เพื่อครูและนักเรียน เป็นนักพัฒนาตนเอง  3. พัฒนาโดยเรียนรู้จากผู้มีมุมมองต่างจากมุมมองของเรา


 

ตอนที่ ๑   ตอนที่ ๒ 

อันตรายใหญ่หลวงของชีวิตมนุษย์คือ ถูกครอบให้อยู่ในที่แคบโดยไม่รู้ตัว   ที่แคบในที่นี้ หมายถึงแคบทางความคิด หรือด้านกระบวนทัศน์    ที่เรียกว่า อยู่ในห้องเสียงสะท้อน (echo chamber) (๑)   ทั้งเสียงสะท้อนของตนเอง และของคนที่คิดเหมือนๆ กัน    ทำให้ไม่เข้าใจความซับซ้อนของเรื่องราวและกิจการที่ตนกำลังเกี่ยวข้องหรือดำเนินการ   

เครื่องมือหนึ่ง ที่ช่วยเอื้อให้ดึงดูดพลังของความหลากหลาย มาใช้งาน    โดยเฉพาะมุมมองที่หลากหลาย ต่อโครงการ หรือกิจการ    เรียกชื่อว่า Developmental Evaluation (DE)     เพราะ DE ใช้พลังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) ในเรื่องหรือกิจการนั้นๆ    มาร่วมกันเป็นเจ้าของ DE   โดยพลังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านหนึ่งที่ต้องการคือ การมีมมุมมองต่อเรื่องนั้นแตกต่างกัน   หรือมีต่างมุมมอง   

ผมเขียนเรื่อง DE ไว้เป็นจำนวนมากที่ (๑)    โดยขอแนะนำให้ครูเข้าไปชมวิดีทัศน์ที่ผมไปพูดที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๖๕ ที่ (๒)     และได้เขียนเรื่องห้องเสียงสะท้อนที่ปิดกั้นโอกาสได้รับมุมมองที่ต่าง ที่ (๓)    

พฤติกรรม และคำพูดง่ายๆ ของครู ที่จะช่วยให้นักเรียนตัวน้อยๆ ค่อยๆ คุ้นกับสภาพที่คนเรามีความคิดต่างกัน    และเห็นคุณค่าของการมีความคิดต่าง    ทำโดย เมื่อครูตั้งคำถาม และนักเรียนคนแรกตอบ    ครูถามต่อว่า “ใครมีคำตอบที่ต่างจากนี้บ้าง”    และใช้คำถามนี้ไปเรื่อยๆ    แล้วจึงย้อนกลับมาทำความเข้าใจว่า คำตอบแรกมีข้อมูลหลักฐานวิธีคิดอย่างไร   แล้วไล่ไปเรื่อยๆ ที่คำตอบที่ ๒ ที่ ๓ ...   การเรียนรู้จะมีลักษณะที่คำนึงถึงความซับซ้อนของเรื่องนั้น    และจะช่วยให้นักเรียนมีวิธีเรียนแบบที่เกิดการคิดขั้นสูงไปในตัว    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษะในการตั้งคำถาม    และท่าทีเคารพผู้มีความเห็นต่าง   รวมทั้งมีกระบวนทัศน์เห็นคุณค่าของความเห็นต่าง   

มุมมอง หรือความเห็นที่ต่างกันจะมีคุณค่าต่อเมื่อเราตั้งคำถาม “ทำไม”    ทำไมจึงคิดเช่นนั้น    เป็นการชวนให้คิดอย่างมีข้อมูลหลักฐาน   อย่างมีฐานคิดหรือกระบวนทัศน์ (mindset) ที่เหมาะสม  และมีวิธีคิดเชิงเหตุผล    ซึ่งนำสู่ทักษะการคิดขั้นสูง   

สภาพแวดล้อมการเรียนรู้เช่นนี้    จะหล่อหลอมให้นักเรียนมีความคิดที่ซับซ้อนและเชื่อมโยง    มองเห็นเรื่องต่างๆ ในมิติที่ลึก และจากหลายมุมมอง     และที่สำคัญช่วยการพัฒนาทักษะหรือสมรรถนะด้าน “อารมณ์และสังคม” (socio-emotional skills) ไปในตัว    คือมีทักษะแสดงความเคารพต่อความเห็นที่แตกต่างจากความเห็นของตนเอง   

ครูสามารถตั้งคำถามลากเข้าสู่ระบบนิเวศการเรียนรู้ในมิติของ V (values – ค่านิยม) ใน VASK   เพื่อให้นักเรียนค่อยๆ เห็นคุณค่าของค่านิยมที่ดี หรือค่านิยมเชิงบวก ต่อชีวิตที่ดีของตนเอง   และเห็นอันตรายของค่านิยมด้านลบ ที่จะทำลายอนาคตของตนเอง   

ครูควรทำความเข้าใจ และฝึกตั้งคำถามแนว “สุนทรียปุจฉา” (appreciative inquiry)    เพื่อช่วยให้การตั้งคำถามมีความละมุนละไมทางอารมณ์    กระตุ้นจิตวิทยาเชิงบวกในห้องเรียน   และนักเรียนได้เรียนรู้วิธีพูดวิธีถามที่ให้ความราบรื่นเชิงสังคม   

ผมสะท้อนคิดเรื่องคุณค่าของ appreciative inquiry ไว้ที่ (๔)     และเพื่อทำความเข้าใจ appreciative inquiry ในรายละเอียดขอแนะนำหนังสือที่เขียนโดย ดร. ภิญโญ รัตนาพันธุ์  ซึ่งดาวน์โหลดได้ที่ (๕)     

วิจารณ์ พานิช

๑๑ มิ.ย. ๖๕ 

 

หมายเลขบันทึก: 703139เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2022 17:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2022 17:16 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท