“ความมั่นคงทางอาหารของคนพิการ” : ปฐมบทของงานพัฒนาคนพิการแบบผสมผสาน


“ความมั่นคงทางอาหารของคนพิการ”
เป็นสิ่งที่ผูกโยงกับปากท้อง กำลังใจ รวมถึงเครือข่ายทางสังคมและงานพัฒนา
ทุนส่งเสริมอาชีพที่กำลังจะผ่านลงมา
จึงเป็นที่มาของการย้ำแนวคิดแกนกลางดังนี้

 

  • ปากท้อง :
    ปากท้องของคนพิการบ้านเรา หนีไม่พ้นใช้จุดแข็งของพื้นที่คือเรื่องการเกษตร
    เกษตรผสมผสาน ไม่ต้องใช้พื้นที่มากก็ได้ เดี๋ยวนี้มีเทคโนโลยี มีกูรูมากมาย
    เครือข่ายเกษตร เราก็ชวนเขามาช่วยกัน
    ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตรมีจิตวิญญาณความเป็นครูอยู่แล้ว 
    ลองทาบทามท่านเหล่านั้น เข้ามาร่วมฮอมบุญ

  • กำลังใจ :
    กำลังใจคือต้นทุนใหญ่ที่มองไม่เห็น
    กำลังใจที่สำคัญสุดคือกำลังใจที่สร้างจากตัวคนพิการ
    ถ้าเขาใจไม่สู้ เราเพิ่งเริ่มโครงการใหม่ อย่าไปดันมาก จะเหนื่อยไป 
    เอาคนพิการที่มีใจ รวมถึงเอาคนพิการที่ผู้ดูแล ครอบครัว ญาติพี่น้องเขามีใจ
    เนื่องจากเราต้องมองภาพที่จะขยับต่อด้วย บางทีเราต้องตัดใจ เลือกคัดเอาคนที่องค์ประกอบไม่ครบออกไปก่อน
    เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องชี้แจงอย่างมีศิลปะให้เขาเข้าใจ
    ยังไงเราก็ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่การทำงานใหญ่แค่ไหน ก็ต้องเดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ
    สำคัญ.....ทำอย่างไรให้คนที่ได้ทุน กับไม่ได้ทุน ไม่รู้สึกอิจฉากัน ไม่รู้สึกว่าเหลื่อมล้ำ
    แต่รู้สึกร่วมว่า เราจะหนุนเสริมกันไปด้วยกัน
    อันนี้ ทีมพี่เลี้ยงต้องวางแผน ตั้งแต่ระบบคิด ระบบกลไก ไปจนถึงระบบการประเมินภายในเลยทีเดียว

 

 

  • เครือข่ายทางสังคมและงานพัฒนา :
    นอกจากเครือข่ายใกล้ตัว อย่างครอบครัว เครือญาติ และผู้ดูแลแล้ว ยังมีผู้นำชุมชน และองค์กรพี่เลี้ยงที่จำต้องเข้าไปหนุนเสริม   
    เนื่องจากการทำโครงการ มันมีระบบ มีแผน ที่ต้องคอยเชื่อมประสาน หนุนเสริมการขับเคลื่อนวัดผล ติดตาม ประเมินผล ต้องใช้ความรู้เชิงวิชาการเข้าไปช่วย


จุดนี้ บทบาทองค์กรพี่เลี้ยงในเชิงวิชาการจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก 
ถามว่า ปล่อยให้คนพิการหรือผู้ดูแล รับเงินไป แล้วไปติดตามทีหลัง ได้ไหม......
ตอบว่าได้ แต่มีความเสี่ยง และความผิดพลาดก็เกิดขึ้น มีให้พบเห็นอยู่เสมอ
ผลข้างเคียงจากการพัฒนา เป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ และช่วยป้องกัน 

ศรัทธามี วิริยะได้ แต่ขาดปัญญา ก็อาจพาลงเหว ท้ายสุด คนที่ถูกสปอยล์คนแรกกลายเป็นคนพิการที่รับทุนไป
ตรงนี้ต้องอาศัยคนกลางอย่างองค์กรพี่เลี้ยงทำหน้าที่เชิงวิชาการเข้ามาช่วย
แต่ต้องเข้าไปอย่างมีจังหวะ มีศิลปะ มีชั้นเชิง 
ไม่น้อยจนสร้างความสับสน
และไม่มากจนกลายเป็นครอบงำ

ขอบคุณผู้เข้าประชุมที่ทำการบ้านมาดี มีข้อมูล มีการลงพื้นที่ มองเห็นคนที่จะข้าร่วมโครงการ “ความมั่นคงทางอาหารเพื่อคนพิการ” ในครั้งนี้


แม้เราจะมีโควต้าจำกัดได้แค่ 3 ทุน แต่ถึงมีรายชื่อผู้สนใจเกินมาก็ไม่เป็นไร 
แสดงว่า คนสนใจ และเขาเชื่อมั่นในทีมเรา ก็เอาข้อมูลส่วนที่เหลือเป็นทุนในการเชื่อมร้อยต่อไป “โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

หนึ่งในหัวข้อหลักการประชุมทีม CBR ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน 7 พ.ค.65
บันทึกไว้เพื่อทบทวน แชร์ไว้เพื่อวิทยาทาน

 

#CBRคนพิการ
#ความมั่นคงทางอาหารของคนพิการ

หมายเลขบันทึก: 702615เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2022 11:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2022 11:59 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท