กระบวนการพัฒนาชมรมสร้างสุขภาพ


คำถามจากผม คือ 1)พบ Research แต่ยังหา Development ไม่เจอ มีแต่ผมหาไม่เจอ? 2)เป็น PAR หรือไม่? 3) ถ้าใช้"การร่วมสร้างและพัฒนาชมรมฯ"แทน"การจัดตั้งชมรมฯ" จะสะท้อนฐานคิดที่ยั่งยืนกว่าไหม? และเห็นด้วยที่สุดคือ ควรสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับสมาชิกชมรม เพื่อให้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานของชมรมฯ

     วันนี้มีโอกาสได้อ่านรายงานวิจัย เรื่องการศึกษากระบวนการพัฒนาชมรมสร้างสุขภาพ จังหวัดพัทลุง ซึ่งดำเนินการโดยสมเกียรติยศ วรเดช, อำพล แก้วเกื้อ, กิตติพงษ์ กาญจนูปถัมภ์, ประพันธ์ มณีนิล และสุดสวาท อมฤตกุล (2548) เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากอำเภอป่าพะยอม และอำเภอบางแก้ว ปฏิบัติงาน ณ สถานีอนามัย สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และโรงพยาบาล ดูจากรายงานฉบับย่อ (ยังไม่น่าจะเรียกว่าบทคัดย่อครับ) ดังนี้

          การวิจัยเรื่องนี้เป็นการศึกษากระบวนการพัฒนาชมรมสร้างสุขภาพจังหวัดพัทลุง  ซึ่งเป็นการวิจัยและพัฒนา (Research  and  Development)  ในลักษณะการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม  (Participatory  Action  Research)  มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์ของชมรม  สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชมรม  และเพื่อศึกษาเงื่อนไขและองค์ประกอบในการพัฒนาชมรมให้เข้มแข็งและมีความยั่งยืน   พื้นที่วิจัยคือ ชมรมผู้สูงอายุตำบลป่าพะยอม  และชมรมสร้างสุขภาพบ้านปากพล ขั้นตอนการศึกษาวิจัยประกอบด้วย  3  ขั้นตอน  คือ  1) ขั้นเตรียมการ  เป็นการเตรียมทีมวิจัยและเตรียมพื้นที่   เริ่มต้นจากการแต่งตั้งทีมวิจัยและส่งเข้าร่วมประชุมเพื่อรับทราบแนวทางการทำวิจัยจากศูนย์อนามัยที่ 12  ยะลา  2)  ขั้นปฏิบัติการ ใช้เครื่องมือในการศึกษาที่หลากหลาย  ได้แก่ แบบสัมภาษณ์สมาชิกชมรมทุกคน  การศึกษาข้อมูลพื้นฐานของพื้นที่จากหน่วยงานราชการ   การทำสนทนากลุ่ม (Focus  Group  Discussion) กรรมการชมรมและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขผู้รับผิดชอบชมรมฯ  การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-dept  Interview)  ประธานชมรม   กรรมการชมรมและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขผู้รับผิดชอบชมรม  การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมโดยใช้เทคนิค  AIC  เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชมรม  3) ขั้นสรุปผลการศึกษา  เมื่อสิ้นสุดการดำเนินงานก็มีการประชุมถอดบทเรียนร่วมกัน    ระหว่างทีมนักวิจัยและสมาชิกชมรมสร้างสุขภาพ  และสุดท้ายก็มีการจัดประชุมทีมวิจัยและผู้เกี่ยวข้อง  เพื่อสรุปผลการศึกษาและร่วมกันอภิปรายผล

          สรุปผลการศึกษาได้ดังนี้
          1. สถานการณ์ของชมรมฯ   พบว่า 
              1.1 การก่อตั้ง  เป็นการก่อตั้งขึ้นโดยวิธีการจัดตั้งของหน่วยงานภาครัฐทั้ง  2  ชมรม   แต่มีความแตกต่างกันอยู่บ้าง  คือ  ชมรมผู้สูงอายุตำบลป่าพะยอม  จัดตั้งขึ้นจากกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอยู่ก่อนแล้ว ทำให้มีการดำเนินงานและมีกิจกรรมที่หลากหลายมาอย่างต่อเนื่อง  แต่ชมรมสร้างสุขภาพบ้านปากพล  จัดตั้งและรวบรวมสมาชิกขึ้นมาใหม่โดยเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยบ้านหาดไข่เต่า  และมีเพียงกิจกรรมการออกกำลังกายด้วยการรำไทเก๊ก  และการตรวจสุขภาพเท่านั้น 

              1.2 สมาชิกชมรม   ชมรมผู้สูงอายุตำบลป่าพะยอมมีสมาชิกในขณะเริ่มก่อตั้งชมรม ประมาณ 75 คน   และมีการรับสมาชิกเพิ่มขึ้นทุกปี  ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น   257 คน  ในขณะที่ชมรมสร้างสุขภาพบ้านปากพลมีสมาชิกเริ่มต้นจำนวน  30  คนจนถึงปัจจุบัน 

              1.3 คณะกรรมการชมรม มีจำนวนที่ไม่แตกต่างกันมากนักระหว่างชมรมทั้ง  2  แห่ง    โดยเริ่มต้นชมรมผู้สูงอายุตำบลป่าพะยอมมีกรรมการ  จำนวน 5  คน  จนกระทั้งปัจจุบันมีการเพิ่มจำนวนสมาชิกเป็น  15  คน

              1.4 กิจกรรมหลักและกิจกรรมเสริม  ชมรมผู้สูงอายุตำบลป่าพะยอมมีกิจกรรมหลายอย่างและหลากหลายมาก เช่น  การออกกำลังกายแยกแต่ละหมู่บ้านในทุกๆวัน และออกกำลังกายร่วมกันทั้งชมรมฯ ทุกวันศุกร์ที่ 3  ของเดือน  การตรวจสุขภาพโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเดือนละ  1  ครั้ง  การประชุมให้ความรู้ทางด้านสุขภาพเดือนละ  1  ครั้ง การประชุมสมาชิกชมรมฯ ทุก   3  เดือน การทัศนศึกษาต่างจังหวัดทุกปี  การสวดมนต์สัญจร  การเยี่ยมไข้สมาชิกที่ไม่สบายทั้งที่บ้านและที่โรงพยาบาล  ฯลฯ  โดยกิจกรรมส่วนใหญ่จะดำเนินการโดยสมาชิกชมรมฯ และใช้งบประมาณของชมรมฯ มีเพียงบางกิจกรรมที่ต้องขอรับการสนับสนุนงบประมาณและบุคลากรจากหน่วยงานราชการ  ในขณะชมรมสร้างสุขภาพบ้านปากพล  มีเพียงกิจกรรมการออกกำลังกายด้วยการรำไทเก๊กและการตรวจสุขภาพ

              1.5 การเงินและรายได้ของชมรม   ชมรมผู้สูงอายุตำบลป่าพะยอมมีการระดมทุนจากสมาชิกชมรมฯ ทุกคน  โดยการระดมทุนเข้าชมรมผู้สูงอายุระดับอำเภอ  ปัจจุบันมีเงินทุนเกือบ 3  แสนบาท  ทำให้ชมรมฯ สามารถพึ่งตนเองได้และมีความเข้มแข็งและยั่งยืน    มีกิจกรรมตามที่สมาชิกชมรมฯ ต้องการได้อย่างต่อเนื่อง  ในขณะที่ชมรมสร้างสุขภาพบ้านปากพลไม่มีกองทุน  จึงต้องคอยขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอกไม่สามารถพึ่งตนเองได้ทั้งหมด

              1.6 ด้านสังคม วัฒนธรรมและสวัสดิการ  ชมรมผู้สูงอายุตำบลป่าพะยอมมีสวัสดิการให้กับสมาชิกชมรมฯ เช่น  การช่วยเหลือทางการเงินให้กับสมาชิกที่ไม่สบาย  การจ่ายค่าสวัสดิการให้กับครอบครัวของสมาชิกที่เสียชีวิต ฯลฯ  ช่วยทำให้ประชาชนอยากเข้ามาเป็นสมาชิกมากขึ้น  และสมาชิกชมรมรู้สึกพึงพอใจต่อชมรมมากขึ้น  และการรวมกลุ่มในการจัดกิจกรรมตามประเพณี เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก และระหว่างสมาชิกกับชุมชน เป็นอย่างดี 

              1.7 ลักษณะผู้นำชมรม   แกนนำของชมรมทั้ง 2  แห่ง  ส่วนใหญ่เป็นผู้นำแบบเป็นทางการมาก่อน เช่น เป็นข้าราชการบำนาญ  เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน  ผ่านกระบวนการพัฒนาทั้งจากภาครัฐและเอกชนค่อนข้างมาก  ทำให้ประชาชนและสมาชิกยอมรับนับถือให้เป็นผู้นำกลุ่ม

              1.8 องค์กรหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน  ชมรมสร้างสุขภาพทั้ง  2  แห่ง   ได้รับการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมจากสถานบริการสาธารณสุข  และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 

              1.9 การสื่อสาร  ชมรมสร้างสุขภาพทั้ง 2  แห่งมีรูปแบบและช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย  ทั้งที่เป็นการสื่อสารตามวิถีชาวบ้านที่ใช้กันตามปกติ      และระบบการสื่อสารที่หน่วยงานราชการและองค์กรต่างๆ  จัดตั้งขึ้น   

              1.10 ทุนทางสังคมอื่นๆ    ทุนทางสังคมที่สำคัญคือ    ความสัมพันธ์ของสมาชิกในชมรมเป็นระบบเครือญาติ  ภาวะผู้นำที่เข้มแข็งและหลากหลาย 

          2.  การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม  โดยการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการและการใช้เทคนิค AIC  พบว่า  การมีส่วนร่วมของสมาชิกชมรมมี  3  รูปแบบ  คือ 

              2.1 ร่วมคิด  ซึ่งพบเห็นได้อย่างชัดเจนในชมรมผู้สูงอายุตำบลป่าพะยอม  เนื่องจากการดำเนินกิจกรรมทุกอย่างต้องผ่านที่ประชุมของสมาชิกทุกคนก่อนเสมอ  ทำให้สมาชิกทุกคนได้มีโอกาสคิดและเสนอความคิดเห็นต่อการดำเนินงานทั้งก่อนและหลังการจัดกิจกรรม     ในขณะที่ชมรมสร้างสุขภาพบ้านปากพลส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะเป็นผู้คิดร่วมกับกรรมการชมรม  

              2.2 ร่วมทำ  กิจกรรมทุกอย่างของชมรมฯ ทั้ง 2  แห่ง  จะดำเนินการโดยสมาชิกชมรมเป็นส่วนใหญ่  ยกเว้นกิจกรรมบางอย่างเช่น  การตรวจสุขภาพ  การให้ความรู้ทางด้านสุขภาพ  ที่จำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการให้ 

              2.3 ร่วมรับประโยชน์  ซึ่งสมาชิกชมรมทั้ง 2  แห่งได้มีส่วนร่วมในการรับผลประโยชน์จากกิจกรรมที่ทางชมรมจัดขึ้น  เช่น  ได้รับประโยชน์จากการออกกำลังกายทำให้สุขภาพแข็งแรง  อารมณ์ดี มีเพื่อนคุย และรวมทั้งผลประโยชน์ในด้านการเงินด้วยในกรณีที่ไม่สบาย  ซึ่งชมรมผู้สูงอายุตำบลป่าพะยอม ได้จัดสวัสดิการให้กับสมาชิกตลอดมา 

          3. เงื่อนไขหรือองค์ประกอบในการพัฒนาชมรมให้เข้มแข็งและยั่งยืน   พบว่ามี  3  อย่าง  คือ 

              3.1 บริบททางสังคม  ประเพณีวัฒนธรรม    และความสัมพันธ์ของสมาชิกภายในชมรม 

              3.2 ปัจจัยภายในชมรม  เช่น  ลักษณะของผู้นำชมรม  กิจกรรมของชมรม  การเงินและรายได้ของชมรม  และการสื่อสารของชมรมฯ  

              3.3 ปัจจัยภายนอกชมรม ได้แก่ การสนับสนุนจากภาครัฐและการสนับสนุนจากภายในชุมชนที่ชมรมตั้งอยู่

          ข้อเสนอแนะจากการศึกษา

          1. ในการจัดตั้งชมรมสร้างสุขภาพ  ควรจัดตั้งจากกลุ่มต่างๆ ที่มีการดำเนินกิจกรรมอยู่ก่อนแล้ว  เนื่องจากง่ายต่อการจัดตั้งกลุ่ม  และเป็นการรวมกลุ่มโดยสมัครใจ  จะทำให้สามารถดำเนินงานชมรมฯ ได้อย่างต่อเนื่องและยาวนานกว่าการจัดตั้งชมรมขึ้นมาใหม่

          2. ชมรมฯ ควรจัดให้มีการระดมทุนจากสมาชิกชมรมและจากหน่วยงานภายนอก  เพื่อนำมาเป็นกองทุนของชมรม  ซึ่งจะทำให้ชมรมฯ สามารถจัดกิจกรรมต่างๆ ได้ตามความต้องการของสมาชิกชมรมฯ  และทำให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินกิจกรรม  รวมทั้งทำให้เกิดความยั่งยืนของชมรม

          3. ควรสนับสนุนให้มีการจัดทำแผนงานของชมรม  โดยให้สมาชิกชมรมฯ ได้มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนงาน  เพื่อให้เกิดความพึงพอใจของสมาชิกชมรมฯ และเกิดการมีส่วนร่วมจากสมาชิกทุกคน 

          4. ควรสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับสมาชิกชมรม  เพื่อให้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานของชมรมฯ   

          5. หน่วยงานภาครัฐต้องพัฒนาบุคลากรของรัฐให้มีความรู้ในการสร้างกระบวนการพัฒนาชมรม

หมายเลขบันทึก: 6991เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2005 16:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียน ท่านชายขอบ

 ผมชอบ "สามร่วม" ในกระบวนการมีส่วนร่วม เหมือน "ตติยัมปิ" ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์ อ่านแล้ว "ปิ้ง" ครับ

JJ

     ครับ! ผมว่ามีหลายแนวคิด แต่ให้เขาเข้าใจง่าย ๆ เป็นรูปธรรม แค่ 3 ร่วม ก็พอ อยู่ที่การให้ความหมาย และการนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงอย่างเข้าใจ สำคัญกว่า ปิ้ง ๆ ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท