KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 114. วัฒนธรรมการคุย


การคุยสุข ใช้หลักการและวิธีการของ Appreciative Inquiry (AI) คนที่คุยกันก็จะสาดสุข สาดความชื่นชมใส่กัน

        การคุยในที่นี้หมายถึงการพูดคุยกันในหน่วยงาน หรือการพูดคุยเมื่อคนพบปะกัน ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการสังสรรค์นันทนาการ และการสร้างความคุ้นเคย     พักใจ    สนุกสนานรื่นเริง     เป็นกิจกรรมเพื่อให้ชีวิตมีความสุข ไม่น่าเบื่อ หรือเหงา

         นอกจากนั้นยังเป็นการเรียนรู้     การแลกเปลี่ยนเรียนรู้อีกด้วย

        ต่างหน่วยงาน ต่างวงการ จะมีวัฒนธรรมการคุยไม่เหมือนกัน

        ในการทำ KM องค์กรต้องสร้างวัฒนธรรมการคุยที่นอกจากทำให้สบายใจ แล้วยังสร้างสรรค์และเรียนรู้อีกด้วย     ต้องระวังอย่าให้องค์กรตกลงไปในอุบายแห่งการพูดคุย     คือการพูดคุยเชิงลบ เชิงสาดความทุกข์ใส่กัน   ทำให้ความทุกข์ระบาดไปทั่วองค์กร   

        ผู้บริหารต้องคอยระวังระไว มีการบริหารความเสี่ยง (risk management) ในเรื่องโรคแพร่ทุกข์ระบาด     วิธีการที่ดีที่สุดคือแพร่สุขด้วยการพูดคุยเสียจนกลายเป็นวัฒนธรรมคุยสุข     โรคแพร่ทุกข์ก็จะระบาดได้ยาก

         การคุยสุข ใช้หลักการและวิธีการของ Appreciative Inquiry (AI)     คนที่คุยกันก็จะสาดสุข  สาดความชื่นชมใส่กัน  ใช้คำว่าสาดดูจะไม่เหมาะ น่าจะใช้คำว่า "ชโลม" มากกว่า     ในสภาพเช่นนี้ การพูดคุยกันจะเป็นการให้ "น้ำทิพย์ชโลมใจ" ซึ่งกันและกัน

        ในทางธรรมะ นี่คือ "ปิยวาจา" ในรูปแบบที่ลึกมาก   และใช้ได้กว้างขวางมากด้วย

วิจารณ์ พานิช
๒๙ มิย. ๔๙
บนเครื่องบินไปเชียงใหม่

คำสำคัญ (Tags): #เครื่องมือkm
หมายเลขบันทึก: 39567เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2006 08:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบพระคุณมาก ๆ ครับอาจารย์หมอ

ชีวิตของคนเรามีเรื่องใหญ่หลักอยู่ด้วยกัน 3 เรื่องครับ

ก็คือ เรื่องกิน เรื่องอยู่และเรื่องเสวนา

ถ้าเราพูดเป็นคุยเป็นเราก็จะมีความสุขและทำให้ที่อยู่ใกล้ ๆ มีความสุข

ในการมาอยู่ที่อุบลฯ ช่วงแรก ผมก็พยายามใช้เทคนิคนี้อยู่เสมอ ๆ ครับ โดยคิดกระบวนการตั้งแต่ก่อนที่จะเข้ามาชุมชนพัฒนบูรณาการศาสตร์ เพื่อที่จะใช้ช่วงเวลาที่อยู่ในชุมชนเพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ได้อย่างลุล่วงครับ 

ในชุมชนพัฒนบูรณาการศาสตร์นี้ผมตั้งใจเข้ามาเป็นผู้เรียนรู้มากกว่าผู้รู้ครับ ช่วงนี้ก็ถือว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาก็ประสบความสำเร็จไปในขั้นหนึ่ง ตั้งใจว่า 3 ปีนี้จะเขียนหนังสือได้หลายเล่มครับ ตั้งแต่ Participatory Action Working. Participatory Action Studies. และที่ต้องใช้สรรพวิชามากที่สุดก็คือ Partipipatory Action of Teacher Studie and Learning. ครับ

 

สวัสดีครับอาจารย์หมอวิจารณ์

       ผมผ่านมาอ่านผลงานที่ท่าน อ.  เขียนไว้เพื่อประดับความรู้นอกห้องเรียนของผมครับ  นับว่าเป็น

วิทยาทานอันเลิศ  เปิดโอกาสให้พูดคุยในเส้นทางนี้ได้  เรื่อง  วัฒนธรรมการคุย  ทำให้ผมนึกถึงคำพระที่ว่า

   วิสาสา  ปะระมา  ญาตี  แปลว่า  ความคุ้นเคยกัน

เป็นญาติอย่างยิ่ง  และมีคำกลอนของกวีเอกสุนทรภู่ว่า  อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก

      แต่ลมปากหวานหูมิรู้หาย .

ขอบพระคุณครับ

 

ต้องระวังอย่าให้องค์กรตกลงไปในอุบายแห่งการพูดคุย     คือการพูดคุยเชิงลบ เชิงสาดความทุกข์ใส่กัน   ทำให้ความทุกข์ระบาดไปทั่วองค์กร   

ประโยคนี้ตรงใจผมมากเลยครับ ตอนนี้ที่ทำงานผมกำลังเกิดบรรยากาศที่ว่าอยู่เลยครับแต่จะห้ามไม่ให้คนอื่นระบายความทุกข์นี่ก็ลำบากเหมือนกัน

อยากขอคำแนะนำอาจารย์วิธีปฎิบัติในสถานการณ์ที่ความทุกข์เริ่มแพร่ไปแล้วครับ ว่าควรทำยังไง

วิธีหนึ่งที่ตนเองปฎิบัติอยู่ในสถานการณ์ที่ความทุกข์เริ่มแพร่ ใช้การฟังอย่างมีสติ ไม่ให้คิดปรุงแต่งไปตามคำพูด โดยใช้วิธีการฟังอย่างตั้งใจ เมื่อผู้ระบายเริ่มรู้สึกสงบขึ้น(จากการได้ระบายและมีคนฟัง) อาจเสริมแนวคิดในเชิงบวกเพื่อให้สติเขาได้ค่ะ  เราเองก็ได้ฝึกสติอยู่เรื่อยๆ ค่ะ

เวลาที่สถานการณ์สาดความทุกข์ใส่กัน  เราก็พยายามใช้การฟังอย่างมีสติ สอดแทรกแนวคิดเชิงบวกหรือมุมมองที่แตกต่างไปยังผู้ที่เราเสวนาด้วย  แต่ผลกลายเป็นว่าเรามองโลกแง่ดีเกินไปหรือไม่ก็เข้าข้างอีกฝ่ายไปเสียด้าย  ไม่รู้จะทำอย่างไรให้หน่วยงานมีวัฒนธรรมการคุยสุขอย่างจริงใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท