๆ  เด็กหลายๆ คนทำการบ้านมาอย่างดี – มีรายละเอียดที่ชัดเจน ถึงแม้ส่วนหนึ่งจะมาจากการไปศึกษาจากแหล่งข้อมูลที่ศาลาประชาคมกลางหมู่บ้านก็เถอะ  ก็ถือว่าดีเยี่ยมมากแล้ว  อย่างน้อยก็ได้ไปเรียนรู้จากสถานที่จริง – 
 

ครับ - เหมือนการช่วยให้เด็กๆ ได้รับรู้ว่า  นอกจากตัวตนของผู้คนแล้ว  ในหมู่บ้านของตนเองมีแหล่งข้อมูลอยู่ที่ใดบ้าง 

 

 

 

หมู่บ้านในฝัน : ผู้คนในฝัน
 

อีกหนึ่งกิจกรรมถัดมาเป็นประหนึ่งการต่อยอดจากกิจกรรม “ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน”  นั่นคือการวาดภาพในหัวข้อ “มนุษย์ที่พึงประสงค์ในหมู่บ้าน”

กิจกรรมนี้มุ่งให้เด็กๆ ได้สะท้อนแนวคิดผ่านระบบและกลไกของศิลปะ  เพื่อถ่ายทอดถึงคุณลักษณะของผู้คนที่พึงประสงค์ หรือผู้คนที่อยากให้มีในหมู่บ้าน หรือแม้แต่คุณลักษณะที่เด็กๆ “อยากมี-อยากจะเป็น” 



การวาดภาพ มีเงื่อนไขง่ายๆ นั่นคือ “การคิด-จินตนาการถึงใครสักคน”  ที่เป็น “ต้นแบบ-ฮีโร่”  หรือแม้แต่ตัวละครสมมุติที่เด็กชื่นชอบ  โดยให้อธิบายประกอบภาพของตนเองถึงเหตุผลที่ “ชื่นชอบ –อยากเป็น-อยากให้มีในหมู่บ้าน”

ใช่ครับ – เป็นเรื่องอุดมคติ แต่ก็ไม่ผิดที่จะให้เด็กๆ ได้ออกแบบชีวิต - ออกแบบเรื่องราวหมู่บ้านและผู้คนในอุดมคติที่พวกเขาหลงรัก

 


นี่คือกระบวนการเรียนรู้ง่ายๆ แต่งดงามที่เกิดขึ้นในวันนั้น 

ทุกๆ อย่างยังคงค่อยเป็นค่อยไป 

ทุกๆ อย่าง ยังดำเนินไปในมิติ “บันเทิงเริงปัญญา” โดยยึดเด็กๆ และชุมชนเป็นศูนย์กลาง  อันหมายถึง ชวนให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ตัวเองและบริบทในชุมชนบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองอย่างช้าๆ และเป็นไปในลักษณะของการ "เรียนรู้อย่างเป็นทีม”
 

 


ท้ายที่สุด

เป็นอีกครั้งที่ผมและทีมงานยังไม่ด่วนสรุปว่า  กิจกรรมเหล่านี้ยึดโยงเรื่องการเรียนรู้ตัวเองและสำนึกรักษ์บ้านเกิด รวมถึงประเด็นที่ว่า  เด็กๆ ได้เรียนรู้อะไรบ้างจากกิจกรรมที่ว่านั้น  เช่นเดียวกับการประเมินว่าเด็กๆ เข้าใจและเกิดทักษะการเรียนรู้ต่างๆ บ้างแล้ว หรือยัง  ยกตัวอย่างเช่น

  • เครืองมือการเรียนรู้  เช่น  การเก็บข้อมูล  การสังเกต  การซักถาม  
  • ทักษะการฟัง  การขบคิด การวิเคราะห์  
  • ทักษะการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ผ่านรูปแบบอันหลากหลาย ทั้งภาพวาด  การเล่าเรื่อง  ฯลฯ
  • ทักษะของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • ทักษะการอยู่ร่วมกัน - พึ่งพากันและกัน
  • ศิลปะบำบัด
  • ฯลฯ
     

 

เขียน :  ศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม 2565
ภาพ :  ธัญวรัตม์  มีชาติ

 

 



ความเห็น (1)

การทำกิจกรรมกับเด็ก จะเป็นเรื่องราวให้เด็กเรียนรู้และจดจำตลอดไปค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท