การฟิวส์ข้อสอบ ห้องมั่นคงคืออะไร


การฟิวส์ข้อสอบ ห้องมั่นคงคืออะไร

10 พฤษภาคม 2565

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

 

การฟิวส์ข้อสอบคืออะไร

กล่าวอย่างสรุป มาตรการฟิวส์ข้อสอบเป็นการเก็บข้อสอบให้อยู่ในความมั่นคง (ห้องมั่นคง) ปลอดภัย ไม่ถูกเปิดเผยหรือถูกลักข้อสอบ เพิ่มเติมจากการล็อกกุญแจ ด้วยการติดผนึก กระดาษกาวบางๆ ที่ซองบรรจุข้อสอบ ลังบรรจุข้อสอบ ถุงบรรจุข้อสอบ ประตู และกุญแจ ห้องมั่นคง (ห้องเก็บข้อสอบ) ด้วยต้องมีลายเซ็นชื่อกำกับของกรรมการทุกครั้งที่ปิดผนึก และกรรมการกรรมการต้องร่วมอยู่ด้วย ทุกครั้งที่เปิดห้องห้องมั่นคง และมีการบันทึกภาพทุกครั้งที่ มีการเปิดและปิดห้องมั่นคง

อีกอย่าง ขั้นตอนการจัดเรียงข้อสอบ บรรจุในซองของเก็บข้อสอบ (เรียงตามเลขที่นั่งสอบ และห้องสอบ ที่กำหนดไว้แล้ว) ตลอดจนย่อยทำลายข้อสอบที่เกินจำนวน ด้วยเครื่องย่อยข้อสอบ โดยเจ้าหน้าที่สำนักพิมพ์ ภายในเวลาอันจำกัด และอยู่ภายใต้การเฝ้าสังเกตการณ์ของกรรมการ อยู่รอบนอก ตลอดเวลา และเมื่อดำเนินการเสร็จ ทั้งซองบรรจุข้อสอบ และกระดาษที่ถูกย่อย ต้องเก็บแพ็ก แยก และฟิวส์ไว้ และบรรจุลงลัง และลงถุงทะเลขนาดใหญ่ ที่มีกุญแจ และฟิวส์ที่กุญแจ และขนไปเก็บที่ห้องมั่นคง โดยกรรมการต้องไปร่วมกำกับ อยู่ด้วยทุกขั้นตอน

ซึ่งก่อนหน้าการพิมพ์ข้อสอบ กระดาษแม่พิมพ์ข้อสอบ มีลักษณะ เป็นแถบขนาดใหญ่ยาว มีการฟิวส์ปิดตลอดแนว ไม่สามารถมองเห็นข้อสอบจากภายนอก และมีการฟิวส์ และเก็บในห้องมั่นคงตลอด มีกรรมการ กำกับดูแลทุกขั้นตอน รอจนกว่า จะถึงคิวพิมพ์ และตามโปรแกรมนัดหมาย กับชุดเรียงข้อสอบ

โดยสำนักพิมพ์ (โรงพิมพ์ หรือผู้พิมพ์) จะมีการพิมพ์ข้อสอบ หลายแหล่ง และมีโปรแกรมการพิมพ์ ตามที่จัดไว้แล้ว

ศัพท์คำว่า “ฟิวส์” (Fuse) คำนี้คือ ฟิวส์ไฟฟ้า ที่ไฟมาเกินจะขาด ตัดไฟ เพื่อไม่ให้ไฟไหม้ เปรียบเหมือน เตือน (รู้ทันที) ว่าจะเกิดการทุจริต เพราะมีร่อยการแกะ (เปิด) ข้อสอบมาก่อนสอบ

เป็นขั้นตอนที่เพิ่มจากการล็อกกุญแจ ตามปกติ และเพิ่มงานให้คณะกรรมการ ร่วมตรวจสอบ และรับผิดชอบ อย่างเป็นระบบ อย่างมีขั้นตอน

 

หมายเหตุดู

* คู่มือการสรรหาและเลือกสรรเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ : การสอบแข่งขัน, คู่มือการสอบแข่งขันตาม หนังสือ สำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1004/ว 17 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2556 เรื่อง การสรรหาโดยการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ, ศูนย์สรรหาและเลือกสรร สำนักงาน ก.พ., จำนวน 164 หน้า, กุมภาพันธ์ 2562.

** คู่มือปฏิบัติงานสรรหาสำหรับบุคลากรสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา, กลุ่มงานบริหารบุคคล สำนักอำนวยการ.

 

ข้อสงสัยในกระบวนการสรรหาในการบริหารงานบุคคล

มีข้อสังเกตต่างๆ มากมาย ในกระบวนการสรรหา ทั้งกรณีสอบแข่งขัน หรือ การสอบคัดเลือก ในทั้งสองกรณีที่คล้ายเหมือนกัน เช่น การกำหนดหัวข้อ วิชาความรู้ที่จะนำมาออกข้อสอบ เพื่อวัดความรู้ความสามารถ ในตำแหน่งนั้น (1) เกี่ยวข้องกับมาตรฐานตำแหน่งหรือไม่ (2) เป็นไปโดยเปิดเผย(ประกาศ) หรือไม่ อย่างไร

กระบวนการทำงานของคณะกรรมการควบคุมการออกข้อสอบ คณะกรรมการจัดทำข้อสอบ คณะกรรมการเก็บรักษาข้อสอบ คณะกรรมการจัดการสอบ คณะกรรมการตรวจข้อสอบ มีความสัมพันธ์การทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยที่ทำการออกข้อสอบ จัดพิมพ์ข้อสอบ เก็บรักษาข้อสอบ จัดทำการสอบ ตรวจข้อสอบ มีมาตรการ ขั้นตอนอย่างไร

การทำหน้าที่ของกรรมการสอบหละหลวมเพียงใด หรือไม่ อาจทำให้คนจ้องจับผิด เห็นจุดผิด จุดข้อสงสัย ทำให้คนภายนอกไม่เชื่อมั่นในระบบการสอบของท้องถิ่น

ข้อสงสัยในผลคะแนนที่ตรวจของเครื่องตรวจฯ “กบกระโดด” “กบสไลด์” คือข้อแตกต่าง เรื่องผลคะแนนสอบของผู้เข้าสอบที่สูงต่ำแตกต่างกันมาก หรือบางรายได้คะแนนเป็น 0 (ศูนย์) กรณีเครื่องตรวจไม่ตรวจ (eject) หรือ กรณีการฝนระบายรหัสกระดาษคำตอบผิด  

กรณีจ้างมหาวิทยาลัยดูสัญญาว่าจ้างทำอะไรบ้าง ก.กลางไปกำกับ ร่วมตรวจสอบควบคุมอย่างไร มีช่องว่างรอยต่อหรือไม่ รอยต่อโหว่หรือไม่ กรรมการสอบกลุ่มใด เกิดช่องโหว่

การออกข้อสอบ จะไม่ระบุตัวบุคคลบอกว่าใครเป็นคนออกข้อสอบ บอกเพียงว่า ระดับอาจารย์ออกข้อสอบ ซึ่งต้องออกมารวมกันมีจำนวนข้อสอบที่มากกว่าข้อสอบที่นำไปสอบจริง และยังมีกรรมการชุด กลุ่ม หรือมหาวิทยาลัย เป็นผู้คัดเลือกข้อสอบอีก

มีการการฟิวส์ข้อสอบ[*] การเก็บข้อสอบในห้องมั่นคงอย่างถูกต้องหรือไม่ (เป็นหลักการเดียวกันกับ การจัดเก็บบัตรเลือกตั้งในจัดการเลือกตั้ง)

กรณีมีการเข้ารหัสลับของบุคคล เช่น การเปิด “ห้องมั่นคง” [**] (ห้องเป็นคลังข้อสอบ) เหมือนการเปิดตู้นิรภัย (กำปั่น) ต้องทำตามแนวทาง แบ่งผู้ถือรหัสเป็นชั้นๆ เพื่อตรวจทาน ไม่มอบรหัสให้คนเดียวทำ

ข้อสอบต้องเก็บในห้องมั่นคง เพราะข้อสอบมีจำนวนเอกสารที่มากกว่าเงิน ไม่สามารถเก็บไว้ในตู้นิรภัยได้ กุญแจล็อกห้อง ก็จะมีสายยูล็อกด้วยกุญแจหลายดอก ถือคนละดอก และมีการฟิวส์ประตูห้องด้วยกระดาษกาวบาง เซ็นทับด้วยลายมือคณะกรรมการพร้อมถ่ายรูปเก็บภาพ ตอนทำงานด้วย การเปิดห้องเปิดฟิวส์ก็จะมีกรรมการเป็นพยาน และถ่ายภาพก่อนและกำลังเปิดด้วย ...

 

หมายเหตุ

[*] มาตรการ รปภ. ลับสุดยอดด้วย “ระบบฟิวส์ (Fuse) ข้อสอบ ป้องกันการรั่วไหลของข้อสอบที่เป็นระบบตรวจสอบระบบได้”ที่ไม่ได้กล่าวชี้แจงไว้ ที่หน่วยผู้ดำเนินการสอบต้องทำอย่างเคร่งครัด ในการบริหารจัดการสอบแข่งขันที่มีขั้นตอนอย่างน้อย 7 ขั้นตอน ได้แก่ (1) กำหนดกรอบอัตราที่รับ (2) กำหนดเกณฑ์การสอบ (3) ประกาศเกณฑ์การสอบ และรับสมัคร (4) การออกข้อสอบ ควบคุมการจัดทำข้อสอบ รักษาความปลอดภัยข้อสอบ (5) การจัดสถานที่สอบ และลำดับที่นั่งสอบ สำหรับบริหารจัดการได้อย่างประสิทธิภาพ (6) ทำการสอบ เก็บรวบรวมคำตอบ (7) ตรวจความเรียบร้อย กระดาษคำตอบ ก่อนเข้าเครื่องตรวจ

“การฟิวส์ข้อสอบ” คือการเก็บข้อสอบให้อยู่ในความมั่นคง ปลอดภัย ไม่ถูกเปิดเผยหรือถูกลักข้อสอบ เพิ่มเติมจากการล็อกกุญแจ ด้วยการติดผนึก กระดาษกาวบางๆ ที่ซองบรรจุข้อสอบ ลังบรรจุข้อสอบ ถุงบรรจุข้อสอบ ประตู และกุญแจ ห้องมั่นคง (ห้องเก็บข้อสอบ) ด้วยต้องมีลายเซ็นชื่อกำกับของกรรมการทุกครั้งที่ปิดผนึก และกรรมการกรรมการต้องร่วมอยู่ด้วย ทุกครั้งที่เปิดห้องห้องมั่นคง และมีการบันทึกภาพทุกครั้งที่ มีการเปิดและปิดห้องมั่นคง

อ้างจาก คู่มือการสรรหาและเลือกสรรเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ : การสอบแข่งขัน, สำนักงาน ก.พ., 2562 & อ้างจาก มสธ.

[**]ห้องมั่นคง หมายถึง ห้องนิรภัยในการเก็บข้อสอบ เปรียบเสมือนตู้นิรภัย หรือ “ตู้กำปั่นเก็บทรัพย์สิน” หรือ “ตู้เซฟเก็บสมบัติ” ที่มีความปลอดภัยสูงจากการลักขโมยหรือจากความเสียหายใดๆ

 

มหากาพย์ความผิดพลาดการสอบบริหารท้องถิ่น 2564

ข่าวความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในการสอบคัดเลือกตำแหน่งสายงานผู้บริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และ เทศบาล เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2564 มีผู้เข้าสอบกว่า 19,000 คน ในศูนย์สอบ 5 ภาค ประกาศผลสอบเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 มีผู้สอบผ่านประมาณ 9,000 คน

การสอบดำเนินโดย คณะกรรมการกลางข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ก.จ.) และ คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล (ก.ท.) ซึ่งจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ม.ก.) โดยสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม ในการจัดสอบด้วยวงเงินจ้าง 6 ล้านบาท ตามสัญญาจ้างเลขที่สัญญา 25/2564 ลงวันที่ 18 มกราคม 2564 ทั้งนี้ การดำเนินการสอบโดย ก. กลางนี้เป็นผลมาจากคำสั่ง หน.คสช.ที่ 8/2560 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ที่อ้างเพื่อการแก้ไขปัญหาการทุจริตการบริหารงานบุคคลที่ผ่านมา ซึ่งดำเนินการโดย ก. จังหวัด

แต่มีผู้เข้าสอบสายงานอำนวยการท้องถิ่น (แท่งอำนวยการท้องถิ่น) ได้ร้องเรียน และยื่นฟ้องต่อศาลปกครองมาตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นจำนวนหลายราย ตามข่าวว่ามีผู้ได้รับผลกระทบจากการจัดสอบ มีผู้ร้องเรียนจำนวนสูงถึง 400-500 คน มีผู้เข้าสอบกว่า 140 คน ได้ร้องขอดูข้อสอบ

ข่าวฉาวดำเนินมายาวนานถึงปัจจุบันร่วม 6 เดือน ในขณะที่ สถ.ยืนยันว่า “ม.เกษตรศาสตร์ทำงานตามสัญญาจ้าง 8 ประการครบ” เมื่อ 21 มีนาคม 2565 กลุ่มผู้เข้าสอบสายบริหารเป็นร้อยบุกยื่นหนังสือร้องเรียนถึง มท.1 และยื่นนายกประยุทธ์ด้วย เพื่อขอความเป็นธรรม โดยอ้างว่าได้พบความผิดปกติของการตรวจข้อสอบ และบัญชีคะแนนผู้สอบได้ ที่กลุ่มผู้ร้องเรียนเรียกว่า “บัญชีกบกระโดดกบสไลด์” เพราะมีข้อแตกต่างเรื่องคะแนน ที่มันต่างกันมากมาย เปรียบเหมือนกับ “กบกระโดด”

สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ นร 1005.04/ 40933 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2565 ขอให้ตรวจสอบและระงับกระบวนการสรรหาข้าราชการและพนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดและเทศบาล

จนกระทั่งล่าสุดอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อสถ.) แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสรรหาตำแหน่งสายงานผู้บริหาร ตามคำสั่ง อสถ.ที่ 1/2565 ลงวันที่ 27 เมษายน 2565 และ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 อสถ. ยอมรับว่า “โปรแกรมพิมพ์ข้อสอบสายบริหารท้องถิ่น “คลาดเคลื่อน” กระทบคะแนนสอบท้องถิ่น ยังไม่พบการทุจริต” พร้อมแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาความผิดปกติของข้อสอบในการดำเนินการสรรหา ตำแหน่งสายบริหารระดับต้น กลาง สูง ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้ง อบจ. เทศบาล และเมืองพัทยา จำนวน 1 คณะ ตามความเห็นของคณะอนุกรรมการสรรหาฯ

 

กระบวนการขั้นตอน (Processing) การจัดสอบที่เป็นมาตรฐาน

เพื่อป้องกันการทุจริต การรั่วไหลของข้อสอบ หรืออื่นใด และเพื่อความโปร่งใส และความน่าเชื่อถือของการจัดการสอบ ที่เป็นระบบอย่างมีมาตรฐาน คือ “การฟิวส์ข้อสอบ” (fuse) ซึ่งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ต้นแบบการจัดระบบการสอบด้วยจำนวนผู้เข้าสอบมากทั่วประเทศเป็นเรือนหมื่นได้ดำเนินการมาอย่างเคร่งครัด

 

สารคามโมเดล แก้กระดาษคำตอบสอบแข่งขัน อบต.

เป็นกรณีศึกษาที่ใกล้เคียงเพื่อเทียบเคียงในความเสียหายที่เกิดขึ้นและการเยียวยาแก้ไข สำหรับการสอบสายงานผู้บริหารในครั้งนี้ (30 ตุลาคม 2564) ซึ่งแน่นอนว่า “การตรวจข้อสอบใหม่ทั้งหมด” ย่อมมีผลกระทบต่อผู้ที่สอบได้ และโดยเฉพาะประกาศขึ้นบัญชีผู้สอบได้ เพราะ กรม สถ.ได้ทยอยเรียกรายงานตัวผู้สอบได้ เพื่อเลือกตำแหน่งว่างใน อปท. และส่งให้ ก.จ.จ. และ ก.ท.จ.เห็นชอบแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใหม่แล้ว จนหลายบัญชีได้บรรจุแต่งตั้งไปจนหมดบัญชีแล้ว ที่ผ่านมามีกรณีศึกษาหลายกรณีที่มีการร้องเรียน การฟ้องคดีปกครอง เพื่อให้ยกเลิกประกาศบัญชีผู้สอบได้ (สอบแข่งขันหรือสอบคัดเลือก) 

เมื่อปี 2557 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่งตั้งนายอร่าม อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ เป็นหัวหน้าคณะกรรมการดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นพนักงานส่วนตำบลของ อบต. ในจังหวัดมหาสารคาม จำนวน 12 แห่ง รวมถึง อบต.กู่สันตรัตน์ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม  

นายอร่าม (พนักงานมหาวิทยาลัย) เรียกเงินจากนายวรวิทย์ อดีตนายก อบต. กู่สันตรัตน์ จำเลยที่ 1 เป็นค่าตอบแทน จำนวน 3.3 ล้านบาท เพื่อเป็นการตอบแทนในการดำเนินการช่วยเหลือในการลบกระดาษคำตอบเดิมออกแล้วดำเนินการใช้ดินสอดำฝนคำตอบใหม่แทน ทำให้ผลคะแนนสอบที่ได้ไม่ตรงต่อความเป็นจริง (ปลอมคะแนนผลสอบ)

เมื่อ 30 กรกฎาคม 2564 ศาล อท.ภาค 4 ได้พิพากษาจำเลย (และพวก จำนวน 37 ราย) มีความผิด นายอร่าม มีความผิดรวม 14 กระทง จำคุก 140 ปี รับสารภาพลดกึ่งเหลือ 70 ปี (รับจริงเหลือ 50 ปี)

การฝนคำตอบให้ใหม่ (เฉพาะผู้เข้าสอบที่จ่ายเงิน) และเรียกรับเงิน 3.3 ล้านผิดอาญาตาม มาตรา 123/1 แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ประกอบมาตรา 192 วรรคหนึ่ง แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ทำให้ผลคะแนนสอบเปลี่ยนแปลง ลำดับที่สอบได้ (เรียงลำดับตามคะแนนรวม 3 ภาค) เปลี่ยนแปลง คนสอบตกแต่สอบได้ คนสอบได้จริง แต่ได้ลำดับที่หลัง บรรจุทีหลังคนได้คะแนนจริงน้อยกว่า ซึ่งบางรายสอบตก (ผลคะแนนรวมในแต่ละภาคต่ำกว่าร้อยละ 60)

 

ข้อสังเกตเทียบเคียงกรณีมีการตรวจให้คะแนนข้อสอบใหม่

มีประเด็นข้อสังเกตที่ลองเทียบเคียง ในการตรวจคะแนนข้อสอบสายบริหารใหม่ (สอบเมื่อ 30 ตุลาคม 2564) ที่มีผลทำให้คะแนนที่ตรวจใหม่ “เปลี่ยนแปลง” แต่การบรรจุแต่งตั้งตั้งบรรจุตามลำดับที่ ตามผลคะแนนที่สอบได้ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เช่น

(1) คนสอบตกเดิม ตรวจคะแนนใหม่ผลสอบได้ คนที่เคยสอบได้ แต่ผลใหม่ตก

(2) เมื่อเรียงผลคะแนนใหม่ ผลที่เกิดขึ้นคือ

(2.1) คนที่บรรจุไปก่อนแล้วผลใหม่สอบได้ แต่คะแนนน้อยกว่าคนที่สอบได้ใหม่ ลำดับที่ใหม่อยู่หลัง ต้องเรียกบรรจุทีหลัง

(2.2) คนที่บรรจุไปก่อนแล้วผลใหม่สอบตก จะไม่มีสิทธิบรรจุ

(2.3) ความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งที่คำนวณเป็นเงินได้และคำนวณเป็นเงินไม่ได้ หากมีการฟ้องเรียกค่าเสียหายให้ชดใช้ละเมิด หน่วยราชการใดจะรับผิดชอบ คือ กระทรวงมหาดไทย หรือกรม สถ.

 

อำนาจการสอบสวนข้อเท็จจริงในการสอบสายบริหารท้องถิ่นของ อสถ. 

เป็นข้อสังเกตว่าเป็นความมั่ว สลับซับซ้อนของโครงสร้างกฎหมาย และสายการบังคับบัญชาตามกฎหมายบริหารงานบุคคลท้องถิ่น ในหลายประเด็น อาทิ

(1) อสถ.ไม่มีอำนาจใดๆ ในคณะกรรมการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ก กลาง) เพราะ เลขา ก กลาง คือ รอง อสถ.

(2) ก.ถ. หน่วยงานบริหารงานบุคคลที่จัดทำมาตรฐานกลางท้องถิ่น สังกัด สป.มท. ซึ่งมีอำนาจควบคุม ก กลางได้ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 แต่ อสถ.ไม่มีอำนาจนี้เลย

(3) ในทางโครงสร้างส่วนราชการส่วนกลาง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 อสถ. เป็น ผบ. อสถ. และข้าราชการ สถ.ทุกคนทุกตำแหน่ง ฉะนั้น ในทางวินัย อสถ.จึงมีอำนาจสอบสวน จนท.สถ.ทุกคน

(4) แต่ในการสอบคัดเลือกสายงานผู้บริหารท้องถิ่นเมื่อ 30 ตุลาคม 2564 ในกำกับของ ก กลาง ที่ได้รับมอบอำนาจมาจากคำสั่ง หน.คสช.ที่ 8/2560 ในครั้งนี้นั้น มีข้อสังเกตที่ซับซ้อน เหมือน “รัฐซ้อนรัฐ” คือ อำนาจเหนือในการกำกับดูแลข้าราชการ สถ.มันซ้อนๆ กัน กล่าวคือ 

(4.1) มีการจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ในวงเงิน 6 ล้านบาท เป็นผู้ดำเนินการสอบ ในการกำกับของ อสถ. ภายใต้อำนาจของ ก กลาง

(4.2) จากข้อ (4.1) ตามประกาศ “กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น” เรื่อง ประกาศผู้ชนะการเสนอราคางานจ้างดำเนินการสรรหาข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ให้ดำรงตำแหน่งสายงานผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยวิธีคัดเลือก

(4.3) ผู้มีอำนาจดำเนินการพัสดุเพื่อหาผู้รับจ้าง และงบประมาณที่ใช้จ้างเป็นงบของ สถ. ซึ่งผิดหลักการพัสดุและงบประมาณ เพราะ ที่จริงงบประมาณและผู้ดำเนินการด้านพัสดุนี้ต้องเป็น “ก กลาง โดยประธาน ก กลาง คือ มท.1” ที่มี รอง อสถ.ในฐานะเลขา ก กลาง 

(4.4) เข้าใจว่า มติที่ประชุม ก กลาง มอบอำนาจให้ อสถ. เป็นผู้ดำเนินการพัสดุ เพราะงบประมาณเป็นของ สถ. เนื่องจาก ก กลางไม่มีงบประมาณของตนเอง ฉะนั้น การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับพัสดุการจ้างสอบ (จ้าง มก.) จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของ อสถ. เท่ากับว่า อสถ.ต้องรับผิดชอบในการจ้างสอบครั้งนี้เต็มๆ 

(4.5) การสอบข้อเท็จจริงในครั้งนี้ โดย อสถ.เป็นอำนาจโดยตรงในฐานะ ผบ.สอบสวนผู้ใต้บังคับบัญชา และในฐานะ ส่วนราชการเจ้าของงบประมาณ 

(4.6) อสถ.ได้รับแต่งตั้งจาก ก กลาง ให้เป็น “ประธาน อนุ กสถ.” ที่ควบคุมการสอบโดย กสถ. ตามประกาศ ก กลางว่าด้วยมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับการสอบคัดเลือก ฉะนั้น การแต่งตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว (คือในข้อสงสัยการตรวจข้อสอบตามบัญชีผู้สอบได้ “แบบกบกระโดด” รวมทั้งข้อสงสัยอื่นใดทั้งหมด โดยเฉพาะการทุจริตในการสอบ) อสถ.จึงเป็น “ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง” ต้องห้ามตามมาตรา 13(1) แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 แม้การอ้างว่า เป็นเพียงการตรวจสอบข้อเท็จจริงอันเป็นกระบวนการภายในก็ตาม ย่อมไม่ชอบด้วยเหตุผลทั้งปวงตามที่กล่าวข้างต้น เพราะ ผลการสอบสวนอาจไม่น่าเชื่อถือ ลูบหน้าปะจมูก เปรียบเสมือน “โจรย่อมจับโจรด้วยกันเองไม่ได้ ก็ฉันนั้น”

(5) จากที่กล่าวมาข้างต้น ข้อ (1)-(4) สมควรยุบ ก กลางทั้ง 3 ก ให้เหลือ ก เดียว และไม่ควรให้ สถ มีอำนาจหน้าที่ใน ก กลาง เพราะลูบหน้าปะจมูก มีส่วนได้เสีย ชงเองกินเอง จับโจรไม่ได้ ดูว่าอสถ.สอบสวนข้อเท็จจริงครั้งนี้จึงไม่น่าจะหาความผิดบกพร่องใดๆ เจอ ที่สำคัญคือ สถ. ไม่มี “ความรู้สึกสำนึกรักผูกพันในองค์กรบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น” (Organizational Commitment) เพราะ สถ. เป็นคนนอก กล่าวคือ คน สถ.มิใช่ คน อปท. คือ คน สถ.มาแล้วก็ผ่านไป, มาเพื่อเอาตำแหน่งเพื่อการเติบโตของข้าราชการส่วนกลาง, มาเพื่อเอาหน้าเอาผลงานส่วนตน ฯลฯ 

 

อ้างอิง

บทความ

การสอบแข่งขันข้าราชการส่วนท้องถิ่น 2562 ตอนสอง ใน GotoKnow, 27 กรกฎาคม 2562, https://www.gotoknow.org/posts/664095 & https://siamrath.co.th/n/92921 

สืบหาต้นตอการบริหารงานบุคคลที่ทุจริตใน GotoKnow, 1 เมษายน 2565, https://www.gotoknow.org/posts/700325 & https://siamrath.co.th/n/336343 

 

ข่าว

รองผู้ว่าฯ มหาสารคามแฉยิบกลโกงสอบ อบต. สอบผ่านแค่คนเดียวแก้คะแนนขึ้นบัญชีกว่า 400 คน, mgronline, 14 กันยายน 2559, https://mgronline.com/local/detail/9590000092495 

มหากาพย์คดีสอบเข้า รร.นายอำเภอ, คุก3ปีไม่รอลงอาญาอดีตอธิบดีปค. ทุจริตสอบนอภ.ปี52, เดลินิวส์, 29 กันยายน 2563, https://www.dailynews.co.th/crime/798216 

กมธ.การกระจายอำนาจฯ เผยพบ 7 เงื่อนงำสอบเข้ารับราชการ-พนักงานท้องถิ่น ปี 64, nationtv, 4 มีนาคม 2565, https://www.nationtv.tv/news/378865681

ปมร้อนจัดสอบท้องถิ่น, เดลินิวส์, 6 เมษายน 2565, 11:00 น., https://www.dailynews.co.th/articles/930648/ 

พบข้อเท็จจริงสามฝ่าย กบกระโดดหรือAIผิดพลาด, Thai TBS, 20 เมษายน 2565 เวลา 14.00 น.,

https://www.facebook.com/100022692157193/videos/1012986755985479/ 

สปน.ประสานตรวจสอบการคัดเลือกข้าราชการสายบริหาร อบจ.ฯ : สถานีประชาชน (20 เม.ย. 65), Thai PBS, 20 เมษายน 2565, https://www.youtube.com/watch?v=w-L71wVFGjI 

สถ.รับแล้ว! โปรแกรมพิมพ์ข้อสอบสายบริหารท้องถิ่น “คลาดเคลื่อน” กระทบคะแนนสอบท้องถิ่น ไม่พบมีกลิ่นทุจริต, โดย ผู้จัดการออนไลน์, 6 พฤษภาคม 2565, https://mgronline.com/politics/detail/9650000043214 

ฝนคำตอบให้ใหม่-เรียก3.3 ล. พฤติการณ์ คุก140ปี หน.ภาควิชาจุฬาฯคดีสอบบรรจุพนง.ตำบลสารคาม, สำนักข่าวอิศรา, 7 พฤษภาคม 2565, https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/108613-inves01199-104.html

 

*** บทความนี้บางส่วน ตีพิมพ์ในสยามรัฐออนไลน์, เรื่อง “มหากาพย์ความผิดพลาดการสอบบริหารท้องถิ่น 2564”, เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565, https://siamrath.co.th/n/349717 



ความเห็น (1)

Sigh! Ground-in culture of corruption/greed in human society is very hard to correct. Perhaps adding more steps to selection/appointment process to lessen importance of any single step and to encourage multi-skill development among candidates may help. Then if we can’t handle simple process, what chance do we have to handle complex process?

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท