อนาคตของอุดมศึกษา


 

ข่าวใน University World News เรื่อง After a golden age of higher education growth, what next?   บอกว่าอุดมศึกษากำลังอยู่ในยุคสาละวันเตี้ยลง    โดยเริ่มในปี ค.ศ. 2013     

ปี 2013 เป็นปีที่ท่านสีจิ้นผิงเริ่มเป็นประธานาธิบดีจีน   และจีนเริ่มลดงบประมาณสนับสนุนอุดมศึกษาลง     โดยก่อนหน้านั้น จีนเป็นประเทศที่ลงทุนต่ออุดมศึกษาสูงมาก   และเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ ๑๕ ต่อปี    บทความบอกว่า เป็น growth engine ของอุดมศึกษาโลก    ตอนนี้อัตราเพิ่มงบประมาณของอุดมศึกษาจีนอยู่ที่ปีละ ๒% เท่านั้น   

เขาอ้างถึงผลงานวิจัยของ HESA – Higher Education Strategy Associate   ชื่อ Higher Education Institutions Worldwide    ซึ่งจะมีรายงานชื่อ World Higher Education: Institutions, Students and Funding ที่เปิดตัวเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๕  แต่เมื่อผมเข้าไปค้นตอนค่ำวันที่ ๓ เมษายน ยังเป็นเอกสารเก่าที่โพสต์วันที่ ๒๒ มีนาคม ที่ (๑)    ที่สื่อความว่า จำนวนนักศึกษาระดับอุดมศึกษาของทั้งโลกอยู่ที่ราวๆ ๒๐๐ ล้านคน  มากน้อยขึ้นกับว่านับรวมนักศึกษาด้านอาชีวะเข้าไปด้วยหรือไม่      

เขาสนใจการเติบโตของอุดมศึกษาในโลก   โดยดูที่จำนวนสถาบันอุดมศึกษาที่เพิ่มขึ้นระหว่างปี  2006 – 2018 ใน ๕๖ ประเทศที่จำนวนนักศึกษารวมกันเป็นประมาณร้อยละ ๙๕ ของโลก    พบว่าเพิ่มขี้นร้อยละ ๕๑   คือ โดยเฉลี่ย มีสถาบันอุดมศึกษาเปิดใหม่ ๗ สถาบันในทุกๆ วัน    การเติบโตนี้อยู่ที่ประเทศกำลังพัฒนา    จากการเพิ่มจำนวนของมหาวิทยาลัยเอกชน   ในประเทศพัฒนาแล้วจำนวนแทบไม่เปลี่ยนแปลง   

น่าสนใจที่ประเภทของสถาบันอุดมศึกษาที่เพิ่มจำนวนมากที่สุดคือกลุ่มที่เขาเรียกว่า university colleges คือชื่อเป็นมหาวิทยาลัยแต่ไม่ได้ให้ปริญญาเอง    มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยใหญ่ที่เป็นที่เชื่อถือ   และรับปริญญาจากมหาวิทยาลัยใหญ่    ร้อยละ ๔๗ ของมหาวิทยาลัยที่เพิ่มขึ้นในช่วง ๑๓ ปี เป็นมหาวิทยาลัยประเภทนี้   

จำนวนสถาบันอุดมศึกษาในโลกมีเกือบ ๙ หมื่นสถาบัน    ร้อยละ ๔๖ อยู่ในประเทศอินเดีย    ในช่วง ๑๓ ปี จำนวนสถาบันอุดมศึกษาของอินเดียเพิ่มจาก ๑๗,๙๗๓ เป็น ๔๐,๒๒๒    ในเรื่องอุดมศึกษา ประเทศยักษ์ใหญ่มี ๓ ประเทศ คือ อินเดีย จีน และสหรัฐ  สามประเทศรวมกันมีนักศึกษาร้อยละ ๔๗.๗ ของโลก    และมีสถาบันอุดมศึกษารวมกันร้อยละ ๕๔ 

อัตราเข้าเรียนอุดมศึกษาในประเทศพัฒนาแล้วเท่ากับร้อยละ ๗๐   แต่ในอัฟริกาตัวเลขนี้เท่ากับร้อยละ ๑๑ เท่านั้น     ความแตกต่างนี้จะมีผลตามมา ๒ ประการ คือ (๑) สมองไหลจากประเทศด้อยพัฒนาสู่ประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อไปเรียนต่ออุดมศึกษา    และส่วนหนึ่งอยู่ทำงานต่อ   เพราะประเทศพัฒนาแล้วจะหาทางดึงดูดสมองดีเข้าทำประโยชน์แก่ประเทศตน   (๒) บริการอุดมศึกษาไหลจากประเทศพัฒนาแล้ว ไปยังประเทศด้อยพัฒนาในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบ ออนไลน์   

ทุกประเทศในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา (เขาเรียก Global South) มีจำนวนนักศึกษาเพิ่มขึ้น มากบ้างน้อยบ้าง   มีประเทศเดียวที่จำนวนนักศึกษาลดลง คือไทย   

เวลานี้ประมาณร้อยละ ๗๐ ของนักศึกษาเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐ    ตัวเลขนี้มีแนวโน้มลดลง เพราะมหาวิทยาลัยเอกชนมีการขยายตัวมาก เพื่อสนองความต้องการเข้าเรียน    มีน้อยประเทศที่จำนวนมหาวิทยาลัยของรัฐเพิ่ม

การลงทุนของรัฐต่ออุดมศึกษาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนแตะปีละ ๑ ล้านล้านดอลล่าร์    โดยอัตราเพิ่มที่สูงมากเกิดก่อนปี 2013     อัตราเพิ่มนี้สูงในประเทศด้อยพัฒนา คือใน ๑๓ ปี เพิ่มกว่าเท่าตัว   

การอุดหนุนนักศึกษาต่อหัวโดยรัฐในประเทศด้อยพัฒนาในปี 2018 สูงสุดในซาอุดิอารเบีย คือสูงกว่า ๖ แสนบาทต่อหัวต่อปี (สูงเป็นที่สามของโลก รองจากสวิตเซอร์แลนด์ และสิงคโปร์)   ต่ำสุดที่บังคลาเทศ น้อยกว่า ๓ หมื่นบาทต่อหัวต่อปี   การอุดหนุนของรัฐลดลงใน ๑๗ ประเทศ เพิ่มขึ้นใน ๑๔ ประเทศ   

ค่าใช้จ่ายด้านอุดมศึกษาเทียบกับ จีดีพี สูงที่สุดในประเทศกลุ่ม MENA (Middle East and North Africa)   คือเท่าๆ กับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว หรือมากกว่านิดหน่อย   คือในช่วงสิบปีที่เริ่มจาก ค.ศ. 2006  กลุ่มประเทศ MENA ลงทุนต่ออุดมศึกษาเพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๐.๘  เป็นร้อยละ ๑.๓ ของจีดีพี  หลังจากนั้นลดลงเล็กน้อย    ในปี ค.ศ. 2018 ประเทศซาอุดิอาระเบียลงทุนต่ออุดมศึกษาสูงที่สุดในโลกในอัตราต่อจีดีพี    สูงกว่าอินโดนีเซีย ๘ เท่า         

เช้ามืดวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๕ ผมเข้าไปค้นรายงานนี้อีกครั้งหนึ่ง   ดาวน์โหลดได้แล้วที่ (๒)     มีข้อมูลของประเทศไทย น่าสนใจมากที่ (๓)   

วิจารณ์ พานิช

๓ เม.ย. ๖๕  เพิ่มเติม ๒๔ เม.ย. ๖๕ 

 

หมายเลขบันทึก: 702610เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2022 18:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2022 18:43 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท