มนุษย์เราต่างก็อยู่ในห้องแห่งเสียงสะท้อน


 

ปรากฏการณ์ “ห้องแห่งเสียงสะท้อน” (echo chamber) เป็นสิ่งครอบงำมนุษย์โดยเราไม่รู้ตัว    เกิดจากมนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม   และสบายใจที่จะอยู่ในแวดวงของ “คนคอเดียวกัน”    ทำให้ไม่ได้รับสารจากกลุ่มคนที่คิดต่าง  มีค่านิยมที่ต่าง    โอกาสเรียนรู้จึงลดลงหรือมีน้อย    โดยเฉพาะการเรียนรู้เชิงกระมวนทัศน์   

ในโลกยุคข้อมูลข่าวสาร    และยุคไอที    ที่คนต้องเลือกเสพข่าวและข้อมูล     คนส่วนใหญ่ก็จะเลือกเข้า “ห้องแห่งเสียงสะท้อน” ตามธรรมชาติของมนุษย์    ทำให้กลายเป็นคนแคบ คิดแคบ ไม่ค่อยเปิดรับความคิดต่าง    ซึ่งในหลักทางการศึกษาเรียกว่า เกิด transformative learning ยาก   

ระบบการศึกษาที่ดี จึงต้องวางพื้นฐานให้แก่เด็กตั้งแต่วัยเยาว์   ให้เป็นคนที่ไม่ถูกครอบงำโดย “ห้องแห่งเสียงสะท้อน”  คือให้เป็นคนมีใจเปิดรับข้อคิดเห็นที่แตกต่างเป็น    ถือเป็นสมรรถนะอย่างหนึ่ง     ซึ่งจริงๆ แล้วการพัฒนาสมรรถนะนี้ทำไม่ยาก

คือทำโดยจัดการเรียนรู้เชิงรุก (active learning)   ให้เด็กเรียนจากปฏิบัติการของตนเอง ร่วมกับเพื่อน    ตามแนวทางของ Kolb’s Experiential Learning Cycle ที่เสนอว่า คนเราเรียนรู้โดยสร้างความรู้ใส่ตนเอง   ผ่านการปฏิบัติแล้วสังเกตผลและสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมๆ กับคิดใคร่ครวญไตร่ตรอง (reflection)    เพื่อสังเคราะห์ขึ้นมาเป็นหลักการ (conceptualization) หรือทฤษฎี    แล้วนำหลักการที่คิดขึ้นเองนั้น ไปลองใช้ในสถานการณ์ใหม่ หรือในสถานการณ์เดิมเพื่อประบปรุงให้ได้ผลดียิ่งขึ้น   

เท่ากับเด็กๆ ได้รับการฝึกให้เชื่อตนเอง มากกว่าเชื่อตามที่มีผู้บอกต่อๆ กันมา   

ที่สำคัญยิ่งกว่า   การเรียนรู้แบบนี้มีการฝึกปฏิบัติเป็นทีมหรือเป็นกลุ่ม    เมื่อถึงตอนสังเกตแล้วใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection หรือ AAR – After Action Review)    ก็จะมีการเปิดใจพูดและฟังสิ่งที่แต่ละคนสังเกตเห็นและคิดว่าสิ่งเหล่านั้นบอกหลักการอะไร   การได้ฟังข้อสังเกตและความคิดของเพื่อน    จะทำให้เด็กประจะกษ์ด้วยตนเอง ว่าคนเราคิดต่างกัน   แม้จะร่วมกิจกรรมเดียวกัน แต่ก็เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เหมือนกัน    และแม้จะเห็นเหมือนกัน ก็อาจคิดตีความแตกต่างกัน   การได้ฟังสิ่งที่แตกต่างนี้มีประโยชน์ ทำให้ตัวเราได้ฝึกมองสิ่งต่างๆ กิจกรรมต่างๆ ในหลากหลายมุมมอง   

ผมเชื่อว่า active learning, experiential learning, reflective learning เหล่านี้    จะค่อยๆ หล่อหลอมเด็กและเยาวชน ให้เป็นคนที่รู้เท่าทันปรากฏการณ์ “ห้องแห่งเสียงสะท้อน”    และไม่ถูกมันครอบงำความคิด

วิจารณ์ พานิช

๓ เม.ย. ๖๕

        

หมายเลขบันทึก: 702621เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2022 19:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2022 19:18 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท