ชีวิตที่พอเพียง  4210. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๑๔๒) ทำหน้าที่ร่วมผลักดันนโยบายด้วยจิตวิทยาเชิงบวก 


 

          ผมประทับใจคำแนะนำของ รศ. ดร. ประวิต เอราวรรณ์ ในการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบของ กสศ. เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๕    เรื่องวิธีทำหน้าที่ policy advocacy อย่างเคารพและให้เกียรติฝ่ายการเมืองและฝ่ายกำหนดนโยบาย    ว่าควรมีวิธีทำอย่างแยบยล    ใช้ท่าทีเชิงบวก   ไม่ใช่ท่าทีเชิงต่อต้านหรือเชิงผู้มีสัมมาทิษฐิสอนผู้มีมิจฉาทิษฐิ   

ทำให้ผมได้สติ    ว่าคนเรามักติดอัตตา ทำงานแบบสองขั้วตรงกันข้าม แบ่งฝ่าย ต่อสู้   ซึ่งเป็นแนวทางที่ไม่ได้ใช้สมรรถนะเข้าถึงจิตใจผู้อื่น (empathy)    

ผมตีความว่า ข้อแนะนำของ รศ. ดร. ประวิต ให้แนวทางว่า อย่าเน้นทำงาน “เสนอแนะนโยบาย” หรือ “ผลักดันนโยบาย” (policy advocacy)   แต่ให้ใช้กุศโลบาย ชี้ให้เห็นคุณค่าต่อนักเรียนจากการ “ปฏิบัติสอดคล้องกับนโยบาย” (policy alignment)    โดยยกผลงานของครูและโรงเรียนอย่างเป็นรูปธรรม ว่าทางโรงเรียนและครูริเริ่มดำเนินการอะไร    ก่อผลกระทบต่อนักเรียนอย่างไร    สอดคล้องกับนโยบายอย่างไร   

แนวทางดำเนินการคือ ศึกษาเอกสารประกาศนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการอย่างเป็นทางการ    นำมาเชื่อมโยง (align) กับหลักการทางวิชาการและทางปฏิบัติ   แล้วหาโรงเรียนที่ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวและมีหลักฐานชัดเจนว่านักเรียนมีผลการเรียนดีขึ้นกว่าเดิมทั้งในภาพรวม และในจุดเด่นบางด้าน    เอามาสื่อสารสังคมในโอกาสที่จะดึงดูดความสนใจของมวลชนได้ดี

เช่นวันที่ ๒๐ มีนาคม เป็นวันความสุขสากล    และนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ในปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ระบุไว้ส่วนหนึ่งว่า   “พัฒนาผู้เรียนให้มีความรอบรู้และทักษะชีวิต เพื่อเป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิตและสร้างอาชีพ อาทิ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สุขภาวะและทัศนคติที่ดีต่อการดูแลสุขภาพ”  การจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนทั้งเกิดสมรรถนะตามเป้าหมายที่ระบุในนโยบาย  และนักเรียนมีความสุขในการเรียน  จึงสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงฯ และขององค์การสหประชาชาติ    กสศ. และภาคีจึงเสาะหาโรงเรียนที่มีวิธีการที่แยบยลในการจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนพัฒนาสมรรถนะทั่วไป และสมรรถนะวิชาการ พร้อมกับนักเรียนมีความสุขในการเรียน    เอามาเผยแพร่ในช่องทางต่างๆ ทั้งสื่อมวลชน  สื่อสังคม  และในเว็บไซต์ของ กสศ.  และของโรงเรียนที่เลือกมาเป็นตัวอย่าง   

งาน สื่อสาร “การปฏิบัติสอดคล้องกับนโยบายประเทศ” ด้านการศึกษา เช่นนี้  ต้องวางแผนไว้ล่วงหน้าเป็นรายปี   กำหนดไว้ว่าจะสื่อสารบ่อยแค่ไหน   ตัวอย่างเช่น ทำเป็นรายสัปดาห์   หาวันสำคัญในสัปดาห์นั้น ที่เหมาะสมต่อการ “สื่อสารการปฏิบัติสอดคล้องกับนโยบายการศึกษาแล้วนักเรียนได้ประโยชน์”   เอามาสื่อสารว่านักเรียนได้ประโยชน์อย่างไร   มีหลักฐานยืนยันข้อกล่าวอ้างนั้นอย่างไร    มีวิธีดำเนินการให้เกิดผลดีต่อนักเรียนตามที่อ้างอย่างไร   

เท่ากับอาศัยวันสำคัญเป็นตัวดึงดูดความสนใจของผู้คน   อาศัยข้อประกาศนโยบายเป็นตัวยืนยันความสำคัญ    แล้วสื่อสารเรื่องราวดีๆ ที่นักเรียนได้รับประโยชน์จากการดำเนินการของโรงเรียนและครู ที่สอดคล้องกับวันสำคัญและคำประกาศนโยบายของทางการไทย    สาระจริงๆ ที่เป็นหัวใจของการสื่อสารคือ นักเรียนได้รับประโยชน์    และอุดมการณ์ หลักการ วิธีการ ที่โรงเรียนและครูใช้ในการทำงานเพื่อนักเรียน    ที่ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมในการจัดกระบวนการเรียนรู้   ก็ได้รับการยกย่องและเผยแพร่

  ที่สำคัญคือ ยกเอาประโยชน์ที่นักเรียนได้รับเป็นศูนย์กลาง    ตรงกับนโยบาย “เอาเด็กเป็นศูนย์กลาง” ที่รู้จักกันดี    เรื่องอื่นๆ เป็นกลไกสนับสนุน   โดยสื่อสาร alignment ของนโยบายและหลักการทุกเรื่องเข้ากับผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมที่ตัวนักเรียน   

การทำหน้าที่ catalyst ของ กสศ. ในแนวนี้    จะก่อความรู้สึกของผู้ที่ทำงานในระบบการศึกษาว่า กสศ. ทำงานแบบเข้าไปหนุนเขา   ไม่ใช่เข้าไปสร้างความยุ่งยากให้แก่เขา   

เป็นการหนุนนโยบายด้วยผลลัพธ์และวิธีการที่เป็นรูปธรรม ที่สอดคล้องกับนโยบายที่ภาคนโยบายกำหนดไว้   ที่สื่อต่อสังคม และต่อโรงเรียนอื่นๆ ว่า   การดำเนินการให้บรรลุผลตามที่ฝ่ายนโยบายกำหนดนั้น ไม่ยาก หากดำเนินการถูกต้อง   มีตัวอย่างโรงเรียนที่ทำได้ดีอยู่แล้วในประเทศไทย   

 

วิจารณ์พานิช   

๒๐ มี.ค. ๖๕   วันความสุขสากล    

 

   



ความเห็น (1)

I recall ‘a teaching’ from a fisherman many decades ago about fighting beach erosion in a coastal town by building rock barriers way out into the sea. He said the direct oppositional rock water-breaks were no match for the waves and swells, only served to deposit sand in odd places, a disaster for swimmers, fishermen and small boats. It would have been better to divert the the power of the waves in strategic sections of the beach, creating safer areas for swimming, fishing and boating.

I summed up the teaching as ‘channeling can work better than blocking’. And years later after using this teaching, I added ‘and cost much less’ (because we can use the coming force to do some work for us - instead of making another force to counter it).

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท