เพื่อครูและนักเรียน เป็นนักพัฒนาตนเอง  1. พัฒนา VASK ไปพร้อมๆ กัน


 

ดีใจที่จินตนาการชื่อหนังสือเล่มใหม่ เพื่อครูและนักเรียน เป็นนักพัฒนาตนเอง ได้รับการยอมรับ จากทีมงานที่เคยทำหนังสือด้านการเรียนรู้ด้วยกันมาหลายปี    และจะเกิดโครงการเรียนรู้ไปด้วยกัน ระหว่างทีมทำหนังสือ กับครูจาก ๑๑ โรงเรียนที่อาสาเข้ามาทดลองเอาแนวคิด ครูและนักเรียน เป็นนักพัฒนาตนเอง ไปทดลองประยุกต์ใช้   แล้วนำมาสะท้อนคิดเพื่อเรียนรู้ไปด้วยกัน  และเขียนออกมาเป็นหนังสือ   

เป็นการเรียนรู้และสื่อสารว่า ทั้งครูและนักเรียนต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน   นักเรียนเรียนรู้ร่วมกับครูและเพื่อนๆ   ครูเรียนรู้ร่วมกับศิษย์และเพื่อนครู   โดยที่ในความเป็นจริงแล้ว   การเรียนรู้ซับซ้อนกว่านั้นมาก   เพราะนักเรียน (และครู) มีการเรียนรู้จากบ้าน  จากคนรอบข้าง จากสื่อต่างๆ และทางอินเทอร์เน็ต   มีทั้งการเรียนรู้ด้านบวก และการเรียนรู้ด้านลบหรือด้านที่เป็นโทษ    โดยด้านที่เป็นโทษคือด้านที่ชักจูงค่านิยม (V – values) ผิดๆ    เช่นค่านิยมใช้ของหรูราคาแพง    ค่านิยมอวดรวยอวดเด่น    

การพัฒนาตนเองด้านค่านิยม (V – values) จึงน่าจะสำคัญที่สุด   โดยครูทำตัวเป็นตัวอย่าง    เช่น ค่านิยมในการแต่งกาย (พอเหมาะพอดี สุภาพเรียบร้อย) ค่านิยมในความประพฤติด้านกาย วาจา ใจ ที่สมัยนี้อาจเรียกว่าเป็นด้าน socio-emotional (สังคม-อารมณ์)    ที่วง PLC ในโรงเรียนน่าจะเอามาตีความร่วมกัน    จะร่วมกันส่งเสริมให้ครูและนักเรียนพัฒนาด้านค่านิยมอย่างไรบ้าง   โดยมีค่านิยมเดิมอะไรบ้างที่ควรร่วมกันแก้ไข   และจะหาทางส่งเสริมให้ครูพัฒนาค่านิยมอะไร ส่งเสริมให้นักเรียนพัฒนาค่านิยมอะไร   โดยที่ในทางปฏิบัติจริง จะดำเนินการอย่างบูรณาการ คือพัฒนา VASK ไปพร้อมๆ กัน   แต่ตอนประเมิน (assessment for learning – formative assessment) จะประเมินแยกกัน   

สำคัญรองลงมาคือด้านเจตคติ (A - attitude) หรือความคิด/กระบวนทัศน์ ต่อสิ่งต่างๆ    ที่เป็นเจตคติเชิงบวก  กระบวนทัศน์เชิงพัฒนา    มีความเมตตากรุณาต่อตนเอง และเมตตากรุณาต่อกันและกัน   มีความคิดว่ามนุษย์เรามีความไม่สมบูรณ์ ต้องเอาใจใส่พัฒนาตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน   

เรื่องทักษะ (S – skills)  และความรู้ (K – knowledge) ได้เสนอรายละเอียดไว้แล้วในบันทึกเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๖๕ ()     จะเห็นว่ามิติการเรียนรู้เชิงทักษะและความรู้นั้น ไม่แยกกัน    ต้องเรียนไปด้วยกัน คือใช้การฝึกหรือการลงมือปฏิบัติ   ซึ่งจะมีเป้าหมายที่ซับซ้อน และระดับของผลลัพธ์การเรียนรู้ก็มีความซับซ้อนมาก    ดังนั้น เรื่องการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้จึงท้าทายมาก    ว่าผู้เรียนได้เรียนรู้ระดับใด    การเรียนรู้ของครูในด้านการทำความเข้าใจระดับของการเรียนรู้ และหาวิธีการประเมินที่วัดระดับของการเรียนรู้ได้อย่างแยกแยะ จึงท้าทายมาก   

เอาเข้าจริง ครูต้องประเมินทั้ง V, A, S, K เป็นระยะๆ    ทั้งของนักเรียนและของครูเอง    เพื่อใช้ผลประเมินเป็นข้อมูลป้อนกลับสู่การปรับปรุงวิธีทำหน้าที่ครู   หรือป้อนกลับสู่การเรียนรู้ของครูนั่นเอง  โดยต้องไม่ลืมว่า การป้อนกลับนั้นต้องเป็น constructive feedback – การป้อนกลับเพื่อสร้างสรรค์ 

วิจารณ์ พานิช

๓๐ พ.ค. ๖๕

      

หมายเลขบันทึก: 702953เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2022 16:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2022 16:29 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท